xs
xsm
sm
md
lg

“ปฏิรูป-ยุทธศาสตร์-ปรองดอง” สุดท้าย “คน” ว่ะ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สอดแนมการเมือง”
โดย “ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”

เมื่อไหร่..พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทอันเลอค่า ของ”ในหลวงรัชกาลที่9” จะปรากฎเป็นจริง?

“ในหลวงรัชกาลที่ 9” ทรงสอนสั่งให้ชาวไทย โดยเฉพาะ “ผู้มีอำนาจ” ทุกระดับ ให้ปฏิบัติหน้าที่สร้างความสามัคคีปรองดอง ด้วยสติปัญญาอันถูกต้อง-ซื่อสัตย์สุจริต-ยุติธรรม ฯลฯ ตั้งมั่นอยู่กับการทำดีเพื่อส่วนรวม-เพื่อชาติ-เพื่อประชาชน-เพื่อความมั่นคงทุกมิติให้ชาติบ้านเมือง ฯลฯ

แต่ “ผู้นำชาติ”และ ผู้มีอำนาจทุกระดับ ยังมิได้ปฏิบัติให้สัมฤทธิ์ผล ดังเช่น

“ปัญหาสังคมนั้น ถ้าพิจารณาดูจะเห็นความจริงข้อหนึ่งว่า ปัญหาทั้งปวงเกิดจากมนุษย์เอง มีมนุษย์เป็นตัวการก่อปัญหา ถึงไม่ก่อให้คนอื่นโดยตรง ก็ก่อให้ตัวเอง แล้วทำให้เดือดร้อนไปถึงคนอื่น กลายเป็นปัญหาสังคม ปัญหาสังคมจึงมีมาคู่กับมนุษย์ แม้ปัจจุบันโลกเราจะวิวัฒนาการก้าวหน้าไปเพียงใดก็ตาม แต่ปัญหาต่างๆก็มิได้เปลี่ยนแปลงไป เพียงแต่มีตัวอย่างทั้งดีและไม่ดี ปรากฏให้เห็นเด่นชัดมากกว่าแต่ก่อน ดังนั้น บุคคลผู้สามารถประคับประคองตนให้อยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข จึงต้องมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ที่จะยึดมั่นปฏิบัติมั่น ตามแบบอย่างที่พิจารณารู้ชัดด้วยปัญญาแล้วว่า เป็นทางแห่งความดี ความเจริญ ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจให้มัวเมาหลงผิดไปในทางเสื่อมเสีย พร้อมกันนั้นก็จะต้องมีสติกำกับอยู่ตลอดเวลา ที่จะไม่ให้ประพฤติปฏิบัติผิดพลาด ด้วยความประมาทพลั้งเผลอ”

พระบรมราโชวาท พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีเปิดการประชุมการสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ ครั้งที่ 15 ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน 2539

“การที่ในประเทศใดมีประชาชนทั้งหมดอยู่ร่วมกันโดยสันติ ก็เป็นสิ่งที่ปรารถนาของทุกคน ไม่มีใครอยากให้มีความวุ่นวายในหมู่คณะในประเทศชาติ เพราะว่าถ้ามีความวุ่นวายนั้นเป็นความทุกข์ ทุกคนต้องการมีความสุข หากความสุขนั้นก็จะมาจากความปรองดอง และความที่ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปโดยยุติธรรม”

พระบรมราโชวาท ในโอกาสที่รองประธานศาลฎีกา นำผู้พิพากษาประจำกระทรวง เข้าเฝ้าฯ 21 ธันวาคม 2537

