xs
xsm
sm
md
lg

บันทึกลับ! ไพ่ฝากจากทักษิณในรัฐบาลทหาร (ตอนที่ 5) : "The Other Half Truth" เปิดออกมาเมื่อไหร่ "ตายห่า"ยกรัง !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เมื่อวันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อขอให้เปิดเผยรายชื่อผู้ที่ได้รับการจัดสรรหุ้นของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อ พ.ศ. 2544 ว่าใครบ้างได้รับการจัดสรรหุ้นในฐานะที่เป็น "ผู้มีอุปการคุณ" ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ว่า มีนักการเมือง ข้าราชการ บุคคลในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และบุคคลที่มีความเกี่ยวพันในการแปรรูป บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตลอดจนญาติพี่น้องและครอบครัวของกลุ่มคนเหล่านี้ ร่วมอยู่ด้วยหรือไม่?

เพราะถ้าบุคคลเหล่านี้มีหุ้นอยู่ในขณะแปรรูปบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แล้ว ก็อาจจะต้องถูกตั้งคำถามถึงการขัดกันแห่งผลประโยชน์ในการได้หุ้นดังกล่าวเพื่อผลประโยชน์ของตนเองหรือไม่ และขัดกับความโปร่งใสและหลักธรรมภิบาลอย่างร้ายแรงหรือไม่?

โดยเฉพาะการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นรัฐวิสาหกิจเริ่มต้นและเติบโตมาได้ก็เพราะได้รับการสนับสนุนงบประมาณแผ่นดินซึ่งได้มาจากภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศ และยังมีรายได้มาจากผู้บริโภคที่เป็นประชาชนตาดำๆทั้งประเทศ ซึ่งเป็นผู้ใช้น้ำมัน ใช้ก๊าซธรรมชาติ และใช้ไฟฟ้า ประชาชนคนไทยทั้งประเทศจึงควรจะเป็นผู้มีอุปการคุณและมีบุญคุณต่อ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)ที่แท้จริง ไม่ใช่นักการเมือง หรือข้าราชการเพียงไม่กี่คน หรือญาติพี่น้องและครอบครัวของคนเหล่านี้ จริงหรือไม่?

หนังสือชี้ชวนการขายหุ้นของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ระบุความหมายของผู้มีอุปการคุณว่า:

"ผู้มีอุปการคุณ หมายถึง ผู้มีอุปการคุณของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะจองซื้อหุ้นผ่านผู้จัดการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย"

นอกจากนี้ในหนังสือชี้ชวนการขายหุ้นของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยังปรากฏวิธีการจัดสรรหุ้นให้แก่ผู้มีอุปการคุณ โดยระบุว่า:

"การจัดสรรสิทธิในการจองซื้อหุ้นให้แก่ผู้มีอุปการคุณ ให้อยู่ในดุลพินิจของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) "

และต้องไม่ลืมว่าการจัดสรรหุ้นดังกล่าวนั้น เป็นการใช้ดุลพินิจของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ทั้งสิ้น !!!!

ดังนั้น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะเป็นผู้ที่ใช้ดุลพินิจในการจัดสรรหุ้นให้แก่ผู้มีอุปการคุณ หากมีความโปร่งใสและมีหลักธรรมาภิบาลที่ดีอย่างแท้จริง และไม่มีอะไรในกอไผ่ที่ผูกโยงใยมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ก็เชื่อได้ว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็ควรจะต้องพร้อมตอบสนองในการเปิดเผยรายชื่อดังกล่าวโดยไม่ชักช้า

แต่ถ้ามีเรื่องลับลมคมในซึ่งผูกโยงใยและปกปิดซ่อนเร้นมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตรแล้ว และยังช่วยกันปกปิดกันอยู่ต่อๆกันมาจนมาถึงสมัยรัฐบาลชุดนี้ รับประกันได้ว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หัวเด็ดตีนขาดอย่างไร ก็คงจะไม่ยอมเปิดเผยชื่อดังกล่าวอย่างแน่นอน และจะกลายเป็นเรื่องความจริงอีกด้าน (The Other Half Truth) ที่ปกปิดเอาไว้ไม่ให้ประชาชนได้รับทราบเช่นเคย

และประเทศไทยต้องถือว่าโชคดีแน่ๆ เพราะมีนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการแปรรูปบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะเป็นเลขานุการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร โดยพ่วงท่อก๊าซธรรมชาติติดไปด้วยกับการแปรรูปด้วย และเมื่อเร็วๆนี้ นางอานิก อัมระนันทน์ (ภรรยานายปิยสวัสดิ์) ยืนยันในบทความว่า "นายปิยสวัสดิ์ต่อต้านระบอบทักษิณเสมอมา"

