xs
xsm
sm
md
lg

เลี่ยงเก็บภาษีหุ้นชิน1.2 หมื่นล้าน เกี้ยเซียะสาบสูญ-เงียบกริบ !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**มันก็เป็นเสียอย่างนี้ทุกที จะไม่ให้ชาวบ้านเขานินทาวิจารณ์ในทางเสียหายกับการทำหน้าที่ของรัฐในหลายๆเรื่องได้ไง ล่าสุดก็มีข่าวเรื่องสงสัยว่ากรมสรรพากรกำลัง "ทำเฉย"ไม่ยอมเร่งรัดเก็บภาษีจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท จากการขายหุ้น "ชินคอร์ป" จำนวน 7.3 หมื่นล้านบาท ของครอบครัว ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 ซึ่งตามรายงานระบุว่า กำลังจะหมดอายุความ 10 ปี ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560
แน่นอนว่านี่เป็น "เผือกร้อน" นอกจาก อธิบดีกรมสรรพากร ประสงค์ พูนธเนศ แล้วแรงสั่นสะเทือนก็ต้องส่งไปถึงรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าไปอย่างจัง เพราะนอกจากเรื่อง "รายได้" เข้ารัฐแล้วมันก็ช่วยไม่ได้ที่มีเรื่อง "การเมือง" เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งทั้งสองอย่างนี่แหละน่ากลัว เพราะในที่สุดแล้วแยกกันไม่ออก
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า ทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ยืนยันให้รัฐบาลสั่งการให้กรมสรรพากรเก็บภาษี นายทักษิณ ชินวัตร จำนวน 12,000 ล้านบาท จากการหลีกเลี่ยงภาษีในการขายหุ้นของชินคอร์ป ให้กองทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์ โดยให้ใช้มาตรา 61 แห่งประมวลรัษฎากร ภายในวันที่ 31 มี.ค. 60 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของอายุความ 10 ปี
กรณีนี้กรมสรรพากรสามารถทำหนังสือแจ้งการประเมินภาษี นายทักษิณได้โดยไม่ต้องออกหมายเรียกตรวจสอบก่อน เพราะมาตรา 61 มิได้บังคับให้ออกหมายเรียกก่อนประเมินภาษีเหมือนมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากร ที่บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าต้องออกหมายเรียกตรวจสอบก่อนจึงจะประเมินได้
หากกรมสรรพากรเกรงว่าเป็นการประเมินที่ไม่ชอบ เนื่องจากไม่ได้ออกหมายเรียกตรวจสอบก่อน สตง.ก็เห็นว่า กรมสรรพากร เคยออกหมายเรียกตรวจสอบ นายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทา ชินวัตร เมื่อ 3 ส.ค. 50 ซึ่งบุคคลทั้งสอง เป็นตัวแทนของนายทักษิณผู้มีเงินได้ที่แท้จริง ตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ที่ 242-243/2555
การออกหมายเรียกตรวจสอบตัวแทนทั้งสอง จึงมีผลผูกพันกับนายทักษิณ ซึ่งเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797 และ 821 มีผลเท่ากับได้มีการออกหมายเรียกตรวจสอบนายทักษิณไปแล้ว กรมสรรพากรจึงมีอำนาจประเมินให้นายทักษิณ เสียภาษี 12,000 ล้านบาท ได้โดยไม่ต้องออกหมายเรียกตรวจสอบอีก ซึ่งการส่งหนังสือแจ้งการประเมินกรมสรรพากร สามารถส่งโดยวิธีปิดหนังสือดังกล่าวไว้ที่บ้าน ซึ่งนายทักษิณมีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร ตามมาตรา 8 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีผลทันทีตามกฎหมาย เนื่องจากนายทักษิณ อยู่นอกราชอาณาจักร
