xs
xsm
sm
md
lg

พรรคการเมืองตอบรับถกปรองดอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360-คณะกรรมการปรองดองเชิญพรรคการเมืองร่วมพูดคุย ดีเดย์เริ่มวันแห่งความรัก 14 ก.พ.นี้ มี 3 พรรคเข้าร่วม ส่วนคิวต่อไปพรรคชาติพัฒนา และจะทยอยเชิญมาต่อเนื่อง เชื่อทุกพรรคจะใช้โอกาสนี้เสนอข้อคิดเห็นและร่วมกันเดินหน้ากระบวนการสร้างสามัคคีปรองดอง ปชป.พร้อมส่งคนเข้าร่วม ย้ำต้องเปิดใจไม่มีธง เพื่อไทยชี้กรรมการปรองดองมีแต่คนภายใต้ คสช. ขาดคนเป็นกลาง ด้าน "ประสาร"แนะก้าวข้ามเรื่องขัดแย้ง

พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองได้เชิญพรรคการเมืองเข้าร่วมพูดคุยหารือกัน ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ.เป็นต้นไป ณ ศาลาว่าการกลาโหม โดยตั้งแต่เวลา 09.00-12.00 น. พรรคความหวังใหม่ พรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย และพรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย จะเข้าร่วมพูดคุยพร้อมกัน โดยคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ซึ่งมีปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ร่วมให้การต้อนรับและพูดคุย ต่อจากนั้น ในวันที่ 15 ก.พ. เวลา 13.30-16.30 น. พรรคชาติพัฒนา จะเข้าพูดคุยในลำดับต่อมา

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะทยอยเชิญทุกพรรคการเมืองและภาคส่วนต่างๆ ในลำดับต่อไป และหากมีการตอบรับยืนยัน จะได้ประสานนัดหมายกำหนดวันเวลาที่เหมาะสมอีกครั้ง โดยเชื่อมั่นว่าพรรคการเมืองและทุกภาคส่วนที่ได้รับเชิญเข้าร่วมพูดคุย จะร่วมกันใช้โอกาสนี้ให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ และสร้างสรรค์ต่อการเดินหน้ากระบวนการสร้างความสามัคคีปรองดอง เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในอนาคต

นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวว่า พรรคคนไทยพร้อมที่จะไปร่วมพูดคุยและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างความปรองดอง หากแต่ยังกังวลว่าการกำหนด 10 หรือ 11 ประเด็นหัวข้อไว้ล่วงหน้า โดยห้ามพูดนอกเหนือจากที่กำหนดนั้น ก็เหมือนกับเลี่ยงไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นในหัวข้ออื่น ซึ่งบางความเห็น อาจมาจากบริบทความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม อีกทั้งยังอาจถูกมองว่า มีการตั้งธงไว้ล่วงหน้า จนการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ เป็นเพียงพิธีกรรมให้กระบวนการนี้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ น่าเชื่อถือเท่านั้น เพราะเมื่อเปิดเวทีพูดคุยแล้ว ก็ต้องรับฟัง และให้น้ำหนักผู้แสดงความคิดเห็นทุกคน ทุกฝ่ายอย่างทั่วถึง ไม่ใช่ฟังหรือให้ความสำคัญแต่พรรคการเมืองใหญ่ ซึ่งจะเป็นเพียงละครฉากหนึ่ง ที่เกณฑ์ตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ ไปเข้าฉาก แต่พอบทสรุปออกมา ก็เป็นไปตามบทที่ผู้กำกับเขียนไว้

นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ในฐานะเป็นอดีตกรรมาธิการคนหนึ่งใน กมธ.ศึกษาเรื่องการปรองดองของ สปช. ที่มีดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน ตนเห็นว่า ผู้เข้าร่วมเวทีทุกฝ่ายควรใช้หัวใจเมตตาธรรมเป็นเครื่องนำทาง แทนที่จะใช้ทิษฐิเพื่อเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่งและควรมีท่าที "แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง" เพราะการหยิบยกเอาจุดต่างมาเป็นประเด็นถกเถียง จะสร้างความขัดแย้งไม่รู้จบ จะทำวงแตกได้โดยง่าย เนื่องจากต่างฝ่ายต่างมุ่งเอาชนะคะคานกัน แทนที่จะผ่อนปรนต่อกันและกัน

