xs
xsm
sm
md
lg

ถกแม่น้ำ3สาย25ม.ค. แผนปฏิรูป-ปรองดอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

"สุวิทย์" นัดถกแม่น้ำ 3 สาย 25 ม.ค. กำหนดแผน"ยุทธศาสตร์ชาติ-ปฏิรูป-ปรองดอง" ดึง "อำพน" นั่งหัวหน้าสำนักงาน พีเอ็มยูดี เริ่มงาน 1 ก.พ."องอาจ"เสนอ"บิ๊กตู่" จัดปรองดองเป็นวาระแห่งชาติ ติงแม่น้ำ 5 สาย หยุดเสนอทำเอ็มโอยู-นิรโทษ ชี้ทำสับสน คนขาดความเชื่อมั่น "ปึ้ง" จี้ถาม"บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม" จริงใจ ปรองดองหรือไม่ อย่าทำตัวเป็นพระเอก แนะทุกฝ่ายปล่อยวาง เลิกบีบบังคับ ถอยคนละก้าว ช่วยหาทางออก

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ปยป.) เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ไปหารือกับ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.และ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. เพื่อต่อจิกซอว์ในส่วนที่เกี่ยวข้องใน 3 คณะกรรมการใน ปยป. คือ 1. คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ 2. คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ และ 3. คณะกรรมการเตรียมการสร้าง ความสามัคคีปรองดอง ตามโจทย์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ให้มา คือ เรื่องการปฏิรูป ควบคู่กับยุทธศาสตร์ชาติ
ทั้งนี้ ในวันที่ 25 ม.ค.นี้ จะมีการประชุมแม่น้ำ 3 สายคือ สปท. สนช. และ ครม. เพื่อจะปฏิรูปวิป 3 ฝ่ายก่อน โดยให้แม่น้ำ 3 สาย ส่งตัวแทนมาคุยเพื่อกำหนดวาระ ก่อนจะมาเวิร์กชอปร่วมกัน ในช่วงต้นเดือนก.พ. นายสุวิทย์ ยังกล่าวถึง องค์ประกอบของ สนช. ที่จะเข้ามาใน ปยป.โดยจะมีประธาน สนช. เป็นตัวยืนใน 3 คณะกรรมการข้างต้นนั้น นายพรเพชร ได้มอบหมายให้ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 มาร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ส่วนคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง มอบให้ นายพีรศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 ร่วมเป็นกรรมการ
สำหรับทีมงานของสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พีเอ็มยูดี) จะคัดเลือกมาจากผู้ช่วยรัฐมนตรี 4-5 คน ส่วนหัวหน้าสำนักงานพีเอ็มดียูนั้น ได้ทาบทาม นายอำพน กิตติอำพน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และอดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่มีประสบการณ์เคยอยู่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มานั่ง
ทั้งนี้ องค์ประกอบทั้งของคณะกรรมการ ป.ย.ป.และคณะกรรมการ 4 ชุด จะเสนอต่อนายกฯได้ภายในสัปดาห์หน้า และพร้อมกันดีเดย์การทำงานวันที่ 1 ก.พ.นี้

**เดือนหน้าปรองดองเริ่มขยับ

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช. คนที่ 2 กล่าวว่า เท่าที่พูดคุยกันไม่เป็นทางการ ได้ยินว่า กรอบงานของคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธานนั้น อยากเร่งผลักดันให้การปรองดองสำเร็จ ถ้าการปรองดองไม่สำเร็จ อาจมีผลกระทบงานอื่นๆ เพื่อให้มีผลต่อการปฏิรูปขับเคลื่อนคณะอื่นๆ ในคณะกรรมการ ป.ย.ป.
ดังนั้น อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกัน เพื่อส่งสัญญาณบวก ต้องช่วยกัน อาจจะเป็นในเดือนหน้า ที่จะเริ่มขยับเชิญแต่ละฝ่าย รอบแรกจำนวน 6-7 ฝ่าย เข้ามาพูดคุย การคุยจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนิรโทษกรรม แต่จะรับฟัง ถ้าผู้เข้าร่วมมีแนวทางปัญหาใดที่เห็นร่วมตรงกันว่าควรรีบแก้ไขเร่งด่วน อาจมีการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย หรือถ้ามีเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ของชาติจริงๆ คสช. อาจจะใช้อำนาจ มาตรา 44 เปิดทางให้ แต่ยังไม่รวมเรื่องคดีความ คาดว่า เดือนหน้าเริ่มสตาร์ทเครื่องอย่างจริงจัง

