xs
xsm
sm
md
lg

บันทึกลับ! ไพ่ฝากจากทักษิณในรัฐบาลทหาร (ตอนที่ 3) : เปิดซุปเปอร์ดีล 3.5 แสนล้านบาท เข้ากระเป๋าใคร?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ภายหลังจากการแปรรูป การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ให้มาเป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยไม่แยกท่อก๊าซธรรมชาติออกมาก่อนการแปรรูป ทำให้กิจการดังกล่าวนี้ผูกขาดโดยธรรมชาติ โดยเฉพาะท่อกาซธรรมชาติในทะเล ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นบริษัทที่สามารถใช้การผูกขาดนี้ไปแสวงหาผลกำไรสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้นอีกด้วย

และคนที่น่าจะ "เคยรู้เรื่อง" ความสำคัญนี้ดีที่สุดคนหนึ่งก็คือ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เมื่อครั้งให้สัมภาษณ์ในฐานะเป็นเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ชุดที่ 2 ในหัวข้อเรื่อง "การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ" ซึ่งปรากฏอยู่ในวารสารนโยบายพลังงาน ฉบับที่ 40 ประจำเดือน เมษายน - มิถุนายน พ.ศ. 2541 ความตอนหนึ่งว่า :

"ถ้าเป็นกิจการผูกขาด เช่น เรื่องของสายส่งไฟฟ้า หรือ ท่อแก๊ส ถ้าเปลี่ยนเป็นบริษัทจำกัดแล้ว และกระจายหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์หรือให้เอกชนเข้ามาถือหุ้นส่วนหนึ่ง ถ้าหากเราไม่มีกฎหมายกำกับดูแลที่รัดกุม ที่เหมาะสม ก็จะเป็นการเปลี่ยนการผูกขาดของภาครัฐเป็นเอกชนทันที"

แต่ใครจะคิดว่าภายหลังจาก นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ หลังหมดวาระไปแล้ว นายปิยะสวัสดิ์ก็ได้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติอีกครั้งหนึ่งในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งในครั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ โดยมีนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ เป็นเลขาธิการนั้น กลับเสนอว่า "ไม่ต้องแยกท่อก๊าซก่อนการแปรรูปเป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)" แต่ให้ดำเนินการแยกท่อก๊าซหลังการแปรรูปออกมาเป็นบริษัทต่างหากหลังการแปรรูปเป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไปแล้ว 1 ปี

คำถามคือถ้าสมมุติว่านายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ถูกรัฐบาลทักษิณ “หักหลังจริง” เพราะไม่ได้แยกบริษัทท่อก๊าซออกมาเมื่อแปรรูปและขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว 1 ปี จริงหรือไม่ที่ว่านายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในสมัยรัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลลานนท์ แล้วยังไม่สามารถแยกท่อก๊าซธรรมชาติในทะเลออกมาคืนให้แก่รัฐทั้งหมด ได้สำเร็จจริงหรือไม่ และไม่มีเหตุการณ์แยกท่อออกมาคืนกรรมสิทธิ์ให้แก่รัฐก่อนแล้วจึงแยกท่อออกมาเป็นบริษัทต่างหากจริงหรือไม่? เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้รับประโยชน์จากท่อก๊าซทางทะเลเส้นประธาน เพื่อไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน หรือป้องกันมิให้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กลายเป็นผู้รับซื้อก๊าซทางทะเล โดยเฉพาะจากแหล่งเอราวัณและบงกช ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุด แต่เพียงรายเดียว จริงหรือไม่? ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมการแข่งขันอุตสาหกรรมก๊าซ หรือเพื่อสร้างบรรยากาศการประมูลการผลิตปิโตรเลียม อย่างเท่าเทียมกันในอนาคต จริงหรือไม่? อย่างไร?
ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาให้ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกันแบ่งแยกทรัพย์สิน สาธารณะสมบัติของแผ่นดิน และสิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางท่อ รวมถึงอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐ

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ น่าจะทราบดีอยู่แล้วว่า การคืนท่อก๊าซธรรมชาติไม่ครบทั้งหมดและการคืนบางท่อน โดยที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยังคงถือครองท่อก๊าซธรรมชาติเส้นประธานในทะเลอยู่นั้น ย่อมทำให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กลายเป็นผู้รับซื้อก๊าซธรรมชาติผ่านท่อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งปิโตรเลียมที่ใหญ่ที่สุดในอ่าวไทย คือ เอราวัณและบงกช แต่เพียงรายเดียว ใช่หรือไม่? โดยยังไม่มีใครจะมาแข่งขันในวันนี้ได้ จริงหรือไม่?

โดยภายหลังจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ให้รัฐบาลและพวกแบ่งแยกทรัพย์สินและท่อก๊าซธรรมชาติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2550 แล้ว ในปีพ.ศ. 2551 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้โอนระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติเฉพาะบนบกบางส่วนให้แก่กรมธนารักษ์มูลค่า 16,176.22 ล้านบาทเท่านั้น

โดยเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2551 กรมธนารักษ์ในฐานะตัวแทนกระทรวงการคลัง ได้ลงนามสัญญาให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เช่าระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่โอนในปี พ.ศ. 2551 เป็นเวลา 30 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2580 โดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ชำระค่าเช่าระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ย้อนหลังให้กรมธนารักษ์ระหว่าง วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2544 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2550 เป็นเงิน 1,330 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จำนวนเงินอีก 266 ล้านบาท รวมเป็นเงินประมาณ 1,596 ล้านบาทเท่านั้น จริงหรือไม่?

แต่ปรากฏข้อมูลที่คำนวณได้ว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เรียกเก็บค่าใช้ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั้งระบบ จากภาคเอกชนและจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต สำหรับช่วงเวลา ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2544 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2550 เป็นเงินประมาณ 116,768 ล้านบาท ในขณะที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จ่ายค่าเช่าให้กับกรมธนารักษ์ในช่วงเวลาเดียวกันซึ่งคำนวณตามสูตรการแบ่งผลประโยชน์เป็นเงินเพียงประมาณ 1,596 ล้านบาทเท่านั้น ใช่หรือไม่?

จึงเกิดคำถามด้วยความเคลือบแคลงสงสัยว่า วันที่ลงนามในสัญญาเช่าท่อก๊าซย้อนหลังนั้น กรมธนารักษ์ย่อมรู้อยู่แล้วว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้นำระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติไปสร้างรายได้มากกว่าที่จ่ายให้กรมธนารักษ์ไปแล้วถึง 73 เท่าตัว ใช่หรือไม่ !!!!?

และเมื่อคำนวณสำหรับช่วงเวลา ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2544 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เรียกเก็บค่าใช้ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั้งระบบ จากภาคเอกชนและจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เป็นเงินสูงมากถึงประมาณ 356,108 ล้านบาท ในขณะที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จ่ายค่าเช่าให้กับกรมธนารักษ์ในช่วงเวลาเดียวกันซึ่งคำนวณตามสูตรการแบ่งผลประโยชน์เป็นเงินเพียงประมาณ 5,996 ล้านบาท ใช่หรือไม่?

หรือหมายความว่าบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นำระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติไปสร้างรายได้มากกว่าที่จ่ายให้กรมธนารักษ์ถึงประมาณ 59 เท่าตัว โดยเฉลี่ยตลอด 14 ปีมานี้ จริงหรือไม่ !!!!?

ตลกร้ายของประเทศไทย คือ คำถามที่ว่า ซุปเปอร์ดีลจากรายได้ประมาณ 356,000 ล้านบาท แต่สามารถสร้างผลกำไรขั้นต้นถึงประมาณ 350,000 ล้านบาท จากกิจการให้เช่าท่อก๊าซธรรมชาติอย่างเดียวตลอดระยะเวลา 14 ปี เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น ปตท. ใช่หรือไม่?

อุปมาเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดขึ้น ปตท. ให้บริการค่าเช่าท่อที่คิดจากเอกชนและประชาชน 100 บาท แต่มีต้นทุนจ่ายให้กรมธนารักษ์เพียงประมาณไม่ถึง 2 บาทเท่านั้น เอากำไรขั้นต้นถึงประมาณกว่า 98 บาท ใช่หรือไม่? เป็นการเอากำไรขั้นต้นเกินสมควรจากเอกชนและประชาชน ผู้ใช้ไฟฟ้า ผู้ใช้ก๊าซหุงต้ม ผู้ใช้รถยนต์หรือรถขนส่งที่ใช้พลังงานจากก๊าซ และเอกชน จริงหรือไม่?

การไม่แยกระบบท่อส่งก๊าซออกไปก่อนหน้าที่จะมีการแปรรูป ทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นในบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อย่างมาก เนื่องจากปรากฏในรายงานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการระดมทุนจากภาคเอกชนในการแปรสภาพ ปตท. ครั้งที่ 3/2544 เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2544 ที่ปรึกษาทางการเงินได้ประเมินราคาหุ้นไว้ว่ามูลค่าที่เกิดจากธุรกิจก๊าซในมูลค่าหุ้นขั้นต่ำนั้นคำนวณคิดเป็นร้อยละ 78.64 ของมูลค่าหุ้นขั้นต่ำ และสัดส่วนที่เกิดจากธุรกิจก๊าซนั้นคำนวณคิดเป็นร้อยละ 81.31 ของมูลค่าหุ้นขั้นสูง ใช่หรือไม่?

