xs
xsm
sm
md
lg

จับตาขสมก.รับรถ NGVทั้งที่ผิดสัญญา บรรทัดฐานใหม่TORไม่ใช่สาระสำคัญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จับตา ขสมก.ตัดสินใจรับรถเมล์ NGV ฉีกเงื่อนไข TOR และสัญญา ชี้แหล่งกำเนิดของ ไม่ใช่สาระสำคัญ เป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้การประมูลจัดซื้อ จัดจ้าง เปิดปมทำหนังสือหารืออัยการสูงสุด ช่วยเคลียร์ปัญหากฎหมาย พร้อมจัดหาพื้นที่จอดรถล้วนเอื้อเอกชน ทั้งที่ทำผิดสัญญาแล้ว แถมสุดท้ายยังช่วยเอกชนได้รับยกเว้นภาษีและค่าปรับอีก

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กรณีรถโดยสารรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) มีแหล่งกำเนิดไม่ตรงกับที่บริษัทเบสท์ริน กรุ๊ป เสนอแผนจัดหาและทำสัญญากับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ทางขสมก.ได้ทำหนังสือถึงอัยการสูงสุดเพื่อหารือ ว่าจะสามารถรับมอบรถได้หรือไม่ ซึ่งกรณีที่มีการปฏิบัติไม่ตรงตามสัญญานั้น ต้องพิจารณาว่า เงื่อนไขดังกล่าวเป็นสาระสำคัญหรือไม่ ขสมก.ได้รับความเสียหายหรือไม่ และสินค้าดังกล่าว มีคุณสมบัติเทียบเท่ากับที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือไม่ ซึ่ง การกำหนดเงื่อนไขไว้ในสัญญา ให้เอกชนทำแผนการผลิตและส่งมอบรถ และได้ลงนามสัญญาตามเงื่อนไขดังกล่าวนั้น ต้องถือว่า เป็นกติกาและเป็นสาระสำคัญแล้ว

ดังนั้น หากเรื่องนี้สรุปว่า ขสมก. สามารถรับมอบรถ NGV จาก เบสท์รินกรุ๊ปฯได้ เพราะแหล่งกำเนิดรถไม่ถือเป็นเงื่อนไขที่เป็นสาระสำคัญ จะทำให้เกิดบรรทัดฐานใหม่ในการกำหนด TOR ประมูล และทำสัญญาของหน่วยงานอื่น หรือไม่

โดยเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.59 ขสมก.ได้ทำหนังสือหารืออัยการสูงสุด 2 ประเด็น คือ 1. กรณี เบสท์รินฯ วางเงินประกันเพื่อให้กรมศุลกากรปล่อยรถโดยสารที่อายัดไว้ (100 คันแรก) และนำรถโดยสารดังกล่าวส่งมอบให้ ขสมก. โดยที่เรื่องอยู่ระหว่างกรมศุลกากรตรวจสอบเอกสารหลักฐานแหล่งผลิต ขสมก.จะสามารถตรวจสอบรถโดยสารจากบริษัท และนำมาวิ่งให้บริการประชาชนได้หรือไม่

2. กรณีที่ขอบเขตของงาน (TOR) โครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ(NGV) พร้อมซ่อมแซมบำรุงรักษารถโดยสารจำนวน 489 คัน ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เอกสารหมายเลข 1 ได้กำหนดคุณลักษณะรถยนต์โดยสาร ว่าเป็นรถนำเข้าสำเร็จรูปทั้งคันจากต่างประเทศ หรือรถที่ประกอบในประเทศไทย อุปกรณ์และชิ้นส่วนที่ใช้ประกอบรถเป็นไปตามมาตรฐานของผู้ผลิต และกรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ แต่ในเงื่อนไขสัญญาข้อ 2 ระบุว่า บริษัท ตกลงขายรถยนต์โดยสารปรับอากาศชั้นเดียวใช้ NGV ขนาด 12 เมตร ยี่ห้อ SUNLONG รุ่น SLK 6129 CNG ผลิตที่ประเทศจีน ประกอบ ณ โรงงาน R&A COMMERCIAL VEHCLES SDN BHD ประเทศมาเลเซีย จะถือว่าข้อความที่มีความยัดแย้งกันเป็นสาระสำคัญของสัญญาหรือไม่ และ ขสมก.จะสามารถตรวจรับรถโดยสารดังกล่าวได้หรือไม่ เนื่องจากกรณีดังกล่าวรัฐบาลได้มีนโยบายให้รัดดำเนินการเพื่อให้สามารถนำรถโดยสารวิ่งให้บริการประชาชนในวันขึ้นปีใหม่ 2560