ดังนั้น เมื่อข้อมูลการจัดสรรสิทธิในการจองซื้อหุ้นให้แก่ผู้มีอุปการคุณอยู่ในมือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ก็ควรต้องเชื่อมั่นได้เลยว่า นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ในฐานะประธานบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คนปัจจุบัน จะช่วยเร่งเปิดเผยรายชื่อได้อย่างรวดเร็วเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ความจริงว่า ใครคือผู้มีอุปการคุณ ที่ได้รับการจัดสรรหุ้นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร จริงหรือไม่?

และไม่ต้องกลัวว่าการเปิดเผยจะไปกระทบสิทธิของผู้มีอุปการคุณ เพราะถ้ามีการอุปการคุณเกิดขึ้นจริง ก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหายอะไร แต่จะกลับเป็นชื่อเสียงของตนเสียอีก ที่ได้ทำคุณงามความดีไว้แก่รัฐวิสาหกิจในขณะที่ประชาชายังเป็นเจ้าของอยู่ 100 เปอร์เซนต์

แต่ถ้ายังหาความจริงจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไม่ได้ อีกคนหนึ่งที่น่าจะช่วยหาคำตอบได้ดีเยี่ยมก็น่าจะเป็น นายบรรยง พงษ์พานิช ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการแปรรูป บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อปี พ.ศ. 2544 ในฐานะเป็นผู้บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เมอร์ริล ลินช์ ภัทร จำกัด ซึ่งเคยได้รับความไว้วางใจจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี พ.ศ. 2557 แต่งตั้งให้เป็น คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือที่เรียกกันในวงการว่า "ซุปเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ" มาก่อนหน้านี้

นายบรรยง พงษ์พานิช น่าจะรู้ว่ามีนักการเมืองหรือข้าราชการมาซื้อหุ้นของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือไม่? และน่าจะรู้มากกว่าหุ้นผู้มีอุปการคุณเสียด้วยซ้ำไป เพราะในเวลานั้นบทบาทของบริษัทในเครือเมอร์ริล ลินช์ นั้นมีถึง 3 สถานภาพ

สถานภาพแรก บริษัทหลักทรัพย์ เมอร์ริล ลินช์ ภัทร จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านวานิชธนกิจในการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยให้เป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงย่อมถือว่ามี "ข้อมูลภายในองค์กรรัฐวิสาหกิจแห่งนี้" มากกว่าองค์กรอื่นทั่วไป จริงหรือไม่?

สถานภาพที่สองนายบรรยง พงษ์พานิช ได้โพสต์เฟซบุ๊คของตนเองเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ยอมรับว่าการจัดสรรหุ้นให้กับผู้ซื้อในต่างประเทศ บริษัทในเครือเมอร์ริล ลินช์ ถึง 3 ราย เป็นผู้จองหุ้นต่างประเทศดักเอาไว้ก่อนทั้งหมด แล้วจึงเอาไปกระจายหุ้นให้กับผู้ซื้อนอมินีในต่างประเทศอีกทอดหนึ่ง จากคำสารภาพดังกล่าวนายบรรยง พงษ์พานิช จึงน่าจะย่อมมีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องเพื่อให้เปิดเผยว่าผู้ที่ซื้อหุ้นตัวจริงผ่านนอมินีต่างประเทศนั้น มีนักการเมือง ข้าราชการ หรือคนที่เกี่ยวพันกับการแปรรูป ปตท. จริงหรือไม่?

ทั้งนี้นายบรรยง พงษ์พานิช ได้เคยชี้แจงโดยโพสต์ในเฟซบุ๊คในวันเดียวกันอ้างว่า

"ส่วนของต่างประเทศจะมีผู้จัดจำหน่ายรายหนึ่งได้รับมอบหมายให้เป็น ผู้ซื้อหลักทรัพย์เบื้องต้น (Initial Purchaser) เพื่อจองซื้อหุ้นทั้งหมดไว้ แล้วนำไปกระจายต่อให้ผู้จองในราคาเดียวกัน"

แต่เมื่อสืบค้นตามหนังสือชี้ชวนในการขายหุ้นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นั้นมีข้อสังเกตในข้อ 5.2.2 นั้นได้ระบุว่า ผู้แสดงเจตนาจะเป็นผู้ซื้อหลักทรัพย์เบื้องต้นในต่างประเทศ (Initial International Purchaser) นั้นได้มีอยู่ 3 ราย (ไม่ใช่รายเดียว หรือ เครือเดียว ) คือ

