xs
xsm
sm
md
lg

"บิ๊กตู่"ดึงกลุ่มต้านร่วมไตรภาคี ทำEIAแก้ปมโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360- "บิ๊กตู่" ดึงไตรภาคีแก้ปมโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขอกลุ่มต้านเข้าร่วม บ่นสร้างเสร็จช้าไปอีก คาดเปิดใช้ได้ปี 66- 67 ขออย่ายุยงให้ชุมนุมอีก ชี้หากไม่ทำวันหน้าค่าไฟแพง ประเทศเดือดร้อน ใครจะรับผิดชอบ เซ็ง"โฆษกฯ" ชี้แจงไม่ได้เรื่อง ต้องออกโรงแจงเอง ด้าน กฟผ. ยืนยันเทคโนโลยี USC ที่ใช้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ทันสมัย ประสิทธิภาพสูงสุด ทั่วโลกยอมรับ

วานนี้ (21 ก.พ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวถึงปัญหาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ว่า ได้ดำเนินการไปแล้วตามขั้นตอน ที่ผ่านมาต้องเข้าใจว่า เราให้มีการชะลอในเรื่องการทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)ไว้ และวันนี้ไม่ต้องชะลอ ให้ไปศึกษาทำความเข้าใจกันใหม่ หากอีไอเอ ผลออกมาว่าทำไม่ได้ ก็สร้างโรงไฟฟ้าไม่ได้ ทุกอย่างมีขั้นตอน ทั้งการทำอีไอเอ และ อีเอชไอเอ ขณะที่รัฐบาลก็เสนอเข้าไปที่รัฐสภา ในพ.ร.บ.ให้มีคณะกรรมการระดับสูงเกี่ยวกับระดับนโยบายยุทธศาสตร์ เพื่อให้ทำอีไอเอ เป็นโครงการเพื่อให้รู้ว่าเราจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร ทั้งการเกษตรและอุตสาหกรรม ต้องมีนโยบายด้านยุทธศาสตร์ขึ้นมา จึงจะมีแผนงานนโยบายลงมา และไปทำอีไอเอ และอีเอชไอเอ อีกครั้งหนึ่ง

"อย่าไปวิตกกังวล หรือมองว่ารัฐบาลถอยหลัง ซึ่งโครงการนี้จริงๆ มีมานานแล้ว เพียงแต่ชะลอให้มี คณะกรรมการ 3 ฝ่าย หรือที่เรียกว่าไตรภาคี และที่ผ่านมาอ้างว่าไม่ได้มีส่วนร่วมในไตรภาคี ตอนนี้ก็ร่วมเสีย เดี๋ยวเขาทำต่อก็ไปคุยกัน ทำได้ก็ได้ ทำไม่ได้ก็ไม่ได้ ก็ต้องไปหาวิธีการว่าจะทำอย่างไร เพราะรัฐบาลมีหน้าที่จัดหาพลังงาน และแหล่งพลังงานให้กับประเทศ ถ้าทำไม่ได้ ก็ไม่มีไฟฟ้าใช้ในอนาคต ใครจะรับผิดชอบก็ไม่รู้เหมือนกัน ท้ายที่สุดจะกลับมาให้รัฐบาลนี้รับผิดชอบหรือเปล่า เพราะมีกฎหมายนี้มาตั้งแต่ปี 2550 อย่าหยิบยกมาเป็นประเด็นเลย พี่น้องเขากลับไป เขาพอใจแล้ว ก็ไปทำอีไอเอ และอีเอชไอเอใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาเดิม ถ้าทำผ่านจะใช้เวลาก่อสร้างกว่าจะได้ใช้งาน ประมาณปี 2565 ไม่ใช่ทำวันนี้ผ่านวันนี้ แล้วพรุ่งนี้เสร็จ ปี 2565 โน้น ถ้าทำใหม่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี ประมาณ 2566-2567 ถึงจะได้ใช้ หากสามารถสร้างได้ แต่จะทันต่อความต้องการการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามันหรือเปล่า ฉะนั้นไปดูรายละเอียดให้ดี" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ส่วนกรณีกลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน มาชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลนั้น รัฐบาลนี้พยายามอย่างเต็มที่ ที่จะรักษาความสงบเรียบร้อย การบังคับใช้กฎหมายก็ทำเท่าที่จำเป็น และเห็นว่าพี่น้องประชาชนเหล่านี้ยังมีความเข้าใจที่เป็นปัญหาอยู่ ดังนั้นจึงไม่อยากดำเนินคดีอะไร จึงต้องมีมาตรา 44 ซึ่งสามารถจะปลดล็อกได้ ก็ส่งกลับไปหลังจากพูดจาทำความเข้าใจ ก็ถือว่าใช้หลักรัฐศาสตร์แล้ว ไม่ใช่เรื่องว่ากลัว หรือไม่กลัว มาตรา 44 ไม่เกี่ยว จะใช้ให้เต็มที่ไม่กลัวก็ให้รู้ไป เราก็อย่าไปยุงยงปลุกปั่นให้เขาปฏิบัติตามนี้

