xs
xsm
sm
md
lg

ปรองดอง“พิลึก”“ธรรมกาย”โผล่ร่วมวงหวังนิรโทษฉ้อโกง-ฟอกเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน 360 - “บิ๊กช้าง” นั่งประธานถกปรองดองวันแรกร่วมตัวแทน 3 พรรคการเมือง หารือ 10 หัวข้อนาน 4 ชั่วโมงรวด ก่อนกำหนดแถลงข่าวทุกวันพุธและศุกร์ ส่วน สถาบันพระปกเกล้า มาแปลก เรียกตัวแทนวัดพระธรรมกายร่วมวงเสวนาทั้งที่มีปัญหาคดีอาญาฟอกเงิน “พระสนิทวงศ์” โอดขอความเป็นธรรม ด้าน “บก.ลายจุด” แขวะปรองดองมี 2 ทางออก “สู้รบต่อกับหาทางยุติ” กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ วอนยกเลิก ม.44 พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมเต็มที่

วานนี้ (14 ก.พ.) ที่กระทรวงกลาโหม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ในชุดคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง เป็นประธานรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนพรรคการเมือง 3 พรรคคือ พรรคความหวังใหม่ พรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย และพรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย โดยกำหนดประเด็นการหารือ 11 หัวข้อ โดยใช้เวลาพูดคุยตั้งแต่เวลา 09.00-13.00 น. และหลังเสร็จสิ้นการหารือแล้ว ตัวแทนทั้ง 3 พรรคการเมืองได้เดินทางกลับทันทีโดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ส่วนในวันนี้ (15 ก.พ.) ตัวแทนพรรคชาติพัฒนาจะเข้าแสดงความคิดเห็นในเวลา 13.30-16.30 น.

ทางด้าน พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ในชุดคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง กล่าวภายหลังการหารือว่า การหารือครั้งนี้มี 10 ประเด็นหลัก ส่วนการแถลงข่าวภายหลังการพูดคุยกับพรรคการเมืองนั้นจะมีทุกวันพุธและวันศุกร์ โดยจะสรุปเป็นกรอบกว้างๆ ของการพูดคุย แต่ไม่ลงลึกในรายละเอียดทั้งหมด ทั้งนี้การพูดคุยแต่ละครั้งจะมีการเปิดรายชื่อของพรรคการเมืองที่ส่งตัวแทนมาร่วมพูดคุย โดยจะมีการรวบรวมข้อมูลให้ครอบคลุมทุกประเด็นเพื่อสะดวกในการให้ข่าว จึงขอความร่วมมือสื่อมวลชนให้รอคณะอนุกรรมการฯ ได้ทำงานก่อน ส่วนเรื่องการรับฟังความคิดเห็นคงจะต้องฟังจากทุกคนทุกฝ่ายก่อนจึงจะให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนได้

*** “ธรรมกาย” ร่วมเสวนา โอดขอความยุติธรรม ***

ส่วนที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) คณะนักศึกษาหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่น 7 สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า จัดเวทีเสวนาเรื่อง “ก้าวผ่านวันวาน สมานรัก วาเลนไทน์” โดยเชิญตัวแทนกลุ่มการเมืองและบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตัวแทนจากวัดพระธรรมกาย เข้าร่วมเวทีแสดงความเห็นต่อแนวทางการสร้างความปรองดองและลดความขัดแย้ง

พระสนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส ผู้อำนวยการสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย กล่าวว่า ตามหลักธรรมของพระพุทธศาสตร์ การสร้างความปรองดองมีหลักการคือการประนีประนอม ไม่กล่าวร้ายบุคคลอื่น หากกรณีที่เกิดความขัดแย้งแล้วต้องใช้วิธีการพูดคุยโดยขันติเพื่อให้เกิดสภาพที่เหมาะสมต่อการสร้างความปรองดอง รวมถึงต้องมีหลักให้อภัยทานและอโหสิกรรมซึ่งกันและกัน ขณะที่การบังคับใช้กฎหมายต้องทำให้เกิดความชอบธรรมกับทุกฝ่ายด้วย

“สำหรับประเด็นที่เกิดกับวัดพระธรรมกายที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาไปกว่า 300 คดีนั้น ถือว่าเป็นความไม่ชอบธรรม ทั้งที่ใช้หลักคำสอนตามหลักธรรมะเหมือนกันทุกวัด หากจะมองว่าคำสอนดังกล่าวผิดก็ต้องผิดทุกวัด ไม่ใช่ผิดเฉพาะวัดพระธรรมกาย ดังนั้นหากจะปรองดองกันต้องทำให้เสมอภาคกันทั้งการรักษาศีลและความเห็น เพื่อให้เกิดความปรองดองที่แท้จริง” พระสนิทวงศ์ กล่าว

