xs
xsm
sm
md
lg

อุ้ม“บิ๊กติ๊ก”ไม่ขาดสมาชิกภาพ คนดังพรึ่บ 39 กุนซือ ป.ย.ป.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360- “พรเพชร” ฉะสื่อลงข้อมูลให้ สนช.ลา 394 วัน สุดมั่ว อัดไม่บ้าก็เมา เผย 3 ปี ประชุมสนช.แค่ 200 วัน ทั้งที่ “ไอลอว์” รายงานเรื่องการลงมติ ด้าน "พีระศักดิ์" ฟันธงล่วงหน้าไม่พ้นสภาพ ก่อนผลสอบออกวันนี้ คตง.ลงดาบ “อธิการบดี-รองอธิการบดี” ม.ราชภัฏเชียงใหม่ ผลาญงบทัวร์ยุโรป 6 ล้าน “บิ๊กตู่” เซ็นตั้ง 39 กุนซือ ป.ย.ป.แล้ว บิ๊กเนมพรึ่บ “บวรศักดิ์-ศุภชัย” มาด้วย “ธงทอง-เอกชัย” นั่งชุดปรองดอง

วานนี้ (23 ก.พ.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) เปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบว่า มีสมาชิก สนช.อย่างน้อย 7 ราย ขาดประชุมบ่อยมาก และอาจขาดสมาชิกภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่า การที่ไอลอว์ เปิดเผยข้อมูลว่าสมาชิกขาดประชุม 400 วัน และตนอนุญาตให้ลาประชุม 394 วัน ซึ่งตอนแรก ตนไม่ได้สนใจ เพราะคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ซึ่งจากการตรวจสอบดูการประชุมในปี 57 มีการประชุมจำนวน 33 ครั้ง ปี 58 มีการประชุม 76 ครั้ง ปี 59 มีการประชุม 84 ครั้ง และปี 60 เพิ่งประชุม 11 ครั้ง รวมแล้วมีวันประชุมทั้งหมด 204 วันเท่านั้น

“เป็นไปได้อย่างไร ที่จะมีการประชุมถึง 400 วัน นอกจากนี้ ยังมีคอลัมน์นิสต์ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง หาว่าผมอนุญาตให้ลูกน้องลาได้ 394 วันจาก 400 วัน ไปเอาตัวเลขมากจากไหน ถ้าผมทำอย่างนั้นไม่บ้าก็เมา สมควรตาย” นายพรเพชร ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อมูลการตรวจสอบของไอลอว์นั้น ระบุถึงจำนวนครั้งการแสดงตนเพื่อลงมติของสมาชิก สนช. จำนวน 8 ราย โดยพบว่ามีสมาชิกอย่างน้อย 7 รายที่ลงมติน้อยอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสะท้อนว่าอาจจะขาดประชุมเป็นประจำ จนอาจจะน้อยกว่า 1 ใน 3 ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้สิ้นสภาพการเป็นสมาชิก สนช. เว้นแต่ได้ยื่นใบลาต่อประธาน สนช. โดยมีชื่อของ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม น้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่ด้วย

** “พีระศักดิ์” โดดป้องไม่พ้นสภาพ

ขณะที่ นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. ที่เปิดเผยว่า ในวันที่ 24 ก.พ.นี้ จะมีคำตอบแน่นอนว่า 7 สนช. ที่ถูกร้องเรียนเรื่องการขาดการลงมตินั้น มาร่วมประชุมกี่ครั้ง ขาดลงมติกี่ครั้ง และได้ยื่นใบลาอย่างถูกต้องหรือไม่ อย่างไรก็ตามข้อมูลที่ว่ามีการลาประชุม 300 กว่าครั้งนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะการประชุม สนช. จนถึงปัจจุบัน ยังมีการประชุมไม่ถึง 400 ครั้ง เชื่อว่า จำนวนครั้งที่บอกว่าขาดเยอะๆ น่าจะเป็นการขาดลงมติ เพราะบางวันมีการลงมติ วาระ 2-3 จำนวนมาก แต่คงไม่ใช่การประชุมแน่ หลังจากที่ได้ข้อมูลเรื่องการขาดลงมติอย่างเป็นทางการแล้ว จึงจะมาพิจารณาเรื่องจริยธรรม และจะเชิญผู้ถูกร้องทั้ง 7 คนมาชี้แจงเหตุผลการลา และมีเอกสารการลาถูกต้องหรือไม่ ตลอดจนเชิญ ประธาน สนช. มาให้ข้อมูล เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ลา เพื่อเป็นข้อมูลที่คณะกรรมการจริยธรรม จะนำมาพิจารณาต่อไป

