xs
xsm
sm
md
lg

Co-creation และ Optimization ของอาจารย์มหาวิทยาลัยในท่ามกลางวิกฤติอุดมศึกษา

เผยแพร่:   โดย: อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

แฟ้มภาพ
อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ในบทความก่อนหน้าผู้เขียนได้นำเสนอปัญหาวิกฤติอุดมศึกษาที่เกิดจากสังคมผู้สูงอายุของไทยและกำลังจะมีปัญหาจนต้องลดจำนวนอาจารย์มหาวิทยาลัยลง ต้องเตรียมตัวตกงาน ต้องพัฒนาตนเอง ต้องทันสมัย ต้องมี mobility ที่พร้อมจะปรับไปทำงานอย่างอื่นที่ใช้ความรู้ ดังสองบทความข้างล่างนี้

7 ข้อคิดสำหรับอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ต้องเตรียมตัว-เตรียมใจตกงาน
อาจารย์มหาวิทยาลัยไทยต้องปรับตัว พัฒนาตัวเอง และเตรียมตัวตกงาน

มีผู้ที่ได้อ่านสองบทความข้างต้น เป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยของรัฐทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชื่อดังได้อ่านบทความดังกล่าวและได้เขียนมาเล่าให้ฟังว่า คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยหลายแห่งหลังจากได้อ่านบทความนี้มีความเห็นตรงกันว่าจะเป็นการดีที่อาจารย์มหาวิทยาลัยจะมี Co-creation คือการที่อาจารย์มหาวิทยาลัยได้ติดต่อและทำงานกับโลกภายนอก ไปสร้างผลงานดีๆ กับคนอื่นนอกมหาวิทยาลัย แต่มีอาจารย์จำนวนหนึ่งเมื่อได้อ่านบทความสองบทความข้างต้นแล้วกลับมีปฏิกิริยาพร้อมโต้แย้งว่า แบบนั้นอาจารย์เป็นคนได้พัฒนาตนเอง ไม่ได้มาช่วยพัฒนานิสิตนักศึกษา และไม่ได้ช่วยพัฒนามหาวิทยาลัยแต่อย่างใด บางคนมัวแต่ไปทำงานภายนอกมหาวิทยาลัยจนไม่สอนหนังสือ เอานักศึกษาไปใช้งานทำงานนอกมหาวิทยาลัยโดยไม่จ่ายเงินค่าจ้างให้นักศึกษา มหาวิทยาลัยมีแต่จะเสีย ไม่ได้อะไร

เมื่อมีความขัดแย้งเห็นต่างกันเป็นสองฝ่ายเช่นนี้ขอให้ผู้เขียนทั้งสองคนช่วยอธิบายด้วยว่าหากอาจารย์มหาวิทยาลัยมี Co-creation กับภายนอกมหาวิทยาลัยแล้วนักศึกษาจะได้อะไร และมหาวิทยาลัยจะได้อะไร อยากให้เขียนบทความตอบคำถามนี้ เพราะทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยแห่งนั้นคิดว่าการผลักดันให้มี Co-creation จะได้ประโยชน์กับตัวอาจารย์ นักศึกษา และมหาวิทยาลัยมากกว่า

Co-creation ของมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานภาคนอกทั้งภาครัฐและเอกชนนั้นเป็นเรื่องปกติมากในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว Silicon Valley ใน California ได้อาศัยอาจารย์มหาวิทยาลัยเข้าไปช่วยทำงาน มี talent mobility ให้อาจารย์มหาวิทยาลัยไปทำงานกับเอกชน เอกชนมาจ้างมหาวิทยาลัยทำวิจัยและสร้างนวัตกรรมใหม่ที่นำไปสู่เชิงพาณิชย์ได้จริงๆ ในเกาหลีใต้โทรศัพท์ซัมซุงแอนดรอยด์หนึ่งเครื่องมีสิทธิบัตรนับพันชิ้น การที่จะจดทะเบียนสิทธิบัตรได้มากเป็นพันๆ นั้นซัมซุงได้วางแผนในการวิจัยและสร้างนวัตกรรมและอาจารย์มหาวิทยาลัยในเกาหลีใต้ได้เข้ามาช่วยในการวิจัย สำหรับประเทศไทยมีปัญหาทั้งสองด้าน หนึ่งโจทย์การวิจัยหรือการสร้างนวัตกรรมที่ท้าทาย ซึ่งเป็นโจทย์การวิจัยที่ดีของประเทศไทยยังมีน้อยมาก เราเป็นประเทศอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง เราผลิตสินค้าและบริการในระดับที่ใช้ความรู้ต่ำและมีคุณค่าน้อย ปัญหาที่สองคืออาจารย์มหาวิทยาลัยไทยไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะทำให้งานวิจัยนำไปใช้จริงหรือนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ ทุนวิจัยมุ่งเป้าเลยเหลือบานเบอะในทุกหน่วยงานให้ทุนวิจัยและเป็นเช่นนี้มานานแล้ว
Peter F. Drucker (ภาพจาก wikipedia)
นอกจากการไปทำวิจัยแล้ว การออกไปเป็นที่ปรึกษาก็ถือว่าเป็น Co-creation อย่างหนึ่ง Peter F. Drucker ปรมาจารย์ด้านการจัดการสอนที่ Claremont Graduate School นั้นให้คำปรึกษา Multinational Corporation ทั่วโลก ไม่ใช่เพราะเขาต้องการรายได้ แต่ Drucker นั้นพูดว่า Consulting is my experiment. เป็นการทดลองเพื่อให้เข้าใจทฤษฎีทางการจัดการที่ตนเองคิดและนำเสนอว่าได้ผลจริงหรือไม่ในทางปฏิบัติ และ Drucker เองก็ทำเช่นนี้ชั่วชีวิต

