xs
xsm
sm
md
lg

บันทึกลับ! ไพ่ฝากจากทักษิณในรัฐบาลทหาร (ตอนที่ 8) : ความลับของปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพ (จากซ้ายไปขวา): นางอานิก อัมระนันทน์, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ, นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์
ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ผ่านไปแล้วเกือบ 3 สัปดาห์ ภายหลังจากที่ประธานกรรมการ คณะกรรมการ และผู้บริหาร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้รับหนังสือจากเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เพื่อขอให้เปิดเผยรายชื่อผู้ที่อ้างว่าเป็น "ผู้มีอุปการคุณ" ซึ่งได้รับสิทธิ์ในการซื้อหุ้นของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เป็นกรณีพิเศษ ผลปรากฏว่าจนถึงป่านนี้แล้วก็ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆทั้งสิ้น !!!?

รวมถึงไม่ได้รับคำตอบใดๆจากประธานกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ชื่อ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ด้วย !!!?

ที่ต้องกล่าวถึงนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ก็เพราะเหตุว่าการยังไม่เปิดเผยข้อมูลรายชื่อ "ผู้มีอุปการคุณ" นั้น ทำให้ประชาชนที่ติดตามข้อมูลข่าวสารในเรื่องนี้อาจมีความเคลือบแคลงสงสัยและตั้งคำถามได้ว่า กรณีที่นางอานิก อัมระนันทน์ (ภรรยาของนายปิยสวัสดิ์) เขียนบทความระบุว่า "นายปิยสวัสดิ์ต่อต้านระบอบทักษิณเสมอมา" นั้น เป็นความจริงหรือไม่?

แม้จะไม่ได้รับคำตอบกลับมา แต่ปรากฏว่านายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ได้โพสต์ภาพแบนเนอร์ในเฟสบุ๊คของตนเองเฉพาะคำอธิบายเกี่ยวกับหุ้นอุปการคุณ 2 ภาพ ได้แก่



คำตอบในภาพแรกได้อธิบายว่า มีการกำหนดสิทธิสำหรับผู้มีอุปการคุณจำนวน 25 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 35 บาท แบ่งเป็น "ลูกค้าน้ำมัน" "ลูกค้าก๊าซ" และบริษัทในเครือ 12 แห่ง ได้แก่ PTTEP, Thappline, ATC, TTM-Thai, Thaioil, NPC, PTT-NGD, TLB, ทิพยประกันภัย, Thai Lube Blending, TOC, TPX รวมจัดสรร 2,294 ราย"

คำอธิบายในภาพแรกนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่ามูลค่า 25 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 35 บาทนั้นมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 875 ล้านบาท ถ้าหากคนกลุ่มนี้ได้รอและขายไปในราคา 300 บาทต่อหุ้นนั้น หุ้นเหล่านี้จะเพิ่มมูลค่ากลายเป็น 7,500 ล้านบาท ผู้ที่อ้างว่า "ผู้มีอุปการคุณ" ของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กลุ่มนี้อาจกลายเป็นมหาเศรษฐีได้อย่างง่ายดาย จริงหรือไม่?

โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผู้ได้รับหุ้นอุปการคุณสูงถึง 2,294 ราย แต่ภาพคำอธิบายข้างต้นนี้กลับเปิดเผยองค์กรและบริษัทในเครือที่อ้างว่าเป็นผู้มีอุปการคุณเพียงแค่ 12 ราย และยังไม่เปิดเผยรายชื่อบุคลลต่างๆสูงถึง 2,282 ราย!!!

แผนภาพแรกชุดนี้ยิ่งมีข้อน่าสงสัยต่อมาในการอธิบาย "ซ่อนคำ" ในความหมาย "ผู้มีอุปการคุณ" ว่าหมายถึง "ลูกค้าน้ำมัน" และ "ลูกค้าก๊าซ" !!!?

