xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย (4) เรื่องที่ 4.3 : เกี่ยวกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตอนที่ 1 ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว

เผยแพร่:   โดย: วีระศักดิ์ นาทะสิริ

1. กล่าวนำ

มีเพื่อนรุ่นพี่ท่านหนึ่งได้นำร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ยกร่างและส่งไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณามาให้ผู้เขียนเพื่อสอบถามความคิดเห็นต่างๆ และต้องการให้ผู้เขียนแสดงความคิดเห็นผ่านบทความ “แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย” เพื่อให้ฝ่ายต่างๆ และสาธารณชนได้รับรู้ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในฐานะที่เป็นคนไทยที่อาจได้รับผลกระทบจากร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้

ต่อมาได้รับทราบว่า ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัวของ พม.ได้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว และได้ส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ก่อนที่จะส่งมาให้คณะกรรมการประสานงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา (สามารถ Download ดูรายละเอียดของร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัวจากhttp://www.google.co.th/url?sa=t&rct=j&q=&esrc=s&frm=1&source=web&cd=2&ved=0ahUKEwjutduf7d7SAhVKrI8KHTyJCUMQFgggMAE&url=http%3A%2F%2Fwww.owf.go.th%2Fwofa%2Fmodules%2Feeiku%2Ffiles%2F1(7).pdf&usg=AFQjCNGxF3J5hm0t2gqKK8Vj1zpNipvt1Q&bvm=bv.149760088,d.c2I )

ดังนั้น ในบทความนี้ผู้เขียนจะขอถือโอกาสแสดงความคิดเห็นบางประการเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลฯ เพื่อให้สาธารณชนและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกันพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ก่อนที่สภานิติบัญญัติฯ จะนำไปพิจารณาลงมติผ่านออกมาเป็นกฎหมาย

2. ร่างพ.ร.บ. คุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัวของกระทรวง พม.โดยสังเขป

ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มี 49 มาตรา โดยเริ่มต้นจากชื่อของ พ.ร.บ.ในมาตรา 1, กำหนดเวลาการบังคับใช้ พ.ร.บ.นี้ในมาตรา 2 และให้ยกเลิก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ในมาตรา 3 หลังจากนั้นจะแบ่งเป็นหมวดมี 7 หมวด โดยมีมาตราที่สำคัญสรุปได้ดังนี้

2.1 หมวด 1 บททั่วไป จะเริ่มตั้งแต่มาตรา 4 - 5

(ก) มาตรา 4 จะให้คำนิยามคำศัพท์ต่างๆ ซึ่งมีคำศัพท์ที่สำคัญ เช่น ความรุนแรงในครอบครัว, การคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว เป็นต้น

(ข) มาตรา 5 จะระบุให้ รมต.กระทรวงพัฒนาสังคมฯ, รมต.สาธารณสุข และรมต.มหาดไทยรักษาการตามพ.ร.บ.นี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศต่างๆ เพื่อปฏิบัติตามพ.ร.บ.นี้
(1.2.......麘0鸴0

2.2 หมวด 2 คณะกรรมการ เริ่มตั้งแต่มาตรา 6-13

(ก) มาตรา 6 จะกำหนดให้มี คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ ซึ่งโครงสร้างมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน, มีรองประธาน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการโดยตำแหน่ง

(ข) มาตรา 7 จะกล่าวถึงคุณสมบัติของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

(ค) มาตรา 8-9 จะกล่าวถึงวาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

(ง) มาตรา 10-11จะกล่าวถึงองค์ประชุม, หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ(จ) มาตรา 12-13 จะกล่าวถึงการตั้งอนุกรรมการหรือคณะทำงาน และเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่

2.3 หมวด 3 ศูนย์ส่งเสริมสถาบันครอบครัว ตั้งแต่มาตรา 14 - 16

(ก) มาตรา 14 ระบุให้จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมสถาบันครอบครัว สังกัดกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ขึ้นในทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานคร

