xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ. : โชคในคราวเคราะห์ หรือจะจบด้วยอามะภันเต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กฟผ. : โชคในคราวเคราะห์ หรือจะจบด้วยอามะภันเต

โดย พายัพ วนาสุวรรณ

วันนี้คนใน กฟผ.ที่น่าสงสารที่สุด ก็คงไม่พ้นท่านผู้ว่าฯ คนปัจจุบัน
การกลับตัวของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 360 องศานี้ น่าจะทำให้ท่านผู้ว่าฯ กฟผ. คนนี้ถึงกับไปไม่เป็น เห็นไม่ชัดเลยทีเดียว
เป็นใครก็คงต้องมีปฏิกิริยาแบบนี้ เพราะผู้ว่าฯ คนนี้เป็นคนที่ทหารตั้งขึ้นมา และในสายสัมพันธ์ต่างๆ ที่ผูกพันและโยงใยกันมาตลอด ก็คงจะทำให้ท่านผู้ว่าฯ คนนี้มีความรู้สึกว่า เมื่อทหารตั้งขึ้นมา พล.อ.ประยุทธ์ มีแต่ทางที่จะเอาด้วย (ซึ่งดูการเคลื่อนไหวและทิศทางแล้วก็ออกมาในรูปนั้น) เพราะฉะนั้นโรงไฟฟ้าถ่านหินของกระบี่ มันเหมือนส้มในลัง จะหยิบขึ้นมาปอกเปลือกทานเมื่อไหร่ก็ได้?!
ขบวนการหนุนถ่านหินทั้งขบวนการ (รวมไปถึงพวกที่แอบไปตกลงว่าจะได้ค่าคอมมิชชันตันละเท่าไหร่ ?) ก็ไปไม่ถูก เข็มทิศเสียกันไปหมด
วันนี้จะไม่อธิบายว่าการถอยครั้งนี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นยุทธวิธีที่ฉลาด และถูกต้อง เพราะถ้าไม่ถอย คสช.มีสิทธิล้มทั้งคณะ เพราะไม่ประมาทมวลชน และไม่มั่นใจเกินไปว่า “คนถือปืนทำอะไรก็ไม่ผิด”
แต่วันนี้อยากจะเสนอหาทางออกให้ กฟผ. และเชื่อว่าวิกฤตโรงไฟฟ้าถ่านหินครั้งนี้ ต้องถือว่าเป็นโชคในคราวเคราะห์จริงๆ
วันนี้ กฟผ.ยุค Facebook/LINE/TV DIGITAL/SMARTPHONE ฯลฯ มันเลยหน้ายุค เกษม จาติกวณิช มาหลายพันหลายหมื่นลี้แล้ว!!
ก่อนอื่นความเชื่อขององค์กร (กฟผ.) ที่ว่าตัวเองมีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบในการหาความมั่นคงในด้านพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยนั้น กระบวนทัศน์และความเชื่อในด้านนี้ต้องปล่อยวางได้แล้ว
คน กฟผ. (พวกวิศวกรทั้งหลาย ฯลฯ) ต้องมองไปบนฟ้า สูดหายใจลึกๆ และระหว่างผ่อนลมหายใจออกมา ก็พูดกับตัวเองว่า “ต้องให้ประชาชนและชุมชนเขาเข้ามาช่วยเราหาทางออกในเรื่องนี้กับเรา” แล้วกลับไปเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ทิ้งอัตตาความเป็นวิศวกรไว้ในลิ้นชัก แล้วเราค่อยมาคุยกัน
สื่อแรกที่ กฟผ.และคนอยู่ในวงการพลังงานมีเหมือนกันคือ การเป็นคน และหรือกลุ่มคนที่อหังการและมมังการ ว่าตัวเองรู้ดีที่สุด
ที่สำคัญคนในวงการนี้ชอบพูดความจริงครึ่งเดียว และบางครั้งกับหลายครั้ง ชอบซ่อนความจริงและข้อมูลที่ไม่อยากจะให้สาธารณชนรู้ เพราะถ้าสาธารณชนรู้ ชุดภาษาที่ตัวเองชอบใช้ว่า “ไฟฟ้าจะไม่มีใช้นะ” มันจะไม่ศักดิ์สิทธิ์
ยุทธวิธีของคนในกลุ่มพลังงานพวกนี้ ชอบใช้การขู่เพื่อให้กลัว (อันนี้ได้ผลกับคนที่ด้อยปัญญา และทหารผู้มีอำนาจเพราะเขาเชื่อในคำพูดของ กฟผ./ปตท. และฝ่ายพลังงาน บนพื้นฐานและความเชื่อที่ว่าคนพวกนี้เขาชำนาญเรื่องนี้ และเขารู้ดีกว่าคนอื่น)