*** วอนนายกฯ อย่าให้ความสำคัญพรรคการเมือง ***

นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนมองว่าการสร้างความปรองดองในภาวะปัจจุบันมีความหวังแต่ต้องปรับมุมคิดใหม่ เพราะการปรองดองที่ผ่านมา ฝ่ายต่างๆ ทั้งกลุ่มคนเสื้อเหลือง และเสื้อแดง ต่างตั้งคำถามว่าตนจะได้อะไรจากการปรองดอง แต่ปัจจุบันต้องคิดใหม่คือแต่ละกลุ่มจะเสียสละสิ่งใดบ้าง เพื่อให้เกิดความปรองดอง

การเริ่มต้นปรองดองที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เริ่มต้นถือว่าทำถูกทางแล้ว แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการปรองดองแล้วจะทำถูกทางหรือไม่เป็นอีกประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไป โดยหลักการของกระบวนการปรองดองที่ทำให้สังคมเลิกขัดแย้งได้คือการทำความเข้าใจให้ตรงกันใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.คำว่าประชาธิปไตยให้มุ่งไปในความหมายเดียวกัน 2.การสร้างความยุติธรรมไม่สองมาตรฐาน หากยังมีกลุ่มใดที่ยังข้องใจในกระบวนการยุติธรรม นายกรัฐมนตรีต้องให้องค์กรที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสังคมแต่ไม่ใช่การชี้นำมุมมอง 3.หลักการว่าด้วยเสียงข้างมากและขอบเขตของการใช้เสียงข้างมาก เช่น เสียงข้างมากตัดสินความดีความชอบไม่ได้ เป็นต้น ส่วนประเด็นนิรโทษกรรมนั้นอาจเป็นหนึ่งในประเด็นปรองดองที่ต้องพูดคุยแต่ไม่ควรพูดในที่สาธารณะ เพราะมีรายละเอียดมากและต้องทำความชัดเจน เช่น นิรโทษกรรมคดีการเมืองจะรวมถึงนิรโทษกรรมผู้ยึดอำนาจ หรือมีข้อหาเป็นกบฏต่อแผ่นดินหรือไม่ เป็นต้น

“การปรองดองที่ผ่านมาไม่สำเร็จ เพราะสังคมไทยติดวัฒนธรรมเกรงใจ บางเรื่องต้องเลิกเกรงใจ อย่าซุกปัญหาไว้ใต้พรม ดังนั้นหากจะทำให้เลิกขัดแย้งต้องใช้การผ่าตัด ไม่ใช่การกินยาเพื่อบรรเทา นอกจากนั้นที่ผ่านมาไม่มีผู้ใดที่มีอำนาจเด็ดขาดเหมือนรัฐบาล คสช. ที่มีอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ดังนั้นการทำเวทีพูดคุย นายกรัฐมนตรี ต้องไม่ให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองมากไป แต่ต้องให้ความสำคัญกับประชาชน” นายนิพิฎฐ์ กล่าว

นายชินวัตร หาบุญพาด อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย และสมาชิกกลุ่ม นปช. กล่าวว่า แนวทางที่จะทำให้การปรองดองได้จริงไม่ควรทำเฉพาะการจัดเวทีเพื่อให้ทุกฝ่ายพูดคุยเท่านั้น แต่ต้องทำด้วยใจและใช้ใจพูดกัน เพราะตนมองว่าหากทำปรองดองไม่สำเร็จการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้นทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือและเปิดใจยอมรับ เช่น การนิรโทษกรรมต้องทำให้สุดซอยคือ คดีการเมืองทุกคดี, คดีผิดมาตรา 112 หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ และนิรโทษกรรมคดีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีด้วย

*** ชี้ปรองดองจะเกิดได้ ต้องทำความจริงให้ปรากฏ ***

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ที่ปรึกษาสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และอดีตสมาชิกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า ความขัดแย้งเป็นจุดที่ทำให้สังคมเกิดความเปลี่ยนแปลง หากใช้วิธีการสมยอมจะไม่ทำให้เกิดการพัฒนา แต่เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นสิ่งที่จะสร้างความปรองดองได้ต้องใช้ผู้รู้และมองในมุมมองขัดแย้งต่างๆ ไม่เฉพาะมุมของขัดแย้งทางการเมืองเท่านั้น เพราะประเด็นที่สร้างความขัดแย้งบานปลายคือจุดเริ่มที่รากฐาน เช่น ความไม่เท่าเทียม ปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติ และอื่นๆ