การที่อาจารย์มหาวิทยาลัยจะลดอัตตาลง เปลี่ยนจากศูนย์กลางแห่งความรู้เป็นศูนย์กระจายความรู้ อย่าขาดการติดต่อกับโลกภายนอกมหาวิทยาลัย หมั่นเช็ค Rating ของตัวเอง จะช่วยให้เกิดการปะทะสังสรรค์ระหว่างโลกของวิชาการแห่งหอคอยงาช้างและโลกแห่งความเป็นจริง ในมหาวิทยาลัยนักศึกษาไม่ได้กล้า challenge อาจารย์เพราะยังไม่มีประสบการณ์พอ ยังมีความรู้ไม่เท่า หรือกลัวส่งผลกระทบกับตนเอง แต่ในโลกของความเป็นจริงอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เคยอยู่แต่ใน safe zone และ comfort zone ที่มหาวิทยาลัยเมื่อออกไปทำงานข้างนอกที่เป็นของจริงกลายเป็นล้มเหลวไม่เป็นท่าก็มีมาให้เห็นแล้วมากมาย พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนว่า วิชชาจรณสัมปันโน สุคโต โลกะวิทู อันแปลว่า วิชาที่ถึงพร้อมด้วยการปฏิบัติ เป็นผู้รู้แจ้งแทงตลอดแห่งโลกแล้ว

ถ้าอาจารย์มหาวิทยาลัยทำได้ตาม 4 ข้อข้างต้น เกิดการปะทะสังสรรค์ระหว่างหอคอยงาช้างกับความเป็นจริงจะเกิดผลดีต่อมหาวิทยาลัยอย่างไร?

ข้อแรก มหาวิทยาลัยจะได้อาจารย์ที่มีศักยภาพสูง และจะมีชื่อเสียงที่ดี ช่วยดึงดูดนักศึกษาให้มาเรียนมากขึ้น นักศึกษาไม่ได้อยากเรียนกับอาจารย์หอคอยงาช้าง แต่อยากเรียนกับอาจารย์ที่ทำงานได้จริง มีประสบการณ์จริง สอนในสิ่งที่เขาจะนำออกไปใช้งานได้ในโลกของความเป็นจริง ยิ่งสมัยนี้มีวิกฤติอุดมศึกษาที่สถาบันอุดมศึกษาต้องง้อนักศึกษามาเรียน ถ้ามีแต่อาจารย์หอคอยงาช้างโบราณพันปี สอนในสิ่งที่ตัวเองเรียนมาเมื่อสี่สิบปีก่อน โดยไม่ปรับปรุงตัวให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป นักศึกษาที่ไหนจะอยากเรียนด้วย เขาอยากเรียนได้ความรู้ไปทำงานจริง ไม่ได้อยากเรียนเพื่อจะหาโบราณวัตถุไปไว้บูชาที่บ้าน ตัวอาจารย์มหาวิทยาลัยเองจึงเป็นจุดขายสำคัญของหลักสูตรในแต่ละหลักสูตร และเป็นบทพิสูจน์ว่ามหาวิทยาลัยหรือสถาบันนั้นๆ มีคุณค่ามากน้อยเพียงใดในสายตาของโลกปัจจุบัน

ข้อสอง อาจารย์ที่มี mobility สูง อยู่กับการทำงานจริงและโลกของความเป็นจริง จะมีโอกาสนำความรู้จากการทำงานมาสอน ในขณะเดียวกันก็สามารถนำ connection ที่ดี เช่นโอกาสในการฝึกงาน หรือโอกาสในการได้ทำงานของนักศึกษาที่ดีมากขึ้น และช่วยสร้างรายได้ให้กับสถาบัน/มหาวิทยาลัยนั้นๆ ในเรื่องของการบริการวิชาการ (ถ้าอาจารย์คนนั้นมีจริยธรรมและไม่ไปแอบลักลอบทำงานนอกในเวลาราชการ โดยไม่ผ่านมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยจะไม่ได้อะไร)

ข้อสาม เมื่อมหาวิทยาลัยประสบวิกฤติจริงๆ จะไม่มีปัญหามากหากอาจารย์มหาวิทยาลัยมี mobility สูง สามารถออกไปทำงานในภาครัฐและภาคเอกชนอื่นๆ ได้ ลองจินตนาการว่าหากมหาวิทยาลัยเต็มไปด้วยอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ไม่มีที่ไป ไม่มีความสามารถจะไปทำงานอย่างอื่น และเมื่อมหาวิทยาลัยขาดทุนย่อยยับจะหาทางออกกันได้อย่างไร คงเจ็บปวดด้วยกันทั้งผู้บริหารและอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ต้องต่อสู้กันในศาลปกครอง คนที่มีที่ไปย่อมสนใจหาทางขยับขยายไปทำงานอื่น แต่การบริหารอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถ มีความคล่องตัวสูง ย่อมยากกว่าเพราะมีความเป็นตัวของตัวเอง มีทางเลือก ไม่เกรงกลัวฝ่ายบริหาร ซึ่งแตกต่างจากอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ไม่มีทางเลือกหรือทางไปมากนักย่อมมีแนวโน้มจะอยู่ภายใต้อาณัติและยอมเป็นฐานเสียงให้ผู้บริหาร แต่ในมุมกลับกัน อาจารย์ประเภทนี่จะเป็นภาระให้กับสถาบันอุดมศึกษาเมื่อเกิดวิกฤติ

ในขณะที่ อีกสามข้อ คือ อย่าเจ้ายศเจ้าอย่าง ทำกิจกรรมเพื่อสังคม ให้ทุนนิสิต ทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยมีเครือข่ายและมีบารมีเพิ่มขึ้น ภารกิจหลักของสถาบันอุดมศึกษาประการหนึ่งคือการบริการวิชาการ ในส่วนของอย่าเจ้ายศเจ้าอย่าง ผมคิดว่าสมัยนี้ลดน้อยลงไปมาก จริงๆ แล้วถ้าเจ้าหน้าที่ในมหาวิทยาลัยเก่ง อาจารย์จะเบาแรงลงไปได้มาก เพราะเขาจะช่วยเราทำงาน การทำงานด้วยกันถ้าเขารักและมีศรัทธาแก่เราก็จะทำให้การทำงานทำได้ง่ายขึ้น ผมเองเคยได้เห็นตัวอย่างจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ อนงค์รัตน์ สุขุม ที่เมตตาเจ้าหน้าที่ตัวเล็กๆ ไปจนถึงขั้นแม่บ้านล้างห้องน้ำ อาจารย์เป็นผู้ให้ และให้ความเมตตากับเจ้าหน้าที่ แม่บ้าน นักการภารโรง นิสิต ไม่แตกต่างกัน ไม่มีความเจ้ายศเจ้าอย่างและทำให้บรรยากาศในการทำงานดีขึ้นมาก ส่วนการให้ทุนนิสิตนั้นเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับนิสิตโดยตรง ทั้งยังสร้างความผูกพันทางใจระหว่างครูกับนิสิตด้วยซ้ำไป

อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องมี Co-creation ระหว่างโลกภายในมหาวิทยาลัยที่เป็น comfort zone กับโลกภายนอกของการทำงานจริง การแข่งขันทางธุรกิจจริงๆ กำไรจริง เจ๊งจริง พิสูจน์ฝีมือกันจริงๆ หรือในภาครัฐที่ผลักดันนโยบาย ซึ่งอาจารย์มหาวิทยาลัยต้องคอยชี้นำทางสังคม สร้างปัญญาสังคม ตลอดจนตรวจสอบความไม่ถูกต้องในสังคม

ปัญหาคือ Co-creation ต้องมีการถ่วงน้ำหนักระหว่างโลกภายนอกกับโลกภายในมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัย นักศึกษาหรือแม้แต่ตัวอาจารย์เอง ต้องหาน้ำหนักการแบ่งเวลาที่เหมาะสมที่สุดระหว่างโลกภายนอกและภายในมหาวิทยาลัย เรียกว่าต้องมี optimization ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ All-or-None หากให้น้ำหนักมาที่โลกภายในมหาวิทยาลัยอย่างเดียว ก็จะไม่เข้าใจการทำงานจริง มีแนวโน้มจะตกยุค ในขณะที่อีกด้านไม่สนใจโลกภายในเลย ทำแต่งานนอก หาแต่เงินจากการทำงานข้างนอกก็จะเอาเปรียบเพื่อนร่วมงาน นักศึกษา และมหาวิทยาลัยที่ตนเองสังกัด

สำหรับอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้วต้องมี Co-creation คือการทำงานร่วมกัน สร้างสรรค์ร่วมกันกับภาครัฐและเอกชน ในขณะที่อีกข้างก็ต้องหาค่าที่เหมาะสม (Optimization) ซึ่งจะช่วยให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์สูงสุด
กำลังโหลดความคิดเห็น