xs
xsm
sm
md
lg

ผวาประชิดรอบด้าน"ประยุทธ์"ถอยศึกคนไม่เอาถ่าน(หิน)ชั่วคราว !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**เรียกว่าประเมินสถานการณ์อ่านเกมออกก่อนตัดสินใจในนาทีสุดท้าย ทำให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องสั่งถอย (ชั่วคราว) โดยเฉพาะเมื่อสังเกตจากท่าทีล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่รัฐบาลตัดสินใจสั่งปล่อยตัว 11 แกนนำ ที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกันยังสั่งยกเลิกผลวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่เคยศึกษามาก่อนหน้านี้อีกด้วย โดยให้มีการพิจารณากันใหม่ ตามกระบวนการใหม่
"ข้อเท็จจริงการดำเนินการดังกล่าวจะเน้นเรื่องการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) สรุปขั้นต้นโดยคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบให้คณะกรรมการอีไอเอ ไปพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนต่อ พร้อมนำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการไตรภาคีไปพิจารณาประกอบด้วย ซึ่งหากคณะกรรมการอีไอเอ เห็นว่าจะต้องเริ่มต้นกระบวนการใหม่ ทางกระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็ต้องปฏิบัติตาม"
"ซึ่งประเด็นนี้จะตอบโจทย์ว่า การที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบให้เดินหน้าโครงการนี้ตามขั้นตอน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสร้างได้เลยทันที โดยเฉพาะเรื่องอีไอเอ จะเป็นจุดผ่านที่สำคัญ ถ้าไม่ผ่านก็สร้างไม่ได้"
"ส่วนกรณีที่กลุ่มเครือข่ายอันดามันต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ออกมาชุมนุมต่อต้านข้างทำเนียบรัฐบาลนั้น ขณะนี้ถือว่า ผิดพ.ร.บ.การชุมนุม ต้องส่งฟ้อง แต่รัฐบาลก็ยังไม่ดำเนินการเลย จะใช้วิธีการเรียกมาคุยเพื่อทำความเข้าใจ ขณะเดียวกันอยากฝากถึง นางเตือนใจ ดีเทศ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) และนักการเมือง อย่ามาหาคะแนนเสียงในเวลานี้ ซึ่งที่ผ่านมาเคยฟังเหตุผลและข้อเท็จจริงหรือไม่ แต่กลับคิดเองมาตลอด"
"ผมขอยืนยันว่า รัฐบาล คสช. และนายกฯ ต้องการทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ ไม่เช่นนั้นจะเข้ามาให้เปลืองตัวทำไม ดังนั้นขอให้เห็นใจในการดำเนินการของรัฐบาลด้วย ที่ยึดกฎหมายเป็นหลัก และโครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2550 ไม่ใช่มาเริ่มในรัฐบาลนี้"
นั่นเป็นคำพูดที่แสดงให้เห็นท่าทีล่าสุด เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งยังเป็นประธานคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.)