** "ปึ้ง"ซัด"บิ๊กตู่"อย่าทำตัวเป็นพระเอก

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า เท่าที่รับฟังจากทุกฝ่าย ก็เห็นว่าต่างให้การสนับสนุนให้เกิดการปรองดอง และทุกคนก็ดูเหมือนจะมีข้อแม้อยู่ในใจด้วยกันแทบทั้งสิ้น จึงคิดว่าน่าจะสำเร็จได้ยาก ก็ต้องขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันโดยเริ่มต้นจากฝ่ายรัฐบาล คสช. ต้องขอถามนายกฯ รองนายกฯ ก่อนว่าท่านมีความจริงใจ และพร้อมที่จะเดินหน้าประเทศไปด้วยกันให้ได้ และให้เกิดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองหรือไม่ ถ้าใช่ ก็ต้องขอให้ฝ่ายท่านยอมเสียสละ และยอมรับความจริงกันก่อนบ้างได้หรือไม่ว่า พวกท่านก็เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง จะมามัวแต่คิดว่าฝ่ายตัวเองเป็นพระเอก ที่ต้องออกกันมาเพื่อห้ามศึกที่ฝ่ายการเมืองขัดแย้งกัน หรือทะเลาะกันมาก่อนนั้น คิดว่าน่าจะหยุดพูดกันได้แล้ว

ส่วนฝ่ายการเมือง หรือกลุ่มก้อนมวลชนต่างๆ ก็ต้องช่วยกันสนับสนุน และหาทางออกร่วมกันในแนวทางที่ทุกๆ ฝ่ายยอมรับกันให้ได้ จะให้ถูกใจกลุ่ม หรือพวกตนเองทั้งหมด ก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะทุกคนต่างก็มีส่วนร่วมในการทะเลาะเบาะแว้งขัดแย้งกันมา ไม่ใช่ไม่ทันที่จะเริ่มต้นพูดคุยหารือ ก็มีแต่ติติง และใช้คำว่า“แต่”แล้วจะคุยกันได้รู้เรื่องอย่างไร พวกเราทุกๆ ฝ่ายน่าที่จะเริ่มต้นกันได้หากละวางสิ่งเหล่านี้ไปก่อนเสีย โดย 1. ต้องเลิกฟื้นฝอยหาตะเข็บระหว่างกัน 2. ต้องยอมรับว่าที่ผ่านๆมานั้น ล้วนทำผิดพลาดด้วยกันทั้งสิ้น 3. เลิกคิดเอาแต่ได้ เอาชนะคะคานกันอยู่ฝ่ายเดียว และ 4. ทุกฝ่ายล้วนแต่มีผลประโยชน์แอบแฝงซ้อนเร้นกันทั้งนั้น ซึ่งทั้ง 4 ข้อนี้ ถ้าพวกเราลืมกันให้ได้ เปิดใจกันให้กว้าง ให้อภัยซึ่งกันและกัน เลิกจองเวรจองกรรมกันเสียทีก็เชื่อว่าการพูดจาปรองดองกัน ก็น่าจะทำได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม การจะไปบีบบังคับใครคงไม่ได้ พวกเราควรต้องรู้จักคิดเพื่อช่วยหาทางออกให้แก่ประเทศชาติของพวกเราจะได้หันหน้ามาช่วยกันพัฒนาบ้านเมืองกันได้เสียทีก็อยากฝากถึงทุกฝ่ายให้ยอมถอยกันคนละก้าว

**ต้องยกปรองดอง วาระแห่งชาติ

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องปรองดองนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ควรทำเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม เพราะปัญหาความขัดแย้ง แตกแยก ไม่ได้เกิดจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เกี่ยวพันทุกภาคส่วน ทั้งนักการเมือง กลุ่มการเมือง ภาคประชาชน ทหาร ตำรวจ นักวิชาการ นักธุรกิจ และประชาชน จึงต้องระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมาทำให้ปรากฏเป็นจริง

ส่วนที่บางฝ่ายเสนอเรื่อง เอ็มโอยู และ นิรโทษกรรม ในขณะที่กรรมการปรองดองยังไม่เริ่มทำงาน ถือเป็นการสร้างความสับสน เพราะทั้งสองเรื่องดังกล่าว เป็นวิธีการปรองดองรูปแบบหนึ่ง แต่ว่าไม่ใช่หลักการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากข้อเสนอนั้นมาจากแม่น้ำ 5 สาย จะทำให้เกิดข้อสงสัยตั้งแต่ต้นว่ามีธงจาก คสช. หรือไม่ จึงควรเปิดโอกาสให้กรรมการได้เริ่มต้นทำงาน เพื่อกำหนดหลักการแนวทางและมีข้อสรุปในการดำเนินการก่อน ค่อยมาพิจารณาว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่ ซี่งจะทำให้เกิดความไว้วางใจต่อกันมากขึ้น

นายองอาจ ยังเสนอให้คณะกรรมการ ปยป.ไปศึกษาผลการศึกษาคณะกรรมการที่เคยทำงานด้านนี้ ซึ่งมีการทำมาหลาย คณะ อาทิ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. การศึกษาแนวทางปรองดองชุดที่ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน การปรองดองสมานฉันท์ สันติวิธีของสถาบันพระปกเกล้า รวมทั้งผลงานของศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปที่จัดตั้งโดย กอ.รมน. ตามที่ ครม.มอบหมาย
ทั้งนี้ เพื่อดำเนินการกำหนดวิธีการปรองดองให้เกิดได้จริง ดีกว่าที่ ปยป. จะเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ เพราะจะทำให้เสียโอกาส