"ของเดิมที่ทำไว้ยังตอบคำถามได้ไม่หมดทุกข้อ แล้วไปหยุดไม่ให้เขาทำต่อ วันนี้ก็ไปทำต่อ ทำได้ก็คือได้ มีตั้งหลายร้อยข้อที่จะต้องทำก็แค่นั้น ถ้าทำไม่ได้จะไปสร้างโรงไฟฟ้าแบบใหม่ที่ไหน ให้คุ้มค่ากับการลงทุน ตรงนี้สื่อต้องไปศึกษาข้อมูลรายละเอียดแล้วมาถามผม ไม่อ่านอะไรเลยแล้วเอาเหตุการณ์ต่อหน้าต่อตามาถาม มันไม่ใช่ ผมไม่ใช่รัฐบาลแบบนั้น จะตอบส่งเดชไม่ได้ วันนี้เอาไตรภาคีมาตั้งให้ รัฐบาลนี้ทำให้ทุกอย่าง และจะเอาอะไรอีก อย่าไปยุแหย่ประชาชนให้ขึ้นมา" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องโรงไฟฟ้า สื่อถ้าไม่อ่านอย่ามาถาม ตนยินดีที่จะตอบทุกคำตอบ แต่ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ ว่าทำได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ ก็ขาดไฟฟ้าไป ถ้าไม่ได้ ก็ไม่ได้ จะไปดันทุรังเสียเมื่อไร แต่ก็ต้องยอมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ของถามง่ายๆ ต้นทุนแก๊สถ้าซื้อไม่ได้ จะเกิดอะไรขึ้น ประเทศไทยมีแก๊สเยอะหรือไม่ น้ำมันมีเยอะหรือไม่ วันหน้าถ้าต้องซื้อทั้งแก๊ส ทั้งน้ำมัน จะมีปัญหาไหม เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงราคาแก๊สสูงขึ้น พลังงานจะเดือดร้อนหรือไม่ รัฐบาลต้องคิดเผื่ออนาคต เช่น รถยนต์ จะต้องใช้พลังงานไฟฟ้าหรือไม่ ต้องพัฒนากันตั้งแต่วันนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าไปล้มเลิกรถแก๊ส รถน้ำมันในวันนี้ มันไม่ใช่ แต่กลับเอาไปพันกันหมด

"วันข้างหน้าถ้าค่าไฟฟ้าสูงขึ้น ก็ต้องไปบวกค่าไฟฟ้ามาอีก เพราะต้นทุนมันสูงขึ้น เพราะคงไม่มีอะไรได้มาฟรี วันนี้ต้องคิดว่าจะเอาอะไรมาเผาโดยที่ต้นทุนถูก ต้องฟังหลักการของทางราชการด้วย ถ้าคิดเอง เออเอง มันก็ผิด แล้วทำไม่ได้ใครจะรับ อย่าไปเขียนว่าผมอยากจะสร้าง เพราะจะสร้างหรือไม่สร้าง ไม่ใช่เรื่องของผม เพราะผมไม่ได้ประโยชน์ แต่ประเทศได้ประโยชน์ ผมทำเพื่อคนไทย ทำเพื่อประเทศไทย ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง เพราะถ้าทำเพื่อตัวเอง ผมไม่เข้ามาหรอก นอนอยู่บ้านสบายกว่า" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ทั้งนี้ ภายหลังแถลงข่าว พล.อ.ประยุทธ์ ส่งเอกสารการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินให้กับทีมโฆษก เพื่อนำมาให้สื่ออ่านทำความเข้าใจ พร้อมกล่าวว่า "แสดงว่าการชี้แจงของโฆษกฯไม่ได้เรื่อง ผมพูดเองดีกว่า ชี้แจงอะไรไม่ได้เรื่อง ไม่เข้าใจสักอย่าง"

