xs
xsm
sm
md
lg

พุทธบริษัท 4 : ต้นเหตุให้พุทธศาสนาเสื่อม

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ทุกวันนี้ เมื่อพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น นักเรียนตีกัน การจี้ปล้น การฆ่าข่มขืน ก็มักได้ยินคำพูดในลักษณะท้อใจว่าศีลธรรมเสื่อม

ในความเป็นจริง ศีลธรรมซึ่งเป็นคำสอนของศาสนา ไม่ว่าศาสนาใดมิได้เสื่อมสลายหายไป แต่ยังคงมีการเก็บไว้ในคัมภีร์ เช่น คำสอนของพระพุทธศาสนา ก็มีการเก็บรวมไว้ในคัมภีร์ 3 กลุ่มเรียกว่า พระไตรปิฎก ได้แก่

1. พระวินัยปิฎกคือ คัมภีร์ที่รวบรวมคำสอนที่เกี่ยวกับศีล 227 ข้อของภิกษุ 311 ข้อของภิกษุณี และสังฆกรรมต่างๆ เช่น การทำอุโบสถ เป็นต้น

2. พระสุตตันตปิฎกคือ คัมภีร์ที่รวบรวมคำสอนเกี่ยวกับธรรมะซึ่งสอนโดยบุคลาธิษฐาน

3. พระอภิธรรมปิฎกคือ คัมภีร์ที่รวบรวมคำสอนที่เกี่ยวกับธรรม ซึ่งแสดงโดยธรรมาธิษฐาน และคำสอนขั้นปรมัตถ์ คำสอนทั้งในส่วนที่เป็นธรรมและเป็นวินัยนี้เองที่เรียกว่า พระพุทธศาสนา มิใช่บุคคลหรือสถานที่

ดังนั้น การปกป้องพระพุทธศาสนาก็คือการปกป้องพระธรรมวินัยนั่นเอง ในทางกลับกัน การทำลายพระพุทธศาสนาก็คือการไม่ศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจถ่องแท้ และนำมาปฏิบัติตามได้ถูกต้องตรงไปตรงมานั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ การที่ทางเจ้าหน้าที่ดีเอสไอพร้อมตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครองเข้าตรวจค้นวัดพระธรรมกายเพื่อจับกุมพระธัมมชโย ผู้ต้องหาในคดีร่วมกันฟอกเงิน รับของโจร และคดีอาญาอื่นๆ อีกหลายคดี จึงมิใช่การทำลายพระพุทธศาสนา ในทางตรงกันข้ามเป็นการช่วยปกป้องพระพุทธศาสนาโดยการกำจัดเหตุที่ทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อม ตามนัยแห่งพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสแก่พระกิมพิละผู้ซึ่งทูลถามพระองค์ว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว พระสัทธรรมคำสอนของพระองค์จะตั้งอยู่ได้นานหรือไม่

เพราะเหตุใดว่า ดูก่อนกิมพิละเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว พุทธบริษัท 4 คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ไม่เคารพในศาสนา ไม่เคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่เคารพในการศึกษา และไม่เคารพซึ่งกันและกัน ดูก่อนกิมพิละ นี้แลคือเหตุปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้นาน เมื่อเราตถาคตปรินิพพานไปแล้ว และได้ตรัสถึงเหตุที่ทำให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้นาน โดยนัยตรงกันข้ามแห่งพุทธพจน์ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าพระธัมมชโยและภิกษุที่มาชุมนุมเพื่อปกป้องพระธัมมชโย เข้าข่ายเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้พระสัทธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ตั้งอยู่ไม่ได้หรือเสื่อมสลายหายไป จะเห็นได้จากพฤติกรรมดังต่อไปนี้

1. ในธัมมจักกัปปวัตนสูตร พระพุทธองค์ได้ตรัสถึงแนวทางที่นักบวชไม่พึงถือปฏิบัติ 2 ประการคือ

1.1 กามสุขัลลิกานุโยคคือ การหมักหมมอยู่ในกามซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติของลัทธิจารวากที่มีความเชื่อว่า ความสุขอันเกิดจากการเสพกามเป็นนิพพาน

1.2 อัตตกิลมถานุโยคคือ การทำให้ตนเองลำบาก เช่น การทรมานตนด้วยการอดอาหาร เป็นต้น ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติของศาสนาเช่นที่เชื่อว่าการทำเช่นนี้ จะทำให้กิเลสหายไป