**เตือนปยป.ระวังติดกับดักการเมือง

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สนช. กล่าวว่า เมื่อพูดเรื่องปรองดอง โฟกัสของเรื่องจะพุ่งไปที่การแบ่งขั้วสีระหว่างเหลืองกับแดง ระหว่างพรรคการเมือง ซึ่งก็ไม่ผิด แต่ตนคิดว่าปัญหานี้หยั่งรากลึก ที่ต้องใช้เวลาอีกยาวนานในการแก้ไข ซึ่งก็ผูกพันไปถึงเรื่องการต้องโทษจำคุกที่บางฝ่ายระบุว่า มาจากการกลั่นแกล้งและใช้กฎหมายสองมาตรฐาน กรณีนี้ควรจำแนกคดีออกให้ชัดเจน เพื่อการเยียวยาบรรเทา หากเป็นคดีเข้าร่วมการชุมนุมและถูกจับกุม น่าจะผ่อนคลายปลดปล่อยได้ แต่ถ้าเป็นคดีรุนแรงถึงขั้นหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือ คดีเผาสถานที่ราชการ หรือคดีทำร้ายร่างกายรุนแรงต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการทางศาล

ความปรองดองอีกมิติ ที่สังคมพูดถึงกันน้อยมากคือ การที่ราษฎรถูกกลั่นแกล้งจากเจ้าที่รัฐที่มีอำนาจตั้งแต่ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาการใช้อำนาจเข้าข่มเหงปัญหาการใช้อำนาจเอื้อนายทุนเข้าจัดสรรทรัพยากรชาติฯลฯ ล้วนแต่เป็นปัญหาที่ครุกรุ่นอยู่ในจิตใจราษฎร ซึ่งกลไกความปรองดองที่ตั้งขึ้นต้องคำนึงถึงเรื่องนี้เป็นสำคัญ

** แนะ 3 ข้อที่ปยป.ต้องคำนึงถึง

นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวถึงเรื่องการปรองดองว่า มีข้อห่วงใหญ่ และข้อพิจารณาที่คสช.ต้องรับฟังอยู่ไม่น้อยคือ การตั้งโจทย์ต้องไม่ผิด เพราะอาจสร้างปัญหาใหม่ตามมา รวมทั้งการออกมาตรการต่างๆ ก็ต้องจัดลำดับก่อนหลังให้ดี ไม่เช่นนั้นอาจทำให้เกิดความหวาดระแวง และสับสนจนไปต่อไม่ได้ เช่น ข้อเสนอที่จะให้คู่ขัดแย้งทางการเมือง มาทำข้อตกลง หรือ MOU เพื่อนำไปสู่การยุติความขัดแย้งนั้น เป็นมาตรการหนึ่งที่น่าพิจารณา แม้ยังเป็นแค่แนวคิด แต่เร็วเกินไปที่จะพูดเรื่องนี้ เพราะการทำข้อตกลงใดๆก็ตาม ต้องผ่านการออกแบบ ต้องมีความชัดเจน ทุกฝ่ายยอมรับถึงจะเกิดขึ้นได้

โจทย์หลักที่ ปยป.ต้องพิจารณาในประเด็นปรองดองนั้น มี 3 ส่วนใหญ่ๆคือ 1 . เจ้าภาพ ต้องได้คนที่น่าเชื่อถือ ได้รับการยอมรับสูง ประสานทุกฝ่ายได้ไม่ใช่ต้องใช้กฎหมาย ใช้คำสั่งกำกับควบคุมทั้งหมด 2. รูปแบบหรือกระบวนการ ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย และต้องมีความต่อเนื่อง เพราะเรื่องนี้ทำให้เสร็จภายในปีเดียวไม่ได้

3. เนื้อหา ต้องยึดหลักนิติรัฐและนิติธรรม แสวงหาข้อเท็จจริงให้มาก เพราะบางคดีหรือบางข้อกล่าวหา เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองและเกินจริงเนื้อหาต้องตอบโจทย์ทั้งเฉพาะหน้า และการแก้ปัญหาระยะยาว และต้องไม่ให้สังคมรู้สึกว่าเป็นการฮั้ว หรือฟอกผิดใคร โดยเฉพาะคดีทุจริต คดีอาญาร้ายแรงมีหลักฐาน และคดีความผิด มาตรา 112

"ปยป.ต้องเดินที่ละก้าว แสวงหาความเข้าใจ และความร่วมมือให้มากที่สุด การใช้อำนาจหักดิบเพื่อปรองดองนั้น จะส่งผลเสียในระยะยาวมากกว่า" นายสุริยะใส กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น