1.เครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) ลิมิเต็ด (Credit Suisse First Boston (Singapore) Limited) ประเทศสิงคโปร์

2.เลห์แมน บราเธอร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ยุโรป) (Lehman Brothers International (Europe) ประเทศอังกฤษ

3.เมอร์ริล ลินช์, เพียซ, เฟนเนอร์ และ สมิธ อินคอร์ปอเรชั่น โดยมอบให้ เมอร์ริล ลินช์ (เอเชีย แปซิฟิก) ลิมิเต็ด เป็นผู้ติดต่อดำเนินการ (Merrill Lynch Pierce Fenner & Smith Incorporated c/o Merrill Lynch (Asia Pacific) Ltd. ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่เดียวกันที่ฮ่องกง

สุดท้ายแล้วพอเอาเข้าจริง กลับกลายเป็นว่า บริษัท เครือเมอร์ริล ลินช์ กลุ่มเดียวเท่านั้นเป็นผู้ซื้อหุ้นต่างประเทศเบื้องต้นเอาไว้ทั้งหมด (ก่อนจะกระจายให้กับบริษัทนอมินีของต่างประเทศในเวลาต่อมา) จึงย่อมเกิดคำถามไปมากกว่านั้นด้วยว่า เพราะเหตุใด จึงมีแต่บริษัทเครือเมอร์ริล ลินช์ เท่านั้นที่กลายเป็นผู้ซื้อเบื้องต้นทั้งหมด กล่าวคือ

1.เมอร์ริล ลินช์ (สิงคโปร์) (Merrill Lynch (Singapore) Pte., Ltd.) จำนวน 139.8 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 4.99

2.เมอร์ริล ลินช์, เพียซ, เฟนเนอร์ และ สมิธ (Merrill Lynch, Pierce, Fenner & Smith Inc.) จำนวน 139.8 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 4.99

3.เมอร์ริล ลินช์ ฟาร์ อีสต์ (Merrill Lynch Far East Ltd.) จำนวน 49.4 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 1.70

เพราะเหตุใด เครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) ลิมิเต็ด และเลห์แมน บราเธอร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ยุโรป) ซึ่งเป็น 2 รายชื่อผู้แสดงเจตนาจะเป็นผู้ซื้อหลักทรัพย์เบื้องต้นในต่างประเทศ (Initial International Purchaser) ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือชี้ชวนฯ จึงได้หายไป?

และเพราะเหตุใด บริษัทในเครือเมอร์ริล ลินช์ 2 ราย คือ เมอร์ริล ลินช์ (สิงคโปร์) และ เมอร์ริล ลินช์ ฟาร์ อีสต์ ซึ่งแต่เดิมไม่ได้อยู่ในบัญชีผู้แสดงเจตนาจะเป็นผู้ซื้อหลักทรัพย์เบื้องต้นในต่างประเทศตามหนังสือชี้ชวนในการขายหุ้นบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กลับเข้ามาเสียบแทนในการร่วมกว้านซื้อหุ้นต่างประเทศให้มาอยู่ในมือบริษัทในเครือเมอร์ริล ลินช์ ก่อนทั้งหมด?

คำถามจึงมีอยู่ว่าการที่บริษัทในเครือเมอร์ริล ลินช์ กลายเป็นผู้รวบการซื้อหุ้นต่างประเทศเอาไว้กับตัวเองก่อนทั้งหมดนั้น ถูกต้องตรงตามที่ระบุเอาไว้ในหนังสือชี้ชวนการขายหุ้นของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือไม่?

การที่เครือเมอร์ริล ลินช์ ได้รวบเอาหุ้นต่างประเทศเอาไว้หมดก่อนกระจายให้กับบริษัทนอมินีของผู้ซื้อตัวจริงในต่างประเทศ จึงเชื่อมั่นได้ว่านายบรรยง พงษ์พานิช อดีตผู้บริหารบริษัท หลักทรัพย์ เมอร์ริล ลินช์ ภัทร จะช่วยไขความจริงและหาคำตอบความจริงอีกด้าน (The Other Half Truth) ให้ประชาชนหายสงสัยได้ว่า “ผู้ซื้อตัวจริง”ที่ผ่านองค์กรนอมินีต่างชาตินั้น มีนักการเมือง ข้าราชการ บุคคลในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และบุคคลที่มีความเกี่ยวพันในการแปรรูป บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตลอดจนญาติพี่น้องและครอบครัวของกลุ่มคนเหล่านี้ ร่วมอยู่ด้วยหรือไม่?