(ข) มาตรา 15-16 จะระบุถึงอำนาจหน้าที่ของศูนย์ส่งเสริมสถาบันครอบครัว และการกำหนดให้มีผู้อำนวยการเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติภารกิจของศูนย์ส่งเสริมสถาบันครอบครัว

2.4 หมวด 4 ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน ตั้งแต่มาตรา 17-21

(ก) มาตรา 17 ให้มีการยื่นคำขอจัดตั้งศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน หรือ “ศพค.”ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานของรัฐ

(ข) มาตรา 18 กล่าวถึงหน้าที่ของศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน หรือ “ศพค.”(ค) มาตรา 19 กล่าวถึงการให้การสนับสนุนศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน หรือ “ศพค.”

(ง) มาตรา 20-21 กล่าวถึงการควบคุม ตรวจสอบ และกำกับการปฏิบัติงานของศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน หรือ “ศพค.”และการยกเลิกการรับรองศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน หรือ “ศพค.”

2.5 หมวด 5 การส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวมาตรา 22-25

(ก) มาตรา 22-23 กล่าวถึงนายทะเบียนที่มีอำนาจหน้าที่จดทะเบียนสมรส และจดทะเบียนหย่า เป็นผู้ให้ความรู้ คำปรึกษา หรือคำแนะนำตามความสมัครใจของผู้จดทะเบียนสมรส และจดทะเบียนหย่า ตามลำดับ

(ข) มาตรา 24 ให้ศูนย์ส่งเสริมสถาบันครอบครัวจัดทำข้อมูลแยกประเภทของผู้สมัครใจตามมาตรา 22-23

(ค) มาตรา 25 บุคคลที่ใช้บริการตามมาตรา 22 จะได้รับสิทธิพิเศษจากหน่วยงานของรัฐ เช่น การลดหย่อนภาษี, การลดหย่อนค่าโดยสารพาหนะ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ

2.6 หมวด 6 มาตรการคุ้มครองสวัสดิภาพ ตั้งแต่มาตรา 26-43

(ก) มาตรา 26-27 เกี่ยวกับการแจ้งการกระทำความรุนแรงในครอบครัวต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง, ตำรวจ, ศูนย์ช่วยเหลือสังคม หรือศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว โดยจะแจ้งด้วยวาจา เป็นหนังสือ โทรศัพท์ หรือวิธีอื่นใดก็ได้ และเมื่อได้รับการแจ้งการกระทำความรุนแรงแล้ว ให้ผู้อำนวยการมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ ดำเนินการตาม พ.ร.บ.นี้ และถ้าเป็นกรณีเร่งด่วนให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่เกิดเหตุโดยไม่ต้องมีหมายค้น

(ข) มาตรา 28 กรณีที่มีการกล่าวโทษว่า เป็นการกระทำความผิดอาญาที่น่าจะเป็นความรุนแรงในครอบครัว ให้พนักงานสอบสวนส่งสำเนาบันทึกการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษพร้อมสำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ศูนย์ส่งเสริมสถาบันครอบครัว และในระหว่างดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป และเมื่อได้รับแจ้งว่า ผู้ต้องหาได้ปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพแล้ว ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการดำเนินการตามมาตรา 38

(ค) มาตรา 29 กล่าวถึงอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่

(ง) มาตรา 30-31 เป็นกรณีที่เด็กทำความรุนแรง ให้ใช้ควบคู่กับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก สำหรับการยื่นคำร้องขอมาตรการคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว ให้ทำเป็นหนังสือหรือแถลงด้วยวาจาต่อศาลที่ผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำมีภูมิลำเนาอยู่ หรือศาลที่เหตุเกิดขึ้น

(จ) มาตรา 32 ระบุถึงมาตรการต่างๆ ในการคุ้มครองสวัสดิภาพต่อบุคคลในครอบครัว

(ฉ) มาตรา 33-42 จะกล่าวถึงการดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายในการให้ความคุ้มครองหรือช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง

(ซ) มาตรา 43 จะกล่าวถึงการห้ามบุคคลกระทำการด้วยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียง เกียรติยศหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว เช่น การบันทึกภาพ การบันทึกเสียง การแพร่ภาพหรือเสียง การโฆษณาข้อความที่เกี่ยวกับการสอบสวน หรือเกี่ยวกับประวัติส่วนตัว เป็นต้น

2.7 หมวด 7 บทกำหนดโทษตั้งแต่มาตรา 44-45

(ก) มาตรา 44 เป็นบทกำหนดโทษ ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามมาตรา 29, ม.34 หรือ ม.32 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(ข) มาตรา 45 เป็นบทกำหนดโทษ ผู้ที่ฝ่าฝืน ม.43 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.8 บทเฉพาะกาล ตั้งแต่มาตรา 46-49

มาตรา 46-49 เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการออกกฎกระทรวง, การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.นี้, กรณีที่ไม่มีการบัญญัติไว้ในกฎหมายนี้ก็ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กำหนด และเกี่ยวกับการดำเนินคดีก่อนและหลัง พ.ร.บ.นี้

*(สามารถ Download ดูรายละเอียดของร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัวจาก website ที่อ้างถึงในกล่าวนำ)

โดยสรุปแล้ว ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะยกเลิกพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ทั้งฉบับ และนำร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลฉบับนี้มาใช้แทน โดยนำมาตรการทางสังคมมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาของบุคคลในครอบครัว และกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ ศูนย์ส่งเสริมสถาบันครอบครัว และศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ซึ่งได้แสดงในภาพที่ 1) เพื่อให้ทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาสถาบันครอบครัวกำหนดมาตรการทางสังคม และรวมทั้งมาตรการคุ้มครองสวัสดิภาพของบุคคลในครอบครัว

ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว พ.ศ. 2560 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ และได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา จากนั้นจะส่งมาที่คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้พิจารณาและลงมติให้ใช้เป็นกฎหมายต่อไป (รายงานข่าวจาก http://www.ofm.mof.go.th/index.php/2011-06-18-07-26-30/2011-06-20-03-48-12/2278--2412560.html)

3. ความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว พ.ศ. 2560

3.1 การใช้ชื่อร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว

ผู้เขียนเห็นด้วยที่ร่างพ.ร.บ.นี้ไม่ใช้ชื่อว่า “ความรุนแรงในครอบครัว” เพราะจะถูกมองจากสาธารณชนทั่วไปในแง่ลบว่า ประเทศไทยมีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวกันเป็นปริมาณมากจนถึงกับต้องออกกฎหมายฉบับนี้มาเพื่อหยุดยั้งและขจัดการใช้ความรุนแรงในครอบครัวที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนชื่อพ.ร.บ.จาก “คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว” มาใช้คำว่า “คุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว” คงมีความมุ่งหมายเพื่อให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายนี้ได้กว้างขวางมากขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับสวัสดิภาพของบุคคลในครอบครัวและเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจและหน้าที่ที่เพิ่มมากขึ้นตามที่ได้ระบุในร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัวฉบับนี้

3.2 การจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติในรูปคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการฯ มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ ในการส่งเสริมและพัฒนาสถาบันครอบครัว และให้มีศูนย์ส่งเสริมสถาบันครอบครัวในทุกจังหวัด (ตามมาตรา 14) และศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนในท้องถิ่น (ตามมาตรา 17) เพื่อทำหน้าที่เป็นฝ่ายปฏิบัติการที่จะนำนโยบายและยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติ ถ้าพิจารณาแล้วจะพบว่าโครงสร้างการบังคับบัญชาของคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (ตามร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้) จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับระบบการบริหารงานของกระทรวงมหาดไทย (ที่แบ่งเป็นส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น)

