xs
xsm
sm
md
lg

"ไทยพีบีเอส"คลื่นแทรก คนดูหด-จริยธรรมลด!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรื่องการใช้เงินงบประมาณจำนวนประมาณ 200 ล้านบาท ขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือทีวีช่องไทยพีบีเอสไปซื้อหุ้นกู้ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF กำลังเป็นปมร้อนที่มีการวิจารณ์กันมาก ทั้งด้านกฎหมายและจริยธรรม รวมแล้วก็คือผู้บริหารถูกกล่าวว่าขาดธรรมาภิบาลนั่งเอง

เพราะการกระทำดังกล่าว ***ผู้มีอำนาจของไทยพีบีเอสอาจจะทำไม่ถูกต้องใช้วิจารณญาณโดยไม่เหมาะสม เสี่ยงกับการละเมิดกฎหมายทำลายจริยธรรมสื่อของทีวีสาธารณะที่ต้องมีความเป็นกลาง โปร่งใส อิสระไม่ถูกครอบงำจากฝ่ายไหน อาจจะส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่สื่อสาธารณะเพื่อประโยชน์ของสังคม***

และที่สำคัญ ผู้บริหารไม่สามารถนำเงินองค์กรไปหมุนหาดอกผลกับธุรกิจการค้านอกเหนือวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้จนเลยเถิด

หลังจากเป็นเรื่องขึ้นมา ***ทพ. กฤษดา เรืองอารีย์รัชต*** ผู้อำนวยการส.ส.ท.ยอมรับภายหลังว่ามีการนำเงินไปซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิของซีพีเอฟจริง พร้อมกันนั้นกฤษดาที่เคยตำหนิกลุ่มพนักงานไทยพีบีเอสที่เปิดเผยเรื่องนี้ว่า

หากมีการนำความที่ผิดพลาดออกมาสื่อสารภายนอกองค์กรสร้างความเสียหายให้กับองค์กร จะถูกลงโทษทางวินัย แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นไม่มีอะไรไม่จริง จนจะต้องเรียกประชุมผู้บริหารในวันพฤหัสฯนี้ เพื่อถอดชนวนระเบิดก่อนที่ไทยพีบีเอสจะเละกว่านี้

เงินของสสท. หรือไทยพีบีเอส เป็นเงินงบประมาณแผ่นดินที่เอามาจากภาษีเหล้าเบียร์บุหรี่ หรือเรียกกันว่า ภาษีบาป ซึ่งในแต่ละปีจะได้รับการจัดสรรจากภาษีบาปร้อยละ 1.5 แต่จะได้ไม่เกิน 2,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อใช้จ่ายในการทำงานสื่อสาธารณะ ทั้งทีวีและเว็บไซต์ข่าวเป็นหลัก

ไทยพีบีเอส จึงเป็นองค์กรสื่อที่มีความมั่นคงที่สุด เพราะไม่ต้องทำธุรกิจ ไม่ต้องอาวรณ์ร้อนใจกับเรื่องธุรกิจที่จะกำไรหรือขาดทุน ปีๆ หนึ่งก็ได้งบประมาณจากภาษีประชาชนมาใช้จ่ายทำข่าวกันสบายๆ

ไทยพีบีเอส ก็เลยเป็นที่หมายของคนทำงานสื่อต้องการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ก็เป็นธรรมดาที่มีการแก่งแย่งกันต่อสู้ช่วงชิงกันเพื่อพวกตนจะได้อยู่อย่างมั่นคงในที่นี่ โดยเฉพาะคนในระดับบริหารระยะหลังก็มีเสียงนินทาและมองกันว่าไทยพีบีเป็นองค์กรซ่อนเงื่อน มีคนแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวเข้าไปแฝงตัวอยู่ไม่น้อย

