xs
xsm
sm
md
lg

ขึ้นเขาคิชฌกูฏ

เผยแพร่:   โดย: วิทยา วชิระอังกูร


ผมเขียนบทความนี้ในวันมาฆบูชา โดยเริ่มต้นจากการอ่านพบบทกวีที่ ว.แหวนลงยาเขียนไว้หลายปีก่อน แต่อ่านแล้วก็ยังใช้ได้ไม่ล้าสมัยอันใด ลองอ่านดูนะครับ

“วันมาฆปูรณมี”

เมื่อยังไป ไม่ถึง “โลกุตระ”

ก็หมั่นขัด “โลกียะ” ให้วาวใส

ศึกษาธรรม สำทับ กำกับใจ

ขณะท่องเที่ยว ไปใน โลกีย์

อาจมีโกรธ มีโลภ แลมีหลง

ต้องฝึกปลด ฝึกปลง ตามวิถี

“ตัวกู ของกู” อาจยังมี

ต้องคอยลด ดีกรี ให้หรี่ลง

ค่อยค่อยผสม ให้กลมกลืน

ให้รู้ตื่น ตั้งสติ เตือนลุ่มหลง

ตามรู้ ตามลด ตามปลดปลง

ให้ “โลกียะ” มั่นคง ในความดี

อยู่กับโลก รู้โลก และรักโลก

เรียนรู้ โมกขธรรม ตามวิถี

วันนี้ วันมาฆปูรณมี

น้อมจิตเขียนบทกวี..กราบพุทธธรรม

ว.แหวนลงยา

แต่เรื่องวันมาฆบูชามีคนเขียนถึงมากมายทุกปีแล้ว วันนี้จึงจะเขียนบอกเล่าเรื่องราวของเขาคิชฌกูฏที่เพิ่งไปมาที่ตำบลพลวง อำเภอคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ก่อนไปผู้เขียนได้รับคำร่ำลือบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ มากมายเกี่ยวการขึ้นเขาคิชฌกูฏ ได้ยินถึงความยากลำบากในการเดินทางขึ้นเขา ที่ต้องแย่งกันนั่งรถกระบะโฟร์วีลถึงสองต่อสองขยัก แล้วยังต้องเบียดเสียดยัดเยียดกันเดินขึ้นเขาที่เป็นทางสูงชันขึ้นไปเรื่อยๆ กว่าจะได้ไปเบียดเสียดสักการบูชารอยพระพุทธบาทที่อยู่บนยอดเขาข้างก้อนหินใหญ่ที่น่าเกรงขาม และหินรูปบาตรที่มีรอยพระหัตถ์ประทับบนก้อนหิน ฟังแล้วผมก็จินตนาการไปถึงความยากลำบากมากมายที่อยากไปทดสอบผจญภัยกับคนอื่นเขามากมาย ทั้งๆ ที่เคยไปเดินขึ้นเขาคิชฌกูฏที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ประเทศอินเดียมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน ก็อยากรู้ว่าคิชฌกูฏที่อินเดียกับเมืองไทยจะเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร

คิชฌกูฏที่อินเดียตอนผู้เขียนไปเดินขึ้น ไม่ได้มีผู้คนมากมาย ส่วนใหญ่ที่มาก็มาเดินย้อนรอยพุทธกาล มากราบสักการะบริเวณคันธกุฎี บนยอดเขา ที่เคยเป็นที่ประทับของพระพุทธองค์ ระหว่างทาง ก็มีร่องรอยของถ้ำต่างๆ ที่เคยเป็นที่พำนักของพระสงฆ์สาวกเมื่อครั้งพุทธกาล มีถ้ำพระโมคคัลลา พระอานนท์ มีถ้ำสุกรขาตาที่พระสารีบุตร มาบรรลุธรรมที่นี่ มีถ้ำสัตตบรรณคูหา ที่เป็นสถานที่สังคายนาธรรมครั้งแรก และมีบรรยากาศอื่นๆ ที่ชวนให้ผู้มาได้รำลึกถึงครั้งที่พระพุทธเจ้า ยังมีพระชนมชีพอยู่ และใช้ที่นี่คล้ายๆ เป็นฐานสำคัญในการเผยแผ่ธรรมที่ทรงตรัสรู้แก่เวไนยสัตว์ทั้งปวง ก็เป็นทางขึ้นเขาที่เดินได้สบายๆ ไม่สูงชันมากสักเท่าใด