สถานภาพที่สามตามหนังสือชี้ชวนในการขายหุ้นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ระบุว่ามีผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายในประเทศไทย เป็นบริษัทหลักทรัพย์ 23 ราย และมีตัวแทนจำหน่ายหุ้นในประเทศอีก 5 ราย รวมทั้งสิ้น 28 ราย ปรากฏว่า "ผู้มีอุปการคุณ" สามารถจองซื้อหุ้น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ที่สำนักงานและสาขาของผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายเพียงแค่ 3 รายเท่านั้น คือ บริษัท หลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด และ สุดท้ายที่ขาดไม่ได้คือ บริษัทหลักทรัพย์ เมอร์ริล ลินช์ ภัทร จำกัด ซึ่งนายบรรยง พงษ์พานิช เป็นผู้บริหารอยู่ ใช่หรือไม่?

ถึงว่าเป็นโชคดีถึง 2 ชั้น ของประเทศไทยที่คนสำคัญที่รู้เรื่องการแปรรูปของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อย่างละเอียดถึง 2 คน ได้มามีส่วนร่วมในรัฐบาลทหารชุดปัจจุบัน

คนหนึ่งคือ นายบรรยง พงษ์พานิช อดีต"ซุปเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ" ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่น่าจะช่วยหากคำตอบได้ว่าไอ้โม่งที่ไหนแอบถือหุ้นผ่านนอมินีต่างประเทศหรือไม่? และใครคือผู้มีอุปการคุณ?

อีกคนหนึ่งคือ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คนปัจจุบัน ที่อ้างว่าต่อต้านระบอบทักษิณเสมอมา ย่อมสามารถช่วยหาคำตอบได้ว่าใครคือผู้มีอุปการคุณของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในสมัยรัฐบาลทักษิณได้อย่างแน่นอน จริงไหม?

และยังมีอีกหลายคนที่มีความเกี่ยวพันกับการแปรรูป บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร และยังมีบทบาทสำคัญอยู่ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หลายคน ซึ่งสามารถช่วยหาคำตอบส่วนอื่นๆเพิ่มเติมได้อีก ได้แก่

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีคลังในคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติการแปรรูป ต่อมาได้เข้ามาร่วมกับรัฐบาลเป็นรองนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2558

นายสมหมาย ภาษี ขณะนั้นเป็นรองปลัดกระทรวงคลัง ต่อมาได้เข้ามาร่วมกับรัฐบาลจากการปฏิวัติทั้งสองครั้ง คือของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2557 จนถึงวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2558

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตรนั้น เป็นนักวิชาการคลังระดับ 9 เป็นเลขานุการคณะกรรมการเตรียมการในการแปรรูป และเป็นกรรมการในคณะกรรมการระดมทุนจากภาคเอกชนด้วย ต่อมาได้เป็นปลัดกระทรวงพลังงาน ในสมัยรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

และสำหรับ "ความจริงอีกด้านหนึ่ง (The Other Half Truth)" ที่แยกไม่ขาดออกจากการแปรรูป บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นั่นก็คือ ตัวละครในความลับเรื่อง "เอกสารท่อก๊าซธรรมชาติ"

ในด้านผู้บริหารการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ผู้ที่ส่งไพ่ต่อไปในอนาคตอย่างสำคัญ คือ นายสุพน์ เหล่าสุอาภา ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการเตรียมการในการแปรรูปทุกนัด และเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการระดมทุนจากภาคเอกชนด้วยหลายครั้ง โดยเฉพาะการประชุมครั้งสุดท้ายที่นครนิวยอร์ค สหรัฐ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 ที่มีการกำหนดโควต้าจองหุ้นให้แก่ต่างชาติ จริงหรือไม่?

และที่สำคัญมากที่สุด ก็คือนายสุพจน์ เหล่าสุอาภา บุคคลนี้ เป็นผู้ที่รับมอบอำนาจของ บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน). ให้ทำหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 โดยอ้างว่าได้โอนทรัพย์สินซึ่งเป็นท่อก๊าซธรรมชาติให้กรมธนารักษ์ครบถ้วนแล้ว จริงหรือไม่?