“ในการดำเนินชีวิตของเรา เราต้องข่มใจไม่กระทำสิ่งใดๆ ที่เรารู้สึกด้วยใจจริงว่าชั่ว ว่าเสื่อม เราต้องฝืน ต้องต้านความคิดและความประพฤติทุกอย่าง ที่รู้สึกว่าขัดกับธรรมะ เราต้องกล้าและบากบั่นที่จะกระทำสิ่งที่เราทราบว่าเป็นความดี เป็นความถูกต้อง และเป็นธรรม ถ้าเราร่วมกันทำเช่นนี้ให้ได้จริงๆ ให้ผลของความดีบังเกิดมากๆขึ้น ก็จะช่วยค้ำจุนส่วนรวมไว้ มิให้เสื่อมลงไป และจะช่วยให้ฟื้นคืนดีขึ้นได้เป็นลำดับ”

พระราชดำรัส พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2514

“ภาระในการบริหารนั้นจะประสบผลด้วยดี ย่อมต้องอาศัยความรักชาติ ความซื่อสัตย์สุจริต ความสมัครสมานสามัคคีกลมเกลียวกัน ประกอบกับความร่วมมือของประชาชนพลเมืองทั่วไป ข้าพเจ้าจึงหวังว่า ท่านทั้งหลายคงจะพยายามปฏิบัติการกรณียกิจในส่วนของแต่ละท่านด้วยใจบริสุทธิ์ โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้เพื่อได้มาซึ่งความร่มเย็นเป็นสุขของประชาชนทั่วไป อันเป็นยอดปรารถนาด้วยกันทั้งสิ้น”

พระราชดำรัส พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2502

ถ้าทำงานด้วยความตั้งใจที่จะให้เกิดผลอันยิ่งใหญ่ คือความเป็นปึกแผ่นของประเทศชาติ ด้วยความสุจริตและด้วยความสามารถด้วยจริงใจ ไม่นึกถึงเงินทองหรือนึกถึงผลประโยชน์ใดๆ ก็เป็นการทำหน้าที่โดยตรงและได้ทำหน้าที่โดยเต็มที่”

พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศ 13 ธันวาคม 2511

“การยึดมั่นในผลประโยชน์ของแผ่นดิน และความถูกต้องเป็นธรรม เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ เพราะการยึดมั่นดังกล่าว จะทำให้มีจิตใจมั่นคงเด็ดเดี่ยว ในอันที่จะพากเพียรปฏิบัติหน้าที่ให้จนบรรลุผลสำเร็จ และสามารถป้องกันความผิดพลาดเสียหาย อันจะเกิดแก่คนแก่งานได้อย่างแท้จริง”

พระราชดำรัส พระราชทานแก่ข้าราชการ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 29 มีนาคม 2539

“งานของแผ่นดินนั้นเป็นงานส่วนรวม มีผลเกี่ยวเนื่องถึงความเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงของบ้านเมืองและสุขทุกข์ของประชาชนทุกคน ข้าราชการผู้ปฏิบัติบริหารงานของแผ่นดิน จึงต้องสำนึกตระหนักในความรับผิดชอบที่มีอยู่และตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ โดยเต็มกำลังความสามารถ ด้วยความเข้มแข็งสุจริต และด้วยปัญญารู้คิดพิจารณา ว่าสิ่งใดเป็นความเจริญ สิ่งใดเป็นความเสื่อม อะไรเป็นสิ่งที่ต้องทำ อะไรเป็นสิ่งที่ต้องละเว้นและกำจัด อย่างชัดเจนถูกต้อง”

พระบรมราโชวาท เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน วันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน 2550 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 31 มีนาคม 2550

“การทำงานให้สำเร็จผลแน่นอนและสมบูรณ์ ตามเป้าหมายนั้น จะต้องใช้ความรู้ความสามารถพร้อมทั้งคุณสมบัติที่สำคัญๆ ในตัวบุคคลหลายประการ ทั้งความตั้งใจที่มั่นคง ความคิดสร้างสรรค์ ความอุตสาหะพยายาม ความรับผิดชอบ ตลอดจนความสุจริต เป็นธรรมนำมาปฏิบัติโดยสม่ำเสมอ”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 19 กรกฎาคม 2528