"เวทีดังกล่าวไม่ควรมีการชี้ถูก ชี้ผิด เช่นว่าใครฆ่า 6 ศพ ที่วัดปทุมวนาราม , มีหรือไม่มีชายชุดดำในการชุมนุมของ นปช. และกระบวนการยุติธรรมกลั่นแกล้งนายทักษิณ ชินวัตร ประเด็นเหล่านี้ ศาลสถิตยุติธรรมได้ทำหน้าที่อยู่แล้ว ที่พิพากษาไปแล้วก็มี ที่รอพิพากษาก็มี เวทีการสนทนาจึงควรก้าวข้ามประเด็นแตกต่างที่แต่ละฝ่ายมีจุดยืนแข็งขันของตนเอง แล้วมุ่งไปสู่ประเด็นที่คาดว่าจะมีความเห็นร่วมกันได้ เช่น จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมกันอย่างไร จะปฏิรูประบบราชการอย่างไร จะกำจัดการทุจริตได้อย่างไร จะปฏิรูปการศึกษาอย่างไร โดยทุกคนหมายเอาปัญหาของบ้านเมืองเป็นตัวตั้ง ถ้าทุกคน ทุกองค์กรที่ร่วมเวที"นายประสารกล่าว

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้รับหนังสือเชิญให้ไปแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องความสามัคคีปรองดองในวันศุกร์ที่ 17 ก.พ.นี้ ซึ่งขณะนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กำลังพิจารณาบุคลากรที่เหมาะสมของพรรคเพื่อเข้าร่วมในการแสดงความคิดเห็นครั้งนี้ โดยพรรคเห็นว่าคณะกรรมการฯ จะต้องเปิดใจกว้างรับฟังข้อมูลรอบด้าน ไม่มีธงล่วงหน้า เปิดเวทีให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ และแสดงออกถึงความตั้งใจในการทำงานให้เกิดผลอย่างแท้จริง

นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา โฆษกพรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมในวันที่ 15 ก.พ. โดยพรรคมีจุดยืนในการสนับสนุนการปรองดองมาโดยตลอด และอยากเห็นทุกพรรคและทุกกลุ่มการเมืองได้เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ เพื่อให้เกิดแนวทางที่รัฐบาลจะได้นำไปประกอบการพิจารณาวางแนวทางในการปฏิบัติเพื่อความสามัคคีปรองดองต่อไป

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คณะกรรมการปรองดอง ส่วนใหญ่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ คสช. และอยู่ในแวดวงผู้สนับสนุน คสช. ขาดคนที่เป็นกลาง และผู้เชี่ยวชาญด้านการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ส่วนคำถาม 10 ข้อ กว้างไป และสะท้อนว่าผู้ตั้งคำถามไม่เข้าใจหลักประชาธิปไตย ระบบรัฐสภา และไม่เข้าใจนโยบายหลายเรื่อง อีกทั้งพรรคการเมืองไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกัน แต่ควรส่งเสริมให้พรรคการเมืองมีนโยบายที่มีอิสระ แล้วให้ประชาชนตัดสินจากการเลือกตั้ง

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรมว.ต่างประเทศ และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้ทุกคนฝากความหวังไว้ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่จะทำให้ประเทศปรองดอง เดินไปข้างหน้า เพราะหากทำสำเร็จ จะถูกจารึกไว้ในจิตใจคนไทยว่าความขัดแย้งและความแตกแยกในบ้านเมืองแก้ได้ด้วยฝีมือพล.อ.ประวิตร โดยสิ่งที่คนไทยอยากเห็น ก็คือ การบังคับใช้กฎหมายที่เท่าเทียมกัน ขณะที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ ยาเข็มแรก ประเทศต้องเป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า พรรคชาติไทยพัฒนาจะเข้าพูดคุยกับคณะกรรมการฯ ในวันที่ 16 ก.พ. เวลา 13.30 น. โดยพรรคเชื่อว่างานการสร้างความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ ทุกฝ่ายต้องจริงใจที่จะร่วมกันเดินไปสู่จุดที่จะต้องแก้ปัญหา ซึ่งข้อมูลมีอยู่แล้ว แต่ยังไม่ทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ดังนั้น เมื่อได้พูดคุยกันแล้ว ก็ต้องผลักให้นำเรื่องนี้ไปสู่การปฏิบัติให้ได้ ไม่ใช่มีข้อมูลแล้วเอามาเก็บไว้ก็ไม่เกิดประโยชน์ โดยการพูดคุยปรองดองครั้งนี้ มีหลายฝ่ายมุ่งหวังให้เกิดผลสำเร็จ จะเห็นได้จากการสำรวจความคิดเห็นจากโพลสำนักต่างๆ ที่ประชาชนให้ความสนใจ คาดหวังกับรัฐบาลนี้สูงมาก ขณะเดียวกันพรรคชาติไทยพัฒนาเชื่อมั่น และคาดหวังว่าถ้าไม่ทำในรัฐบาลที่ไม่ได้เป็นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และมีอำนาจเด็ดขาด รวมทั้งยังมีมาตรา 44 รัฐบาลอื่นก็ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลนี้มีความพร้อม มีศักยภาพทุกอย่าง อยู่ในมือตัวเอง ก็เชื่อมั่นว่าถ้าจริงใจเท่านั้น ก็สามารถนำไปสู่การปรองดองให้เกิดขึ้นได้แท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น