ด้านพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ ว่า เป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ต้องดูแลให้เกิดความสงบเรียบร้อย หากมีการดำเนินการต่อในเรื่องของการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมถึงการสำรวจ อีเอชไอเอ และ อีไอเอ ใหม่ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย

"ไม่มีกระแสต่อต้านขยายวงกว้าง ทุกอย่างเราเข้าใจกันดี ด้วยเหตุและผล ว่ามีความจำเป็นอย่างไรและขั้นตอนเป็นอย่างไร ซึ่งขั้นตอนเป็นอย่างไรก็ต้องให้เป็นไปตามนั้น และต้องอยู่ด้วยความเข้าอก เข้าใจกัน ถึงความจำเป็นที่จะต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน และขั้นตอนที่จะต้องทำต่อจากนี้ ก็ให้เป็นไปตามกฎหมาย" รมว. มหาดไทย กล่าว

**กฟผ.ยันเทคโนโลยีUSCทั่วโลกยอมรับ

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี โฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยืนยัน โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด ซึ่งตามคำจำกัดความ IEA (Inter Nationalnal Energy Agency)หมายถึง โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใช้เทคโนโลยีประสิทธิภาพสูง ปล่อย CO2ในระดับต่ำ รวมทั้งสามารถกำจัดมลสารต่างๆ อาทิ ฝุ่นละออง ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ หรือ ดักจับไอปรอทได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดกระบี่ กฟผ.ใช้เทคโนโลยีแบบ Ultra Super Critical หรือ (USC )ซึ่งมีประสิทธิภาพการเผาไหม้สูง ประหยัดการใช้เชื้อเพลิง เป็นผลให้ลดการปล่อย CO2ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ประกอบกับมีระบบกำจัดก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (SCR)ระบบดักจับฝุ่นด้วยไฟฟ้าสถิตย์ (ESP)ระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์(FGD)และระบบดักจับสารปลอด(ACI)จึงถือเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดตามมาตรฐานสากล ตามนิยามของ IEA ที่ หน่วยงานกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (USEPA)และนานาชาติ เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี ให้การรับรองว่า เป็นระบบกำจัดมลสารที่เป็นมาตรฐานสากล มีการใช้งานกันแพร่หลายในประเทศต่างๆ ทั่วโลก อาทิ 35 ประเทศ ในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศกลุ่มยุโรป(OECD)จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย มาเลเซีย และอาฟริกาใต้

โฆษก กฟผ. กล่าวต่อไปว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด USCที่ใช้กันทั่วโลก และมีการปล่อยมลสารต่ำ จึงได้มาตรฐานสากลเป็นที่ยอมรับของกลุ่มสถาบันการเงินที่เน้นสิ่งแวดล้อมอย่าง ธนาคารโลก (WB) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ธนาคารเพื่อการพัฒนาอิสลาม (IDB) ธนาคาระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาแอฟริกาใต้ (AFDB) และสถาบันการเงินชั้นนำอื่นๆ ที่อนุมัติให้กู้เงินลงทุนได้ โดยเฉพาะเพื่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินระบบ USC ขนาดกำลังผลิตมากกว่า 500 เมกะวัตต์ขึ้นไปอีกด้วย

"กฟผ. เลือกสรรเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบันสำหรับโรงไฟฟ้า ภายใต้ความรับผิดชอบของ กฟผ. เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดของการผลิตไฟฟ้า และมีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน" โฆษก กฟผ. กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น