แต่เผอิญสังคมทุกวันนี้เป็นสังคมก้มหน้า ทุกคนกดปุ่นบนสมาร์ทโฟน iPad แท็บเล็ตฯลฯ จะหาข้อมูลอะไร? แบบไหน? จากที่ใด? ฯลฯ ก็สามารถจะหาได้ มันไม่ใช่ยุคเวลาพวกนี้แถลงข่าวแล้วคนฟังก็จะนิ่ง อ้าปากหวอแล้วก็รับข้อมูลไป บางครั้งสัญชาตญาณมันบอกว่าไม่ใช่ แต่ในยุคนั้นมันไม่มีทางออกตรวจสอบอะไรได้ ก็ได้แต่กล้ำกลืน
จากยุคสังคมกล้ำกลืน ผ่านมายุคทุกคนมีสิทธิจะเป็นเจ้าของสำนักข่าว/วิทยุโทรทัศน์ของตัวเอง โดยผ่าน Facebook และ LINE การกล้ำกลืนมันก็หมดไป มีแต่การตอบโต้ ขุดคุ้ยจากที่ต่างๆ และที่สำคัญการ SHARE ที่มีประสิทธิภาพในการแพร่กระจายขยายความ (ซึ่งบางครั้งและหลายครั้งก็เป็นข้อมูลเท็จเช่นกัน) มันเลยทำให้กลุ่มพลังงาน ที่เคยได้เปรียบในเรื่องข้อมูลด้านเดียวของตัวเอง ต้องเผชิญหน้ากับการท้าทายที่ดูเหมือนจะไม่มีวันสิ้นสุด
ครั้งหนึ่งในยุคโลกาภิวัตน์ กติกาของโลกาภิวัตน์ คือ กติกา 4 ข้อ ดังนี้
1. CROSS CULTURAL คือยุคของการผสมผสานและการข้ามวัฒนธรรมกัน
2. DIVERSITY ความหลากหลายที่ทุกอย่างในโลกนี้ไม่ได้มีหนึ่งเดียว เช่น สมัยก่อนมีสบู่อยู่ 4-5 ยี่ห้อ วันนี้มีอยู่ร้อยกว่าแบบ
3. NETWORKING ระบบเครือข่ายที่ขยายตัวยิ่งกว่าใยแมงมุม และเชื่อมต่อกันทั่วโลก ถึงแม้จะต่างวัฒนธรรมกันก็ตาม เมื่อเชื่อมแล้วและถ้าเป็นคนเครือข่าย อุดมการณ์เดียวกัน (เช่น HACKER) จะเชื้อชาติอะไร สัญชาติอะไรก็ไร้ความหมาย แต่จะช่วยซึ่งกันและกัน
4. INTERDEPENDENCE ทุกอย่างที่กล่าวมานี้ มันพึ่งพาซึ่งกันและกันหมด มันไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวด้วยตัวมันเองเหมือนสมัยก่อน
ทั้งหมดนี้คือกติกาที่เกิดขึ้นในโลกตั้งแต่ 20-30 ปี ที่แล้วที่โลกาภิวัตน์ได้เกิดขึ้น และได้พัฒนาต่อเนื่องมาตลอด
วันนี้ 2560 หรือ 2017 โลกได้เกิดเงื่อนไขใหม่ โดยผ่านทางเทคโนโลยีการสื่อสาร ทำให้กติกาความหลากหลาย (DIVERSITY) มีความหลากหลายมากขึ้น หรือจะกล่าวว่า ในความหลากหลายก็มีความหลากหลายอยู่
กติกาของเครือข่าย NETWORKING นั้นก็ขยายตัวตามเทคโนโลยีทางการสื่อสาร ทำให้ทุกอย่างในโลกนี้มันสามารถจะเข้าถึงได้หมด จนแทบจะไม่มีอะไรจะเข้าไม่ได้ ดูอย่าง WIKILEAKS ซิ แม้แต่ข้อมูล CIA ก็ยังเข้าไปได้
ทั้ง DIVERSITYและ NETWORKING ในยุค 4G-5G /FB /LINE มันเป็นเครื่องมือในการเปิดโปงความไม่ชอบมาพากล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลักษณะของการผูกขาดจะกินคนเดียว และจะเอาแต่ได้ ฯลฯ
ไม่เชื่อลองทดสอบดูก็ได้ ลองถามคนทั่วๆไปว่า ถ้าจะให้บอกว่ามีใครผูกขาดเป็นทุนใหญ่อยู่ รับรองใน 10 คน ที่มีการศึกษาและใช้ Social Media จะต้องมีเกิน 5 คน ที่เอ่ยชื่อบางเจ้าได้อย่างถูกต้อง
ในบริบทที่ได้พูดมาแล้ว กฟผ.ก็ตกอยู่ในสภาพของการผูกขาด และที่น่ากลัวคือ ยังดื้อดึงที่จะยืนอยู่ในจุดนี้ให้ได้ตลอดไป ทั้งๆ ที่ในวันนี้ กฟผ. เหมือนคนยืนแก้ผ้าอยู่บนเวที แล้วทุกคนก็เห็นรูปร่างที่เปลือยเปล่าของ กฟผ.หมด
ความดื้อดึงในเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ.ก่อนจะถูกการกลับตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ แบบ 360 องศา ก่อให้เกิดคำถามมากมายที่ไม่เคยมีใครคิดจะถาม!!!