แม้ว่าในคำพูดดังกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่ได้ระบุชัดในทันทีว่า จะยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ แต่การระบุให้เริ่มกระบวนการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการไตรภาคี และย้ำว่า หากผลการศึกษาทางด้านสิ่งแวดล้อมไม่ผ่านก็สร้างโรงไฟฟ้าไม่ได้ หรือคำพูดที่ว่า แม้ก่อนหน้านี้คณะกรรมการพลังงานแห่งชาติจะอนุมัติให้ก่อสร้างได้ (ตามขั้นตอน) ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสร้างได้ในทันที
ประกอบกับการพิจารณาในเรื่องการสั่งปล่อย 11 แกนนำผู้ชุมนุมต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จับกุมไปควบคุมตัว ทึ่มณฑลทหารบกที่ 11 ตามความผิดที่ระบุว่า ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะไปก่อนหน้านี้ โดยล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ย้ำว่ารัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินคดีใดๆ กับพวกเขา
แน่นอนว่า นี่คือท่าทีที่อ่อนลง เป็นเหมือนกับการ "ถอย" ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลของเขา ซึ่งหากพิจารณาแล้วมันก็เหมือนหนังคนละม้วนกับก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่สั่งเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าว และตามมาด้วยการจับกุมบรรดาแกนนำผู้ชุมนุมต่อต้าน รวมไปถึงกดดัน บีบคั้น ให้ผู้ชุมนุมสลายการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ที่สำคัญกล่าวหาว่า "มีการเมือง" อยู่เบื้องหลัง
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาตามสถานการณ์ที่เป็นจริงมันก็พอเข้าใจได้ว่า มันย่อมมีที่มาที่ไป อย่างน้อยเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ที่รุมเร้ารอบด้าน รวมไปถึง "ความเหนียวแน่น" เข้มข้นของพลังต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ไม่ได้อ่อนแรงลงไปเลย ตรงกันข้าม ยิ่งนานยิ่งมีพลัง มีแนวร่วมจากรอบทิศทาง ทั้งในพื้นที่และต่างพื้นที่
ขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่าแม้ว่าข้อกล่าวหาในเรื่อง "การเมือง" อยู่เบื้องหลังมีจริงหรือไม่ หรือว่าแค่ต้องการทำลายความชอบธรรมผู้ชุมนุมหรือไม่ก็ตาม แต่ในภาคใต้ ย่อมเชื่อมโยงกับพรรคประชาธิปัตย์ไม่มากก็น้อย และการที่แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลงมาต่างมีท่าที "ไม่เอาโรงไฟฟ้าพลังถ่านหิน" มันก็ย่อมทำให้คิดหนักหากยังเดินหน้า ขณะเดียวกันแม้ว่าก่อนหน้านี้ "ลุงกำนัน" สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาฯกปปส. จะเคยออกมากล่าวว่า "สนับสนุนรัฐบาลทุกรณี" แต่กับเรื่องนี้มันละเอียดอ่อนเกินไป ถึงไม่กล้าออกมาฟันธงให้มวลชนได้เห็นสักครั้ง
นอกจากนี้ เมื่อพูดถึงการเมืองล่าสุดยังมีพรรคเพื่อไทย ออกมาผสมโรงถล่มรัฐบาลซ้ำเข้ามาอีก แม้ว่าคนละที่มา และรับรู้ถึงเป้าหมายคนละทาง แต่เมื่อถล่มพร้อมกันเข้ามาแบบนี้มันก็ยิ่งเพิ่มน้ำหนัก
อีกทั้งยังมีศึกธรรมกาย ที่ยังไม่สะเด็ดน้ำ ยังคว้าน้ำเหลวจับ "ธัมมชโย"ไม่ได้ ล่าสุดเมื่อถอนกำลังทหารกลับเข้าทึ่ตั้ง ก็มีแนวโน้มปะทุขึ้นมาอีก
ทุกอย่างเหมือนกับเผชิญศึกรอบด้าน โดยเฉพาะในช่วงท้ายๆ ของ"อำนาจพิเศษ" มันก็ย่อมมีอาการอ่อนยวบให้เห็น ดังนั้นเมื่อประเมินสถานการณ์แล้ว มันถึงต้องเปลี่ยนท่าที "ถอยกลับออกมาชั่วคราว" ก่อน เพื่อรักษาความมั่นคงโดยรวมเอาไว้ก่อน ก่อนที่จะบานปลายจนอาจควบคุมไม่อยู่ อย่างน้อยการถอยออกจากแนวด้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็ถือว่าไม่เสียหาย ไม่ถึงขั้นแตกหักกับมวลชนที่เคยหนุนส่ง ถ้าขืนเดินหน้านาทีนี้ มันเสี่ยงเกินไป
**แต่ถึงอย่างไรหากให้ประเมินก็ต้องบอกว่า นี่คือการถอย แบบไว้เชิง และแม้ว่าจะดูเหมือน"ถอยชั่วคราว" ยังวางใจไม่ได้ แต่ถึงอย่างไรเมื่อถอยแล้ว แนวโน้มมันเดินหน้าแบบเดิมได้ยากแล้ว !!
กำลังโหลดความคิดเห็น