xs
xsm
sm
md
lg

พนักงานบินไทยจี้”บิ๊กตู่” ใช้ม.44ฟันทุจริตจัดซื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พนักงานการบินไทยรวมตัว ขอ"นายกฯ"ใช้มาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการพิเศษตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง ในบริษัท ระบุ ทุจริตตั้งแต่ซื้อไม้จิ้มฟัน ชี้นโยบายบอร์ด และฝ่ายบริหาร ลดอายุเครื่องบินเพื่อซื้อใหม่ ทำบริษัทมีปัญหาฐานะการเงิน ควรลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

วานนี้ (12 ก.พ.) พนักงาน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประมาณ 200 คน ในนามกลุ่มเครือข่ายคนบินไทยจิตอาสาต้านโกง ได้รวมตัวกันที่ ศูนย์ปฏิบัติการการบินไทย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐ ตรวจสอบการบริหารของฝ่ายบริหาร คณะกรรมการบริษัทการบินไทย โดยระบุว่า

กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในบริษัทฯ มีการทุจริตคอร์รัปชัน ตั้งแต่จัดซื้ออุปกรณ์วัสดุขนาดเล็ก เช่น ไม้จิ้มฟัน ไปจนถึงเครื่องบิน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงปรับระบบเครื่องบิน ที่นั่ง,สาระบันเทิง (Inflight Entertainment ) ระบบ wifi ซึ่งบอร์ดและฝ่ายบริหารมีมติอนุมัติล่าสุด ใช้งบลงทุนถึง 6,000 ล้านบาท รวมถึงการที่ลดอายุการใช้งานของเครื่องบินจนส่งผลให้เครื่องบินจำนวนมากต้องจอดไว้รอขาย ที่ท่ากาศยานดอนเมือง และอู่ตะเภา ซึ่งขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ใช้อำนาจ มาตรา 44 จัดตั้งคณะกรรมการพิเศษ เพื่อตรวจสอบการทุจริตเชิงนโยบายในการจัดซื้อ

โดยเฉพาะในช่วงของแผนการฟื้นฟูกิจการ ปี 2552 ถึง 2554 จากที่บริษัทฯ ขาดทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาทในปี 2551 ได้ร่วมกันลงมติเปลี่ยนแปลงแก้ไขลดอายุการใช้งานของเครื่องบิน จนส่งผลให้เครื่องบินจำนวนมากต้องจอดไว้รอขาย ที่ท่ากาศยานดอนเมืองและอู่ตะเภา ทำให้เครื่องบิน 50 ลำ ต้องถูกปลดระวาง ก่อนการหมดอายุใช้งานจริง จากที่ควรมีอายุใช้งานที่ 25 ปี สำหรับเครื่องบินโบอิ้ง และอายุ 20 ปี สำหรับเครื่องบินแอร์บัส ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อการใช้งานเครื่องบินกับแผนซื้อและรับมอบ

โดยมีการขออนุมัติคณะรัฐมนตรี(ครม.) จัดซื้อเครื่องบิน 75 ลำ โดยในล็อตแรกจัดซื้อ 37 ลำ ใช้งบลงทุนประมาณ 200,000 ล้านบาท โดยเครื่องบินเหล่านี้ รับมอบเข้าฝูงบิน ปี 2554-2561

ทั้งนี้ สถานะการเงินของบริษัทตั้งแต่ปี 2557-ปัจจุบัน มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ เนื่องจากมีหนี้สินผูกพันระยะยาว ปัญหาก่อหนี้ส่วนหนึ่งมาจากการลดอายุการใช้งานเครื่องบิน และโละทิ้งเครื่องบินเก่า เพื่อซื้อเครื่องบินใหม่ในแผนฟื้นฟูบริษัทฯปี 2552-2554 พนักงานจึงเรียกร้องให้ตรวจสอบนโยบายของบอร์ด และฝ่ายบริหารที่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัท

รวมถึงตรวจสอบการปรับเปลี่ยนเครื่องบินในปี 2555 ว่าได้มาตรฐานสากลหรือไม่ ตรวจสอบการตั้งบริษัทลูก ทั้งไทยสมายด์ และนกแอร์ wingspan และ ขอให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบทางบัญชีบริษัทที่กำหนดค่าด้อยสภาพเครื่องบินเกินจริง และเรียกร้องให้คณะกรรมการ และฝ่ายบริหาร ที่ร่วมในแผนฟื้นฟู ปี 2552-2554 ลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบ ซึ่งมีด้วยกัน 2 คน ที่อยู่ในคณะกรรมการชุดปัจจุบัน เพราะทำแผนและนโยบายที่ผิดพลาดเกิดปัญหาการขาดทุนต่อเนื่อง และสร้างหนี้สินผูกพันระยะยาว

ด้านนายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง กรณีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เสนอให้แก้กฎหมาย ไม่เอาผิดอาญากับเอกชนที่ติดสินบนว่า ข้อเสนอของนายอภิศักดิ์ เป็นความคิดเปิดช่องให้เอกชนได้รับการยกเว้นโทษทางอาญา จากการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งตนเห็นว่า เป็นการเปิดช่องให้เกิดการทุจริตอย่างชัดเจน ถ้าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย นายอภิศักดิ์ ไม่อาจนั่งในตำแหน่ง รมว.คลังได้อีกต่อไป เพราะไม่อาจไว้วางใจให้ดูแลงบประมาณแผ่นดินได้
กำลังโหลดความคิดเห็น