นอกจากนี้ได้มีคำถามว่าทำไมต้องกำหนดให้นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานและรองประธานของคณะกรรมการชุดนี้ เพราะทั้งนายกฯและรองนายกฯ ต่างก็มีภารกิจมากมายอยู่แล้ว โดยมีภารกิจประจำและเป็นกรรมการอยู่หลายคณะ และที่สำคัญคือ นายกฯ รองนายกฯ และรัฐมนตรีมีที่มาทางการเมืองซึ่งไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญจึงคงไม่รู้หรือเข้าใจในเรื่องครอบครัวได้อย่างลึกซึ้งจึงน่าเชื่อว่า การเสนอร่างพ.ร.บ.ฯ นี้โดยกำหนดให้นายกรัฐมนตรี และรองนายกฯ เป็นประธานและรองประธาน คงเป็นเพราะกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มุ่งหวังที่จะอาศัยอำนาจบารมีของนายกฯ และรองนายกฯ (ในฐานะที่ทำการแทนนายกฯ) มากำกับและประสานกับหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงอื่นๆ นั่นเอง

3.3 การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดให้มีการประชุมสมัชชาครอบครัว มีส่วนคล้ายกับการจัดประชุมสมัชชาประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งมีที่มาจากสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนในพื้นที่ต่างๆ เช่นเดียวกับสมัชชาครอบครัวซึ่งมาจากครอบครัวสมาชิกในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งแต่ละครอบครัวจะมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันเพราะมีปัจจัยด้านรายได้ การศึกษา สังคม และความเป็นมาของครอบครัวที่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ดี การจัดให้มีสมัชชาครอบครัวอาจกลายเป็นเครื่องมือให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคล เช่น กลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มอิทธิพลในพื้นที่ และกลุ่มการเมืองต่างๆ (ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมืองมากกว่า) ใช้เป็นช่องทางในการเข้ามามีอิทธิพลเหนือครอบครัวที่เป็นสมาชิกในแต่ละภูมิภาค เพื่อหวังที่จะชักจูงหรือจูงใจครอบครัวสมาชิกให้เป็นฐานอำนาจของตนหรือกลุ่มตน โดยใช้งบประมาณของรัฐในการดำเนินการดังกล่าว (ดูในภาพที่ 1)และอาศัยอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ ตามมาตรา 11(3), (7), และได้เปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองเข้ามีบทบาทได้ตามมาตรา 11 (8) ซึ่งรายละเอียดมีดังนี้

“(3) ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดให้มีสมัชชาครอบครัว และการประชุมสมัชชาครอบครัวระดับชาติอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

(7) กำหนดมาตรการส่งเสริม สนับสนุน ประสานงานและช่วยเหลือกิจการของหน่วยงานของรัฐและเอกชน ภาคประชาชนเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว หรือการคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว

(8) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย”

3.4 การกำหนดให้จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมสถาบันครอบครัวในทุกจังหวัด โดยมีผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมสถาบันครอบครัวเป็นผู้บังคับบัญชา ตามมาตรา 14 ของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่เพียงจะทำให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พม.จ.) ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์อีกตำแหน่งหนึ่งเท่านั้น แต่ยังจะทำให้ พม.จ.มีภารกิจเพิ่มขึ้นอีกด้วย สรุปแล้ว พม.จ.อาจจะต้องสวมหมวกสองใบคือ ปฏิบัติหน้าที่สองตำแหน่งในเวลาเดียวกัน ซึ่งอาจทำให้การปฏิบัติงานไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

4. ข้อเสนอแนะต่อการพิจารณาร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว

4.1 การออกกฎหมายใดๆ ขอเสนอให้ฝ่ายบริหารคำนึงถึงหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(ก) หลักความมั่นคงและผลประโยชน์ของรัฐต้องมาก่อนสิ่งอื่น National Security and Interest Should Come First. หมายความว่า การออกกฎหมายใดๆ จะต้องได้รับการตรวจสอบและประเมินผลแล้วว่า กฎหมายนั้นจะต้องก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ และต้องไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อผลประโยชน์ของส่วนรวม หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ และการดำรงอยู่ของชาติไทยในสังคมโลก

