ป้อมพระอาทิตย์
โดย โสภณ องค์การณ์
ตัวเลขยอดคนตายช่วง 7 วันอันตรายออกมาแล้ว ไม่ผิดหวัง ทำสถิติถล่มปีก่อน แสดงว่าการรณรงค์สารพัด เพิ่มโทษ มาตรการป้องปรามต่างๆ ไม่สามารถหยุดยั้งอัตราอุบัติเหตุได้
มีผู้เสียชีวิต 478 ราย เจ้าหน้าที่จับยึดรถพวกเมาแล้วขับ 4,354 คัน ส่งตัวดำเนินคดีผู้กระทำความผิด 66,783 ราย แต่มีผู้ละเมิดกฎหมายเกือบ 7 แสนราย เห็นตัวเลขแล้วสะท้อนให้เห็นว่าสังคมบ้านเรายังไร้ระเบียบ ห่างจากการพัฒนาในการใช้รถใช้ถนน
ไม่ทราบว่ายอดอุบัติเหตุจากการจราจรของประเทศไทยซึ่งครองอันดับ 2 มานั้นจะพุ่งแรงแซงช่วงโค้ง ชิงตำแหน่งที่หนึ่งจากประเทศนามิเบียได้หรือไม่ ในระดับอาเซียนหรือเอเชีย จะหวังให้ประเทศอื่นมาชิงตำแหน่งที่ 1 ได้นั้น คงยาก เว้นแต่จะเละกว่านี้
ยอดคนตายขนาดนี้ แถมผู้บาดเจ็บและพิการเกือบ 4 พันคนใน 6 วันถือว่าไม่ธรรมดา ขนาดสหรัฐฯ พันธมิตร และรัสเซีย ทิ้งระเบิดในซีเรียหลายวัน มีการสู้รบภาคพื้นดินต่อเนื่อง ยอดคนตายและบาดเจ็บยังไม่มากเท่านี้ เราตายทิ้งตายขว้างแบบไม่เสียดายชีวิต
เป็นอย่างนี้มาโดยตลอด ต่างกันเพียงตัวเลขเหยื่ออุบัติเหตุในแต่ละปี การณรงค์เมาไม่ขับ ให้คาดเข็มขัดนิรภัย หรือมาตรการอื่นใด ไม่ทำให้เปลี่ยนนิสัยและทัศนคติไปได้เลย
จะโทษใครได้? อ๋อ! เยอะแยะ เพียงแต่ว่าโทษนั่นนี่โน่นแล้วไม่มีมาตรการจริงจัง เป็นมาตรการฮือฮาไฟไหม้ฟาง วัวหายล้อมคอก อีกไม่นานก็จะเข้าสู่สภาพเดิม ล่าสุดแม้คุณท่านผู้นำจะคำราม สั่งมาตรการเพิ่มโทษต่างๆ ก็ต้องดูว่าเจ้าหน้าที่จะเอาจริงมั้ย
ที่ผ่านมาปัญหาหลักเรื้อรังทุกอย่างของประเทศนี้เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายไม่ปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจัง ปล่อยปละละเลย บางกลุ่มฉวยโอกาสใช้วิกฤตสร้างความมั่งคั่งส่วนตัว หลายหน่วยงานเปิดทางให้ใช้ดุลพินิจนำร่องการสร้างรายได้พิเศษ
ผู้ใช้รถ ใช้ถนนบนแผ่นดินนี้จำนวนหนึ่ง มีสัญชาติอะไรก็ตาม ถูกมองว่าเป็นคนไม่กลัวตาย ไม่กลัวกฎหมาย โทษอาญา เมื่อนั่งหลังพวงมาลัย นำรถออกสู่ถนนก็สวมวิญญาณผู้กล้าพร้อมเสี่ยงตายไม่คำนึงว่าจะเกิดอุบัติเหตุ ทำให้ตัวเองบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
ตัวเองเป็นอะไรยังไม่ว่า ถ้าเอาสมาชิกครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงไปด้วย เท่ากับว่าเอาคนเหล่านั้นไปเสี่ยงภัยด้วย และเหตุร้ายอาจทำให้ผู้อื่นที่ใช้รถใช้ถนน หรือริมทางพลอยรับเคราะห์ไปด้วย นี่เป็นรูปแบบของพฤติกรรมของผู้ไม่รับผิดชอบต่อตัวเองและผู้อื่น
กฎหมายทำอะไรไม่ได้กับคนไม่กลัวตาย! ถ้าไม่กลัวตายเสียอย่าง ทุกอย่างเป็นเรื่องจ้อย! ดังคำพูดในวงเหล้าที่ว่า “คนไทยเรื่องกินเรื่องใหญ่ ตายเรื่องกลาง ตะรางเรื่องเล็ก”
