xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่-ม๊อบ”ถอยคนละก้าว ทำEIAโรงไฟฟ้ากระบี่ใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360- "บิ๊กตู่"ยอมถอย1 ก้าว ปล่อย 5 แกนนำโรงต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน พร้อมสั่งทำ "EIA-EHIA"ใหม่ ถ้าไม่ผ่าน ก็ไม่สร้าง ซัดฝ่ายการเมืองอย่าฉวยโอกาสหาคะแนนเสียงเวลานี้ "ธีระชัย" แฉกลุ่มทุนทั้ง "ปตท.-ทักษิณ-กฟผ." ดันโรงไฟฟ้า เหตุ "ติดดอย" ซื้อเหมืองถ่านหิน

เมื่อเวลา 11.00 น. วานนี้ (19 ก.พ.) พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำนักนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้นำตัวแกนนำเครือข่ายต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ ทั้ง 5 คน อาทิ นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล นายอัครเดช ฉากจินดา ม.ล.รุ่งคุณ กิติยากร ที่ถูกควบคุมตัวก่อนหน้านี้ มาปล่อยตัว ที่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ซึ่งมีกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าชุมนุมอยู่

พล.ท.อภิรัชต์ กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มีความเป็นห่วงพี่น้องทุกคน และเรื่องที่ตนจะพูดในฐานะฝ่ายความมั่นคง ทางเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ หรือทหาร ก็ได้มีการประนีประนอมการชุมนุม ซึ่งครั้งแรกมีกรตกลงกันว่าจะใช้พื้นที่ชุมนุมฝั่งสำนักงานก.พ. แต่กลับมีการละเมิดข้อตกลง ข้ามมาชุมนุมที่ฝั่งทำเนียบรัฐบาล ซึ่งทางแกนนำก็ได้ยอมรับเรื่องนี้ จึงต้องมีการควบคุมตัว เพื่อดำรงไว้ซึ่งกฎ ระเบียบ และเป็นไปตาม พ.ร.บ.การชุมนุม

พล.ท.อภิรัชต์ กล่าวว่า หลังจากผ่านไป 2 คืน กลับมีผู้ที่ไม่ประสงค์ดี เข้ามาแทรกแซงในกลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้วัตถุประสงค์ในการเรียกร้องมีความผิดเพี้ยนไปหลายเรื่อง โดยตนได้หารือกับแกนนำว่า มีกลุ่มอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาแทรกแซง พยายามทำให้เกิดความขัดแย้งต่อนโยบายของรัฐบาล โดยหลังจากมีการพูดกับแกนนำ ก็ได้มีการชี้แจงและหารือกันเรียบร้อยแล้ว จึงขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมได้ทำตามที่แกนนำจะให้ปฏิบัติต่อไป

ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ตนจะขอยืนยันให้ประชาชน และสื่อรับทราบคือ รัฐบาลนี้ได้ทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว ทางรัฐบาลมีหน้าที่หาแหล่งพลังงาน ส่วนแหล่งพลังงานจะสร้างได้หรือไม่ ก็อยู่ที่พี่น้องประชาชน ในเมื่อจะมีการทบทวน และเริ่มต้นการทำ EIA กันใหม่ ก็ขึ้นอยู่กับพวกท่านไปหารือกัน เพื่อหาข้อยุติในการจัดทำ EIA ขึ้นมาใหม่ ซึ่งเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายความมั่นคง เราเห็นใจประชาชน แต่ถ้ามีการแทรกแซงจะดำเนินการทันที ขอให้ประชาชนอย่าตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมือง หวังว่าทุกอย่างจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ด้านนายประสิทธิ์ชัย หนูนวล แกนนำผู้ชุมนุม ได้กล่าวกับกลุ่มผู้ชุมนุมว่า จากการหารือกับทางรัฐบาล ก็ได้ข้อยุติว่า จะยกเลิกรายงาน EIA และ EHIA ฉบับเดิมออกไป ดังนั้นการสร้างโรงไฟฟ้าที่กระบี่ขณะนี้ จึงกลายเป็นศูนย์ ถ้าจะสร้างก็ต้องเริ่มกระบวนการรับฟังความเห็นกันใหม่ โดยครั้งนี้จะไม่เหมือนเดิม ซึ่งการรับฟังความเห็นจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย จะไม่มีการจัดตั้งคนสนับสนุนโดยบริษัทที่ปรึกษาของการไฟฟ้าเข้ามาอีกแล้ว ก็ต้องถือว่ารัฐบาลได้รับฟังข้อเรียกร้องของเรา ขอขอบคุณที่รัฐบาลเข้าใจ ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตประชาชน หลังจากนี้รัฐบาลจะประกาศยกเลิกรายงาน EHIA ฉบับดังกล่าวในวันที่ 21 ก.พ. นี้ และไม่ว่าผลการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมครั้งต่อไปจะเป็นอย่างไร พวกเราก็พร้อมยอมรับ หลังจากนี้ขอให้พี่น้องทุกคนเดินทางกลับบ้านโดยปลอดภัย

