xs
xsm
sm
md
lg

ปราบคอร์รัปชันให้จริงจังต้องเอาผิดคนให้สินบนด้วย

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ

กรณีสินบนข้ามชาติของบริษัทโรลส์-รอยซ์ ประเทศอังกฤษที่จ่ายกับเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้บริหารบริษัทการบินไทย รวมทั้ง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นำไปสู่การตั้งคณะกรรมการสอบสวนของทั้งสองบริษัท เพื่อหาข้อเท็จจริงว่า ใครที่เป็นคนรับสินบน

เรื่องสินบนข้ามชาติที่ถูกเปิดเผยออกมา เพราะบริษัทผู้จ่ายสินบนในต่างประเทศถูกทางการของประเทศนั้นๆ ตรวจสอบ และพาดพิงถึงองค์กรรัฐในประเทศ ซึ่งเป็นผู้จัดซื้อจัดจ้างเคยเกิดขึ้นมาแล้วอย่างน้อย 4 คดี

คดีแรกเป็นคดีที่นางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รับสินบนจำนวน 60 ล้านบาท จากนายเจอรัลด์ และนางแพทริเซีย กรีน นักสร้างภาพยนตร์ชาวอเมริกัน เพื่อให้ได้สิทธิการจัดนิทรรศการภาพยนตร์นานาชาติ ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2550

คดีที่สอง เป็นคดีที่บริษัท อลิอันซ์วัน (Aliance One) ติดสินบนพนักงานโรงงานยาสูบของไทยในช่วงปี 2543–2547 เป็นเงินมูลค่ากว่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 60 ล้านบาท) โดยแลกเปลี่ยนกับสัญญาซื้อขายมูลค่าราว 18.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 540 ล้านบาท) โดยอลิอันซ์วันถูกตัดสินว่ามีความผิดในปี 2543 ได้ยินยอมจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 9.45 ล้านเหรียญสหรัฐ และจ่ายเงินคืนรายได้จากผลกำไรเป็นเงิน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ

คดีที่สาม เป็นคดีที่บริษัท จีอี อินวิชั่น (GE InVision) ที่ขายเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดให้กับสนามบินสุวรรณภูมิ หรือที่รู้จักกันในคดี CTX ถูกตรวจสอบจาก ก.ล.ต.สหรัฐฯ ตามกฎหมาย FCPA หลังจากที่มีการสอบสวนพบว่า บริษัทมีการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ของประเทศจีนและฟิลิปปินส์จริง จนนำไปสู่การเปิดเผยต่อว่ามีการเตรียมที่จะจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ไทยด้วย ซึ่งในท้ายที่สุดบริษัท GE InVision ถูกปรับเป็นเงิน 800,000 เหรียญสหรัฐ และยอมสารภาพเพื่อแลกกับการไม่ถูกฟ้องในศาล

คดีที่สี่ เป็นคดีที่บริษัท ดิอาจีโอ (Diageo) เจ้าของสุรายี่ห้อจอห์นนี่ วอล์กเกอร์ จ่ายสินบนแก่เจ้าหน้าที่ในอินเดีย เกาหลีใต้ และไทย เพื่อแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ด้านภาษีและการจำหน่ายสุราในประเทศดังกล่าว สำหรับกรณีของประเทศไทย ดิอาจีโอได้จ่ายเงินสินบนประมาณ 600,000 ดอลลาร์สหรัฐ (18 ล้านบาท) แก่เจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงคนหนึ่งที่เป็นอดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่ปี 2548–2550 เพื่อช่วยเหลือบริษัทในเรื่องภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากร โดยบริษัทยอมจ่ายค่าปรับกว่า 16 ล้านเหรียญสหรัฐ (480 ล้านบาท) เพื่อแลกกับการไม่ถูกฟ้องร้อง (ข้อมูลจาก สำนักข่าวไทยพับลิก้า)

จนถึงปัจจุบันมีเพียงคดีนางจุฑามาศ ศิริวรรณ ที่ทางการไทย โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.หลังจากได้ข้อมูลจากผู้ให้สินบนแล้ว ดำเนินคดีเอาผิดกับผู้รับสินบน โดยส่งฟ้องศาลอีก 3 คดีเรื่องเงียบหายไปจนกระทั่งบัดนี้

คดีสินบนโรลส์-รอยซ์ ทั้งในส่วนของการบินไทย และปตท.จะจบลงแบบเดียวกันคือเป็นข่าวครึกโครม ทำท่าว่า ผู้รับผิดชอบจะเอาจริงเอาจังในตอนแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรือไม่ต้องคอยดูกันต่อไป

ทั้ง 4 คดีที่ยกมาข้างต้น เป็นผลมาจากกฎหมายว่าด้วยการกระทำอันเป็นการทุจริตข้ามชาติ Foreign Corrupt Practice Act s หรือ FCPA ของสหรัฐอเมริกา ที่เอาผิดเอกชนที่ติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐมนตรีต่างประเทศ

ส่วนคดีสินบนโรลส์-รอยซ์ เป็นผลจากการที่บริษัทถูกสำนักงานปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันหรือ SFO (Serious Fraud Office) ของอังกฤษ ตรวจสอบพบว่า มีการติดสินบนเพื่อขายเครื่องยนต์ไอพ่นใน 7 ประเทศ รวมทั้งไทย ซึ่งโรลส์-รอยซ์ ยอมรับและจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 671 ล้านปอนด์ เพื่อไม่ให้โดนดำเนินคดีอาญา

ทั้งคดีสินบนโรลส์-รอยซ์ที่เพิ่งเป็นข่าวและคดีอันเนื่องมาจากกฎหมาย FCPA เป็นวิธีการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน โดยเอาผิดผู้ให้สินบน แตกต่างจากการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันของประเทศไทย ที่เน้นไปที่การเอาผิดผู้รับสินบนคือ เจ้าหน้าที่รัฐ คือ นักการเมืองผู้มีอำนาจ และข้าราชการ

ทั้งผู้ให้สินบน และผู้รับสินบนต่างมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน การมุ่งเอาผิดแต่ผู้รับสินบน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การทุจริตคอร์รัปชันยังเกิดอยู่อย่างมากมาย และระบาดไปทุกระดับ เพราะผู้ให้สินบนไม่ต้องหวั่นเกรงว่า จะถูกลงโทษ หากโครงการใดถูกตรวจสอบจับได้ ผู้ที่จะต้องตกเป็นจำเลย คือ เจ้าหน้าที่รัฐ เอกชนผู้ให้สินบนไม่เคยถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด ถึงแม้ว่า จะมีกฎหมาย ทั้งกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตจะมีบทลงโทษผู้ให้สินบน แต่ก็ไม่เคยมีการบังคับใช้แต่อย่างใด

เราจึงได้ยินแต่ข่าวการสอบสวน การดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ที่มีการกระทำอันเป็นการทุจริตคอร์รัปชัน แต่ไม่เคยมีข่าวว่า เอกชนที่เป็นผู้จ่ายสินบนเพื่อให้ได้มาซึ่งโครงการถูกลงโทษเลยสักครั้งเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น