อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
https://businessanalyticsnida.wordpress.com/
https://www.facebook.com/BusinessAnalyticsNIDA/
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
https://businessanalyticsnida.wordpress.com/
https://www.facebook.com/BusinessAnalyticsNIDA/
รัฐบาลพูดถึง Thailand 4.0 กันปาวๆ แต่คนไทยยังเป็นคนไทยและข้าราชการไทย 1.0 หรือ 2.0 กันแทบทั้งหมด แล้วจะเปลี่ยนประเทศให้เป็น Thailand 4.0 ได้อย่างไร ในเมื่อคนของเรายังไม่พร้อมเลยที่จะก้าวไปสู่ Digital Economy, Knowledge-Based Economy, และ Creative Economy เรามาลองพิจารณากันดูว่า เราจะก้าวไปสู่ Thailand 4.0 คนไทยต้องมีคุณลักษณะอะไรอย่างไรบ้าง และเราจะชวยกันทำอย่างไรให้คนไทยพร้อมก้าวไปข้างหน้า ไม่ล้าหลังเมื่อเทียบกันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
คุณลักษณะของคนไทยประการใดบ้างที่จะเอื้อให้ Thailand 4.0 หรือ อีกนัยหนึ่งจะทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจที่เน้นความรู้เป็นฐาน เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางไปได้มีอะไรบ้างมาลองพิเคราะห์กันต่อจากสัปดาห์ก่อน โปรดดูได้จาก
• 11 คุณลักษณะของคนไทย 4.0 ที่ต้องปฏิรูปจะช่วยให้ Thailand 4.0 เป็นความจริง (ตอนที่ 1)
• 11 คุณลักษณะของคนไทย 4.0 ที่ต้องปฏิรูปจะช่วยให้ Thailand 4.0 เป็นความจริง (ตอนที่ 2)
เราจะมาดูต่อว่าคุณลักษณะที่เหลืออีก 3 ประการ ดังนี้
ประการที่เก้า ทักษะในการออกแบบ (Design skills) เป็นทักษะที่สำคัญมากสำหรับคนไทย เราพูดกันเสมอว่าส่วนผสมทางการตลาดมี 4P คือ Product, Price, Place, Promotion แต่ส่วนผสมทางการตลาดอื่นๆ ที่สำคัญยิ่งตัวหนึ่งคือ Packaging ญี่ปุ่นนั้นเป็นชาติที่ดีไซน์ Packaging ได้สวยมากและทำให้เราอดไม่ได้ที่จะหยิบมาดูหรือซื้อมาใช้ สินค้าญี่ปุ่นนั้นมักจะมี design หรือ packaging ที่แปลกและแตกต่าง แค่เราเดินเข้าร้าน 60 บาท เราจะเห็นสินค้าหลายชิ้นของญี่ปุ่นมี Design และการใช้งาน (Function) ที่เรารู้สึกว่าแปลกแตกต่างและนำไปใช้ได้จริง
การออกแบบและบรรจุภัณฑ์นั้นแม้จะเป็นเปลือกแต่ก็มีความสำคัญ ปัจจัยความสำเร็จของ Apple และ iPhone ก็คือการออกแบบ ความละเอียดละออในการออกแบบแม้กระทั่งตัวอักษร (Fonts) นักวิชาการไทยบางท่านเปรียบเทียบให้ฟังว่าไทยกับอิตาลีมีความคล้ายคลึงกัน อิตาลีเก่งเรื่องอาหาร เครื่องหนัง เสื้อผ้า ไม่แตกต่างจากคนไทย ทักษิณ ชินวัตร และ Silvio Berlusconi ก็มีกำพืดและกมลสันดานใกล้เคียงกัน คนอิตาลีเองได้รับฉายาจากคนยุโรปว่าเป็น “เจ๊กยุโรป” ชอบสนุกสนานเฮฮา ร่าเริง คล้ายๆ กับคนไทย แต่อิตาลีเก่งเรื่องการออกแบบมาก มีดีไซเนอร์ชื่อดังของโลก มียี่ห้อเสื้อผ้าเครื่องหนัง ดังๆ มากมาย ในขณะที่คนไทยไม่มีและไม่มี Global brand ด้านแฟชั่นของคนไทย ทำให้เราเป็นแค่ผู้รับจ้างผลิตเสื้อผ้าเครื่องหนังรองเท้า เพราะมีแรงงานฝีมือดีและในอดีตค่าแรงถูก แต่ทุกวันนี้เกิดการ relocation ย้ายฐานการผลิตไปยังบังคลาเทศ กัมพูชา ที่มีค่าแรงถูกกว่ามาก การมีทักษะ
