“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”
กรณีหุ้นของ ทักษิณ ชินวัตร ขายหุ้น ชินคอร์ป ให้ เทมาเส็ก ของสิงคโปร์ รวมเป็นเงินการซื้อหุ้นกว่า 73,000 ล้านบาท แล้วสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินระบุว่า ทักษิณต้องจ่ายภาษีมูลค่าภาษีประมาณ 16,000 ล้านบาท แต่สรรพากรยังไม่ดำเนินการจนจะหมดอายุความในวันที่ 31 มี.ค.นี้นั้นมีความเป็นมาที่น่าสนใจ
เล่าย้อนความกันนิด คดีนี้หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งให้ยึดทรัพย์ทักษิณแล้ว กรมสรรพากรตามไปอายัดทรัพย์สินของ นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ลูกชายและลูกสาวของทักษิณ อีก 12,000 ล้านบาทเป็นค่าภาษี เพราะก่อนขายหุ้นชินชินวัตร 49% ให้เทมาเส็กนั้น พบว่ามีหุ้น 11% นี้ที่ถืออยู่โดยชื่อ บริษัทแอมเพิลริช บริษัทนี้ทักษิณตั้งขึ้นเมื่อปี 2542 แล้วแบ่งหุ้นชินชินวัตรให้บริษัทซื้อไปในราคาทุนหุ้นละ 1 บาท ครั้นเมื่อทักษิณขึ้นเป็นนายกฯ ในปี 2544 ทักษิณได้โอนไปให้ลูกทั้งสองคน
เมื่อถูกอายัดเรียกเก็บภาษี ลูกของทักษิณทั้งคู่ได้นำคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ไปต่อสู้ในศาลภาษีอากรกลางจนชนะคดี เท่ากับยืนยันว่าตัวเองไม่ใช่เจ้าของหุ้นชินคอร์ปฯ ตัวจริง แต่เจ้าของตัวจริงคือทักษิณที่ถูกศาลยึดทรัพย์ไปแล้ว ทำให้กรมสรรพากรต้องถอนอายัดทรัพย์สินคืนให้กับลูกของทักษิณทั้งสองคน และสะท้อนว่าการขายหุ้นของทักษิณครั้งนั้นเป็นธุรกรรมอำพราง “ซุกหุ้น” จริง
นางเบญจา หลุยเจริญ ก็ติดคุกเพราะเหตุซื้อขายหุ้นของพานทองแท้และพินทองทานี่แหละ เพราะตอนนั้นนางเบญจาปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร ได้ลงนามในหนังสือกรมสรรพากร ว่า “กรณีนายพานทองแท้ และนางสาวพินทองทา ชินวัตร ซื้อหุ้นชินคอร์ปในราคาต่ำกว่าราคาตลาด เป็น การซื้อทรัพย์สินในราคาถูก ซึ่งเป็นเรื่องของการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย อันเป็นเรื่องปกติทั่วๆ ไปของการซื้อขายตามมาตรา 453 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนต่างของราคาซื้อกับราคาตลาดไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนกรณีบริษัทแอมเพิลริชขายหุ้นชินคอร์ปฯ ให้นายพานทองแท้และนางสาวพินทองทา ชินวัตร ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท ในราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท ก็ไม่เข้าข่ายพนักงาน หรือกรรมการได้รับแจกหุ้น หรือได้ซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด ตามคำ วินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538 เพราะหุ้นชินคอร์ปฯ ที่บริษัทแอมเพิลริชซื้อไว้ถือเป็นทรัพย์สินหรือสินค้าของบริษัท ไม่ใช่หุ้นที่บริษัทแอมเพิลริชเป็นผู้ออกเอง”
ซึ่งศาลชี้ว่า การกระทำดังกล่าวทำให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง และราชการเสียหาย พานทองแท้และพินทองทา ถือเป็นผู้ได้รับเงินพึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่ต้องนำส่วนต่างของราคาหุ้น คนละ 7,941.95 ล้านบาท มาเสียภาษีกับกรมสรรพากร ดังนั้นศาลอาญาจึงมีคำพิพากษาจำคุกนางเบญจาและพว ก3 ปี
แต่เมื่อศาลภาษีอากรกลางชี้ว่าหุ้นดังกล่าว ไม่ใช่หุ้นของลูกทักษิณทั้งสองคน หุ้นดังกล่าวจึงต้องเป็นของทักษิณนั่นเอง กรณีนี้เป็นประเด็นมาตลอดว่า รัฐบาลจะต้องจัดเก็บภาษีจากทักษิณหรือไม่ โดยมอบอำนาจให้กรมสรรพากรเป็นผู้ตัดสินใจ
