xs
xsm
sm
md
lg

ดันอู่ตะเภาเมืองการบิน ผุดรถไฟเร็วสูงกทม.-ระยอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

"สมคิด"นั่งหัวโต๊ะเร่งขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ดันพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก และเร่งพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อมกรุงเทพฯ-ระยอง เตรียมเสนอบอร์ดใหญ่ ที่มี "บิ๊กตู่" เป็นประธานเคาะ วันที่ 5 เม.ย.นี้ ส่วน "ดิจิทัลพาร์ค" คืบหน้า ใช้พื้นที่ อ.ศรีราชา 621 ไร่ในการพัฒนา

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) ว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (ครศ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ในวันที่ 5 เม.ย.2560 นี้ จะเสนอให้ประกาศพื้นที่บริเวณสนามบินอู่ตะเภาเป็นเขตส่งเสริมระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือเมืองการบินภาคตะวันออก (Eastern Airport City) พื้นที่ 6,500ไร่ และการพัฒนารถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง ที่จะต้องประกาศทีโออาร์ให้เอกชนมาลงทุนในกลางปีนี้ และเปิดประมูลให้ได้ภายในปีนี้ หลังจากที่ขณะนี้ ผ่านขั้นตอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว

"การประชุมใหญ่ที่มีนายกฯ เป็นประธาน ประเด็นต้องชัด โดยเฉพาะรถไฟฟ้าจากกรุงเทพฯ-ระยอง ต้องเป็นรถไฟความเร็วสูง จากนั้นจะไปขยายเชื่อมอะไร ก็ต้องไปว่ากันทางเทคนิคต่อ ส่วนอู่ตะเภาจะเชื่อมกับสุวรณภูมิ ดอนเมือง ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาค ที่ต้องมีศูนย์ซ่อม ลอจิสติกส์ ซึ่งกองทัพเรือจะเป็นหน่วยงานหลัก แต่ได้มอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมเข้าไปร่วม เพราะจะต้องมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ต้องไปเกี่ยวข้อง เพราะนอกจากอุตสาหกรรมการบินแล้ว ยังมีรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 28 มี.ค. ที่กำหนดเป็นแพคเกจส่งเสริมการลงทุน และยังมีอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรด้วย"นายสมคิดกล่าว

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะประธาน กรศ. กล่าวว่า คาดว่าจะเห็นทีโออาร์ในส่วของการพัฒนาเกี่ยวกับสนามาบินอู่ตะเภาภายใน 3-6 เดือน เพื่อจัดประมูลภายในสิ้นปีนี้ โดยจะใช้รูปแบบรัฐร่วมเอกชน (PPP) ซึ่งขณะนี้กำหนดแนวทางไว้ว่า เมืองการบินภาคตะวันออกจะประกอบด้วย 1.ทางวิ่ง 2 ทางวิ่งมาตรฐาน 2.กลุ่มกิจกรรมหลัก 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอาคารผู้โดยสารและการค้า เพื่อรองรับผู้โดยสาร 15-30-60 ล้านคนในระยะเวลา 5-10-15 ปีตามลำดับ , กลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยานในลักษณะเขตการค้าเสรี เพื่อประกอบอุตสาหกรรมและการค้าเชื่อมโยง , กลุ่มธุรกิจขนส่งทางอากาศ , กลุ่มธุรกิจซ่อมเครื่องบิน , กลุ่มศูนย์ฝึกอบรมบุคคลากรธุรกิจการบิน และในอนาคตอาจมีการพิจารณาเพิ่มเติมอีก 3 กิจกรรมในพื้นที่ใกล้เคียง คือ กลุ่มธุรกิจท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ ศูนย์การแพทย์เฉพาะด้าน อุตสาหกรรเทคโนโลยีป้องกันประเทศ

"กรส. จะนำเสนอบอร์ดใหญ่ให้นำ 5 โครงการลงทุนหลัก คือ สนามบินอู่ตะเภา รถไฟความเร็วสูง และรถไฟรางคู่ ท่าเรือแหลมฉบัง อุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) และการพัฒนาเมืองใหม่มาเป็นโครงการนำร่อง และจะเสนอความคืบหน้าในส่วนของสนามบินอู่ตะเภาและรถไฟความเร็วสูงที่เร่งด่วนในการพัฒนา"นายอุตตมกล่าว

นายคณิต แสงสุพรรณ เลขาธิการ ครศ. กล่าวว่า ความคืบหน้าพื้นที่ๆ จะทำดิจิทัลพาร์ค (EEC D) กำหนดไว้ 621 ไร่ ที่อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของEEC คาดว่าจะลงทุนทั้งสิ้น 6.8 หมื่นล้านบาท จะเป็นสัดส่วนลงทุนรัฐ 20% ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นเอกชน โดยพื้นที่นี้ จะเป็นการสร้างอุตสาหกรรมเกี่ยวกับดิจิทัลภาพรวม และยังรวมถึงการพัฒนารถไฟฟ้า(EV) ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย เพราะผู้ประกอบการมองว่าในอีก 5 ปี อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นหนึ่งเดียวกับดิจิทัล
กำลังโหลดความคิดเห็น