วันนี้ กฟผ.จะต้องกำหนดบทบาทใหม่ของตัวเอง!!!
ผู้บริหาร กฟผ.อาจจะไม่รู้ว่า กฟผ.มีคนรุ่นใหม่ เลือดใหม่ที่เข้ามาอยู่ร่วมบ้านหลังนี้มากพอสมควร คนพวกนี้เป็นพวกที่เขาเรียกว่า Millennial Generation หรือที่นี่จะเรียกว่า Me Me Generation
คนพวกนี้ไม่ค่อยเชื่อว่า กฟผ.ควรเป็นผู้ผูกขาดความมั่นคงทางไฟฟ้าแต่ผู้เดียว เพราะเขาถูกกติกาของโลกาภิวัตน์ ที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมใหม่ด้วยเทคโนโลยีสื่อสารใหม่มาเปลี่ยนวิธีคิด
ผู้บริหาร กฟผ.ถ้าไม่เข้าใจ และปรับเปลี่ยนตัวเองก็จะทำให้ช่องว่างที่ตัวเองมีกับลูกน้องเหล่านี้ยิ่งห่างขึ้นไปเรื่อยๆ
ท่านผู้ว่าฯ อีกปีหนึ่งหรือปีกว่าก็จะเกษียณแล้ว สรุปถ้านั่งเฉยๆ แล้วยังท่อง “นโมตัสสะ” เหมือนเดิม เมื่อมีผู้ว่าฯ ใหม่มาก็ท่อง “นโมตัสสะ” แบบเดิมๆ เช่นกัน
ถ้าเป็นเช่นนั้นก็นับวันถอยหลังของ กฟผ.ได้แล้ว
วันนี้สิ่งที่ กฟผ.ควรทำและต้องทำ คือ
การเอาคนเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของชาติ เพื่อหาทางออกด้วยกัน ไม่ใช่เพียงแค่ กฟผ.กระทรวงพลังงาน ปตท.หรือกลุ่มคนที่คิดและพูดภาษาเดียวกันที่พูดความจริงแค่ครึ่งเดียว!!
ทำไม กฟผ.ไม่เป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาระดับชาติให้ทุกคนมาถกเถียงกันว่า พลังงานไฟฟ้าจะมีทางออกอย่างไร? พลังงานลม พลังงานแสงแดด พลังงานไฟฟ้าจากชีวมวล ฯลฯ
กฟผ.ต้องฟังกลุ่มคนพวกนี้ และต้องเปิดใจกว้าง อย่าใช้คำพูดว่า “เราทำแล้ว แต่เปอร์เซ็นต์มันต่ำมาก พึ่งพาไม่ได้”
เอาต่างประเทศที่เขาทำสำเร็จแล้วให้เขามาเล่าให้ที่สัมมนาฟัง เอานักลงทุนเข้ามาบอกว่า ถ้าเขาจะลงทุนทำไฟฟ้าขายให้ กฟผ.เขาต้องการผลตอบแทนกี่เปอร์เซ็นต์ต่อปี ฯลฯ
ที่สำคัญถึงเวลาแล้วที่ กฟผ.ต้องตั้งคำถามให้ที่ประชุมสัมมนาตอบว่า กฟผ.ควรเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไร เพื่อให้ลักษณะการผูกขาดนั้นมันแปรไปเป็นการสร้างเครือข่ายให้เข้ามาร่วมโดยที่ กฟผ.ยังควรเก็บสายส่งเอาไว้ แต่เปิดเพื่อให้คนส่งไฟเข้าสายส่ง เพื่อแลกกับค่าธรรมเนียม ฯลฯ
ที่สำคัญที่สุด กฟผ. ต้องเชิญคนที่ไม่ชอบ กฟผ.มาเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยใจที่เปิดกว้าง ถึงจะเกิดประโยชน์กับ กฟผ.
การประชุมสัมมนาแบบนี้ มีแต่ดีกับดี และคนได้ประโยชน์กลับเป็น กฟผ.แต่คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุด คือประเทศชาติและประชาชน
แต่ที่ยากที่สุดก็คงเป็นกระบวนทัศน์ของผู้ใหญ่ใน กฟผ.ที่ยังทำใจไม่ได้ที่จะลดการผูกขาดออกไป เพราะทุกคนยังถูกมนต์สะกดเอาไว้ว่า “เรื่องไฟฟ้าต้อง กฟผ.แต่ผู้เดียว”
อามะภันเต!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น