xs
xsm
sm
md
lg

แฉ"ปึ้ง"ใช้อำนาจบาตรใหญ่ บีบจนท.คืนพาสปอร์ต"แม้ว"ในวันเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (16 มี.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณากระบวนการถอดถอน นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต รมว.ต่างประเทศ กรณีออกหนังสือเดินทางธรรมดาให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมิชอบ ตามที่คณะกรรมการป.ป.ช. ส่งเรื่องให้สนช.ดำเนินการ
น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. ได้แถลงเปิดสำนวน โดยกล่าวถึงที่มาจากการที่ นายทักษิณ ถูกฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีที่ดินรัชดา และถูกห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ต่อมานายทักษิณ ขออนุญาตเดินทางออกนอกประเทศชั่วคราว ระหว่างวันที่ 31 มี.ค.-10 ส.ค.51 แต่นายทักษิณไม่เดินทางกลับมา ทำให้นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ขณะนั้น เพิกถอนหนังสือเดินทางนายทักษิณ 2 ฉบับ คือ หนังสือเดินทางการทูต ในวันที่ 12 ธ.ค. 51 และหนังสือเดินทางธรรมดา ในวันที่ 12 เม.ย.51
ต่อมาสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีนายสุรพงษ์ เป็นรมว.ต่างประเทศ นายทักษิณได้ยื่นคำร้องขอหนังสือเดินทางธรรมดา ต่อสถานทูตไทย ที่เมืองดูไบ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 54 ซึ่งในวันเดียวกัน สถานทูตไทยเมืองดูไบได้เสนอเรื่องมายังกระทรวงต่างประเทศ และ นายสุรพงษ์ได้สั่งท้ายหนังสือ ถึงกรมการกงสุลว่า นโยบายรัฐบาลปัจจุบันเห็นว่า การคงอยู่ต่างประเทศต่อไปของนายทักษิณ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศไทย ขอให้ยกเลิกคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางของนายทักษิณ ในสมัยรัฐบาลที่แล้ว และให้ออกหนังสือเดินทางธรรมดา คืนแก่นายทักษิณ ในที่สุดกรมการกงสุล จึงคืนหนังสือเดินทางให้นายทักษิณ เมื่อวันที่ 26 ต.ค.54 โดยใช้เวลาดำเนินการ วันเดียวจบ
"ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง ที่ไม่ตรวจสอบความถูกต้อง และสถานะผู้ร้องขอหนังสือเดินทาง เพราะนายทักษิณ ถูกออกหมายจับหลายคดี อาทิ คดีที่ดินรัชดา คดีหวยบนดิน คดีเอ็กซิมแบงก์ คดีแปลงสัญญาณสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต คดีก่อการร้าย และจากการตรวจสอบนโยบายรัฐบาลสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่พบว่าในคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภา มีเรื่องการคืนหนังสือเดินทางแก่นายทักษิณ อยู่ในนโยบาย
รัฐบาล และไม่มีหน่วยงานใดแจ้งต่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า การที่นายทักษิณ อยู่ต่างประเทศจะไม่เป็นอันตรายต่อประเทศไทย ขณะเดียวกัน นายทักษิณ มีชื่ออยู่ในบัญชีบุคคลที่ต้องตรวจสอบการออกหนังสือเดินทาง ซึ่งเป็นหน้าที่กระทรวงต่างประเทศต้องตรวจสอบให้เรียบร้อยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ นายสุรพงษ์ กลับออกหนังสือเดินทางให้ภายในวันเดียว จึงขัดต่อระเบียบตามระเบียบข้อบังคับของกระทรวงต่างประเทศ ว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง ถือเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ และปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ทำให้เกิดความเสียหายต่อกระทรวงต่างประเทศ และกระบวนการยุติธรรมไทย เป็นการช่วยให้นายทักษิณไม่ยอมเดินทางกลับมาเมืองไทยเพื่อฟังคำพิพากษาคดีต่างๆ" น.ส.สุภา ระบุ
ต่อมา นายสุรพงษ์ ได้แถลงเปิดสำนวน โดยชี้แจงใน 5 ประเด็น อาทิ คำร้องของ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่เข้าชื่อ ส.ส.139 คน ถอดถอนตน ถือว่าไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย เพราะไม่มีการลงลายมือชื่อแนบสำเนาบัตรประชาชนของผู้เข้าชื่อ เอกสารจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งนายภักดี โพธิศิริ ขาดคุณสมบัติเป็นกรรมการป.ป.ช. เนื่องจากไม่ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการในองค์การเภสัชกรรมเมอริเออร์ชีววัตถุ จำกัด ภายในเวลาที่กำหนด จึงถือว่าไม่มีคุณสมบัติเป็นกรรมการป.ป.ช. ตั้งแต่ต้น
ส่วนที่ ป.ป.ช.ระบุว่า ตนใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ คืนหนังสือเดินทางให้นายทักษิณ ขอชี้แจงว่า ตามระเบียบว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง ระบุว่า ปลัดกระทรวงต่างประเทศ เป็นผู้มีหน้าที่โดยตรง มิได้เป็นอำนาจของรมว.ต่างประเทศ แม้รมว.ต่างประเทศจะให้นโยบายเช่นใด แต่ถือเพียงเป็นข้อพิจารณา เพื่อประกอบการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่เท่านั้น
"ผมไม่ขอความเห็นใจจากทุกคน เพราะทราบว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ที่มาชี้แจงเพื่อให้จบตามพิธีกรรมของสนช. แต่ยืนยันว่า ตลอดชีวิตการทำงานยึดมั่นกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ ไม่เคยก้าวก่ายแทรกแซง สั่งการข้าราชการทำสิ่งผิด และการบรรจุวาระถอดถอนผมใช้เวลา 1 เดือน เป็นการเร่งรีบจัดการ จะปฏิเสธว่าไม่มีใบสั่ง คงไม่ได้ ทุกคนรู้แก่ใจกันดี อย่ายัดเยียดความผิดให้กับผม เพราะอยู่พรรคเพื่อไทย หรือมีเจ้านายชื่อทักษิณ ทำให้ลืมตัวบทกฎหมาย หวังจำกัดผมอย่างไม่เป็นธรรม"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการ นายสุรพงษ์ ได้ขออนุญาตนำเก้าอี้ส่วนตัวมานั่งในห้องประชุม โดยอ้างว่า มีอาการกล้ามเนื้อขาอ่อนแรงต้องใช้เก้าอี้พิเศษช่วยเป็นการเฉพาะ ซึ่งก็ได้รับการอนุญาตจาก นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. ซึ่งทำหน้าที่ประธานที่ประชุม แต่ปรากฏว่า นายสุรพงษ์ได้ยืนแถลงเปิดคดียาวนานถึง 4 ชั่วโมงเต็ม ก็ไม่ได้นั่งเก้าอี้ดังกล่าว
ทั้งนี้หลังจากทั้งสองฝ่ายแถลงเปิดสำนวนเสร็จสิ้น ที่ประชุมสนช.ได้ตั้งคณะกรรมาธิการซักถาม 7 คน ทำหน้าที่ซักถามคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ให้มาตอบข้อสงสัยจากสมาชิกสนช. ในวันที่ 23 มี.ค. ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น