นอกจากนี้ ผู้ว่าฯสตง. ยังระบุอีกว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มี.ค. ที่ผ่านมา มีการประชุมระหว่าง สตง. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย และอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว ซึ่งสตง. ยืนยันกับรัฐบาลในเรื่องดังกล่าว โดยขอให้รัฐบาลสั่งการให้กรมสรรพากรประเมินเรียกเก็บภาษี 12,000 ล้านบาท ภายใน 31 มี.ค. 60 นี้ หากไม่มีการดำเนินการ และคดีขาดอายุความ รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบ
คำถามที่ตามมาทันทีก็คือ เวลาผ่านมานานหลายปี ทำไมเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ทำหน้าที่ให้เต็มกำลังความสามารถ ทำไมไม่รักษาผลประโยชน์ของชาติ ปัญหาก็คือไม่ใช่ต้องมาเร่งรัดเอาภายในสัปดาห์สองสัปดาห์นี้ ก่อนที่จะหมดอายุความ ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างมีท่าทีเหมือนกับหลบหน้า ต่างตอบคำถามแบบขอไปทีกันทั้งนั้น ไล่ลงมาตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก็ไม่ขึงขัง อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็อ้อมแอ้ม โดยเฉพาะ ประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ตั้งแต่มีการปูดเรื่องนี้ขึ้นมาก็หายเงียบไปเลย ไม่เห็นออกมาชี้แจงให้เป็นเรื่องเป็นราวให้เห็นเลย
แม้ว่าล่าสุดจะมีเสียงชี้แจงเล็กๆ เบาๆ กลับมาว่าคดีดังกล่าวหมดอายุความมาตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2555 มันก็ยิ่งน่าขำไม่ได้แตกต่างกัน เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริง เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปล่อยผ่านมาได้อย่างไร ถือว่า "ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่" หรือไม่
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากคำพูดของ พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่ยืนยันว่าอายุความ 10 ปี ยังเหลือจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2560 และสามารถเรียกเก็บภาษีได้ทันที โดยไม่ต้องออกหมายเรียกซ้ำให้เสียเวลา โดยยกเอาคำพิพากษาของศาลภาษีอาการกลาง ที่ 242-243/2555 มาเป็นบรรทัดฐาน จาก พานทองแท้ ชินวัตร และ นส.พิณทองทา ชินวัตร ซึ่งบุคคลทั้งสอง เป็นตัวแทนของ ทักษิณ ชินวัตร ตามที่มีการพิสูจน์มาแล้ว
สิ่งที่น่าพิจารณาก็คือ กรณีการละเลย เหมือนกับการ "จงใจ" ปล่อยให้คดี "หมดอายุความ"นั้น มีสาเหตุเป็นเพราะอะไร ใครได้ประโยชน์จากฝ่ายที่ต้องจ่ายภาษี คือจาก ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งที่ผ่านมาเหตุการณ์แบบนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นกรณีแรก เพราะหากย้อนกลับไปพิจารณาหลังจากมีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสั่งยึดทรัพย์ ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ระบุถึงความมิชอบในคำพิพากษาหลายเรื่องหลายประการ ตั้งแต่เรื่องสัมปทาน เรื่องขายหุ้น เงินกู้ ฯลฯ แต่จนถึงบัดนี้ได้เคยมีหน่วยงานไหน และรัฐบาลไหนบ้างที่ตื่นตัว และรื้อฟื้นกรณีเหล่านั้นขึ้นมาเอาผิด
** แน่นอนว่า หากปล่อยให้คดีเก็บภาษีขายหุ้นชินคอร์ป 1.2 หมื่นล้านบาทหมดอายุความ ไม่ว่าจะหมดอายุมาตั้งแต่ปี 2555 หรือว่าในอีกราวสองสัปดาห์ที่จะหมดในวันที่ 31 มีนาคม 2560 ก็ตาม รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องรับผิดชอบ โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นในกรณีหลังรับรองว่ามีผลกระทบตามมา มีแรงสั่นสะเทือนแน่ เพราะเริ่มมีหลายเรื่องที่มีคำถาม โดยเฉพาะเรื่อง "การปรองดอง" ที่มักมีข่าว "ทะแม่ง" มากขึ้นทุกที !!
กำลังโหลดความคิดเห็น