xs
xsm
sm
md
lg

30องค์กรสื่อค้านถึงที่สุด ร่างพ.ร.บ.ควบคุมสื่อฉบับสปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (29 ม.ค.) 30 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ออกแถลงการณ์ คัดค้านร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน โดยระบุว่า ตามที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านการสื่อสารมวลชนฯได้ดำเนินการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ... เพื่อเสนอให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศรับรอง และส่งให้คณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไปตามความทราบแล้วนั้น
องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 30 องค์กร ได้ประชุมหารือร่วมกันแล้ว มีความเห็นดังต่อไปนี้
1. ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... ดังกล่าว มิได้อยู่บนพื้นฐานหลักการของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน แต่กลับเน้นหลักการควบคุมสื่อมวลชน โดยใช้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่โดยอิสระของสื่อมวลชน และไม่สอดคล้องกับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ผ่านการลงประชามติ ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้สื่อมวลชนกำกับดูแลกันเองโดยอิสระ และปราศจากการแทรกแซงจากภาครัฐ ทั้งนี้ จะมีผลกระทบโดยตรงต่อบทบาทของสื่อมวลชนในการตรวจสอบอำนาจรัฐ และเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน
2. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ต้องยกเลิกการพิจารณาร่างกฎหมายของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านการสื่อสารมวลชนฯ โดยให้กลับไปทบทวนความจำเป็นในการออกกฎหมายดังกล่าว
3. หากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศฯ เดินหน้ารับรองร่างพ.ร.บ.นี้ โดยไม่ฟังเสียงทักท้วง องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั่วประเทศ จะยกระดับมาตรการในการคัดค้านร่างกฎหมายนี้ต่อไปจนถึงที่สุด
4. ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ได้พัฒนาระบบการกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อยกระดับความรับผิดชอบของสื่อมวลชน และตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของสังคม รวมทั้งมุ่งมั่นที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป
นายเทพชัย หย่อง กล่าวว่า ร่างกม.ฉบับนี้ มีเนื้อหาที่จะเป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ของสื่อโดยอิสระ และเป็นครั้งแรกที่จะมีการใช้อำนาจทางปกครองกับสื่อ โดยการให้สภาสื่อมวลชนแห่งชาติ สั่งปรับสื่อมวลชนได้ นอกจากนั้นการกำหนดให้ปลัดกระทรวง 4 กระทรวง ร่วมเป็นกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน จะทำให้สื่อมวลชนมีปัญหาในการตรวจสอบการทำงานของรัฐ เพราะปลัดกระทรวงเป็นบุคคลที่จะต้องได้รับการตรวจสอบของสื่อมวลชน แต่กลับให้มีทำหน้าที่ควบคุมสื่อมวลชนเสียเอง
ที่เลวร้ายที่สุดคือ การกำหนดให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนมีอำนาจขึ้นทะเบียน ออกและและเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งจะกลายเป็นเครื่องมือกดหัวสื่อมวลชนในอนาคต เชื่อว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันคงไม่ได้ใช้กฎหมายฉบับนี้ แต่คนที่จะใช้กฎหมายนี้ก็คือนักการเมืองที่กำลังจะเข้ามาหลังการเลือกตั้ง และนักการเมืองต่างก็ต้องการกฎหมายในลักษณะนี้เอาไว้ควบคุมสื่อมวลชนอยู่แล้ว เพียงแต่ในช่วงที่เป็นประชาธิปไตย ไม่สามารถที่จะออกกฎหมายในลักษณะนี้ได้ หากปล่อยให้มีเนื้อหาเป็นแบบนี้ สื่อจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของนักการเมืองโดยสิ้นเชิง

นายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า 2 ประเด็นหลัก ที่เราคัดค้าน ก็คือการให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน โดยให้มีการออกหรือเพิกถอนได้ และการให้ปลัดกระทรวง 4 กระทรวง ได้แก่ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และปลัดกระทรวงการคลัง เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งถือว่าเป็นการแทรกแซงสื่อโดยอำนาจรัฐ อย่างชัดเจน
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีเนื้อหาขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานกรรมการยกร่าง และผ่านการลงประชามติแล้ว ซึ่งไม่มีมาตราใดที่ระบุว่าให้มีการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติขึ้นมากำกับดูแลสื่อมวชลชน
กำลังโหลดความคิดเห็น