“การเข้าสู่กระบวนการปรองดองได้จริงต้องเริ่มจากความจริงใจและตั้งใจของรัฐบาล โดยความเห็นส่วนตัวมองว่ากระบวนการปรองดองต้องเริ่มจากทำความจริงที่หลายฝ่ายเชื่อไม่ตรงกันให้ปรากฏและทำความเข้าใจร่วมกันว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงสถานการณ์ ขณะที่กระบวนการที่นำไปสู่ความปรองดองอาจใช้นโยบายรัฐบาล เช่น นโยบาย 66/23 เป็นต้น รวมถึงต้องจัดเวทีย่อยๆ เพื่อฟังความเห็นประชาชน” นายสาวิทย์ กล่าว

*** “บก.ลายจุด” หนุนดีเบต ***

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ “บก.ลายจุด” แกนนำกลุ่มคนวันอาทิตย์สีแดง กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับการปรองดอง เพราะขณะนี้มีทางเลือกเพียง 2 ทางเท่านั้นคือ สู้รบกันต่อกับหาทางที่ยุติความสูญเสียที่เกิดขึ้น แต่วิธีการที่นำไปสู่ความปรองดองนั้นจำเป็นต้องถกเถียงเพื่อให้ได้ข้อยุติที่แท้จริง โดยมองเป้าหมายคือปรองดองเพื่ออะไรเป็นหลัก ไม่ใช่มองที่ตัวบุคคลที่หมายถึงปรองดองเพื่อใคร ทั้งนี้ความขัดแย้งถือเป็นวิวัฒนาการทางสังคมและไม่สามารถสั่งให้เลิกขัดแย้งกันได้ สำหรับโจทย์ 10 ข้อที่ตั้งเป็นคำถามในกระบวนการสร้างแนวทางปรองดองนั้นตนมองว่าเป็นสิ่งที่ทำให้มองอนาคตร่วมกัน แต่สิ่งที่ต้องสนับสนุนให้เกิดขึ้นร่วมด้วยคือการทำความจริงให้ปรากฏเพื่อเป็นบทเรียนไม่ให้กลับไปสู่จุดขัดแย้งกันอีก ขณะที่ประเด็นของการให้อภัยทุกฝ่ายต้องเห็นร่วมกัน ไม่ใช่ให้อภัยเพียงฝ่ายเดียว เพราะจะทำให้ผู้ที่ให้อภัยนั้นตกเป็นเหยื่อของสังคม

“กระบวนการปรองดองที่จะเกิดขึ้นได้ต้องทำให้เหมือนกับการดึงรากบัวที่เมื่อดึงแล้วจะมีสิ่งต่างๆ ติดขึ้นมาด้วย ซึ่งสิ่งที่ติดมานั้นเหมือนปัญหาที่สะสมในสังคม ผมสนับสนุนการดีเบตเพราะหากไม่ทำ สังคมจะวิวัฒนาการไม่ได้ แต่ปัญหาคือเราไม่มีวัฒนธรรมของการวิจารณ์ หรือหากระบวนการเรียนรู้ว่าอะไรสิ่งที่ดีกว่า หรือจะเลือกอะไร โดยเป็นการเถียงกันบนหลักเหตุผล ไม่ใช่ความรู้สึก กล่าวคือเอาเนื้อหามาพูด ไม่ใช่ยึดที่ตัวบุคคล” นายสมบัติ กล่าว

***แนะยกเลิก ม.44 ***

นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่าการสร้างความปรองดองได้คือต้องเปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม พร้อมรับฟังความเห็นทุกกลุ่ม ตลอดจนยอมรับและเคารพต่อสิทธิเสรีภาพด้านการแสดงความเห็นของประชาชน รวมถึงต้องยกเลิกการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 และใช้วิธีการพูดคุยร่วมกันแทนโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น หากรัฐบาลเปิดใจกว้างมากขึ้นให้ประชาชนทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมไม่ใช่เฉพาะฝ่ายการเมือง พร้อมทั้งทำให้ความจริงปรากฏแก่สังคม
กำลังโหลดความคิดเห็น