xs
xsm
sm
md
lg

รัฐต้องหยุดความคิดเข้ามาควบคุมสื่อ สื่อต้องตอบสังคมว่าจะควบคุมกันเองอย่างไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หนึ่งความคิด”
โดย “สุรวิชช์ วีรวรรณ”

ในขณะที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 30 องค์กร ร่วมออกแถลงการณ์ คัดค้าน ร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ....ซึ่งกำลังอยู่ในการพิจารณาของสปท.เพื่อส่งร่างให้พิจารณาต่อไปนั้น ในฐานะที่ผมอยู่ในวิชาชีพนี้มา 30 กว่าปีแล้ว ก็อยากมีความเห็นบ้าง

ก่อนอื่นผมบอกเลยว่า ผมสนับสนุนการต่อสู้ของพี่ๆ น้องๆ ในองค์กรสื่อ ที่จะไม่ให้รัฐเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการทำงานของรัฐ เพราะสื่อต้องมีอิสรภาพในการที่จะตรวจสอบทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและเอกชน แต่เห็นว่าสื่อเองก็มีด้านที่ต้องตอบคำถามสังคมเหมือนกัน

ถ้าใครติดตามความเห็นของผมมาบ้างจะทราบดีกว่า ผมมีจุดยืนมาอย่างชัดเจนทั้งแต่มีการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 และมีความพยายามจะให้มีองค์กรวิชาชีพสื่อตอนนั้นผู้หลักผู้ใหญ่ในวงวิชาชีพต่างยืนกรานเป็นเสียงเดียวกันว่า สื่อจะดูแลตรวจสอบกันเอง พูดง่ายๆ ว่าจะไม่ยอมเป็นองค์กรที่มีกฎหมายรองรับแบบสภาทนายความหรือแพทยสภา ซึ่งผมไม่เห็นด้วยและบอกว่าสุดท้ายองค์กรวิชาชีพสื่อจะกลายเป็นเสือกระดาษ

แต่ความหมายของผมคือ เป็นองค์กรสื่อที่มีกฎหมายรองรับเพื่อให้การตรวจสอบกันเองเกิดผลที่เป็นจริง ไม่ได้หมายความว่าให้รัฐร่างกฎหมายเพื่อตั้งองค์กรเข้ามาควบคุมสื่อและเอาคนของรัฐเข้ามานั่งในองค์กรสื่อ

ส่วนสื่อเองก็ต้องยอมรับว่า คนภายนอกวงการสื่อแล้วเขามองสื่อด้วยวิกฤตศรัทธาไม่ต่างกับวงการตำรวจ เขาไม่เชื่อถือวงการสื่อครับ

ย้อนไปดูสิครับหลังจากมีสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติหรือองค์กรวิชาชีพอื่นๆ ไปบังคับบัญชาใครได้ไหม ผมจะยกตัวอย่าง 2 กรณีใหญ่ๆ เมื่อปี 2554 กรณีเกิดเหตุการณ์อีเมล์ฉาวของ นายวิม รุ่งวัฒนจินดา กรรมการพรรคเพื่อไทย อ้างว่ามีการจ่ายเงินให้สื่อ เพื่อช่วยนำเสนอข่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย โดยการพาดพิงถึงนักหนังสือพิมพ์หลายคนและหลายค่าย

คนที่เปิดโปงอีเมล์ฉาวนี้ก็คือ เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้ตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ โดยมี “นพ.วิชัย โชควิวัฒน” เป็นประธานคณะกรรมการสอบ พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิหลายด้าน ซึ่งผลการสอบสวนได้เปิดเผยความสัมพันธ์ระหว่างเครือมติชนและพรรคเพื่อไทยผ่านการนำเสนอข่าว ต่อมาเครือมติชน อันประกอบด้วยหนังสือหลักในเครือคือ มติชน-ข่าวสด-ประชาชาติธุรกิจ ได้ประกาศลาออกจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและออกแถลงการณ์คัดค้านไม่ยอมรับผลการสอบสวนของคณะอนุกรรมการฯ ชุดดังกล่าว โดยระบุว่าคณะอนุกรรมการดำเนินการตรวจสอบนอกเหนือไปจากขอบเขตที่ได้รับมอบหมาย และไม่เรียกหรือสอบถามข้อเท็จจริงจากองค์กรสื่อที่พาดพิงไปถึง

ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้แถลงตอบโต้ต่อมาว่าพยายามติดต่อเพื่อขอความร่วมมือจากผู้ที่ถูกพาดพิงผ่านองค์กรหนังสือพิมพ์ต่างๆซึ่งส่วนใหญ่ก็ให้ความร่วมมืออย่างดี ส่วนเครือมติชนกลับไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดมาให้ข้อเท็จจริง แต่มีการชี้แจงมาเป็นเอกสารแทน ซึ่งคณะอนุกรรมการเห็นว่าไม่มีสาระใดที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบเลย

นอกจากการไม่ยอมรับการสอบสวนของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและประกาศลาออกไม่ร่วมสังฆกรรมด้วยแล้ว เครือมติชนได้ใช้ความเป็นสื่อเปิดฉากโจมตีหมอวิชัยจนเป็นคดีความฟ้องร้องกันขึ้น แล้วต่อมาได้มีการเจรจายอมความกันโดยมติชนแถลงขอขมาหมอวิชัยผ่านหนังสือพิมพ์ในเครือของตัวเอง