คำว่า "ลูกค้าน้ำมัน" จะต่างกับคำว่า "ผู้ประกอบการค้าน้ำมัน" และ "ลูกค้าก๊าซ" ก็จะต่างกับคำว่า "ผู้ประกอบการค้าก๊าซ" ดังนั้น ทุกคนในประเทศไทยต่างก็เป็นผู้ใช้น้ำมันและก๊าซ ย่อมจะสามารถเป็น "ลูกค้าน้ำมัน" และ "ลูกค้าก๊าซ" ได้ทั้งสิ้น จริงหรือไม่?

แต่คำถามคือ ใครเป็นบุคคลพิเศษในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ที่ได้รับการจัดสรรหุ้นของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะเป็น "ผู้มีอุปการคุณ" จำนวน 2,282 คน เหนือกว่าประชากรคนไทยที่เป็นลูกค้าน้ำมันและลูกค้าก๊าซ 62 ล้านคนในขณะนั้น !!!?



คำตอบในภาพที่สองอธิบายว่า "ไม่สามารถละเมิดสิทธิผู้อื่นได้"

ความจริงแล้ว การเปิดเผยข้อมูลเพื่อความโปร่งใสในเรื่องขายทรัพย์สมบัติของชาติมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ผ่านมาก็มีการเปิดเผยรายชื่อส่วนอื่นๆมาแล้วก่อนหน้านี้ เช่น ผู้ถือหุ้นองค์กรต่างชาติที่เป็นนอมินีทั้งหลายและผู้จองซื้อรายย่อย แต่เหตุใดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่อ้างว่าเป็นผู้มีอุปการคุณจึงต้อง "เป็นความลับ" ?

โดยเฉพาะในหนังสือชี้ชวนการขายหุ้นของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ระบุวิธีการจัดสรรหุ้นให้แก่ผู้มีอุปการคุณว่า:

"การจัดสรรสิทธิในการจองซื้อหุ้นให้แก่ผู้มีอุปการคุณ ให้อยู่ในดุลพินิจของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)"

ดังนั้นเมื่ออำนาจการตัดสินใจในการจัดสรรสิทธิ์ในการจองหุ้นให้แก่ผู้มีอุปการคุณอยู่ในดุลพินิจของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) องค์กรของรัฐย่อมไม่สามารถอ้างเรื่องการละเมิดสิทธิผู้อื่นมาเป็นข้ออ้างเพื่อปกปิดข้อมูลที่เกี่ยวกับการขายทรัพย์สินของชาติในครั้งนั้น จริงหรือไม่?

โดยเฉพาะหากหุ้นของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นทรัพย์สินของชาตินั้นถูกขายไปราคาต่ำๆ เพียง 35 บาท จนมีความต้องการทั้งจากในประเทศและต่างประเทศมากล้นโควต้าไปอย่างมหาศาล สมควรหรือไม่ที่จะต้องเปิดเผยผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยอ้างว่าเป็นผู้มีอุปการคุณว่าเป็นใครในการได้โควต้าซื้อทรัพย์สินของชาติในราคาถูกๆ เช่นนี้ ?

โดยเฉพาะการแปรรูปบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้นำท่อก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ทำให้การค้าก๊าซธรรมชาติถูกผูกขาดไปโดยปริยายให้มาเป็นทรัพย์สินในการกระจายหุ้นไปด้วยนั้น สมควรหรือไม่ที่จะต้องเปิดเผยผู้ที่ได้รับหุ้นและได้รับประโยชน์จากการผูกขาดท่อก๊าซธรรมชาติโดยอ้างว่าเป็นผู้มีอุปการคุณ?