คำว่า กามในข้อ 1.1 ในทางพุทธศาสนามีความหมายลึกซึ้ง และกว้างขวางกว่าของจารวาก โดยที่พระพุทธองค์ได้แบ่งกามออกเป็น 2 ประเภทคือ 1. กิเลสกาม ได้แก่ ความอยากได้ใคร่จะมีสิ่งที่ตนเองพอใจ ซึ่งเป็นอาการทางจิตของปุถุชนผู้ดิ้นรนแสวงหา 2. วัตถุกาม ได้แก่ สิ่งที่ก่อให้เกิดกิเลสกามหรือพูดง่ายๆ ก็คือสิ่งที่เป็นบ่อเกิดแห่งกิเลสนั่นเอง

พระธัมมชโยมีพฤติกรรมแสวงหาวัตถุกาม จะเห็นได้จากการกว้านซื้อที่ดิน และการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ เพื่อสนองกิเลสกามของตนเอง จึงขัดแย้งกับเนื้อหาอันเป็นบทเริ่มต้นของธัมมจักกัปปวัตนสูตรโดยสิ้นเชิง

2. ในการแสวงหาวัตถุกาม พระธัมมชโยไม่คำนึงศีลและธรรม จะเห็นได้จากการรวมกันฟอกเงิน รับของโจร และบุกรุกป่าสงวนซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดพระวินัยและกฎหมาย ทั้งยังผิดธรรมข้อยถาลาภสันโดษคือยินดีตามที่หามาได้โดยชอบธรรม

3. เมื่อสงฆ์ฝ่ายปกครองมีคำสั่งให้มอบตัวแต่ก็ดื้อแพ่ง ไม่ยอมปฏิบัติตาม จึงเข้าข่ายไม่เคารพกันและกันคือ ภิกษุไม่เคารพภิกษุด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้น้อยจะต้องเคารพผู้ใหญ่ซึ่งมีอายุพรรษามากกว่าตามหลักพระวินัย

ด้วยเหตุ 3 ประการนี้ พระธัมมชโยเข้าข่ายเป็นปัจจัยทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อม

ส่วนภิกษุและสามเณร ทั้งที่อยู่ประจำวัดพระธรรมกาม และมิได้อยู่แต่มาเพื่อปกป้องพระธัมมชโย โดยอ้างมาเพื่อปฏิบัติธรรมและปกป้องพระพุทธศาสนา ก็เข้าข่ายเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อม จะเห็นได้จากพฤติกรรมดังต่อไปนี้

1. วัดพระธรรมกายและบริเวณรอบวัดเป็นเขตคุ้มครองพิเศษตามมาตรา 44 มีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครองปิดล้อมรอบนอกวัดในฐานะผู้รักษากฎหมาย จึงเท่ากับเป็นสถานที่อโคจร ไม่ควรที่ภิกษุ และสามเณรจะออกไปพลุกพล่านปะปนกับหมู่คณะ ทำให้เสียสมณสารูปจึงเท่ากับไม่เคารพพระวินัยที่ห้ามมิให้ภิกษุไปในที่อโคจร และไม่ทำตามคำสั่งของสงฆ์ฝ่ายปกครอง ซึ่งเท่ากับไม่เคารพกันและกัน

2. ในจำนวนภิกษุที่มาชุมนุมเชื่อว่ามีอยู่ไม่น้อยที่เป็นผู้บวชใหม่ ซึ่งจะต้องอยู่กับอุปัชฌาย์หรือพระที่พระอุปัชฌาย์มอบหมาย เพื่อรับการอบรมเกี่ยวกับพระธรรมวินัยจนกว่าอายุพรรษาครบ 5 จึงจะได้รับอนุญาตให้ไปไหนได้โดยลำพัง ดังนั้น พระบวชใหม่ที่มาอยู่ในที่ชุมนุมจึงขัดต่อพระวินัยที่ว่าด้วยอุปัชฌาย์และสัทธิวิหาริก

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น พระธัมมชโยและภิกษุที่มาชุมนุมเพื่อปกป้องพระธัมมชโย จึงควรถูกโทษทางวินัยจากสงฆ์ฝ่ายปกครอง และถูกลงโทษทางกฎหมายจากฝ่ายอาณาจักรในส่วนที่ผิดกฎหมาย ไม่ควรปล่อยไว้เพียงเพราะมีพวกมาก และมีเงินมากแล้วจัดการได้ยาก

แต่ควรจะเริ่มดำเนินการโดยยึดแนวทางการทำสังคายนาครั้งที่ 3 ซึ่งมีเหตุมาจากพวกเดียรถีย์ปลอมมาบวชแล้วเผยแพร่คำสอนแห่งลัทธิของตน โดยอ้างว่าเป็นของพระพุทธองค์ จนเป็นเหตุให้พระโมคคัลลีบุตร ติสสะเถระ ได้ขอความอนุเคราะห์จากพระเจ้าอโศกมหาราช และเมื่ออลัชชีถูกจัดการให้สึกหมดแล้วจึงได้ทำสังคายนา
กำลังโหลดความคิดเห็น