ทางด้านผลงานของทีวี จากการจัดเรตติ้ง ล่าสุด *** ทีวีไทยพีบีเอสตกรูดไปอยู่ในอันดับที่ 16 และ 17 เป็นกลุ่มท้ายตารางของทีวียุคดิจิตอลในวันนี้ไปแล้ว*** จากเดิมเมื่อปีก่อนยืนอยู่ที่อันดับ 6 ก็ถูกใช้เป็นเหตุปลดผู้อำนวยการฯ และทีมบริหารอย่างไร้น้ำใจ แต่พอเรตติ้งมาอยู่เกือบที่ท้ายๆก็ ไม่เห็นบอร์ดของที่นั่นจะเดือดร้อนอะไรในเรื่องผลงาน

***การนำเงิน 200 ล้านบาท มาซื้อหุ้นกู้ ส่งผลให้ไทยพีบีเอสได้รับผลกระทบทางด้านภาพลักษณ์การบริหารและจริยธรรมของสื่ออย่างหนัก*** ไม่ใช่เพราะว่าซื้อหุ้นกู้ของ CPF แล้วจะผิดและถูกตำหนิ ซึ่งเรื่องนี้คนขายหุ้นไม่เกี่ยวเพราะเขาเป็นองค์กรเอกชนทำธุรกิจและขายหุ้นกันอย่างเปิดเผยเป็นการทั่วไปตามกฎกติกาตลาด

แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณาอยู่ที่ผู้บริหารระดับสูงของไทยพีบีเอสต่างหาก ที่สุ่มเสี่ยงต่อการใช้เงินไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ อันจะเป็นผลต่อการละเมิดกฎหมาย แม้ว่าจะอ้างว่ากฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ตามพรบ. การจัดตั้งส. ส. ท. ในมาตรา11 วงเล็บ 7 ที่นิยามคำว่าทุน ทรัพย์สิน และรายได้ มาจาก ดอกผลที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินขององค์กร

คาดว่า กฤษดาคงจะมั่นใจว่ากฎหมายให้อำนาจทำได้ เพราะคงเป็นการตีความกฎหมายอย่างกว้าง จึงนำเงินทุนขององค์กรไปซื้อหุ้นกู้ แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครกล้าทำ คนเก่ายุคหนึ่งเคยคิดจะทำแต่เมื่อหารือไปยังกรมบัญชีกลางก็ถูกเบรกกลับมาต้องหยุดคิด

เพราะมีคำแนะนำกลับมาว่าเงินงบประมาณใช้ไม่หมดก็ต้องส่งคืนคลัง จะเอาไปหมุนลงทุนอื่นก็ไม่ได้ แม้แต่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลก็ไม่ได้ เพราะเป็นเงินของรัฐจะมาหาดอกเบี้ยจากรัฐไม่ได้ ยิ่งไปลงทุนกับเอกชนก็ยิ่งขัดต่อเจตนารมณ์กฎหมายและหลักการใช้เงินแผ่นดิน

เรื่องนี้มีสองแง่มุมที่จะต้องได้ข้อสรุป ***หนึ่งคือทางด้านจริยธรรมคุณธรรมสื่อจะเป็นอย่างไร ก็มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในตอนนี้ อีกไม่นานคงตกผลึก ส่วนอีกด้านหนึ่งคือแง่มุมด้านกฎหมาย ต้องตามดูว่าการซื้อหุ้นกู้จะเป็นการกระทำที่ละเมิดฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ ***

***จะเป็นหน้าที่ของสำนักนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลส. ส. ท. ,กระทรวงการคลังและสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินก็จะต้องชี้ว่าเป็นการใช้เงินถูกต้องหรือไม่ อีกหน่วยงานหนึ่งก็คือป. ป. ช. ถึงขั้นนี้แล้วก็คือเป็นคดีอาญา!***

โปรย ... ประเด็นที่ต้องพิจารณาอยู่ที่ผู้บริหารระดับสูงของไทยพีบีเอส ที่สุ่มเสี่ยงต่อการใช้เงินไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ อันจะเป็นผลต่อการละเมิดกฎหมาย แม้ว่าจะอ้างว่ากฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ตามพรบ. การจัดตั้งส. ส. ท.
กำลังโหลดความคิดเห็น