ส่วนเขาคิชฌกูฏที่เมืองจันทบุรีที่มีคนมาเบียดเสียดยัดเยียดกันขึ้นเขามากมายก็เพราะในปีหนึ่งมีการเปิดให้ขึ้นเขาได้แค่สองเดือน ปีนี้ก็กำหนดระหว่าง 28 มกราคมถึงวันที่ 28 มีนาคมเท่านั้น นั่นเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่บีบให้ผู้คนต้องแย่งกันมา ส่วนคำร่ำลือที่นอกจากจะศรัทธาในรอยพระพุทธบาทแล้ว ว่ากันว่าผู้ใดมาอธิษฐานขอพรสิ่งใดที่เขาคิชฌกูฏ ก็มักจะได้สำเร็จสมหวังกันทุกผู้ทุกคนไป คำร่ำลือหลังนี้น่าจะเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ผู้คน ทั้งคนไทยและต่างประเทศมุ่งมั่นมาขึ้นเขาคิชฌกูฏให้จงได้

ผู้เขียนที่ฟังเสียงลือเสียงเล่าอ้างจนเกิดความกล้าๆ กลัวๆ แต่บังเอิญโชคดีมีที่ปรึกษาที่ดี ได้รับคำแนะนำจากอดีตนายกเหล่ากาชาดจังหวัดจันทบุรี พร้อมทั้งจัดคนมาอำนวยความสะดวกในการขึ้นเขา กำหนดวันขึ้นเขาในวันพุธที่ 7 กุมภาพันธ์ เวลา 15.00 น. จอดรถยนต์ที่ลานที่ว่าการอำเภอคิชฌกูฏ แล้วซื้อบัตรรถขึ้นเขา ในราคาคนละ 210 บาท รถที่เคยต้องต่อสองขยัก เขาก็จัดระเบียบใหม่ เป็นขึ้นรวดเดียวถึงจุดสูงสุดของทางรถยนต์ที่เรียกว่า ลานพระศิวลี หลังจากกราบไหว้พระพุทธรูป และรูปปั้นต่างๆ ที่จัดสร้างไว้แล้ว ก็เริ่มต้นเดินขึ้นเขา ซึ่งเป็นบันไดหินบันไดปูน และบางช่วงก็เป็นบันไดไม้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ คะเนว่าถึงยอดเขาระยะทางประมาณสัก 3 กม. มีจุดชมวิวให้พักเหนื่อยเป็นระยะ ปรากฏว่าวันที่ผู้เขียนและครอบครัวส่วนหนึ่งขึ้นเขาไปผู้คนบางตามาก เดินกันอย่างสบาย ไม่ยักจะเบียดเสียดอย่างที่ได้ยินมา ว่ากันว่าอาจจะเป็นเพราะวันพุธเป็นวันทำงานไม่ใช่วันหยุดที่คนแห่กันมา และช่วงเวลาที่อดีตนายกเหล่ากาชาดผู้ชำนาญสถานการณ์เลือกให้เป็นช่วงที่มีคนขึ้นเขาไม่มาก