ถ้าหากมีนักการเมือง หรือพรรคพวกนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลในขณะนั้น หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูป ได้รับหุ้นอุปการคุณของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไป จะสามารถกำหนดนโยบายผ่านกลไกรัฐต่างๆ ทำให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีท่อก๊าซธรรมชาติเป็นทรัพย์สินที่ผูกขาดกำไรสูงสุดเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับนักการเมืองและพรรคพวก โดยสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน หากมีการกระทำเช่นนี้จะถือเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์และเป็นการทุจริตหรือไม่? และสมควรหรือไม่ที่จะเปิดเผยรายชื่อผู้มีอุปการคุณ

ถ้าหากนักการเมืองฝ่ายค้าน หรือ สมาชิกวุฒิสภา ได้รับหุ้นอุปการคุณของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไปด้วย ฝ่ายนิติบัญญัติจะมีประสิทธิภาพในการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมาได้หรือไม่? และจะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่?

เช่นเดียวกัน กับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม เช่น ตำรวจ อัยการ ศาล ฯลฯ หากได้รับหุ้นอุปการคุณไปด้วย กระบวนการยุติธรรมจะทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตเชิงนโยบายที่ทำร้ายประชาชนเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้น ได้หรือไม่?

แม้กระทั่งหากสื่อมวลชนได้รับหุ้นอุปการคุณไปด้วย สื่อมวลชนรายนั้นจะรายงานข้อเท็จจริงและตรวจสอบการทำงานของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนได้อยู่ต่อไปหรือไม่?

ดังนั้นหากสมมุติว่าหุ้นของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถูกกระจายไปยังบุคคลดังกล่าวข้างต้นโดยอ้างว่าเป็นผู้มีอุปการคุณแล้ว ย่อมถูกตั้งคำถามว่าเป็นการทุจริตหรือไม่ และ เป็นการติดสินบนกลไกอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ และสื่อมวลชน หรือไม่? ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นย่อมสะท้อนความเสื่อมทางจริยธรรมและธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ จริงหรือไม่?

ในเรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปเรื่องท่อก๊าซธรรมชาติ ตามที่กำหนดเอาไว้ในแผนแม่บทแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ที่กำหนดให้แยกท่อก๊าซธรรมชาติออกไปจาก "การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย" ก่อนการแปรรูป เพื่อเปิดให้บุคคลที่สามสามารถเข้าใช้ได้โดยตรงนั้น แต่กลับปรากฏว่ามีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร กลับเสนอให้แปรรูปก่อนแล้วค่อยแยกท่อก๊าซออกไปทีหลังภายใน 1 ปี

ความแตกต่างในการแยกท่อก๊าซ "ก่อนการแปรรูป" และ "หลังแปรรูป" นั้นอยู่ที่ว่า หาก "แยกท่อก๊าซก่อนการแปรรูป" ทรัพย์สินอาจจะไม่ใช่เป็นของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และเป็นอีกองค์กรหนึ่งที่รัฐถือหุ้นอยู่ 100% ได้ แต่หาก "แยกท่อก๊าซธรรมชาติหลังการแปรรูป" แปลว่าท่อก๊าซธรรมชาติจะยังคงเป็นของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถึงแม้จะแยกออกมาตั้งบริษัทใหม่ก็จะกลายเป็นบริษัทลูกของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งสามารถผูกขาดและสร้างกำไรให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)อยู่ดี จริงหรือไม่?

ดังนั้นบทความของนางอานิก อัมระนันทน์ ที่พยายามจะชวนภาคประชาชนมาร่วมมือในการแบ่งแยกท่อก๊าซหลังการแปรรูปนั้น เป็นเรื่องที่ทำให้ผู้อ่านอาจจะหลงประเด็นไป เพราะภาคประชาชนเขาต้องการทวงคืนแยกท่อก๊าซธรรมชาติให้กลับมาเป็นของรัฐ มิใช่มาแยกท่อก๊าซธรรมชาติให้มาเป็นบริษัทลูกของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อผูกขาดกิจการท่อก๊าซธรรมชาติต่อไปอีก