ประการที่สิบ ความโน้มเอียงในการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial orientation) คือลักษณะนิสัยและบุคลิกภาพที่โน้มเอียงไปในการเป็นผู้ประกอบการ มีกิจการเป็นของตัวเอง สามารถเริ่มต้นธุรกิจเองได้ (Startup) บุคลิกภาพเหล่านี้ ได้แก่ ความใฝ่เรียนรู้ (Learning orientation) ความต้องการความสำเร็จ (Achievement) ความต้องการเป็นอิสระในตัวเอง (Autonomy) มีความทะเยอทะยานชอบการแข่งขัน ชอบคิดค้นนวัตกรรมหรือสิ่งใหม่ กล้าเสี่ยง และมีความริเริ่มในตนเองที่จะทำสิ่งใหม่ๆ ซึ่ง Michael Frese ศาสตราจารย์ทางจิตวิทยาและการจัดการที่ National University of Singapore ได้ศึกษาพบว่าผู้ประกอบการในประเทศไทย แอฟริกา และ เยอรมันนี้หากมี entrepreneurial orientation จะประสบความสำเร็จในการเป็นผู้ประกอบการมากกว่า
การสร้างคนไทยให้มีความโน้มเอียงในการเป็นผู้ประกอบการนั้นสำคัญมาก แม้แต่บางองค์ประกอบ ความต้องการความสำเร็จนั้นสำคัญมากดังที่ David C McClelland นักจิตวิทยาแนวมนุษยนิยมชื่อก้องโลกได้วิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) ของแบบเรียนประถมศึกษาของประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพื่อค้นหาคำหรือเรื่องราวที่เกี่ยวกับความสำเร็จในแบบเรียน เขาพบว่าหากประเทศใดแบบเรียนมีสัดส่วนคำหรือเนื้อหาเกี่ยวกับความสำเร็จสูงประเทศนั้นๆ จะมีแนวโน้มที่จะมีความจำเริญทางเศรษฐกิจสูงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ความไฝ่เรียนรู้ ชอบคิดค้นนวัตกรรมหรือสิ่งใหม่ ความกล้าเสี่ยงและความริเริ่มในตนเองน่าจะเกี่ยวข้องกับนวัตกรรมไม่ว่าจะเป็น product innovation หรือ process innovation ซึ่งหากมีหัวธุรกิจเพียงพอก็สามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ (Commercialization) และสร้างความสามารถในการแข่งขัน (Competitive advantage) ได้
โลกธุรกิจในปัจจุบันนั้น disruptive คือเปลี่ยนแปลงได้บ่อยตลอดเวลาและเกิดจากผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยได้เช่นกัน แต่ผู้ประกอบการเหล่านั้นต้องมี entrepreneurial orientation เรื่องเหล่านี้เปลี่ยนแปลงได้เป็นเรื่องของ mindset และควรปลูกฝังและสั่งสอนตั้งแต่เด็กจึงจะได้ผลดีมากกว่า
ประการที่สิบเอ็ด พฤติกรรมเชิงรุก (Proactive Behavior) ประเทศไทยเราโชคดี มีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ไม่ร้อนจนเกินไป ไม่หนาวจนเกินไป มีพายุหรือภัยธรรมชาติน้อยมาก ทุกคนเลยมีความเป็นอยู่อย่างสบาย ๆ ไปเรื่อยๆ ไม่ต้องดิ้นรนมาก ในขณะที่บางประเทศจะออกมาต้องเช็คอากาศทุกชั่วโมง มีพายุ แผ่นดินไหว หิมะถล่ม สารพัดภัยที่คาดเดาไม่ได้ คนในประเทศที่สบายๆ แบบไทยจึงไม่จำเป็นมากที่จะต้องมีพฤติกรรมเชิงรุก พฤติกรรมเชิงรุกนี้ได้แก่ การวางแผนล่วงหน้า การทำสิ่งต่างๆ ที่ต้องทำโดยไม่ต้องรอคำสั่ง การไม่อยู่นิ่งเฉยคิดที่จะปรับปรุงสิ่งต่างๆ หรือวิธีการทำงานเดิมให้ดีขึ้น การจัดแจงตระเตรียมเพื่อรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซับซ้อนมาก ต้องการคนที่มีพฤติกรรม proactive หากคนไทย 4.0 ไม่ proactive พอก็จะไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจาก disruptive technology นอกจากนี้การเป็น digital economy ต้องรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน ในทางธุรกิจในหลายคราวผู้ที่ proactive กว่า ลงมือทำได้เร็วกว่าจะเกิดความได้เปรียบจากการเป็นผู้เริ่มทำคนแรก (First mover advantage).
ก็ขอฝากข้อคิดไว้ว่าจะพัฒนา Thailand 4.0 ต้องพัฒนาคนไทยให้เป็น คนไทย 4.0 และต้องมีข้าราชการไทย 4.0 ด้วย โดยเฉพาะวิธีคิดและวิธีทำงาน ไม่ใช่มีแต่เครื่องคอมพิวเตอร์และระบบคอมพิวเตอร์เพียงเท่านั้น