xs
xsm
sm
md
lg

อเมริกาจะล่มจมเพราะประชานิยมแนวทรัมป์ หรือไทยจะไปก่อน?

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งในอเมริกา นักวิพากษ์จำนวนมากมองกันว่าอเมริกากับหลายประเทศในยุโรปกำลังเล่นกับไฟ เนื่องจากผู้นำใช้หลักประชานิยมหาเสียงแล้วชนะการเลือกตั้ง ประเด็นนี้อาจทำให้คนไทยแปลกใจว่าอเมริกากำลังจะเป็นแบบอาร์เจนตินาเชียวหรือ ทั้งนี้เพราะต่างได้ยินกันมานานว่าอาร์เจนตินาล่มจมเพราะใช้นโยบายประชานิยมมาก่อน แต่ตามความหมายเบื้องต้น การใช้นโยบายแนวประชานิยมไม่จำเป็นต้องทำให้ล่มจมเสมอไป ตรงข้าม ประชาชนจะได้ประโยชน์มากหากใช้ไปในทางดี ในกรณีของอาร์เจนตินาและของอเมริกาที่นักวิพากษ์อ้างถึงนั้น มันเป็นการใช้ไปในทางไม่เหมาะสม

“ประชานิยม” แปลมาจาก Populism ซึ่งมีความหมายหลายอย่างและอาจถูกใช้ในบริบทต่างกัน พจนานุกรมจากหลายสำนักให้ความหมาย Populism ไม่ค่อยตรงกัน สำนักเคมบริดจ์ของอังกฤษให้ความหมายสั้นๆ ซึ่งอาจแปลเป็นไทยได้ว่า “แนวคิดและกิจกรรมทางการเมืองซึ่งมีเป้าหมายที่จะแสดงให้เห็นความจำเป็นและความปรารถนาของคนธรรมดาสามัญ” ผู้ที่เข้าไปค้นดูในอินเทอร์เน็ตผ่านกูเกิ้ล จะพบเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับคำนี้และจะตระหนักทันทีว่าจะสรุปออกมาสั้นๆ ได้ยากมาก

Populism มาจากรากศัพท์ภาษาละติน Populus ซึ่งแปลว่า “ชาติ” หรือ “ประชาชน” เมื่อนำมาใช้ในบริบทของการบริหารบ้านเมือง คำนี้มีความหมายว่า การบริหารโดยรัฐบาลที่ประชาชนคนธรรมดามีส่วนร่วม แนวคิดนี้อยู่คนละขั้วกับแนวคิดจำพวกที่มีรัฐบาลประกอบด้วยชนชั้นสูงกลุ่มเล็กๆ ซึ่งใช้กันโดยทั่วไปในสมัยโบราณ การใช้หลักประชานิยมอย่างเป็นรูปธรรมเกิดขึ้นตั้งแต่ในสมัยโรมันซึ่งรุ่งเรืองเมื่อ 2,000 ปีที่ผ่านมา ตอนนั้นนักการเมืองโรมันบางคนสามารถจูงใจให้รัฐบาลขอประชามติจากประชาชนโดยตรงได้ในบางเรื่อง แทนที่จะขอจากวุฒิสภาซึ่งมาจากชนชั้นอำมาตย์เพียงกลุ่มเดียว

ทางศาสนาก็มีการนำหลักประชานิยมมาใช้ โดยเฉพาะในช่วงการปฏิรูปศาสนาคริสต์ครั้งใหญ่ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ตอนนั้นชาวคริสต์ส่วนหนึ่งมองว่า สังคมในอุดมคติควรให้ชาวไร่ชาวนาและคนธรรมดามีส่วนมีเสียงในศาสนาแทนที่มติจะมาจากชนชั้นสูงเท่านั้น จึงถูกต่อต้านอย่างหนัก การต่อต้านนั้นนำไปสู่การทำร้ายและกดขี่ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้ฝ่ายถูกกดขี่หนีไปตั้งหลักแหล่งในอเมริกา

ในเวลาไล่เลี่ยกันก็มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญทางด้านการเมืองของอังกฤษ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากความต้องการมีบทบาทของประชาชนจนนำไปสู่สงครามกลางเมืองในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 สงครามนั้นจบลงด้วยแนวการปกครองใหม่ที่กษัตริย์จะปกครองประเทศได้ก็ต่อเมื่อรัฐสภาของประชาชนให้ความยินยอม แนวการปกครองนั้นวิวัฒน์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในแนวที่มีกษัตริย์เป็นประมุข

ในฝรั่งเศส การปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบกษัตริย์มาเป็นระบบสาธารณรัฐในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ก็มองได้ว่ามาจากประชานิยมเพราะยึดหลักการที่ว่าประชาชนต้องมีอิสระและความเท่าเทียมกัน หลักการนั้นเป็นที่มาของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในแนวสาธารณรัฐ