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเรื่องท่อก๊าซธรรมชาติในครั้งนั้น เป็นการเปลี่ยนเนื้อเรื่องจากหน้ามือกลายเป็นหลังมือ บทบาทของนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ จึงเป็นเรื่องที่น่าวิเคราะห์อย่างยิ่ง

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นผู้ที่มีการศึกษาสูงอย่างหาตัวเปรียบยาก หลังจบการศึกษาระดับปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ ก็เข้าทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต่อมาหลังจากรัฐประหาร ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 แล้ว ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุน โดยมีนายเสนาะ อูนากูล เป็นรองนายกรัฐมนตรี และในปี 2534 ก็ได้โยกย้ายนายปิยสวัสดิ์ซึ่งเป็นหลานของนายเสนาะไปเป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ

ในปี พ.ศ. 2537 นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ได้เลื่อนขึ้นเป็นเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และดำรงตำแหน่งอยู่นานถึง 6 ปี นับเป็นข้าราชการประจำที่ทรงอำนาจเรื่องพลังงานมากที่สุด และมีผลงานหลายอย่างที่เป็นที่ประทับใจ เช่น นโยบายน้ำมันลอยตัว การลดกำมะถันในน้ำมันดีเซลซึ่งทำให้มลพิษในอากาศน้อยลง

อย่างไรก็ตาม นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ได้รับการต่อวาระครบ 2 ครั้งตามระเบียบราชการ ไม่สามารถต่อวาระได้อีก จึงได้ย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2543

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2543 นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งถึงแม้จะเป็นตำแหน่งเท่าเดิม แต่ไม่ได้ตรงกับวิชาความรู้ความชำนาญที่นายปิยสวัสดิ์ร่ำเรียนมา ดังนั้น เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเป็นของนายทักษิณ ชินวัตร และเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2544 รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ได้แต่งตั้งนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กลับเข้าเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติอีกครั้งหนึ่ง ทั้งที่ยังไม่ครบระยะเวลา 1 ปีสำหรับการว่างเว้นภายหลังจากพ้นตำแหน่งเดิม

ดังนั้นกรณีที่ นางอานิก อัมระนันทน์ เขียนบทความระบุว่า “นายปิยสวัสดิ์ต่อต้านระบอบทักษิณเสมอมา” จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าเหตุใดทักษิณจึงได้แต่งตั้งบุคคลที่ต่อต้านระบอบทักษิณเข้าทำงานในตำแหน่งสำคัญในครั้งนั้น?

และถ้าดูประวัติของนายทักษิณ ชินวัตรจะเห็นว่าไม่เคยแต่งตั้งตำแหน่งที่สำคัญให้กับบุคคลที่แสดงการต่อต้านระบอบทักษิณอย่างเปิดเผยเลย จริงหรือไม่? สถานการณ์ในขณะนั้น รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ต้องการสานต่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เริ่มต้นในช่วงของรัฐบาลนายชวน หลีกภัย จึงต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน และเนื่องจากในเวลานั้น นายปิยสวัสดิ์ อัมะรนันทน์ เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญด้านพลังงานมากที่สุดคนหนึ่ง จึงเสมือนเป็น "ม้าแข่งชั้นดีเจอจ๊อคกี้ที่แพรวพราว"

นางอานิก อัมระนันทน์ เขียนบทความระบุว่า ในการที่รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ทำแผนแม่บทแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งระบุให้แยกท่อก๊าซของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ออกไปเพื่อให้บุคคลที่สามเข้ามาใช้เพื่อให้เกิดการแข่งขันนั้น นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ซึ่งขณะนั้นก็เป็นเลขาธิการสำนักงานนโยบายพลังงานแห่งชาติ ก็เป็นผู้ริเริ่มและร่วมผลักดันนโยบายนี้ด้วย จริงหรือไม่?