คำถามที่สำคัญต่อมาคือมีใครจะเป็นคนได้รับประโยชน์จากหุ้นใน ปตท. ซึ่งพ่วงท่อก๊าซธรรมชาติผูกขาดกันบ้าง?

การตอบคำถามนี้ จะต้องย้อนกลับไปดูกระบวนการจองซื้อหุ้น ในปี 2544 อ้างอิงตามเว็บไซต์ของไทยพับลิก้า เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2557 ในบทความชื่อ "แปรรูปรัฐวิสาหกิจ (ตอน 6) 2544-IPO ครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย" เขียน โดย นายบรรยง พงษ์พานิช ซึ่งเป็นประธานกรรมการของบริษัทหลักทรัพย์ เมอร์ริล ลินช์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาในการแปรรูป ปตท. และเป็นผู้ที่ประเมินราคาหุ้นขั้นต่ำและขั้นสูงของกิจการ ปตท.

ทั้งนี้ในการแปรรูปนั้น ประเด็นที่นักเล่นหุ้นรายใหญ่จับจ้องตาไม่กระพริบ คือโควต้าการจัดสรรหุ้นจอง เพราะได้รับหุ้นในราคาที่แน่นอน ส่วนรายที่ไม่ได้โควต้า ก็ต้องไปไล่ซื้อในตลาดหุ้น และเมื่อมีผู้เริ่มซื้อหุ้นมากขึ้นเป็นแสนหุ้น เป็นล้านหุ้น ราคาหุ้นก็จะพุ่งขึ้นสูง ดังนั้น สำหรับหุ้นยอดนิยม โควต้าจึงเป็นเหมือนทองคำทีเดียว

ในเรื่องโควต้าหุ้นจองนั้น นายบรรยง พงษ์พานิช ระบุว่า แบ่งส่วน (tranche) ที่ 1 ให้แก่สถาบันไทย ส่วน (tranche) ที่ 2 ให้แก่บุคคลธรมดาไทย และ ส่วน (tranche) ที่ 3 ให้แก่ต่างชาติ นายบรรยง พงษ์พานิช อ้างว่าต้องจัดโควต้าให้ต่างชาติสูงมาก ด้วยเหตุผลว่า :

“เพราะเป็นนักลงทุนคุณภาพ ใช้ปัจจัยพื้นฐาน มีเงินมหาศาล หลายร้อยล้านล้านบาท ลงทุนระยะยาว”

สำหรับโควต้าของต่างชาตินั้น นายบรรยง พงษ์พานิช ระบุเหตุการณ์เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2544 ว่า การถกเถียงเรื่องราคาใช้เวลาไม่นาน เพราะทุกส่วน (tranche) มีคนจองเกินมาก และใน ส่วนของต่างชาติ มีความต้องการสูงถึง 2,000 ล้านหุ้น และที่ประชุมสรุป ให้โควต้าแก่ต่างชาติ 330 ล้านหุ้น

บทความของนายบรรยง พงษ์พานิช จึงยืนยันว่า ต่างชาติต้องการโควต้าถึง 2,000 ล้านหุ้น ซึ่งมากกว่าโควต้าที่กันไว้ ถึง 6 เท่าตัว !!!!

ดังนั้น การจัดสรรแก่ต่างชาติ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และเป็นผลประโยชน์มหาศาล และจึงต้องถามต่อมาว่า ใครเป็นผู้ที่ได้โควต้าต่างชาติ?

รายชื่อผู้ถือหุ้น 10 อันดับแรกที่ได้โควต้าจองซื้อหุ้น ตามรายงาน แบบ 81-1 ที่ยื่นต่อ กลต. ซึ่งปรากฏในงบการเงินปี 2544 หน้า 58 ไม่นับหน่วยงานของทางการ มีดังนี้

(ก) เมอร์ริล ลินช์ (สิงคโปร์) (Merrill Lynch (Singapore) Pte., Ltd.) จำนวน 139.8 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 4.99

(ข) เมอร์ริล ลินช์, เพียซ, เฟนเนอร์ และ สมิธ (Merrill Lynch, Pierce, Fenner & Smith Inc.) จำนวน 139.8 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 4.99

