xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ปรับแก้ร่างกม.คุมสื่อ เพิ่มตัวแทนสื่อ2ที่นั่งในสภาวิชาชีพฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน แถลงผลการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนพ.ศ... แถลงผลการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเนื้อหาเกือบเสร็จสิ้นแล้วโดยจะตรวจสอบอีกครั้ง ในวันที่ 6 มี.ค. และจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิปสปท.) ในวันที่ 9 มี.ค. เพื่อสรุปว่า จะนำเข้าสู่วาระการประชุมสปท.ได้เมื่อไร
ทั้งนี้ได้มีสมาชิกเสนอว่า จะต้องแจกร่างดังกล่าวให้ศึกษาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อน ซึ่งที่ประชุมได้มีการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาหลายแห่ง ได้แก่ มาตรา 3 คำจำกัดความผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และผู้ประกอบการ ซึ่งในปี 2020 เทคโนโลยีจะก้าวเข้าสู่ยุค 5 จี ซึ่งจะต้องมีการปรับคำนิยามให้ครอบคลุมไปถึงในช่วงนั้น ส่วนผู้ที่เขียนบทความที่ไม่ประจำจะไม่อยู่ในขอบข่ายนี้
ส่วนในมาตรา 36 ได้แก้ไขจากเดิมที่ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นผู้สอบบัญชี และประเมินผลการใช้จ่ายเงิน เป็นผู้ตรวจบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตแทน
สำหรับคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ เดิมจาก 13 คน ให้เพิ่มเป็น 15คน โดยได้เพิ่มสัดส่วนของผู้แทนสมาชิกวิชาชีพจาก 5 เป็น 7 คน เนื่องจากพิจารณาให้สื่อภูมิภาคเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ในส่วนของใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ในบทเฉพาะกาลกำหนดให้สื่อมวลชนที่ประกอบวิชาชีพก่อนที่กฎหมายฉบับนี้จะบังคับใช้ ให้ถือมีใบอนุญาตโดยอัตโนมัติ แต่จะต้องไปแจ้ง กับสภาวิชาชีพฯ ภายใน 2 ปี แต่สำหรับผู้ที่จะประกอบวิชาชีพสื่อรายใหม่ จะต้องเข้ารับการอบรม ทดสอบ ประเมินผล (KPI)ซึ่งรายละเอียดหรือหลักเกณฑ์จะต้องเป็นไปตามที่สภาวิชาชีพฯ กำหนด
ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนของสื่อมวลชนหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ เจ้าของสื่อหรือต้นสังกัด จะเป็นผู้ออกใบรับรองว่าเป็นสื่อจริง เพื่อขอขึ้นทะเบียนเอง ส่วนคนที่ทำสื่อออนไลน์ ต้องดูเจตนาว่าต้องการเผยแพร่ข่าวสารสู่สาธารณะหรือไม่ และมีรายได้ประจำไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อม ก็ถือว่าเข้าข่ายตามกฎหมายนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น