แต่การที่รัฐบาลนายทักษิณกำหนดเป้าหมายให้แปรรูป ปตท.เข้าตลาดหลักทรัพย์ภายในเดือน พ.ย. 2544 เป็นเงื่อนเวลาเร่งด่วนมาก จึงเป็นข้ออ้างในบทความของนางอานิก อัมระนันทน์ ว่า "ไม่มีทางแยกท่อก๊าซได้ทัน" 

คำอธิบายของนางอานิก อัมระนันทน์ สรุปได้ว่า เหตุผลที่นายปิยสวัสดิ์เสนอเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ตนเองเป็นผู้ริเริ่ม ก็เพราะเป้าหมายเวลาที่นายทักษิณกำหนดให้แปรรูปนั้นทำให้แยกท่อก๊าซไม่ทัน

ถ้าย้อนประวัติศาสตร์ จะพบว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นข้อแนะนำในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ แต่เงื่อนไขของไอเอ็มเอฟ เป็นเรื่องที่ยืดหยุ่น ประเทศลูกหนี้สามารถปรับเงื่อนเวลาให้เหมาะสมได้เสมอ นอกจากนี้รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ก็มีแผนการที่จะชำระหนี้ไอเอ็มเอฟก่อนกำหนดอยู่แล้ว ดังนั้นจังหวะเวลาที่จะแปรรูป ปตท. ซึ่งรัฐบาลนายทักษิณกำหนดขึ้นเองเป็นเดือนพฤศจิกายน 2544 นั้น จึงไม่ใช่ข้อผูกพันตามเงื่อนไขโครงการไอเอ็มเอฟ จริงหรือไม่?

หลักฐานในเรื่องนี้ปรากฏในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2544 (ครั้งที่ 83) เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2544 ภายใต้รัฐบาลนายทักษิณ โดยมีนายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ประธานกรรมการ ในการประชุมครั้งนั้นประธานที่ประชุมได้ขอให้ผู้แทนกระทรวงการคลังรายงานให้ที่ประชุมทราบ ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปข้อความบางตอนเกี่ยวกับความเร่งรีบการแปรรูปบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ความว่า : 
"การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความประสงค์จะให้ ปตท. เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างช้าภายในเดือนพฤศจิกายน 2544... ซึ่งการนำรัฐวิสาหกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์จะช่วยเพิ่มมูลค่าในตลาดทุนและจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มาก เมื่อรัฐบาลได้ประกาศนโยบาย เรื่องนี้ไปแล้ว หากไม่ได้มีการดำเนินการหรือดำเนินการไม่ทันตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ก็จะให้นักลงทุน ขาดความมั่นใจได้”
 
ดังนั้น เหตุผลหลักที่นายทักษิณ ชินวัตร ต้องการให้แปรรูปแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2544 ก็คือ “หากไม่ได้มีการดำเนินการหรือดำเนินการไม่ทันตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ก็จะทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจได้”

เหตุผลดังกล่าวจึงไม่ใช่เงื่อนไขของไอเอ็มเอฟ แต่เป็นเงื่อนไขที่รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ตั้งขึ้นเอง และเนื่องจากเงินที่กระทรวงการคลังได้รับจากการแปรรูป ปตท. นั้นเป็นจำนวนน้อยมากในระดับหมื่นล้านบาทเท่านั้น จึงไม่มีผลอย่างเป็นนัยยะสำคัญต่อฐานะการคลังของรัฐบาล ดังนั้นถ้าหากการแปรรูปไม่แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2544 นักลงทุนที่จะขาดความมั่นใจ ก็มีแต่เฉพาะนักลงทุนที่จ้องจะใช้โควต้าต่างชาติ และโควต้าของ “ผู้มีอุปการคุณ” เพื่อจองซื้อหุ้นของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นั้นเอง ส่วนนักลงทุนที่ซื้อขายหุ้นอื่นๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ไม่มีเหตุผลกลใดที่จะต้องพาลขาดความมั่นใจไปด้วยแม้แต่น้อย จริงหรือไม่?