จากนั้นได้มีการปล่อยตัวแกนนำทั้ง 5 คน ไปรวมกับกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อเตรียมเดินทางกลับภูมิลำเนาด้วยรถบัสปรับอากาศ ที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดหาให้

** นายกฯย้ำรอผล "อีไอเอ" ตัดสิน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวว่า กพช. เห็นชอบให้คณะกรรมการ อีไอเอ ไปพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนต่อ พร้อมนำข้อเสนอแนะ ของคณะกรรมการไตรภาคีไปพิจารณาประกอบด้วย ซึ่งหากคณะกรรมการ อีไอเอ เห็นว่าจะต้องเริ่มต้นกระบวนการใหม่ ทางกระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งประเด็นนี้จะตอบโจทย์ว่า การที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบให้เดินหน้าโครงการนี้ตามขั้นตอน ก็ไม่ได้หมายความว่า จะสร้างได้เลยทันที โดยเฉพาะเรื่องอีไอเอ จะเป็นจุดผ่านที่สำคัญ ถ้าไม่ผ่าน ก็สร้างไม่ได้

ส่วนกรณีที่กลุ่มเครือข่ายอันดามันต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ออกมาชุมนุมต่อต้านข้างทำเนียบรัฐบาลนั้น ขณะนี้ถือว่า ผิดพ.ร.บ.การชุมนุม ต้องส่งฟ้อง แต่รัฐบาลก็ยังไม่ดำเนินการเลย แต่ใช้วิธีการเรียกมาคุยเพื่อทำความเข้าใจ ขณะเดียวกันอยากฝากถึง นางเตือนใจ ดีเทศ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และนักการเมือง อย่ามาหาคะแนนเสียงในเวลานี้

ทั้งนี้ขอยืนยันว่า รัฐบาล คสช. และนายกฯ ต้องการทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ ไม่เช่นนั้นจะเข้ามาให้เปลืองตัวทำไม ดังนั้น ขอให้เห็นใจในการดำเนินการของรัฐบาลด้วย ที่ยึดกฎหมายเป็นหลักและโครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2550 ไม่ใช่มาเริ่มในรัฐบาลนี้

** ชื่นชมนายกฯตัดสินใจถูกต้อง

นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า การตัดสินใจยุติการเผชิญหน้าของรัฐบาล กับกลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ด้วยการยกเลิก EHIA ถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพื่อเริ่มกระบวนการใหม่ที่น่าเชื่อถือ และทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง วุฒิภาวะผู้นำของนายกฯ ในการยุติปัญหาเรื่องนี้ในเบื้องต้นที่ตัดสินกันด้วยข้อมูลข้อเท็จจริงไม่ใช้อำนาจหักดิบ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่ไม่ทำลายบรรยากาศการปรองดอง

นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ขณะนี้ทราบว่ามีการปล่อยตัวผู้ชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว และรู้สึกดีใจ รวมทั้งขอบคุณรัฐบาล ที่รับฟังและยินยอมจะทบทวนการทำ EIA และ EHIA ทั้งนี้ อยากฝากรัฐบาลว่า ในช่วงของการทำ EIA และ EHIA ขอให้เปิดช่องให้ชาวบ้านได้มีโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลให้ความเห็นกันอย่างต่อเนื่องด้วย เพราะเรื่องดังกล่าวจำเป็นต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนว่าการดำเนินการโครงการได้ไปกระทบต่อสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนหรือความเป็นอยู่ของชาวบ้านมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมและสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ กสม. ก็จะมีการเกาะติดประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ต่อไปด้วย

**แนะรัฐบาลสั่งกกต.ทำประชามติ

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ในฐานะประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป อดีตสมาชิกสภาปฏิรูป และอดีตสมาชิกวุฒิสภากล่าวถึงเรื่องนี้ว่า รัฐบาลควรพิจารณาอนุมัติให้คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) จัดทำประชามติ เฉพาะในเขต จ.กระบี่ ให้ประชาชนทั้งจังหวัดออกมาใช้สิทธิ ตัดสินว่าจะเอาโครงการนี้หรือไม่เอา เพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเสียงข้างมากของประชาชน ไม่ใช่ให้หน่วยงานของรัฐ หรือเครือข่าย NGO หรือพรรคการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะมาตัดสินแทนประชาชนทั้งจังหวัดกระบี่

ทั้งนี้ ทำประชาพิจารณ์ เท่าที่หน่วยงานรัฐทำมานั้น มักถูกกล่าวหาว่าเป็นเพียงพิธีกรรมรับรองโครงการเพื่อให้เกิดขึ้นเท่านั้น ทำให้ไม่ได้รับการยอมรับ เกิดความขัดแย้งไม่สิ้นสุด ทำให้หลายๆ โครงการที่ดีและประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ต้องการ ก็เลยดำเนินการไม่ได้ไปด้วย