เพราะช่วงที่ลงจากเขา เวลาหกโมงเย็นถึงหนึ่งทุ่ม มีผู้คนสวนทางขึ้นเขามาค่อนข้างมาก ที่คณะเราลงจากเขาช้าก็เพราะไปร่วมทำวัตรเย็นกับคณะพระสงฆ์ที่ลานพระพุทธบาทบนยอดเขา สรุปว่าผู้เขียนและครอบครัวขึ้นเขาคิชฌกูฏที่จันทบุรีได้อย่างสะดวกสบาย คล้ายๆ ตอนขึ้นเขาคิชฌกูฏที่อินเดียเลย ผิดกันแค่สถานที่ และทางขึ้นเขาที่จันทบุรีสูงชันกว่า และเหนื่อยกว่าเท่านั้นเอง

เขาบอกว่าให้ขอพรกันได้คนละข้อ ผู้เขียนก็ตั้งจิตอธิษฐานขอให้มีสุขภาพกายใจแข็งแรงเท่านั้นเอง วันที่เขียนบทความนี้เป็นวันมาฆบูชา เป็นวันหยุดต่อเนื่อง 3 วัน ฟังข่าว ก็ปรากฏว่ามีผู้คนขึ้นเขาคิชฌกูฏที่จันทบุรีแน่นขนัดอย่างที่เคยได้ยินคำร่ำลือจริงๆ

ผู้เขียนก็วานให้ ว.แหวนลงยา เขียนบันทึกเรื่องเขาคิชฌกูฏ เป็นบทกวีไว้ ดังนี้ครับ

“เขาคิชฌกูฏ”

เคยขึ้นเขา คิฌชกูฏ หลายปีก่อน

ตามรอยย้อน พุทธกาล ผ่านภูผา

กรุงราชคฤห์ เมืองหลัก พระศาสดา

บนยอดเขา มีอาณา คันธกุฎี

ยังปรากฏ ร่องรอย เป็นหลักฐาน

จารึกจาร ตำนาน ผ่านวิถี

ถ้ำสุกรชาตา แหล่งบารมี

ที่พระสารีบุตร บรรลุธรรม

ยังมีถ้ำสัตตบรรณคูหา

จุดเริ่มต้น สังคายนาธรรม ในถ้ำ

มีบริเวณเถรเทวทัต ที่มืดดำ

กลิ้งก้อนหิน อนันตริยกรรม พระศาสดา

เดินขึ้นเขา คิชฌกูฏ ที่อินเดีย

ทางลาดชัน ไม่เหนื่อยเพลีย ศรัทธากล้า

ได้ดื่มด่ำ สถานธรรม ทุกมรรคา

เขาคิชฌกูฏ จารึกค่า แหล่งพระธรรม

ร่องรอย พระโมคคัลลา พระอานนท์

พระสาวก อีกมากล้น ตามเถื่อนถ้ำ

ล้วนมีค่า เป็นบริบท ให้จดจำ

แรงจูงใจ ชักนำ ไปจันทบุรี

มีภูเขาคิชฌกูฏ ตั้งตระหง่าน

รอยพระพุทธบาท ประดิษฐาน ยอดเขาที่นี่

มีรอยพระหัตถ์ ประทับหิน บาตรคีรี

ใต้รอยพระบาท เป็นถ้ำฤาษี ลึกลงไป

ชาวไทยเทศ ต่างมา ทุกสารทิศ

ขึ้นเขาคิชฌกูฏ สูงด้วยเลื่อมใส

ต่อให้ทาง ยากลำบาก สักปานใด

เดินเขาสูงชันไกล ด้วยศรัทธา

ไปกราบไหว้ บูชา พระพุทธบาท

หลากจิตคิด หวังวาด หลากหลายค่า

รำลึกคุณ พุทธธรรม พระศาสดา

กราบบูชา คุณพระศรีรัตนตรัย

เขาคิชฌกูฏ ที่อินเดีย ที่จันทบุรี

อาจแตกต่าง สถานที่ เทียบกันไม่ได้

แต่ที่เหมือน คือศรัทธา เหนือค่าใด

คือความรัก ความเลื่อมใส พระพุทธองค์

ว.แหวนลงยา
กำลังโหลดความคิดเห็น