(ค) เมอร์ริล ลินช์ ฟาร์ อีสต์ (Merrill Lynch Far East Ltd.) จำนวน 49.4 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 1.70

(ง) นายทวีฉัตร จุฬางกูร จำนวน 2.2 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 0.07

(จ) นายประยุทธ มหากิจศิริ จำนวน 2.0 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 0.07

ทั้งนายทวีฉัตร จุฬางกูร และ นายประยุทธ มหากิจศิริ เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับพรรคไทยรักไทย หรือเป็นเครือญาติ จริงหรือไม่? และยังมีบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับพรรคไทยรักไทย ที่ได้โควตาเกินกว่าแสนหุ้น จริงหรือไม่?

แต่รายชื่อที่น่าวิเคราะห์ที่สุด คือบริษัทใน “กลุ่มเมอร์ริล ลินช์” !!!!

กลุ่มเมอร์ริล ลินช์ เป็นวาณิชธนกิจสหรัฐที่เข้ามาซื้อหุ้นในบริษัทภัทร ตั้งแต่ปี 2541 และ ทำให้มีข้อสังเกต ดังนี้

ประการแรก สำหรับโควต้าของต่างชาติ 330 ล้านหุ้นนั้น กลุ่มเมอร์ริล ลินช์
ยึดเอาไปใช้เองแต่เพียงผู้เดียวทั้งหมด มิได้แบ่งให้วาณิชธนกิจรายอื่นเลย ใช่หรือไม่?

ประการที่สอง อาจมีผู้โต้แย้งว่า เมอร์ริล ลินช์ มีฐานะเป็นผู้ดูแลหลักทรัพย์ (Custodian Bank) ของนักลงทุนต่างชาติ แต่ก็เป็นที่น่าแปลกใจว่า หากมีการกระจายหุ้นให้นักลงทุนจำนวนมากจริงแล้ว ทุกรายจะใช้ เมอร์ริล ลินช์ เป็นผู้ดูแลหลักทรัพย์เหมือนกันทุกราย จริงหรือ?

ประการที่สาม เนื่องจากบริษัทหลักทรัพย์ เมอร์ริล สินช์ ภัทร จำกัด เป็นที่ปรึกษาในการแปรรูป และเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการดำเนินการระดมทุนจากภาคเอกชนในการแปรสภาพ ปตท. ทุกครั้ง จึงย่อมเป็นผู้ที่ล่วงรู้ข้อมูลภายในของบริษัทเป็นอย่างดีกว่านักลงทุนทั่วไป ใช่หรือไม่?

ประการที่สี่ บริษัทหลักทรัพย์ เมอร์ริล สินช์ ภัทร จำกัด หากมิได้กระจายโควต้าให้ผู้อื่น แต่เก็บโควต้าเอาไว้เอง โดยมิได้ขออนุญาตจากคณะกรรมการดำเนินการระดมทุนจากภาคเอกชนในการแปรสภาพ ปตท. จึงมีความเคลือบแคลงสงสัยในคำถามที่ว่าเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน หรือไม่ ซึ่งสมควรจะต้องเทียบเคียงกับ กรณี บริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส ที่ปรึกษาของ ปรส. ที่เข้าร่วมประมูลซื้อทรัพย์สินของ ปรส. กับผู้ซื้อรายอื่น

เหตุผลเบื้องหลัง หากกลุ่ม เมอร์ริล ลินช์ เก็บโควต้าไว้แต่ผู้เดียวนั้น จึงย่อมจะไม่ธรรมดา และน่าเคลือบแคลงสงสัยว่าจะเพื่อประโยชน์แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแปรรูปเป็นสำคัญ หรือไม่?

เนื่องจากต่างชาติมีความต้องการโควต้ามากกว่าที่ให้ถึง 6 เท่า ผู้ที่ได้โควต้าต่างชาติ จึงสามารถขายบางส่วนออกไปเพื่อทำกำไรแบบง่ายๆ ซึ่งก็ปรากฏเช่นนั้น ในงบการเงินของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ปี 2545 หน้า 62 ว่า บริษัทในกลุ่ม เมอร์ริล ลินช์ ได้ขายและโอนหุ้นทั้งหมดไปให้แก่บุคคลอื่นหลังจากถือหุ้นไว้เพียงไม่กี่เดือน จริงหรือไม่? โดยผู้ถือหุ้นต่างชาติ ณ วันที่ 29 เมษายน 2545 มีรายชื่อเปลี่ยนเป็น ดังนี้