(ข) หลักการสนองตอบความต้องการของสาธารณชน Public Demands

การออกกฎหมายใดๆ จะต้องเป็นเรื่องที่เป็นความจำเป็นจริงๆ ที่ฝ่ายบริหารจะต้องออกกฎหมายนี้ออกมาเพื่อใช้บังคับ หรือเพื่อให้บริการ หรือเพื่อตอบสนองความต้องการของสาธารณชน โดยจะต้องไม่เปิดโอกาสให้มีการแสวงประโยชน์จากกฎหมายนี้ (ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย) และไม่ใช่เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มบุคคลใดกลุ่มบุคคลหนึ่งเท่านั้น หมายความว่า ไม่ควรออกกฎหมายมาเพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่บุคคลเพียงคนเดียว หรือกลุ่มบุคคลเพียงกลุ่มเดียว

(ค) หลักความเสมอภาคเท่าเทียมกัน Equality การออกกฎหมายใดๆ ควรคำนึงถึงความเสมอภาคเท่าเทียมกัน หมายความว่า กฎหมายที่ออกมาจะต้องนำมาใช้กับทุกคนในสังคม นั่นคือ ทุกคนในสังคมต้องปฏิบัติตามกฎหมายนี้โดยเสมอเหมือนกัน

(ง) หลักความเป็นไปได้ Possibility การออกกฎหมายใดๆ ควรคำนึงถึงความเป็นไปได้ สามารถนำมาใช้ได้จริง กฎหมายนี้ได้ให้อำนาจหน้าที่แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างเหมาะสม ไม่ลิดรอนสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน และมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ (Lower Operating Costs) ที่เหมาะสมคือ เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด ส่วนประชาชนก็สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้โดยง่ายและด้วยความเต็มใจ

(จ) หลักความสำคัญก่อนหลัง Priority การออกกฎหมายใดๆ ฝ่ายบริหารควรคำนึงถึงความสำคัญก่อนหลังคือ กฎหมายใดที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ก็ควรได้รับการพิจารณาและดำเนินการก่อนในลำดับต้นๆ

4.2 ผู้เขียนขอเสนอให้แก้ไขรูปแบบของคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติใหม่ ดังตัวอย่างในภาพที่ 2โดยมีเหตุผลสำคัญดังนี้

ประการแรก การส่งเสริมและพัฒนาสถาบันครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับคนไทยทุกคน ไม่เพียงจะมีความสำคัญต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติเท่านั้นแต่ยังเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนและมีผลกระทบต่อสังคมและประเทศชาติต่อเนื่องในระยะยาวอาจกล่าวได้ว่า การกำหนดนโยบายและการดำเนินการของ คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวฯ ซึ่งมีบุคคลที่มาจากทางการเมือง และมาจากระบบราชการเป็นส่วนใหญ่ย่อมจะส่งผลกระทบต่อสังคมไทยและคนไทยทุกคนทั้งในปัจจุบัน และในอนาคตอย่างแน่นอน จึงควรกำหนดให้คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวฯ เป็นองค์การอิสระ โดยมีที่มาจากกลุ่มอาชีพต่างๆ ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และรวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ เพื่อไม่ให้อยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์ใดๆ

ประการที่สอง ไม่ควรกำหนดให้นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี หรือบุคคลอื่นใดที่มาจากทางการเมืองมีอำนาจหน้าที่ในกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการ และแผนงานต่างๆ ในการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว เพราะบุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่เพียงจะไม่มีความรู้หรือไม่มีความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวอย่างลึกซึ้งเท่านั้น แต่ยังจะไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลเมื่อใดนโยบายต่างๆ และรวมทั้งบุคคลที่รับผิดชอบก็อาจจะต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้การส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวขาดความต่อเนื่อง และต้องเปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตลอดเวลานั่นเอง

ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอเสนอให้จัดตั้งองค์กรที่มีความเป็นอิสระจากระบบราชการ ระบบการเมือง และจากกลุ่มผลประโยชน์อื่นใดขึ้นมารับผิดชอบและทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการ แผนงานในการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว จะเหมาะสมและมีความคล่องตัวมากกว่าที่จะจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ ศูนย์ส่งเสริมสถาบันครอบครัว และศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน ตามที่ระบุในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ซึ่งได้ลอกเลียนรูปแบบการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค (ศูนย์ส่งเสริมสถาบันครอบครัว) และส่วนท้องถิ่น (ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน) ของกระทรวงมหาดไทยมานั่นเอง

อย่างไรก็ดี เพื่อให้การส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวมีความเป็นอิสระและต่อเนื่อง จึงขอเสนอให้จัดโครงสร้างใหม่ดังแสดงในภาพที่ 2 และเปลี่ยนชื่อจาก “คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ” เป็น “คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวแห่งชาติ”

ตามโครงสร้างในภาพที่ 2 คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวแห่งชาติ จะประกอบด้วยตัวแทนจากกระทรวงต่างๆ ตัวแทนที่ได้รับเลือกจากสมัชชาครอบครัวไทย และตัวแทนจากสาขาอาชีพต่างๆ เป็นต้น โดยให้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล และได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน

คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวแห่งชาติ ควรมีอิสระและมีหน้าที่กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ การบริหาร และกำกับดูแลฝ่ายปฏิบัติการซึ่งได้แก่องค์กรส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวแห่งชาติ และศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวประจำจังหวัด โดยให้หน่วยงานทั้งสองมีหน้าที่นำนโยบาย และยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติให้บรรลุผลสำเร็จ นอกจากนี้ควรให้มี สถาบันครอบครัวแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่ในการจัดเก็บข้อมูล ทำการวิจัย และเป็นฝ่ายวิชาการ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาสถาบันครอบครัวให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

5. บทสรุป

การเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ต้องถือเป็นการริเริ่มที่ดีในการยกร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่เพื่อนำมาตรการทางสังคมมาใช้ในการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว การคุ้มครองป้องกัน และการเยียวยาบำบัดฟื้นฟู เพื่อแก้ไขปัญหาของบุคคลในครอบครัวแยกต่างหากจากการใช้มาตรการทางอาญา

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนมีความเห็นว่า เรื่องการส่งเสริมและพัฒนาสถาบันครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องได้รับการดำเนินการเป็นการเฉพาะอย่างต่อเนื่อง จึงควรแยกออกมาจากเรื่องการใช้ความรุนแรงและการคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว และไม่ควรให้กลุ่มการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์ใดๆ เข้ามามีอิทธิพลหรือยุ่งเกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงาน และการดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาสถาบันครอบครัวด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงขอเสนอให้รัฐบาลถอนร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ออกจากการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แล้วส่งร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้กลับไปให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ นำกลับไปพิจารณาด้วยความรอบคอบและยกร่างขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ท้ายบทความ

ผู้เขียนได้เว้นว่างการเขียนบทความไปเกือบสองเดือน เนื่องจากมีภารกิจการเดินทางจนทำให้การเขียนไม่ปะติดปะต่อ คือ ต้องหยุดเป็นช่วงๆ เพื่อเดินทางไปปฏิบัติภารกิจส่วนตัว และรวมทั้งการเดินทางในฐานะเป็นอนุกรรมาธิการปกครองท้องถิ่น และอนุกรรมาธิการกิจการสตรี จึงต้องขออภัยผู้อ่านมา ณ ที่นี้ด้วย และในโอกาสนี้ผู้เขียนขอส่งภาพที่ 3 และข้อความมาให้ผู้อ่านทุกท่านแทนคำขออภัยด้วยครับ

กำลังโหลดความคิดเห็น