ในเยอรมนี ความเคลื่อนไหวที่กลายมาเป็นแนวคิดเผด็จการชาตินิยมฟาสซิสต์ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็มองได้ว่ามีต้นตอมาจากประชานิยม แต่เป็นประชานิยมที่เกิดจากการปลุกปั่นชนชั้นกลางในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้ออกมาต่อต้านรัฐบาล ชนชั้นสูงและบริษัทขนาดใหญ่ พรรคนาซีอาศัยความไม่พอใจของชนชั้นกลางเป็นฐานของการเคลื่อนไหว ซึ่งต่อมารวมเอาการเหยียดผิวและการต่อต้านชาวยิวเข้าไปด้วย กระบวนการนั้นนำไปสู่ความวิบัติครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ เมื่อความบ้าอำนาจของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ก่อให้เกิดสงครามโลกและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ซึ่งยังผลให้หลายล้านคนเสียชีวิต

ในสหรัฐอเมริกา พจนานุกรมเฮอริเตจให้ความหมายของ Populism ไว้กว้างกว่าพจนานุกรมเคมบริดจ์ โดยแยกความหมายไว้เป็น 3 อย่าง คือ “ปรัชญาทางการเมืองที่สนับสนุนสิทธิและอำนาจของประชาชนคนธรรมดาในการต่อสู้กับชนชั้นสูงที่มีสิทธิพิเศษ” “การเคลื่อนไหวที่ใช้ปรัชญาดังกล่าวเป็นหลักยึด” และ “ปรัชญาของพรรคประชานิยม”

อาจมองได้ว่าหลักประชานิยมถูกนำไปใช้ในสหรัฐอเมริกามานานก่อนที่จะมีการเคลื่อนไหวเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งพรรคประชานิยม (Populist Party) เมื่อ พ.ศ. 2434 ทั้งนี้เพราะแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมกันของบุคคลมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ แม้ในตอนต้นเขาจะไม่นับคนผิวสีก็ตาม เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองอันสืบเนื่องมาจากการเลิกทาสในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ยึดหลักประชานิยมในปาฐกถาสั้นๆ อันโด่งดัง ณ เมืองเกตติสเบิร์ก ซึ่งจบด้วยประโยคที่ว่า “รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน จะไม่มีทางสูญหายไปจากโลก”

หลังจากนั้น ความหมายและการใช้คำว่าประชานิยม ได้เปลี่ยนไปเป็นการเน้นความเคลื่อนไหวที่นำไปสู่การก่อตั้งพรรคประชานิยม ความเคลื่อนไหวนั้นปลุกปั่นชนชั้นแรงงานและชาวไร่ชาวนาให้ลุกขึ้นมาต่อต้านธนาคาร การรถไฟและชนชั้นสูง พรรคประชานิยมส่งตัวแทนเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2435 แต่พรรคได้รับคะแนนน้อย หลังจากนั้น พรรคประชานิยมก็ค่อยๆ ถดถอยลงจนเลิกล้มไปในปี พ. ศ. 2451

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวยังคงมีอยู่บ้างและวิวัฒน์มาเป็นการก่อตั้งพรรคประชานิยมอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2527 นอกจากนั้น ยังมีพรรคการเมืองอีกจำนวนหนึ่งซึ่งใช้คำว่าประชานิยมเป็นส่วนประกอบของชื่อพรรค เช่น Populist Party of America ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2545 และ American Populist Party ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2552 แต่การเคลื่อนไหวไม่มีผลเป็นรูปธรรมแล้ว

หลักประชานิยมแพร่ขยายต่อไปถึงละตินอเมริกาในเวลาต่อมา และมีบทบาทสูงในคริสต์ศตวรรษที่ 20 การใช้หลักประชานิยมที่นั่นเป็นไปในหลายรูปแบบ การเคลื่อนไหวที่ใช้หลักประชานิยมเกิดขึ้นเพราะหลังได้เอกราชในคริสต์ศตวรรษที่ 19 การปกครองของประเทศละตินอเมริกาส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของเจ้าของที่ดินที่มีฐานะร่ำรวย เมื่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจเปลี่ยนไปหลังเกิดโรงงานอุตสาหกรรมทำให้มีชนชั้นแรงงานเพิ่มขึ้น ประชาชนกลุ่มนี้ต้องการมีสิทธิมีเสียงในการบริหารบ้านเมืองบ้าง ในสภาพเช่นนี้ เริ่มมีนักการเมืองหัวใสที่ต้องการใช้พวกเขาเป็นฐานของการก้าวเข้าสู่อำนาจ ดังในกรณีของอาร์เจนตินาซึ่งมีรายละเอียดอยู่ในหนังสือชื่อ “ประชานิยม : ทางสู่ความหายนะ”