“ถ้าทุกคนยึดมั่นว่า เราต้องช่วยกัน และต้องพยายามที่จะปฏิบัติงานของตน ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ด้วยความตั้งใจดี ด้วยความเอาใจใส่ดีในหน้าที่ของตน เชื่อได้ว่า ส่วนรวมจะอยู่ได้ อย่างมั่นคงและถาวรแน่”

พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะกรรมการสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 6 ตุลาคม 2512

“ความสามัคคีนั้น อาจหมายความถึงเห็นชอบเห็นพ้องกันโดยไม่แย้งกัน ความคิดต่างกัน ซึ่งไม่เสียหาย แต่อยู่ที่จิตใจของเรา ถ้าเราใช้หลักวิชาและความปรองดองด้วยการใช้ปัญญา การแย้งต่างๆ ย่อมเป็นประโยชน์ หากมีรากฐานของความคิดอย่างเดียวกัน รากฐานของความคิดนั้นคือ แต่ละคนจะต้องทำให้บ้านเมืองมีความเป็นปึกแผ่น”

พระราชดำรัส พระราชทานแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 29 ตุลาคม 2517

“การมีวินัย มีความสามัคคี และรู้จักหน้าที่ ถือกันว่าเป็นคุณสมบัติสำคัญประจำตัวของคนทุกคน แต่ในการสร้างเสริมคุณสมบัติ 3 ข้อนี้ จะต้องไม่ลืมว่า วินัย สามัคคี และหน้าที่นั้น เป็นได้ทั้งในทางบวกและทางลบ ซึ่งย่อมให้คุณหรือให้โทษได้มากเท่าๆกันทั้ง 2 ทาง เพราะฉะนั้น เมื่อจะอบรม จำต้องพิจารณาให้ถ่องแท้แน่ชัดก่อนว่า เป็นวินัยสามัคคีและหน้าที่ดี คือ ปราศจากโทษ เป็นประโยชน์ เป็นธรรม”

พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ 12 กรกฎาคม 2526

“สามัคคี คือการเห็นแก่บ้านเมืองและช่วยกันทุกวิถีทาง เพื่อที่จะสร้างบ้านเมืองให้เข้มแข็งด้วยการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างตรงไปตรงมา นึกถึงประโยชน์ส่วนรวม เพราะประโยชน์ส่วนรวม นั้นคือความมั่นคงของบ้านเมือง”

พระราชดำรัส พระราชทานในพิธีประดับยศนายตำรวจชั้นนายพล ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน15 มกราคม 2519

“ชาติบ้านเมือง จะเจริญก้าวหน้าอาณาประชาราษฎร์ จะได้รับความผาสุกเพียงไรหรือไม่ ย่อมอาศัยการที่ท่านทั้งหลายจะสมัครสมานสามัคคีกัน ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต หวังประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง และส่งเสริมประโยชน์สุขแก่อาณาประชาราษฎร์ทั้งปวง”

พระราชดำรัส ในพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม 14 มีนาคม 2500

“บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม-และบิ๊กๆ ทั้งหลาย”ที่บริหารชาติ จะทำให้ตามพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท ของ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ข้างต้น..ปรากฏเป็นจริงได้หรือเปล่า?

วันนี้ ท่าที“ท่านผู้นำบิ๊กตู่”รัฐประหารดูขึงขัง 1 ปีจากนี้ไปจะปฏิรูป-วางยุทธศาสตร์-เร่งปรองดอง.. อืม.. ดูเหมือนว่า ชาติน่าจะ “ได้ของ” มากกว่า “เสียของ” จากการรัฐประหารครั้งล่าสุด

งานนี้ “อย่าท่าดีทีเหลว” ก็แล้วกัน แม้ระบบต้องปฏิรูปให้ดีเลิศ แต่สุดท้าย..ชี้ขาดที่ “คนดี” ต้องได้ขึ้นปกครองบ้านเมือง ชาติและประชาชนจึงจะดีขึ้นจริงๆ..ข้อยเว้าแม่นบ่ “บิ๊กตู่”..???


กำลังโหลดความคิดเห็น