กรณีที่ 2 เมื่อมีการเผยแพร่เอกสารโดย ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) อ้างว่า เป็นข้อมูลของฝ่ายประชาสัมพันธ์บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง มีเนื้อหาบางส่วนระบุว่า มีการจ่ายเงินเป็นรายเดือนให้แก่สื่อมวลชนอาวุโสเฉพาะราย รวม 19 รายเป็น “งบพิเศษเพื่อสนับสนุนสื่อมวลชน” ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติร่วมกับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง

แต่มีผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเดินทางมาให้ข้อมูลด้วยตนเอง 3 ราย ให้ข้อมูลทางโทรศัพท์ 2 ราย ส่งเอกสารมาชี้แจง 1 ราย โดยมี 2 รายประกาศผ่านสาธารณะว่าจะไม่ให้ความร่วมมือ

คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จึงมีคำวินิจฉัยเป็นที่สุดว่า ยังไม่มีพยานหลักฐานที่ชี้ชัดว่ามีผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนรับผลประโยชน์จากบริษัทเอกชนตามที่มีการกล่าวหา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยังมีผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอีกบางส่วน ไม่ได้มาให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่อง จึงยังไม่สามารถมีข้อยุติได้ว่า ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนดังกล่าว มีการรับผลประโยชน์เป็นการส่วนตัวจากบริษัทเอกชนดังกล่าวหรือไม่ เช่นกัน จึงมีมติให้ยุติเรื่อง เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดที่จะนำมาใช้ในการพิจารณาอีก

สรุปคือ ทำอะไรไม่ได้เลิกสอบ ก็เพราะสภาการหนังสือพิมพ์ไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมายที่จะไปเรียกใครมาสอบนั่นเอง แถมคนถูกเรียกก็ใช้สื่อของตัวเองนั่นแหละเขียนด่ากรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ที่บังอาจมาเรียกตัวเองไปสอบอีก กูไม่ไปโว้ยมึงเป็นใคร

นั่นหมายความว่าการตรวจสอบกันเองที่ให้สัญญาต่อสังคมของสื่อนั้นเป็นเรื่องที่เลื่อนลอย

แต่ไม่ได้หมายความว่า ผมจะเห็นด้วยกับที่รัฐพยายามร่างกฎหมายขึ้นมาเพื่อครอบงำสื่อเพื่อให้รัฐเข้ามาคุมอย่างที่เป็นอยู่ แน่นอนสื่อที่ไม่ดีก็มีอยู่เหมือนกับทุกสังคม แต่โดยบทบาทของสื่อ สื่อต้องเป็นตะเกียงส่องสังคม ไม่ยืนอยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายไหน นั่นคือต้องมีอิสระและเสรีภาพ รัฐธรรมนูญก็บอกให้รัฐต้องส่งเสริมเสรีภาพของสื่อ ต้องอิสระจากการควบคุมของรัฐ

แต่ถามว่าความจำเป็นที่จะทำให้สื่อสามารถ “ตรวจสอบควบคุมกันเอง”ได้จริงนั้นมีไหม ส่วนตัวผมคิดว่าจำเป็นต้องมีและต้องตอบคำถามข้อนี้ต่อสังคมให้ได้ เพราะพิสูจน์มาแล้วว่า การมีองค์กรวิชาชีพสื่อที่ไม่มีกฎหมายรองรับนั้นมันล้มเหลวและตรวจสอบกันเองไม่ได้จริง แต่กฎหมายนี้ควรจะริเริ่มจากคนในวิชาชีพสื่อไม่ใช่รัฐ

เมื่อมันเป็นองค์กรเกี่ยวกับคนในวงการวิชาชีพสื่อต้นทางขององค์กรที่จะก่อตั้งขึ้นต้องมาจากฝ่ายสื่อที่จะหารือกันว่าเราจะทำองค์กรของเราให้เป็นที่ยอมรับต่อสังคมได้อย่างไร ผมทราบว่าสื่อก็มีร่างกฎหมายของตัวเองอยู่แล้ว ไม่ใช่ฝ่ายรัฐมาร่างกฎหมายมาคุมสื่อเสียเอง

ผมอ่านร่างกฎหมายของสปท.แล้วบอกตรงๆ ว่ามันตลกครับ การเอาปลัดกระทรวงมา4กระทรวงมาเป็นกรรมการถามตรงๆเลยว่าเกี่ยวอะไรด้วย แล้วการทำงานสื่อมันเป็นกงการอะไรของภาครัฐ ที่ตลกกว่านั้นก็คือในบทเฉพาะกาล มาตรา 92 ที่ให้มี "คณะทำงานเพื่อเตรียมการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ" กฎหมายระบุให้มีตัวแทนมาจาก 13 หน่วยงาน แต่มาจากองค์กรสื่อแค่ 4 หน่วยงาน กสทช.เกี่ยวอะไร สสส.เกี่ยวอะไร สมาคมโฆษณาเกี่ยวอะไร ที่เหลือทั้งหมดก็แทบไม่เกี่ยว

แถมในองค์กรสื่อ4หน่วยงานมาจากประธานสภาการหนังสือพิมพ์1ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุโทรทัศน์1นายกสมาพันธ์วิชาชีพกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์1นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์1 เอ้ยแล้วตัวแทนของ “นักข่าว”ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของวิชาชีพนี้หายไปไหน ทำไมไม่มีตัวแทนจากสมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยซึ่งเป็นสมาคมที่เก่าแก่ที่สุดในวงวิชาชีพ

ดังนั้นรัฐต้องทบทวนกฎหมายฉบับนี้หยุดความพยายามจะเข้ามาควบคุมวงการวิชาชีพสื่อ และสื่อจะต้องตอบสังคมให้หายข้องใจเพื่อเรียกศรัทธากลับคืนมาว่าเราจะตรวจสอบควบคุมกันเองให้ได้จริงอย่างไร

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น