นอกจากอาร์เจนตินา เวเนซุเอลาเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมากเนื่องจากการมีน้ำมันปิโตรเลียมพร้อมก๊าซธรรมชาติปริมาณมหาศาลนำไปสู่การใช้รายได้จากการขายน้ำมันแบบล้างผลาญจนตกอยู่ในภาวะล้มละลายมานาน เรื่องการใช้ประชานิยมจนล้มละลายของเวเนซุเอลาหาอ่านได้ในหนังสือเรื่อง “เล่าเรื่องเมืองน้ำมัน” ซึ่งดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา (www.bannareader.com) และสั้นๆ (หน้า 130-133) ในเรื่อง “ฝากภูมิปัญญาชาติไทยไว้กับครู”

ประชานิยมที่นักการเมืองไทยเริ่มนำมาใช้ในปี พ.ศ. 2544 เป็นแนวหว่านเงินรัฐซื้อความนิยมในตัวนักการเมืองคล้ายที่ใช้ในอาร์เจนตินาและเวเนซุเอลา ไทยยังไม่ล้มละลายคล้ายสองประเทศนั้น เพราะยังใช้ได้ไม่นานก่อนถูกทหารยึดอำนาจสองครั้ง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าไทยจะไปรอดเพราะประวัติศาสตร์บ่งว่าอาร์เจนตินาก็ถูกทหารยึดอำนาจเช่นกัน และแล้วทหารก็ใช้นโยบายแนวประชานิยมและฉ้อฉลจนประเทศล้มละลาย รัฐบาลทหารไทยกำลังเป็นแบบนั้นหรือไม่ใช้วิจารณญาณดูกันเอาเอง

ประชานิยมยังมีอีกความหมายหนึ่งซึ่งนักวิพากษ์อ้างถึงในกรณีของประธานาธิบดีทรัมป์ นั่นคือ ในสภาวะที่ประชาชนจำนวนมากขุ่นข้องหมองใจพร้อมกับไม่เข้าใจปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาและคิดว่าการแก้ปัญหาไม่น่าจะยาก นักการเมืองก็ออกมาเสนอการแก้ปัญหาแบบง่ายๆ เพื่อเอาใจคนพวกนั้น ในปัจจุบัน คนอเมริกันนับร้อยล้านคนขุ่นข้องหมองใจเพราะรายได้ไม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาโดยที่พวกเขาไม่เข้าใจว่า ปัญหาพื้นฐานมาจากการหมดสมัยของแนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลัก และความต้องการใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นแบบไม่มีที่สิ้นสุดของตน

นายทรัมป์ออกมาเสนอการแก้ปัญหาแบบง่ายๆ เช่น ไล่ชาวเม็กซิกันนับล้านกลับบ้านตนแล้วสร้างกำแพงกั้นเขตแดน ยกเลิกข้อตกลงการค้าเสรีพร้อมกับขึ้นภาษีนำเข้า เอาใจนายทุนด้วยมาตรการด้านภาษี และยกเลิกมาตรการควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมพร้อมกับลดหย่อนกฎข้อบังคับธนาคารและสถาบันการเงิน สิ่งเหล่านี้พูดง่ายและอาจทำได้หลายอย่างจริง แต่มันจะไม่แก้ปัญหาพื้นฐานแม้ชาวอเมริกันจะเชื่อนายทรัมป์ก็ตามที

หลังขึ้นครองตำแหน่งมาเพียงเวลา 3 สัปดาห์ นายทรัมป์สร้างปัญหาสารพัดเพราะความอ่อนหัดของตนเอง มาตรการบางอย่างที่เขาเร่งรัดนำออกมาอาจมีผลในระยะสั้นทั้งในทางที่ผู้สนับสนุนมองว่าดีและในทางที่ผู้ไม่เห็นด้วยมองว่าร้าย หากนายทรัมป์ยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมและแนวนโยบายของตน ผลเสียหายจะเกิดขึ้นในระยะยาวแน่นอน อย่างไรก็ดี นายทรัมป์อาจอยู่ในตำแหน่งเพียง 4 ปี สิ่งที่เลวร้ายอาจยังไม่ถึงกับทำให้อเมริกาล่มจมก่อนที่จะมีคนอื่นเข้ามาแก้ กรณีของไทยอาจไม่เป็นเช่นนั้น ทั้งนี้เพราะไทยทำอะไรต่อมิอะไรในแนวที่นายทรัมป์ทำพร้อมๆ กับทำหลายอย่างไม่ต่างกับอาร์จเนตินามานาน หากยังฝืนทำต่อไป ผลออกมาจะเป็นการล้มละลายแน่นอน และก่อนเวลาที่อเมริกาจะล่มจม
กำลังโหลดความคิดเห็น