ผู้บริหารการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ที่สำคัญอีกคนหนึ่ง คือ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ขณะนั้นเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และเข้าร่วมการประชุมครั้งสุดท้ายที่นครนิวยอร์ค ต่อมา ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้เป็นกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ ในสมัยรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ ได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และล่าสุดปัจจุบันก็กลับมาเป็นกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อีกด้วย

ทั้งนี้ ถึงแม้จะมีการโอนระบบท่อก๊าซไปให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เรียบร้อยแล้ว แต่ภาคประชาชนก็ยังทำการติดตาม และได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2549 ในช่วงสมัยรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร และจะเป็นด้วยเพราะความบังเอิญ หรือเพราะความรู้ความสามารถ หรือเพื่อความต่อเนื่องของไพ่ฝากนโยบายพลังงานตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ หรือไม่ก็ไม่ทราบได้ เพราะถึงแม้รัฐบาลทักษิณจะถูกปฏิวัติในปี 2549 แต่ก็มีการแต่งตั้งนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายสมหมาย ภาษีเข้ามาร่วมในรัฐบาลอีกครั้ง

ในการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองนั้น นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นผู้นำเสนอหลักการต่อคณะรัฐมนตรีรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ซึ่งไม่ระบุเกี่ยวกับท่อก๊าซในทะเลให้มีความชัดเจนจริงหรือไม่? และระบุว่าในวันดังกล่าวว่าได้มีการประชุมหลายหน่วยงานเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ ปรากฏว่าในขณะนั้น นายพรชัย รุจิประภา ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงาน จึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการชงเรื่องนี้ หรือไม่?

บังเอิญอีกหรือไม่ ที่ต่อมา นายพรชัย รุจิประภา อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ก็ได้เข้ามาร่วมกับรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2557 - 19 สิงหาคม พ.ศ. 2558

จะสังเกตว่าคนในแวดวงพลังงานตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ มีบทบาท “ยั้วเยี้ย” ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เต็มไปหมด จริงหรือไม่ !!!?

การส่งไม้ต่อเนื่องไปยังบุคคลต่างๆ ในรัฐบาลที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติ จึงมีคำถามว่าอาจจะเป็นหมากกลหลักในการฝากไพ่ให้ยืดยาวต่อไปเรื่อยๆ และหมากกลเช่นนี้ที่ทำให้การคืนท่อก๊าซเป็นเรื่องที่ยากเย็นอย่างแสนสาหัส ใช่หรือไม่?

แต่ประชาชนชาวไทยยังสามารถมีความหวังได้ เพราะได้มีการแต่งตั้งบางบุคคลที่น่าเชื่อถือเข้าไปเป็นกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแต่งตั้งนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ เป็นประธานกรรมการตรวจสอบ เพราะเคยเป็นถึงปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย

มีความหวังได้อย่างไร?

ขณะนี้ภาคประชาชนได้รับข้อมูลที่ยืนยันว่า นายสุพจน์ เหล่าอาภา ซึ่งเป็นผู้ที่รับมอบอำนาจของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้ทำหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2551 นั้น เป็นผู้ที่เข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2551 กับเจ้าหน้าที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และในการประชุมครั้งนั้นสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้แจ้งให้นายสุพจน์ เหล่าอาภา ทราบความว่า ทรัพย์สินที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แบ่งแยกและโอนให้กระทรวงคลังนั้น ยังไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษา จริงหรือไม่?

ประชาชนจึงฝากความหวังไว้กับนายกิตติพงษ์ กิตติยารักษ์ เพื่อจะให้ตรวจสอบและพิจารณาว่า ประการแรก ข้อกล่าวอ้างว่ามีหลักฐาน ที่แสดงว่า บุคคลที่รับมอบอำนาจให้ยื่นคำร้องต่อศาล เป็นผู้ที่ได้รับทราบด้วยตนเองว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีความเห็นแย้งกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นจริงหรือไม่? ประการที่สอง แต่ในการยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 บุคคลนี้ไม่ได้แจ้งให้ศาลรับทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นจริงหรือไม่ และ ประการที่สาม ถ้าหากไม่มีการแจ้งต่อศาล จะเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายใด หรือไม่?

เมื่อความจริงไพ่สองใบที่ปิดคว่ำอยู่ถูกหงายออกมาเมื่อใด คือ 1. รายชื่อผู้จองหุ้นทั้งไอ้โม่งผ่านบริษัทต่างชาติ และทั้งผู้มีอุปการคุณในบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ 2. หลักฐานว่ามีใครแจ้งเท็จต่อศาลเรื่องการคืนท่อก๊าซหรือไม่แล้ว ถึงเวลานั้นอาจจะมีปลิงและพยาธิกลุ่มหนึ่งซึ่งสูบเงินจากประชาชนตาดำๆ อาจถึงขั้นต้องตายยกรังก็เป็นได้ จริงไหม?


กำลังโหลดความคิดเห็น