(ก) มอร์แกน สแตนเลย์ แอนด์ โค อินเตอร์เนชั่นแนล (Morgan Stanley & Co International Ltd) จำนวน 66.0 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 2.36

(ข) สเตท สตรีท แบงค์ แอนด์ ทรัสต์ (State Street Bank and Trust Co) จำนวน 36.1 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 1.29

(ค) เชส นอมินีส์ (Chase Nominees Ltd) จำนวน 26.3 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 0.94

(ง) เอชเอสบีซี (สิงคโปร์) นอมินีส์ (HSBC (Singapore) Nominees Pte. Ltd.) จำนวน 21.5 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 0.77

(จ) เดอะ แบงค์ ออฟ นิว ยอร์ค (นอมินีส์) The Bank of New York (Nominees) Ltd จำนวน 18.2 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 0.65

(ช) แบงค์เกอร์ ทรัสต์ (Banker Trust Co) จำนวน 9.2 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 0.33

(ซ) ลิตเติ้ล ดาวน์ นอมินีส์ (Littledown Nominees Ltd) จำนวน 9.1 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 0.32

ในเรื่องนี้ เงินที่เกี่ยวข้องนั้นเป็นจำนวนสูงทีเดียว เพราะลำพังราคาหุ้นละ 35 บาท จำนวน 330 ล้านหุ้น ก็เป็นเงินสูงถึง 11,550 ล้านบาท ดังนั้น ผู้ที่อยู่เบื้องหลังโควต้านี้ จะต้องเป็นผู้ที่มีพลังอำนาจมากทีเดียว

คำถามคาใจที่ตามมามีอยูว่าถ้าจะมีใครที่เป็นผู้ทรงพลังอำนาจขนาดนั้นได้ จะมีการกันสิทธิไว้ให้แก่นายทักษิณ ชินวัตร หรือไม่ และมิให้ชื่อของนายทักษิณ ชินวัตรปรากฏในรายชื่อผู้จองในประเทศไทย หรือไม่?

คำถามนี้ ประชาชนยังไม่สามารถหาคำตอบได้ เพราะผู้ถือหุ้นหลายรายเป็นบริษัท นอมินี ซึ่งเป็นหุ่นเชิดถือหุ้นแทนเท่านั้น แต่ทางการไทยสามารถเจาะลึกได้ โดยสั่งให้นายบรรยง พงษ์พานิช ผู้ที่เป็นซุปเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจของ คสช. และรู้ดีเกี่ยวกับการแปรรูปครั้งนั้น ไปดำเนินการหาคำตอบหรือตรวจสอบจาก บริษัทหลักทรัพย์ เมอร์ริล สินช์ ภัทร จำกัด เพื่อให้ได้มาซึ่งการส่งอีเมล์ติดต่อทั้งหมด คำสั่งซื้อขายหุ้น การจองหุ้นดังกล่าว เป็นการจองให้แก่ผู้ใด ใครเป็นผู้สั่งการซื้อขาย เมื่อขายแล้วโอนเงินให้แก่ใคร รายชื่อของคนไทยที่เกี่ยวข้อง ข้อสงสัยเหล่านี้จะได้รับการคลี่คลายได้ในระดับสำคัญ

ถ้ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ นำท่อก๊าซธรรมชาติคืนแก่รัฐอย่างเป็นรูปธรรม และไม่ปล่อยให้ ปตท. เอาไปปล่อยเช่าท่อก๊าซต่อจนกำไรอย่างมหาศาลเพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเพียงไม่กี่คน แล้วเปิดเผยความจริงด้วยว่ามีนักการเมืองคนไทยถือหุ้นผ่านหุ่นเชิดทั้งหลายหรือไม่ รวมทั้งแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมอุดรอยรั่วมิให้เกิดการทุจริต ตลอดจนไม่นำหุ้นกิจการรัฐวิสาหกิจดีๆไปแปรรูปขายในราคาถูกๆอีก ก็จะได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญจากประชาชนในฐานะเป็นวีรบุรุษที่มาแก้ไขปัญหาในสิ่งที่ทุกรัฐบาลไม่สามารถทำได้มาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย

และถ้าทำได้จริง ก็จะเป็นเครื่องพิสูจน์ที่ชัดเจนว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่รับไพ่ฝากจากรัฐบาลทักษิณอย่างแน่นอน

แต่ถ้าทำไม่ได้ หรือไม่ทำ ก็อาจจะถูกประชาชนมีความเคลือบแคลงสงสัยว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจรับไพ่ฝากจากรัฐบาลทักษิณ หรือไม่ก็ตีไพ่กินเอง ใช่หรือไม่?


กำลังโหลดความคิดเห็น