xs
xsm
sm
md
lg

ถ่านหินเพื่อประโยชน์กลุ่มทุน

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

แม้ครม.มีมติว่าจะให้กรรมการไตรภาคีทำอีไอเอและอีเอชไอเอใหม่ใน 1 ปี แต่เห็นชัดว่า ท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ ต้องสร้างให้ได้ เราต้องมามองดูว่าทำไม ประเทศของเราจึงยังพยายามสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหินที่ส่งผลกระทบต่อโลกและชีวิตของมนุษย์ แม้จะมีข้อมูลเชิงประจักษ์มากมายมายืนยันแต่ก็จะมีการอ้างว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันนั้นต่างกับอดีต และคำว่า “ถ่านหินสะอาด” ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นธงนำของฝ่ายสนับสนุน

แต่มีการยืนยันว่าเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) ซึ่งเป็นแผนการดักจับคาร์บอนที่ปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้า และฝังไว้ใต้พื้นดิน เทคโนโลยีนี้จะพร้อมใช้หลัง 20 ปีข้างหน้า ซึ่งสายเกินไปที่จะปกป้องสภาพภูมิอากาศไม่มีเสียงโต้แย้งในเรื่องนี้เลย มีแต่จะพาผู้สื่อข่าวไปดูงานที่ญี่ปุ่นไม่กี่ชั่วโมงแล้วกลับมาเขียนสรรเสริญกันว่า ถ่านหินสะอาด

แล้วที่ตลกคือบริษัทที่ได้สัมปทานเป็นบริษัทจีนไม่ใช่ญี่ปุ่นคือกิจการร่วมค้า พาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น คอร์เปอเรชั่น ออฟ ไชน่า และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด ดังนั้น จึงเป็นเทคโนโลยีจากประเทศที่กำลังประสบกับภาวะมลพิษจากถ่านหินจนกลายเป็นนโยบายแห่งชาติ ที่จะลดการพึ่งพิงพลังงานจากถ่านหินลง

พร้อมกับมีการอ้างตรรกะอันประหลาดมากมายว่า ทำไมหลายประเทศจึงยังใช้พลังงานถ่านหิน ทั้งในข้อเท็จจริงเขาจะลดการพึ่งพาพลังงานจากถ่านหินลง บางคนบอกว่าคนกระบี่เขาเคยอยู่กับโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์มาหลายสิบปีไม่เห็นจะมีปัญหาอะไรเลย ทั้งที่จริงๆ แล้วมีข้อมูลจากรายงานความก้าวหน้างานวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพและวิถีชีวิตบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดกระบี่ หรือ “งานมหาลัยเล” ซึ่งจัดทำขึ้นโดยนักวิจัยชาวบ้าน 8 หมู่บ้านบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดกระบี่ ที่ยืนยันถึงผลกระทบต่อประชาชน

มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ซึ่งนำงานวิจัยชิ้นนี้มาเผยแพร่เปิดเผยว่า พบว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 60 เมกะวัตต์ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างรุนแรง ชาวบ้านซึ่งตั้งชุมชนอยู่รอบโรงไฟฟ้าได้ระบุว่า ช่วงที่มีการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยถ่านหินได้เกิดขี้เถ้าถ่านหินจากการเผาไหม้ฟุ้งกระจาย และชาวบ้านหมู่ 1 หมู่ 2 หมู่ 3 และหมู่ 4 ต.ปกาสัย ได้รับผลกระทบ โดยที่หมู่ 4 หรือบ้านทุ่งสาครได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากอยู่ใต้ลมของโรงไฟฟ้าเป็นเวลา 7-8 เดือนต่อปี (เดือน 6 - เดือน 12 หรือเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน) และขี้เถ้าถ่านหินทำให้ชาวบ้านจำนวนมากป่วย ส่วนใหญ่เป็นโรคทางเดินหายใจ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ป่วยเป็นโรคหอบหืด

ในช่วงปี พ.ศ. 2520-2530 เป็นช่วงที่ขี้เถ้าถ่านหินฟุ้งกระจายมากที่สุด ชาวบ้านเคยนำผักกาดชนิดที่ใช้สำหรับดองมาปลูก ในตอนเช้าจะพบขี้เถ้าถ่านหินละเอียดผสมกับน้ำค้างเกาะตามผิวใบ หากจะนำไปดอง ต้องราดน้ำล้างออกก่อนถอนและนำไปดอง หากไม่ล้างก่อนถอนจะล้างขี้เถ้าถ่านหินไม่ออก และเมื่อดองจะมีน้ำสีดำ แม้แต่บ่อกุ้ง บางครั้งขี้เถ้าถ่านหินฟุ้งกระจายและตกลงไป ยังทำให้กุ้งตายทั้งบ่อ

ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านบางคนคิดว่าขี้เถ้าถ่านเป็นปุ๋ยอย่างดี นำเอาขี้เถ้าที่สะสมในโอ่งน้ำฝนไปใส่ปุ๋ยให้กับพืชผัก ขณะที่ กฟผ.ไม่เคยบอกว่าอันตราย มารู้ว่ามีโลหะหนักและสารพิษหลังจากชาวบ้านเจ็บป่วย เช่น เด็กในครอบครัวที่ป่วย จึงค้นหาข้อมูลด้วยตนเอง

แน่นอนครับในอดีตชาวบ้านไม่มีความรู้ การเข้าถึงข้อมูลเป็นเรื่องยากลำบาก การที่รัฐจะสร้างอะไรยังไม่มีกฎเกณฑ์ว่าจะต้องศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเสียก่อน แต่วันนี้มันไม่ใช่ยุคอดีตแล้ว ความรู้วิทยาการส่งถึงกันทั่วโลก และชาวบ้านก็มีความเข้าใจที่จะต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเองมากขึ้น

คนของ กฟผ. คนของกระทรวงพลังงานรู้ไหมว่า ทิศทางของโลกด้านพลังงานมุ่งไปทางไหน ผมว่าเขารู้ครับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รู้ไหม รู้สิครับไม่นั้นจะไปให้สัญญาที่ปารีสเหรอว่า ประเทศไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยการใช้พลังงานฟอสซิลให้น้อยลง และใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น

แปลว่าอะไรครับ เพราะรัฐบาลมีแผนจะเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก 6-7 โรง เพิ่มไปก่อนแล้วปี 2030 ค่อยมาลดลง 20-30% ตามที่สัญญากับชาวโลกไว้เช่นนั้นหรือครับแต่คำถามว่า ทำไมถอยไม่ได้ยืนยันดึงดันว่าจะต้องเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ได้ คำตอบคือ เพราะมีกลุ่มทุนไทยจำนวนมาก รวมทั้งกฟผ. ปตท. และทักษิณ ชินวัตร ที่ไปลงทุนในเหมืองถ่านหินนี่เอง ถ้าทิศทางของโลกปฏิเสธถ่านหินที่ลงทุนไปก็จะสูญเปล่า ดังนั้น มันจึงมีอิทธิพลเหนือการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของไทยมาทุกยุคทุกสมัย ไม่เว้นแม้แต่ช่วงสมัยรัฐบาลทหารในขณะนี้

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมปีที่แล้ว คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติให้บริษัท กฟผ.อินเตอร์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้าซื้อหุ้นของบริษัท Adaro Indonesia (AI) สัดส่วน 11-12% มูลค่าราว 1.17 หมื่นล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจในเหมืองถ่านหิน ตั้งอยู่ในเกาะกาลิมันตัน ประเทศอินโดนีเซีย

นายวัชรา เหมรัชตานันต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ให้สัมภาษณ์ชัดเจนตอนนั้นว่า กฟผ.มีนโยบายแสวงหาเหมืองถ่านหิน เพื่อเป็นแหล่งสำรองสำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ในอนาคต รวมทั้งหมด 6 โรง โดยมีความต้องการใช้ถ่านหินประมาณ 600 ล้านตัน ในระยะเวลา 30 ปี

นั่นแสดงว่าเขาเตรียมการไว้แล้ว ทั้งที่ยังไม่ผ่านอีไอเอเลย

ส่วน ปตท.ได้ซื้อหุ้นบริษัท Sakari  Resources Limited หรือ SAR (เอส-เอ-อาร์) ซึ่งทำธุรกิจเหมืองถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย โดยถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมรวม 94% เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 บอร์ด ปตท.ได้หารือกันว่าจะขายทิ้งธุรกิจถ่านหินหรือไม่ เพราะผลกระทบต่อราคาถ่านหินที่ราคาลดลงตามราคาน้ำมัน แต่ภายหลังการประชุมบอร์ดมีมติว่ายังไม่ขายธุรกิจถ่านหินในแหล่งดังกล่าว เพราะเมื่อประเมินเบื้องต้นแล้วพบว่ายังมีความเป็นไปได้ในการลงทุน

ขณะที่ทักษิณนั้น มีข่าวว่ามีการเข้าไปเจรจาร่วมลงทุนในเหมืองถ่านหินจากกลุ่มครอบครัวบัครี มหาเศรษฐีจากอินโดนีเซีย ที่ถือครองหุ้นอยู่ในบริษัท BUMI ซึ่งทำธุรกิจถ่านหินภายใต้การดำเนินงานของบริษัท รอทไซด์

เห็นหรือยังครับว่า ทำไมโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่หรือเทพารวมถึงพื้นที่อื่นๆ จึงเดินหน้าต่อไปให้ได้ ก็เพราะ “ทุน” มีอำนาจเหนือกว่าประชาชนเสมอมานั่นเอง

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan
กำลังโหลดความคิดเห็น