"ผู้รับเหมา"โอดราคายางมะตอยพุ่งปีเดียว1 เท่าตัว วอน"สมคิด" หาทางแก้ปัญหา ชี้ไม่เฉพาะเอกชนเดือดร้อน ภาครัฐก็ต้องเสียงบฯ เพิ่มชดเชยด้วย คาดปีนี้ รัฐต้องควักเพิ่มไม่ต่ำหมื่นล้าน มึนปรับราคาขึ้นลงไม่อิงราคาน้ำมันโลก โวยรวมหัวกันโก่งราคาช่วงความต้องการยางมะตอยสูง แถมปรับขึ้นครั้งละ 4- 5 พัน แต่เวลาลดปรับลงแค่พันเดียว
นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่าขณะนี้สมาชิกของสมาคมฯ และผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง กำลังประสบกับปัญหาเกี่ยวกับราคายางมะตอยที่ใช้ในงานก่อสร้าง หรือ ยางแอสฟัลท์ มีราคาสูง จนได้รับความเดือดร้อนในวงกว้าง เนื่องจากผู้จำหน่ายได้ปรับราคาอย่างต่อเนื่อง เพียงแค่รอบ1 ปีที่ผ่านมา ราคาสูงขึ้นเกือบเท่าตัว โดยหากเปรียบเทียบจากช่วงเดือนก.พ.59 ราคาจำหน่ายรวมค่าขนส่ง และภาษีมูลค่าเพิ่ม ยังอยู่ที่ตันละ10,593 บาท ขณะที่ปัจจุบันเดือนก.พ.60 ราคาจำหน่ายกลับเพิ่มขึ้นไปถึงตันละ 20,223 บาท ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อราคาค่าก่อสร้างที่ได้ทำการประมูล และลงนามสัญญาไปแล้ว หรืออยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง เนื่องจากผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบในเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นกว่าราคากลางที่ประมูลได้ แม้ทางหน่วยงานราชการจะกำหนดให้มีค่า Kเพื่อชดเชยกรณีราคาวัสดุเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังมีความล่าช้าในการเบิกจ่าย และเบิกไม่ได้เต็มจำนวนจริง จึงส่งผลกระทบต่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการด้านการเงินของผู้ประกอบการก่อสร้าง เพราะค่า Kไม่สามารถรองรับส่วนต่างที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องของดอกเบี้ย โดยเรื่องนี้ตนในฐานะนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯได้ทำหนังสือถึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือโดยด่วน
ขณะที่นายพงษ์ศักดิ์ ธนศรีวนิชชัย อดีตอุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ กล่าวเพิ่มเติมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ในอดีตเวลายางมะตอย หรือยางแอสฟัลต์จะปรับราคาขึ้น ก็ต่อเมื่อน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ตั้งต้นก่อนจะมาเป็นยางมะตอยนั้นปรับขึ้น แต่หลายเดือนที่ผ่านมา การปรับราคายางมะตอยของผู้จำหน่ายไม่สอดคล้องกับการอัตราการขึ้นลงของราคาของน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะช่วงเดือนส.ค.59 - ก.พ.60 ที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นประมาณ 20% แต่ราคายางมะตอยปรับราคาขึ้นเกือบ 100% หรือ 1 เท่าตัว
ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากสร้างความเดือดร้อนให้แก่เอกชนผู้รับเหมาแล้ว ยังถือเป็นภาระต่อรัฐบาลในการจัดหางบประมาณเพิ่มเติม เพื่อชดเชยค่า K ให้แก่เอกชนอีกด้วย หากคำนวณตามมูลค่าโครงการก่อสร้าง หรือซ่อมแซมถนนของทางภาครัฐที่ออกมาในช่วง 1-2 ปีนี้ ทั้งของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท อบต. หรือ อบจ.ต่างๆ เชื่อว่ารัฐบาลจะต้องเสียงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับค่า Kในการชดเชยค่ายางมะตอยไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวด้วยว่า เป็นที่น่าสังเกตอีกว่า ในช่วงปลายปีคาบเกี่ยวถึงต้นปี ซึ่งถือเป็นช่วงหมดฝน โครงการก่อสร้างถนนสามารถเร่งดำเนินการได้ในช่วงนี้ ทำให้ความต้องการยางมะตอย ก็สูงขึ้นไปด้วย ขณะเดียวกันผู้ประกอบธุรกิจยางมะตอยที่มีอยู่เพียงไม่กี่รายในประเทศไทย ก็พร้อมใจกันขึ้นราคายางมะตอย โดยอ้างว่าโรงกลั่นน้ำมันบางแห่งในประเทศปิดซ่อมบำรุง ส่งผลให้ผลผลิตลดลง จึงจำเป็นต้องปรับราคาขึ้น เฉพาะเดือนธ.ค.59 ถึงเดือนม.ค.60 ยางมะตอยชนิด AC 60/70 จากราคา 8,750 บาทต่อตัน เพิ่มขึ้นเป็น 13,500 บาทต่อตัน พอมาเดือนก.พ.60 ก็เพิ่มขึ้นอีกเป็น 17,600 บาทต่อตัน แต่พอกำลังการผลิตกลับมาปกติ ก็ปรับลดราคาลงเป็น เป็น 16,600 บาทต่อตัน จะเห็นได้ชัดว่า เวลาปรับราคาขึ้นครั้งละ 4-5 พันบาท แต่พอปรับลงกลับปรับแค่ 1 พันบาท โดยไม่มีมาตรฐานใดมาอ้างอิง
ดังนั้น ภาครัฐควรเร่งพิจารณาหามาตรการควบคุมราคายางมะตอยให้มีมาตรฐาน มิเช่นนั้นก็จะสร้างความเสียหายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ หรืออาจจะจำเป็นต้องนำยางมะตอยกลับเข้าเป็นสินค้าควบคุม เพื่อให้มีการกำหนดราคาที่สมเหตุสมผลกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และป้องกันข้อครหาเรื่องการฉวยโอกาสของทางผู้ประกอบธุรกิจยางมะตอยด้วย
นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่าขณะนี้สมาชิกของสมาคมฯ และผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง กำลังประสบกับปัญหาเกี่ยวกับราคายางมะตอยที่ใช้ในงานก่อสร้าง หรือ ยางแอสฟัลท์ มีราคาสูง จนได้รับความเดือดร้อนในวงกว้าง เนื่องจากผู้จำหน่ายได้ปรับราคาอย่างต่อเนื่อง เพียงแค่รอบ1 ปีที่ผ่านมา ราคาสูงขึ้นเกือบเท่าตัว โดยหากเปรียบเทียบจากช่วงเดือนก.พ.59 ราคาจำหน่ายรวมค่าขนส่ง และภาษีมูลค่าเพิ่ม ยังอยู่ที่ตันละ10,593 บาท ขณะที่ปัจจุบันเดือนก.พ.60 ราคาจำหน่ายกลับเพิ่มขึ้นไปถึงตันละ 20,223 บาท ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อราคาค่าก่อสร้างที่ได้ทำการประมูล และลงนามสัญญาไปแล้ว หรืออยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง เนื่องจากผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบในเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นกว่าราคากลางที่ประมูลได้ แม้ทางหน่วยงานราชการจะกำหนดให้มีค่า Kเพื่อชดเชยกรณีราคาวัสดุเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังมีความล่าช้าในการเบิกจ่าย และเบิกไม่ได้เต็มจำนวนจริง จึงส่งผลกระทบต่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการด้านการเงินของผู้ประกอบการก่อสร้าง เพราะค่า Kไม่สามารถรองรับส่วนต่างที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องของดอกเบี้ย โดยเรื่องนี้ตนในฐานะนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯได้ทำหนังสือถึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือโดยด่วน
ขณะที่นายพงษ์ศักดิ์ ธนศรีวนิชชัย อดีตอุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ กล่าวเพิ่มเติมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ในอดีตเวลายางมะตอย หรือยางแอสฟัลต์จะปรับราคาขึ้น ก็ต่อเมื่อน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ตั้งต้นก่อนจะมาเป็นยางมะตอยนั้นปรับขึ้น แต่หลายเดือนที่ผ่านมา การปรับราคายางมะตอยของผู้จำหน่ายไม่สอดคล้องกับการอัตราการขึ้นลงของราคาของน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะช่วงเดือนส.ค.59 - ก.พ.60 ที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นประมาณ 20% แต่ราคายางมะตอยปรับราคาขึ้นเกือบ 100% หรือ 1 เท่าตัว
ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากสร้างความเดือดร้อนให้แก่เอกชนผู้รับเหมาแล้ว ยังถือเป็นภาระต่อรัฐบาลในการจัดหางบประมาณเพิ่มเติม เพื่อชดเชยค่า K ให้แก่เอกชนอีกด้วย หากคำนวณตามมูลค่าโครงการก่อสร้าง หรือซ่อมแซมถนนของทางภาครัฐที่ออกมาในช่วง 1-2 ปีนี้ ทั้งของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท อบต. หรือ อบจ.ต่างๆ เชื่อว่ารัฐบาลจะต้องเสียงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับค่า Kในการชดเชยค่ายางมะตอยไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวด้วยว่า เป็นที่น่าสังเกตอีกว่า ในช่วงปลายปีคาบเกี่ยวถึงต้นปี ซึ่งถือเป็นช่วงหมดฝน โครงการก่อสร้างถนนสามารถเร่งดำเนินการได้ในช่วงนี้ ทำให้ความต้องการยางมะตอย ก็สูงขึ้นไปด้วย ขณะเดียวกันผู้ประกอบธุรกิจยางมะตอยที่มีอยู่เพียงไม่กี่รายในประเทศไทย ก็พร้อมใจกันขึ้นราคายางมะตอย โดยอ้างว่าโรงกลั่นน้ำมันบางแห่งในประเทศปิดซ่อมบำรุง ส่งผลให้ผลผลิตลดลง จึงจำเป็นต้องปรับราคาขึ้น เฉพาะเดือนธ.ค.59 ถึงเดือนม.ค.60 ยางมะตอยชนิด AC 60/70 จากราคา 8,750 บาทต่อตัน เพิ่มขึ้นเป็น 13,500 บาทต่อตัน พอมาเดือนก.พ.60 ก็เพิ่มขึ้นอีกเป็น 17,600 บาทต่อตัน แต่พอกำลังการผลิตกลับมาปกติ ก็ปรับลดราคาลงเป็น เป็น 16,600 บาทต่อตัน จะเห็นได้ชัดว่า เวลาปรับราคาขึ้นครั้งละ 4-5 พันบาท แต่พอปรับลงกลับปรับแค่ 1 พันบาท โดยไม่มีมาตรฐานใดมาอ้างอิง
ดังนั้น ภาครัฐควรเร่งพิจารณาหามาตรการควบคุมราคายางมะตอยให้มีมาตรฐาน มิเช่นนั้นก็จะสร้างความเสียหายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ หรืออาจจะจำเป็นต้องนำยางมะตอยกลับเข้าเป็นสินค้าควบคุม เพื่อให้มีการกำหนดราคาที่สมเหตุสมผลกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และป้องกันข้อครหาเรื่องการฉวยโอกาสของทางผู้ประกอบธุรกิจยางมะตอยด้วย