แต่อธิบดีกรมสรรพากรในขณะนั้นคือ นายสาธิต รังคสิริ บอกว่า หลังจากที่คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ได้สรุปผลการวินิจฉัย กรณีการซื้อ-ขายหุ้นชินคอร์ปฯ ว่า เจ้าของหุ้นชินคอร์ปฯ ที่แท้จริง คือทักษิณ ส่วนนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ไม่ใช่เจ้าของหุ้นชินคอร์ปฯ ซึ่งการดำเนินการในลักษณะดังกล่าว เข้าข่ายปกปิดบัญชีทรัพย์สินที่จะต้องแสดงต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งศาลฎีกาฯ ได้มีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินของทักษิณให้ตกเป็นของแผ่นดินไปหมดแล้ว จากนั้นเมื่อทักษิณ ซึ่งเป็นเจ้าของหุ้นตัวจริงนำหุ้นชินคอร์ปฯ ไปขายให้กับกองทุนเทมาเสกผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็จะได้รับยกเว้นภาษีตามกฏกระทรวงฉบับที่ 126
“เรื่องภาษีหุ้นชินคอร์ปฯ ตอนนี้ถือว่าจบแล้ว ต่อจากนี้ไป กรมสรรพากรจะไม่มีการประเมินภาษีคนในตระกูลชินวิตรอีก เนื่องจากผลการตัดสินของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรถือเป็นที่สิ้นสุด ซึ่งคณะกรรมการฯ ก็มีมติเป็นเอกฉันท์ ยืนตามคำพิพากษาของศาลทั้ง 2 ศาล ส่วนเรื่องการประเมินภาษี พ.ต.ท.ทักษิณ คณะกรรมการฯ มอบหมายให้เป็นหน้าที่ของกรมสรรพากรเป็นผู้วินิจฉัย เมื่อสรรพากรพิจารณาแล้วว่าไม่ต้องเสียภาษี ตรงนี้ก็ถือเป็นที่สิ้นสุดด้วยเช่นกัน เพราะกรมสรรพากรทำตามผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ” นายสาธิตกล่าวในตอนนั้น
เท่ากับว่าอธิบดีกรมสรรพากรในขณะนั้นฟันธงเปรี้ยงลงมาว่า ทักษิณไม่ต้องเสียภาษีเพราะขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ ทุกอย่างจบแล้ว
แต่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินก็ยืนยันว่า ทักษิณจะต้องจ่ายเงินภาษีจำนวนดังกล่าวและติดตามเรื่องนี้เสมอมา โดย นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า หากยังไม่มีการดำเนินการใดๆ และทำให้ประเทศชาติเกิดความเสียหายในท้ายที่สุด จะถือว่าเป็นการละเลย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผู้เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดความเสียหาย จะมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 154 และ 157 ด้วย
เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ถึงการหาตัวผู้รับผิดชอบชดใช้ภาษีที่รัฐต้องสูญเสียไปจากกรณีนี้ว่า ขณะนี้มีความชัดเจนแล้วว่า กรมสรรรพากรคงไม่สามารถดำเนินการอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อีก เนื่องจากมีคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาให้ยึดทรัพย์ จำนวน 4.6 หมื่นล้านบาทของทักษิณ มาเป็นของแผ่นดิน ซึ่งเงินภาษีจำนวนนี้ก็รวมอยู่ในเงินก่อนนี้ด้วย
“เงินภาษีจำนวนนี้ก็รวมอยู่ในเงินก้อน 4.6 หมื่นล้านบาท และมันก็ตกมาเป็นของหลวงหมดแล้ว ตอนนี้เงินทั้งหมดก็อยู่ที่กรมบัญชีกลางแล้ว ไม่รู้จะไปเงินอะไรกับใครอีก ส่วนคดีที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มข้าราชการที่ไปตอบข้อหารือ ศาลก็มีคำพิพากษาไปแล้วทุกอย่างก็น่าจะจบไปหมดแล้ว”
กรมสรรพากรยืนยันเหมือนที่ยืนยันมาเป็นเสียงเดียวโดยตลอดว่า จบแล้ว
แต่ฟังดูเหตุผลก็ไม่เหมือนกันทีเดียว สมัยนายสาธิตบอกว่า ไม่ต้องจ่ายเพราะขายในตลาดหลักทรัพย์ แต่สมัยนายประสงค์ บอกว่าไม่ต้องจ่ายเหมือนกัน เพราะรวมอยู่ในเงินที่ยึดแล้ว