“แต่เบื้องต้นเท่าที่ตรวจสอบ ยืนยันได้ว่าทั้ง 7 คน ไม่มีการขาดลงมติตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนด จึงไม่ขาดสมาชิกภาพแน่นอน” นายพีระศักดิ์ กล่าว

** คตง.ฟันอธิการราชภัฏเชียงใหม่

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ซึ่งมี นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคตง.เป็นประธานในที่ประชุม ได้มีมติเอาผิดวินัยร้ายแรงกับ นายประพันธ์ ธรรมไชย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กับรองอธิการบดีอีก 2 คน ที่ร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส รวม 9 วัน ตั้งแต่วันที่ 21-29 มี.ค.57 เป็นการศึกษาดูงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบ เนื่องจากไม่ได้มีการศึกษาดูงานการบริหาร และการจัดการศึกษาตามที่ระบุไว้ในโครงการที่มีการของบประมาณแผ่นดินไว้ จำนวน 6,040,487.13 บาท เป็นเพียงการเยี่ยมชมและท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยว และสถานที่สำคัญเท่านั้น การกระทำดังกล่าว นอกจากจะมีความผิดวินัยร้ายแรงแล้ว ยังต้องรับผิดทางละเมิด คืนเงินให้แก่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ด้วย ส่วนการเดินทางไปศึกษาดูงานประเทศจีนในคราวเดียวกัน เป็นเวลา 4 วัน นับจากวันที่ 17-19 มี.ค.57 นั้น คตง.มีมติว่า เป็นการศึกษาดูงานที่ชอบด้วยระเบียบและกฎหมายแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจาก คตง. จะมีมติดังกล่าวแล้วทาง สตง. ยังเตรียมที่จะขยายผลตรวจสอบพฤติกรรมของผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มีการกระทำอันทุจริต หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือไม่ เพื่อเสนอเรื่องต่อป.ป.ช.พิจารณาดำเนินคดีอาญาต่อไป และจะเสนอคณะกรรมการวินัยทางงบประมาณและกระทรวงการคลังของสตง.ไต่สวนและลงโทษทางปกครองด้วย นอกจากนี้ ทางสตง. ยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบโครงการศึกษาดูงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และกำลังจะเข้าไปตรวจสอบโครงการศึกษาดูงานของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม (หลักสูตร บ.ย.ส.) สถาบันพระปกเกล้า และ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.)ด้วย

** “บิ๊กตู่”เซ็นตั้ง 39 ที่ปรึกษาป.ย.ป.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 8/2560 เรื่อง แต่งตั้งที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการแต่ละคณะภายใต้คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ระบุว่า เพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมการแต่ละคณะภายใต้ ป.ย.ป. เป็นไปอย่ารอบคอบและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 วรรคสอง ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง ลงวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา นายกฯจึงให้เพิ่มเติมองค์ประกอบโดยแต่งตั้งที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการแต่ละคณะภายใต้ ป.ย.ป. จำนวน 39 คน โดยมีรายชื่อผู้มีชื่อเสียงในหลายวงการ อาทิ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ได้แก่ นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (เอไอเอส) นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นต้น

คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ได้แก่ นายคุรุจิต นาครทรรพ กรรมการและประธานกรมการ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) นายไชยา ยิ้มวิไล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) นายเทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ ได้แก่ นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายพงศ์โพยม วาศภูติ อดีตสปช.และอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย นายวรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีกิตติคุณมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด (UNCTAD) นายสมคิด เลิศไพทูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นายสมชัย ฤชุพันธุ์ อดีตอธิบดีกรมสรรพสามิต เป็นต้น

คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ได้แก่ นายธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า.
กำลังโหลดความคิดเห็น