แหล่งข่าวกล่าวว่า กรณีที่ เบสท์รินฯ นำรถล็อตที่ 2 จำนวน 291 คัน ออกจากท่าเรือโดยไม่มีความผิดฐานสำแดงถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นเท็จ และไม่ต้องชำระค่าปรับ เหมือนกับรถลอตแรก 100 คัน โดยวางประกันค่าภาษีนำเข้า แบบมีเงื่อนไข คือ สงวนสิทธิ์ว่าหากพิสูจน์ว่ารถนำเข้าตามเงื่อนไขสัญญาสามารถใช้สิทธิ์เรียกร้องขอคืนภาษีในภายหลังได้ตามมาตรา 10 วรรค 5 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ความหมายคือ หากมีหลักฐานสามารถพิสูจน์ถิ่นกำเนิดสินค้าได้ว่าเป็นรถเมล์ NGV ประกอบในมาเลเซียจริง กรมศุลกากรต้องคืนภาษีนำเข้าให้กับบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด ผู้นำเข้านั่นเอง

ในขณะที่ ขสมก. ได้หารืออัยการสูงสุด พร้อมไปกับ ได้มีเตรียมพื้นที่ สำหรับให้เอกชนจอดรถ NGV ที่ทยอยนำออกจากท่าเรือ เพื่อเข้าสู่กระบวนการติดตั้งระบบ GPS และนำไปตรวจสภาพรถที่ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นการเตรียมพร้อมเข้าสู่การรับมอบของคณะกรรมการตรวจรับรถ ซึ่งในที่สุด หากให้ขสมก. รับมอบรถNGV ดังกล่าวได้ เท่ากับสรุปว่า แหล่งผลิตไม่ถือเป็นสาระสำคัญของเงื่อนไขใน TOR และสัญญา เท่ากับเบสท์รินฯ ไม่มีความผิด จะทำให้ส่งมอบรถล็อตที่ 2 จำนวน 291 คัน และล็อตที่ 3 อีก 98 คัน และจะย้อนไปที่ รถ 99+1 คัน ที่เป็นล็อตแรก จะสามารถส่งมอบได้ตามไปด้วย

และการนำรถออกมาวิ่งให้บริการประชาชน เท่ากับภาครัฐนำรถมาใช้ประโยชน์แล้ว เมื่อมีการรับรองว่า รถที่เบสท์รินฯ จัดหาไม่ผิดสัญญา ประเด็นที่ตามมาคือ เบสท์รินฯ จะได้สิทธิ์ยกเว้นไม่ต้องจ่ายภาษีนำเข้า 40% และจะสามารถย้อนกลับไปขอคืนเงินประกันที่วางไว้กับกรมศุลกากร ตอนที่นำรถ 291 คันออกจากท่าเรือได้อีก

และยังไม่ต้องเสียค่าปรับที่ส่งมอบรถล่าช้ากับ ขสมก. อีก วันละ 8.3 ล้านบาท อีกด้วย โดยอ้างเหตุต้องส่งมอบล่าช้ามาจากกระบวนการตรวจสอบของหน่วยงานรัฐ เท่ากับที่ผ่านมาทการตรวจสอบข้อบกพร่องในการนำเข้าของกรมศุลกากร ไม่มีความหมาย

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาตัดสินกรณี รถNGV มีแหล่งกำเนิดไม่ตรงกับสัญญา หากมีการผ่อนปรนด้วยเหตุผลอยากให้ประชาชนมีรถเมล์ใหม่ใช้อย่างเดียว จะกลายเป็นบรรทัดฐานความถูกต้องของกฎหมาย เงื่อนไขใน TOR และรายละเอียดในสัญญา ไม่มีความหมายอีกต่อไป

นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ประเด็นที่หารือเพื่อให้อัยการพิจารณา คือ กรณีที่มาหรือแหล่งกำเนิดของรถ เมื่อข้อเท็จจริงพิสูจน์แล้วว่าไม่ตรงกับสัญญา จะถือว่าผิดสัญญาหรือไม่ คงต้องดูว่า ประเด็นนี้เป็นสาระสำคัญหรือไม่ ซึ่งในส่วนของขสมก. ทำหน้าที่ประมูล และได้ผู้ชนะเป็นบริษัทเบสท์รินฯ ส่วนทาง เบสท์รินฯ มีหน้าที่ส่งมอบรถตามสัญญา ซึ่งในการรับมอบรถ ขสมก.จะต้องตรวจสอบ ความถูกต้องตามสัญญาและข้อกฎหมาย ยอมรับว่า วัตถุประสงค์ของโครงการคือต้องการให้ประชาชนได้ใช้บริการรถเมล์ใหม่ ซึ่งขสมก.ยังวางแผนจะให้บริการในเดือนก.พ.
กำลังโหลดความคิดเห็น