กลายเป็นว่า เหตุผลที่ทักษิณไม่ต้องจ่ายภาษีนั้นคืออะไรกันแน่ ระหว่างข้อยกเว้นเพราะซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯหรือไม่ต้องจ่ายเพราะรายได้ที่ต้องประเมินภาษีนั้นถูกรัฐยึดไปแล้ว
แต่ก็เป็นเรื่องแปลกนะครับที่สรรพากรมายืนยันเสียงแข็งว่า ทักษิณไม่ต้องจ่ายมันจบแล้ว เพราะหน้าที่ของสรรพากรโดยหลักแล้วต้องประเมินภาษีครับ เพราะในทางปฏิบัติที่ยึดมาโดยตลอดก็คือ แม้ความเห็นยังก้ำกึ่งว่าจะต้องเสียภาษีหรือไม่ กรมสรรพากรยังต้องประเมินภาษีก่อน และให้ผู้ถูกประเมินอุทธรณ์และฟ้องคดีต่อศาลเอาเอง
บุคคลธรรมดาที่เสียภาษีโดยสุจริตก็รู้ถึงรสชาติในเรื่องนี้ดี
แล้วประเด็นที่ต้องคิดตามมาก็คือว่า ตรรกะของกรมสรรพากรทั้งสองเพื่ออ้างไม่ให้ทักษิณต้องเสียภาษีให้แผ่นดินนั้นใช้ได้หรือไม่
มาไล่ดูกันทีละประเด็น ข้ออ้างหนึ่งที่สรรพากรใช้อ้างก็คือ เงินภาษีของทักษิณรวมอยู่ในก้อน 4.6 หมื่นล้านบาทที่รัฐยึดไปแล้วนั้นฟังได้ไหม ตรงนี้ไม่รู้สรรพากรเอามาจากไหนครับ เพราะศาลชี้ชัดเจนว่า เงินที่ยึด 4.6หมื่นล้านบาทนั้น เป็นส่วนที่เพิ่มขึ้น หลังจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเงินปันผล ไม่เกี่ยวกับภาษีเลย
ผมเข้าใจว่า สรรพากรกำลังจะบอกว่า ในเมื่อเงินรายได้ถูกรัฐยึดไปแล้วก็ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีอีก เพราะถือว่าไม่มีเงินรายได้แล้ว แต่นักกฎหมายด้านภาษีท่านหนึ่งได้ยกตัวอย่างให้เห็นนะครับว่า ศาลเคยตัดสินผู้ต้องหายาเสพติด แม้ศาลจะยึดทรัพย์แล้ว แต่ภาระการเสียภาษียังคงอยู่ นั่นหมายความว่า ความเป็น “เงินพึงได้” ตามนิยามในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร อะไรก็ตามถือเป็นเงินได้แล้วแม้จะเกิดจากการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายก็ไม่ทำให้หน้าที่การเสียภาษีระงับไป
ดังนั้นการที่สรรพากรอ้างว่า ทักษิณไม่ต้องเสียภาษีเพราะเงินได้ถูกยึดไปแล้วไม่สามารถนำมาอ้างได้
ประเด็นต่อมาที่สรรพากรหยิบมาอ้างว่า ทักษิณไม่ต้องเสียภาษีเพราะขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น ถามว่า การทำธุรกรรมของทักษิณเป็นการทำธุรกรรมซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์อย่างตรงไปตรงมาหรือ คำตอบไม่ใช่นะครับ เพราะศาลชี้แล้วว่า ทักษิณ “ซุกหุ้น” เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งเป็นการกระทำธุรกรรมในตลาดหลักทรัพย์ที่มิชอบด้วยกฎหมาย
หลักกฎหมายภาษีที่สำคัญคือ ธุรกรรมหรือการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายไม่อาจนำมากล่าวอ้างเพื่อใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ ซึ่งเป็นหลักการทั่วไปอยู่แล้วคือ การใช้สิทธิทางกฎหมายต้องเกิดการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น แม้แต่คดีที่เกิดขึ้นในศาลก็มีหลักอยู่ว่า “มาศาลด้วยมืออันสกปรก” ไม่อาจมาขอความคุ้มครองจากศาลได้
สรรพากรจึงไม่อาจนำการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของทักษิณ ซึ่งมีการ “ซุกหุ้น” เพื่อบิดบังอำพรางซ่อนเร้นอันเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตนั้น มาเป็นข้ออ้างในการไม่ต้องเสียภาษีได้
ดังนั้น งานนี้หากสรรพากรยังคงเพิกเฉยทำเป็นทองไม่รู้ร้อน คำเตือนของสตง.ที่บอกว่า ผู้เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดความเสียหาย จะมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 154 และ 157 นั้นไม่ใช่เรื่องไกลเกินความเป็นจริงเลย
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan