xs
xsm
sm
md
lg

นักปั่นรุ่นเก๋า “อ.แชล่ม” ครูผู้บุกเบิกหลักสูตรการสอนจักรยาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
กว่า 20 ปีแล้วที่ชายคนนี้นำเรื่องจักรยานเข้ามาสอดแทรกในวิชาเรียนประจำมหาวิทยาลัย “ผศ.แชล่ม บุญลุ่ม” คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาพลศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จากความชอบในเรื่องจักรยานและหัวใจของการ “ให้”
เขาคนนี้ไม่ใช่นักปั่นอาชีพใดๆ ทว่า คืออาจารย์เพียงคนหนึ่งที่อยากเห็นนักศึกษาของเขามีความรู้และเห็นคุณค่าของจักรยานที่มากกว่าการปั่นเพื่อความเพลิดเพลิน สู่การให้ความรู้กับชุมชนและการออกทริปหาประสบการณ์สไตล์สิงห์นักปั่น . .

“อะไรที่มีความสุข..เราจะอยากทำ”

“มันสนุกและได้ท่องเที่ยว มันตอบความชอบของคนเรา คนทุกคนต้องการความสุขใช่ไหม เวลาเราทำอะไรที่มีความสุขก็อยากจะทำอยู่ประจำ เหมือนอย่างเวลาที่เราชอบเที่ยว พอเที่ยวแล้วมีความสุขเราก็อยากเที่ยว จักรยานก็เหมือนกัน”

เราเริ่มบทสนทนากันหลังจบคำถามว่าทำไมถึงชอบปั่นจักรยาน “อาจารย์แชล่ม บุญลุ่ม” คือผู้ที่ทำให้เรานึกถึงจักรยานเมื่อได้ยินชื่อนี้ เขาคืออาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ สาขาวิชาพลศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงที่มีบทบาทอย่างมากในการนำความชอบในเรื่องจักรยานของตัวเองมาบูรณาการกับวิชาการสอน

“เริ่มเอาจักรยานมาแทรกในการเรียนการสอน เพราะเราอยากให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจเรื่องจักรยานที่ถูกต้องว่า จักรยานมีประโยชน์ยังไง ให้ประโยชน์อะไรกับร่างกายบ้าง ความรู้มันคือพื้นฐานที่จะนำไปสู่เรื่องของทฤษฎี ถ้าเราจะทำอะไรต้องมีความรู้ก่อน เพื่อนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องและเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว”
ผศ.แชล่ม บุญลุ่ม
 
เขาเล่าว่าเริ่มแรกมีจักรยานไม่ถึง 10 คัน ซึ่งจักรยานทั้งหมดที่มีคือ “จักรยานแม่บ้าน” แต่ด้วยความตั้งใจที่อยากทำให้เกิดความยั้งยืนและเพื่อประโยชน์กับคนอื่นๆ อาจารย์แชล่มจึงเดินหน้าทำต่อไปแม้ว่าทั้งหมดที่มีในวันนี้จะเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของเขาเพียงผู้เดียว

“จักรยานแรกๆ เราก็ใช้จักรยานแม่บ้าน พอได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานมากขึ้นก็มีคนบริจาคให้จากที่เรามี 4-5 คันก็เพิ่มขึ้นเป็น 60-90 คัน อย่างเวลาที่สอนเรื่องจักรยานถ้าเป็นนักศึกษาสาขาพละศึกษาจะได้เรียนทั้งเทอมอยู่แล้ว ส่วนนักศึกษาจากคณะอื่นๆ ผมก็มีการสอดแทรกให้ได้เรียนรู้ด้วยเหมือนกันสัก 4-5 ครั้ง”

การสอนพื้นฐานทั่วไปเรื่องจักรยานมีตั้งแต่ การตรวจสภาพรถ เทคนิคการขี่ในที่ต่างๆ ทั้งที่ราบและที่ๆ อาจเป็นอุปสรรคต่อกับปั่น ซึ่งนักศึกษาที่นี่สามารถนำความรู้ที่เขาสอนไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน

“พอเรียนรู้เรื่องทักษะทั่วไปแล้ว ต่อมาก็เรียนเรื่องของการเอามาใช้จริง อย่างการตรวจสภาพจักรยาน ดูล้อ ดูลมยาง ปรับความสูงของเบาะ สอนเบื้องต้นการขึ้นลง การขี่แนวตรง การเบรค การทรงตัว สัญญาณมือ หลักการรขี่ขึ้นเนิน ลงเนิน การขี่ผ่านร่องน้ำ หรือผ่านอุปสรรคต่างๆ”

แน่นอนว่าการปั่นจักรยานมันก็เหมือนกับการออกไปท่องโลก เราไม่สามารถเรียนรู้บางสิ่งภายในหน้าต่างได้มากเท่ากับการออกไปเผชิญมัน อาจารย์แชล่มบอกกับเราว่าเขาใช้สิ่งแวดล้อมให้เป็นประโยชน์ ทั้งภายในและนอกมหาวิทยาลัยคือพื้นที่จำลองให้เรียนรู้ได้ทั้งนั้น

“เราใช้สิ่งแวดล้อมใกล้ตัวให้เป็นประโยชน์ทุกอย่าง เช่น ในมหา'ลัยจะมีสระเล็ก สวนสุขภาพ มีเนินดินอะไรต่างๆ ส่วนรอบๆ มหา'ลัยจะมีไร่นา มีบ่อน้ำ มีแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่เราสามารถใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ ซึ่งการสอนของเรา เราสอนให้เด็กรู้จักทำงานเป็นทีม ช่วยเหลือกัน เช่นการไปเป็นกลุ่มต้องดูแลกัน ช่วยเหลือกัน ในการเรียนครั้งนี้เด็กเขาจะได้ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กด้วยกัน”

มหา'ลัยเดียวที่มีหลักสูตรจักรยาน ?

“ที่นี่เป็นที่เดียวไหมที่มีการสอนจักรยานแบบบูรณาการ”

จากที่ฟังอาจารย์เล่าเราสงสัยว่า ที่นี่คือที่เดียวหรือเปล่าที่นำจักรยานมาสอนอย่างเป็นจริงเป็นจังขนาดนี้ อาจารย์ครุ่นคิดเกี่ยวกับคำถามที่เราได้เอ่ยไปเมื่อสักครู่ก่อนให้คำตอบ

“มีที่เดียวหรือเปล่า อาจารย์ตอบไม่ได้ แต่เท่าที่เจอมาแทบจะไม่มีเลย เพราะการสร้างหลักสูตรจะต้องขึ้นกับความพร้อมของแต่ละที่ มันไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกอย่าง แต่เรามาประเมินดูว่าทำไมที่อื่นถึงไม่มีการสอนจักรยาน

ปัจจัยแรกคือ ตัวคน - คนที่รัก คนที่ชอบ คนที่มีทักษะมีไหม อย่างที่สองคือเรื่องของอุปกรณ์ - เพราะถ้าไม่มีจักรยานมันก็ทำไม่ได้ ปัจจัยที่สามคือเรื่องของสภาพแวดล้อม - สิ่งแวดล้อม ถนนหนทาง การจราจรมีผลหมด”

นี่อาจเป็นเหตุผลว่าใจกลางเมืองกรุงเทพมหานครฯ เรายังไม่เห็นหลักสูตรที่มีการสอนเรื่องจักรยานอย่างเข้มข้นสักเท่าไหร่ ด้วยสภาพแวดล้อมและอุปสรรคต่างๆ ที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวยต่อการลงสนาม

อาจารย์เล่าต่อไปถึงการเริ่มต้นสอนจักรยานในมหาวิทยาลัยว่า จากเดินเริ่มต้นเพียงคนเดียวและไม่เคยคาดหวังว่าสิ่งที่ทำจะต้องไปไกลได้แค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่คิดไว้เสมอคือทำแล้วมันได้ประโยชน์อย่างไรและกับใคร แค่นี้ก็น่าจะเป็นเหตุผลที่เพียงพอสำหรับความตั้งใจทั้งหมดที่ทำมา 20 กว่าปี
วิชาจักรยาน (สอนทักษะการใช้เกียร์ในสภาพเส้นทางต่างๆ)
วิชาจักรยาน (สอนทักษะการใช้เกียร์ในสภาพเส้นทางต่างๆ)
 
“อย่างตอนที่เริ่มทำแรกๆ เราทำคนเดียว ไม่ได้สนใจว่ามันจะโตขึ้นหรือเปล่า เพียงแต่เราเห็นว่าถ้าทำแล้วมันมีประโยชน์และมีคุณค่า ที่เราปั่นจักรยานอย่างแรกเลยคือเรื่องของสุขภาพ จักรยานเป็นการออกกำลังกายตลอดเวลา เช่น เราขี่ไปทำงาน ไปคณะ ไปบ้าน วันหนึ่งมันก็10กว่ากิโลฯ ซึ่งมันก็ไม่น้อย เติมน้ำมันเดือนหนึ่ง300-400บาท แต่ตอนนี้รายจ่ายตรงนั้นมันก็หายไป”

สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือในวัยรุ่นวัยเรียนส่วนใหญ่ ถ้าถามว่าให้เลือกระหว่างจักรยานกับมอเตอร์ไซต์ เปอร์เซ็นต์คำตอบที่เป็นไปได้มากกว่าคงตกไปอยู่ที่รถมอเตอร์ไซต์ ด้วยความสะดวก รวดเร็ว ทันใจมากกว่า ทว่า ความคิดบางอย่างของนักศึกษาที่นั่นต้องเปลี่ยนไป เมื่อได้รู้จักกับเพื่อนสองล้อที่มีตัวทำความเร็วคือแรงปั่น และมีการสตาร์ทเครื่องด้วยแรงถีบ

“พอเป็นเรื่องของเศรษฐกิจผมเลยนำมาใช้กับการสอน เพราะว่านักศึกษาส่วนใหญ่ที่มาเรียนจอมบึงคือนักศึกษาที่บ้านยากจน พ่อแม่ทำไร่ทำนา ซึ่งนักศึกษาบางส่วนจะมีความรู้สึกว่าอยากได้มอเตอร์ไซต์ มันเท่ มันสะดวก พ่อแม่ก็ต้องมากู้มาผ่อนให้ได้ใช้มอเตอร์ไซต์

เราจึงนำจักรยานมาใช้กับเรื่องการสอน เรี่มจากนักศึกษาที่มีจักรยานก่อน เราสอนให้เขามีความรู้เกี่ยวกับจักรยาน เขาก็จะรู้สึกรักจักรยานมากขึ้น เห็นคุณค่าของมันมากขึ้น เปลี่ยนทัศนคติที่อยากได้มอเตอร์ไซต์เขาไปได้ ส่วนที่สองคือนักศึกษาที่มีมอเตอร์ไซต์ พอเรียนจบเขาก็ซื้อจักรยานมาใช้ในการเดินทางหลายคน เราก็ชื่นชม”

“ออกกำลังกายให้ได้เหมือนการแปรงฟัน”

“มือใหม่หัดปั่นควรปั่นจักรยานแบบไหนดี”

เราเชื่อว่าหลายคนที่อยากหันมาปั่นจักรยานต้องคิดแบบนี้ คิดว่าถ้าเริ่มปั่นจักรยานแล้วจะต้องเลือกจักรยานแบบไหน ยี่ห้ออะไร รุ่นอะไรดีถึงจะเหมาะกับคนเพิ่งเริ่มปั่น แต่ความคิดที่ว่าทำให้เราต้องกลับมาทบทวนกันใหม่ หลังจากที่ได้ยินคำตอบจากสิงห์นักปั่นคนนี้

“ถ้าคนจะเริ่มปั่น ผมไม่อยากแนะนำว่าต้องเริ่มจากแบบไหน เพราะมันจะเป็นการจำกัดเกินไป ผมว่าถ้าคุณมีจักรยานอะไรอยู่แล้วก็ปั่นได้เลย บ้านไหนที่มีจักรยานแม่บ้านก็นำมาปั่นได้ มันใช้หลักการเดียวกันหมด ขอให้คุณได้ขี่มันก็เท่ากับคุณได้เริ่มต้นที่จะมีสุขภาพที่ดีแล้ว

ถ้าหากเราไปกำหนดมันจะดูเป็นข้อจำกัดเกินไป ว่าต้องมีจักรยานแบบนี้ ใช้แบบนั้นถึงจะขี่ได้ บางคนจะคิดว่างั้นไม่เอาดีกว่า ถ้าต้องมาเสียตังแพงๆ ผมเลยคิดว่าถ้าคุณมีอะไรก็เอาออกมาเถอะ หลักการเรียนรู้มันเหมือนกัน เพราะเป้าหมายคือสุขภาพ กีฬาทุกประเภททำให้เราสุขภาพดีได้หมด”

เราเห็นด้วยที่เขาบอกว่ากีฬาทุกประเภททำให้สุขภาพดีได้หมด โดยที่ไม่จำเป็นต้องเลือกทำสิ่งใดเพราะเห็นว่าใครเขาทำ หรือเลือกในสิ่งที่ไม่เหมาะกับเรา จริงๆ แล้วไม่ว่าจะกีฬาชนิดไหน หรือไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ใดๆ เลยก็ยังสามารถออกกำลังกายได้

 
“ไม่ใช่แค่จักรยาน ผมว่าการออกกำลังกายทุกอย่างมันฟื้นฟูสุขภาพได้หมด ดีจนที่หมอบางคนยังตกใจว่าอาการคนไข้บางคนที่ทรุดๆ แต่ดีขึ้นมาได้ ผมมองว่าคนเราชอบออกกำลังกายตอนสุขภาพไม่ดีกันส่วนใหญ่ แต่ไม่เคยมีใครออกกำลังกายตอนร่างกายดีๆ หรอก (หัวเราะ)”

อย่างที่เรารู้ๆ กันอยู่ว่าประโยชน์ของการออกกำลังกายนี่มีมากมายคณานับ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็รู้อยู่แล้วว่าดียังไงแต่ยากที่จะเริ่มทำ อาจารย์แชล่มยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่าเราควรออกกำลังกายให้ได้ทุกวัน เพราะสิ่งดีๆ ที่ได้จากการออกกำลังกายไม่ใช่กับใครที่ได้ แต่หมายถึงตัวเราเอง

“การออกกำลังกายมันมีความจำเป็นสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย เหตุผลแรกคือการออกกำลังกายทำให้เหนื่อย ร่างกายจึงต้องการการพักผ่อนที่เพียงพอ สองคือออกกำลังกายทำให้ความเครียดเราไม่มี สามคือคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ สมาธิจะดี เช่น การวิ่งที่ต้องควบคุมขา ควบคุมกล้าม หรือจักรยานต้องควบคุมล้อ ควบคุมแฮนด์ มันเป็นการฝึกสมาธิในตัว เราควรออกกำลังกายให้ได้เหมือนการแปรงฟันที่ต้องแปรงทุกวัน ”

เรื่อง พิมพรรณ มีชัยศรี
ภาพ Chalaem Boonlum



กำลังโหลดความคิดเห็น