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ จะพบว่า พ.ร.บ. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 กำหนดไว้ในมาตรา 6 ว่ามีหน้าที่เกี่ยวกับนโยบายพลังงานของชาติ โดยไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติมีหน้าที่ต้องดูแลการพัฒนาตลาดทุนไทย และไม่มีหน้าที่ต้องดูแลความเชื่อมั่นของนักลงทุนแต่ประการใด

ดังนั้น เหตุใด นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ จึงไม่เสนอต่อรัฐบลทักษิณ ให้เลื่อนกำหนดการแปรรูปออกไปก่อน เพื่อดำเนินการเรื่องแยกท่อก๊าซให้เสร็จอย่างรวดเร็ว ซึ่งระบุเอาไว้ว่าจะใช้เวลาเพียง 1 ปี เพื่อจะได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างถูกต้องตามนโยบายที่ตัวเองได้ริเริ่มเอาไว้ เรื่องนี้ต่างหากที่ควรจะเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบหลักของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติมิใช่เรื่องปัญหาความเชื่อมั่นของนักลงทุน จริงหรือไม่?

และถ้าจะกล่าวถึงความเชื่อมั่นของการลงทุนแล้ว การรีบร้อนแปรรูปในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2544 เป็นช่วงเวลาหลังเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมในสหรัฐอเมริกา หรือเที่เรียกว่า เหตุการณ์ 911 เพียง 2 แค่เดือน ในขณะที่หุ้นทั่วโลกดิ่งเหว มีเหตุผลเพียงพอแล้วหรือที่จะรีบร้อนแปรรูป โดยอ้างว่าแยกท่อก๊าซไม่ทัน?

นอกจากนี้นางอานิก อัมระนันทน์ ได้เขียนบทความอธิบายอีกว่า ถึงแม้นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีพลังงานในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลลานนท์ แต่ไม่ได้ดำเนินการแยกท่อก๊าซ ก็เพราะในช่วงนั้น กำลังมีคดีในศาลปกครองที่มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคฟ้องร้องให้มีการเพิกถอนการแปรรูป ปตท.นั้น ซึ่งความเป็นจริงแล้วตรรกะนี้ไม่เกี่ยวกันเลย เพราะสาเหตุการฟ้องก็เพราะรัฐบาลนายทักษิณมีมติที่จะแยกท่อภายใน 1 ปีหลังการแปรรรูปแต่ก็ไม่ดำเนินการใดๆ ดังนั้นหากนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานดำเนินการให้แยกท่อในทันที ก็จะทำให้คำร้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคต้องตกไป จริงหรือไม่?

และภายหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาแล้ว บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกับกรมธนารักษ์ ก็กลับส่งคืนเฉพาะท่อบนบกบางส่วนเท่านั้น แต่ท่อก๊าซธรรมชาติในทะเลซึ่งเป็นท่อส่วนใหญ่ของโครงข่ายท่อก๊าซธรรมชาติกลับไม่ยอมคืนจริงหรือไม่ รวมถึง พ.ร.บ.ร่วมทุนไทย-มาเลเซีย ซึ่งเป็นกิจการรัฐต่อรัฐก็กลับยกให้เป็นทรัพย์สินของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไปด้วย จริงหรือไม่?

ดังนั้นนับจากนี้ใครอ้างว่าต่อต้านระบอบทักษิณมาโดยตลอดนั้น จะจริงหรือไม่ ก็ต้องดูพฤติกรรมด้วยว่าเมื่อมีอำนาจแล้วลงมือปฏิบัติอย่างไรและด้วยเหตุผลใด ซึ่งประชาชนเขาจะตัดสินเองได้ว่าคนเหล่านั้นเป็นไพ่ฝากทักษิณ จริงหรือไม่?

แต่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะรับฝากไพ่ใบนี้ต่อไปหรือไม่?



กำลังโหลดความคิดเห็น