** แฉกลุ่มทุนดันโรงไฟฟ้าถ่านหิน

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กแฟนเพจ Thirachai Phuvanatnaranubala ในประเด็นบริบทด้านธุรกิจของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จ.กระบี่ และ อ.เทพา จ.สงขลา ว่า ต้องดูย้อนหลังว่ายักษ์ใหญ่คนไทยเข้าไปยุ่งกับธุรกิจนี้เมื่อใด ปตท. ซื้อเหมืองถ่านหิน ปี 55 นายทักษิณ ชินวัตร เจรจาซื้อเหมืองถ่านหินปี56 และกฟผ.ซื้อเหมืองถ่านหินปี 59

ทั้งนี้นายธีระชัยได้แสดงแผนภูมิราคาถ่านหินประกอบว่า ราคาถ่านหินตั้งแต่ปี ค.ศ.1970 (พ.ศ. 2513) ราคาพุ่งขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน ในช่วงปี ค.ศ. 2005-2010 (พ.ศ. 2548-2553) จากระดับ 30-40 ดอลลาร์ต่อตัน ขึ้นไปสูงสุดถึงกว่า 120 หลังจากนั้น ก็อ่อนตัวลงมาเรื่อย ในปี 55 ที่ ปตท.ซื้อเหมือง อยู่ที่ระดับ 90-100 ปี 56 ที่ ทักษิณเจรจาซื้อเหมือง อยู่ที่ระดับ 80-90 และปี 59 ที่ กฟผ.ซื้อเหมือง อยู่ที่ระดับ 70-80 ดอลลาร์ต่อตัน
ถามว่าทำไมคนไทยจึงสนใจซื้อเหมืองถ่านหิน ตอบว่า เป็นเพราะฝันหวานอยู่กับตัวเลข 120 ดอลลาร์ต่อตัน พวกนี้มั่นอกมั่นใจว่าราคาจะกลับขึ้นไปเกิน 120 ดอลลาร์ต่อตัน เหมือนเดิม

ถามว่า คนไทยที่ซื้อเหมืองถ่านหิน มาถึงวันนี้ดีใจ หรือเสียใจ ตอบว่าสถานการณ์จุกคอหอย ที่ภาษานักเล่นหุ้น เรียกว่า "ติดยอดดอย"

เพราะแนวโน้มราคาถ่านหินระยะยาว ประเมินโดยธนาคารโลก จะอยู่ระดับเพียงไม่เกิน 60 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่ ไอเอ็มเอฟ ประเมินว่าอยู่ในระดับไม่เกิน 70 ดอลลาร์ต่อตัน พูดง่ายๆ ราคา 80 ในขณะนี้ เป็นการพุ่งสูงขึ้นแบบชั่วคราวเท่านั้น

เหตุผลที่ราคาพุ่งขึ้นเลย 120 ในปี 53 นั้น เกิดจากเศรษฐกิจจีนบูมอย่างหนัก มีการลงทุนขยายกำลังผลิตอุตสาหกรรมสะสมต่อเนื่องหลายปี รวมถึงการผลิตเหล็ก เพื่อก่อสร้าง ทำให้นำเข้าถ่านหินมหาศาล ในช่วงนั้นออสเตรเลีย บูมสุดขีดจากการขายถ่านหิน และแร่โลหะอื่นๆให้จีน จนเศรษฐกิจเป็นฟองสบู่ทีเดียว
แต่โอกาสสำหรับถ่านหินไม่มีทางกลับไปสดใสดังเดิมอีกแล้ว เพราะจีนกำลังเปลี่ยนโมเดล จากการผลิตเพื่อส่งออก เป็นการบริโภคภายในประเทศ และทรัมป์ กำลังจะบีบด้านการค้า รวมทั้งหลายประเทศทั่วโลกเริ่มตั้งข้อรังเกียจถ่านหิน

ในอนาคต ธุรกิจถ่านหินจะหาแหล่งเงินกู้ได้ยากขึ้นๆ เพราะจะถูกบีบด้วยมาตรการโลกร้อน อนาคตทางธุรกิจนี้จึงไม่สดใส และถึงแม้ ทรัมป์ ประกาศจะลดความเข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อม ก็จะช่วยพยุงอนาคตถ่านหินให้กระเตื้องขึ้นได้ไม่มาก

ด้วยเหตุที่คนไทย ที่ลงทุนถ่านหินไปแล้ว มาถึงวันนี้คงเริ่มตระหนักว่ากลับตัวได้ยาก พ่อค้าถ่านหินจึงพยายามผลักดันการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในไทยอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู
กำลังโหลดความคิดเห็น