ผู้จัดการรายวัน 360 - สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โปรดสถาปนา สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 แล้ว โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะเสด็จประกอบพระพิธีสถาปนาในวันที่ 12 ก.พ.60 ณ วัดพระแก้ว เวลา 11.00 น. “วิษณุ” เผย ใช้พระนาม “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ”
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ว่า หลังจากมีการดำเนินการตามขั้นตอนพิจารณารายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 โดยพิจารณาเสนอรายชื่อไป 5 องค์ ซึ่งหลังจากมีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ไปแล้วนั้น ขณะนี้ได้รับแจ้งว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 โดย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะเสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชพิธีตามราชประเพณี ในวันที่ 12 ก.พ.60 เวลา 11.00 น. ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
“ขออย่าขัดแย้งกันอีกเลย ไม่ใช่ว่าองค์อื่นดี หรือไม่ดี แต่ต้องดูเรื่องงานและเรื่องอื่นๆ ด้วย ทั้งยังเป็นพระราชอัธยาศัยของพระองค์ท่านที่ทรงพิจารณาเอง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมถึงแถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2560 ระบุว่า ตามที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2556 เป็นเหตุให้ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง บัดนี้ มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องจักได้รับสนองและดำเนินการเพื่อให้พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่เป็นไปโดยเรียบร้อยตามพระราชประเพณีต่อไป
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าขั้นตอนหลังจากนี้ จะมีพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ในเวลา 17.00 น. วันที่ 12 ก.พ. โดยจะมีการถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย จากพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามแบบการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายพระสุพรรณบัฏ หรือ ชื่อสมเด็จพระสังฆราชที่จารึกลงบนแผ่นทอง ถวายพัดยศ เครื่องสมณบริขาร หรือเครื่องยศสมเด็จพระสังฆราช และอาลักษณ์ อ่านประกาศพระบรมราชโองการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ถือเป็นอันเสร็จพิธี
สำหรับสมเด็จพระสังฆราช ที่จะได้รับการโปรดสถาปนาครั้งนี้ เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่มีวัตรปฏิบัติเป็นที่เคารพนับถือ เลื่อมใส สมถะ อย่างที่มีการพูดถึงกัน เป็นศิษย์ที่เลื่อมใสศรัทธามากของ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ส่วนพระนามของสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 จะใช้พระนามว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ และต่อท้ายด้วยชื่อเดิม ซึ่งเป็นพระนามของสมเด็จพระสังฆราช ตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 1 ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จนถึงองค์ที่ 18 ส่วนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 นั้น เหตุที่พระนามแตกต่างจาก 18 องค์ที่ผ่านมา เนื่องจากในหลวงรัชกาลที่ 9 โปรดสถาปนาให้มีชื่อเดิม ก่อนที่จะเป็นสมเด็จพระสังฆราช
ทั้งนี้ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) นามเดิมว่า นายอัมพร ประสัตถพงศ์ เป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม และแม่กองงานพระธรรมทูต เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน 2470 ณ ต.บางป่า อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี โยมบิดาชื่อนายนับ ประสัตถพงศ์ โยมมารดาชื่อนางตาล ประสัตถพงศ์ ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ 4 ต.โคกกระเทียม อ.เมือง จ.ลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
นายอัมพร ประสัตถพงศ์ บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อพ.ศ.2480 ณ วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2491 ณ พัทธสีมา วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์
สามเณรอัมพร ประสัตถพงศ์ เคยไปอยู่จำพรรษาที่วัดตรีญาติ ต.พงสวาย เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม เมื่อ พ.ศ.2483 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี จากนั้น พ.ศ.2484 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นโท สอบได้นักธรรมชั้นเอกและสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค เมื่อพ.ศ.2486 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค เมื่อพ.ศ.2488
เมื่อ พ.ศ.2490 ได้ย้ายมาอยู่จำพรรษา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี นำมาฝากกับสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) สกลมหาสังฆปริณายก
ภายหลังอุปสมบทเมื่อ พ.ศ.2491 ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ จนพ.ศ.2491 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค และ พ.ศ.2493 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค
ต่อมาเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 จบศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ.2500 และได้เดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ.2512 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี
ปี พ.ศ.2552 สภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ถวายศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์ ปี พ.ศ.2553 สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ ปัจจุบัน ในพ.ศ.2560 เจ้าประคุณสมเด็จมีอายุ 89 ปี 68 พรรษา