ทัศนคติเช่นนี้ พูดเล่นหรือพูดจริงก็สุดแล้วแต่ สะท้อนให้เห็นสภาพของคนในสังคมซึ่งไม่เคารพกฎหมาย ไม่เกรงกลัวโทษอาญา และไม่กลัวผลพวงที่จะตามมา แม้กระทั่งตาย พิการ หรือความเสียหาย ทุกข์แก่ผู้อื่นในครอบครัว ซึ่งต้องมาดูแลรับผิดชอบด้วย
ในประเทศไทย คนไม่กลัวตายแบบนี้ เมื่อก่อให้เกิดอุบัติเหตุ มักทำให้คนอื่นตายไปด้วย ดังเช่น “ลุงแดง” คนขับรถตู้ ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้ตัวเองตาย ร่วมกับคนอื่นๆ อีก 24 ราย เพราะความล้าของร่างกายที่ต้องวิ่งระหว่างกรุงเทพฯ-จันทบุรี 5 เที่ยวใน 31 ชั่วโมง
การที่ไม่มีเงินเดือน รายได้ผูกอยู่กับจำนวนเที่ยวรถที่ตัวเองขับ และผู้โดยสาร ทำให้ต้องทำงานมากเกินไปจนพักผ่อนไม่เพียงพอ คนธรรมดา ไม่ใช่ผู้วิเศษกินเหล็กไหล จะได้ไม่รู้สึกเหนื่อยล้าเมื่อขับรถหลายชั่วโมงติดต่อกัน มีทั้งความเครียดจากปัญหาระหว่างทาง
คนเสียชีวิตมีทั้งหนุ่มสาว มีอนาคตหน้าที่การงานสดใส เป็นทรัพยากรบุคคลของชาติ ต้องมาเป็นความสูญเปล่า แต่ละชีวิตได้เงินชดเชยเพียง 7 แสนบาท ต่อให้เพิ่มอีกหลายเท่าตัวก็ไม่คุ้ม อุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้ 11 คนที่มากับรถกระบะต้องรับเคราะห์ไปด้วย
โดยสภาพแล้ว บริการรถตู้ขนส่งผู้โดยสารเน้นความคล่องตัว รวดเร็ว ไม่แพงมากนัก แต่เป็นคล้ายโลงศพติดล้อเพราะมีทางออกเพียงประตูด้านซ้าย การยัดผู้โดยสารเข้าไปจนเกินพิกัดทำให้การหนีออกจากตัวรถตู้ลำบากเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ทั้งติดตั้งแก๊สไวไฟอีกด้วย
เมื่อคนในประเทศนี้ไม่รักตัวกลัวตาย ไม่กลัวโทษอาญา ท้าทายกฎหมาย ก็ต้องพิจารณาปรับแปลงโทษให้ผู้กระทำความผิดรู้สึกเกรงมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยทั่วไป คนไทยกลัวที่จะอาย กลัวลำบาก ดังนั้นการกำหนดโทษต้องให้เหมาะสม ถือว่าเป็นกรณีพิเศษ
แทนที่จะเอาตัวไปขังคุก หรือปรับเป็นเงินจำนวนมาก ควรพิจารณาให้เป็นโทษอาญาโดยให้ใช้เวลาทำงานเพื่อบำเพ็ญประโยชน์อย่างจริงจังช่วงเวลาถูกจำคุกด้วย เช่นการให้ไปทำงานปลูกป่าในพื้นที่เขาหัวโล้น ขุดลอกคูคลอง ห้วยหนองกำจัดผักตบชวา
ระยะเวลาของการทำงานสาธารณะก็แล้วแต่ความรุนแรงของโทษ ไม่ควรขังให้เปลืองงบประมาณ กินข้าวหลวงฟรีๆ ไม่มีผลตอบแทนอะไร ไม่รู้สึกหลาบจำ การถูกส่งตัวไปทำงานในชนบท หรือลอกท่อระบายน้ำในเมือง เก็บกวาดขยะ เป็นประโยชน์มากกว่า
การยึดรถยนต์ ยานพาหนะซึ่งผู้ขับขี่มึนเมาสุรา ทำให้เกิดอุบัติเหตุจนมีผู้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิตต้องกระทำเหมือนการใช้รถยนต์ไปประกอบอาชญากรรมอย่างอื่น เช่นขนยาเสพติด สินค้าหนีภาษี แม้ว่าผู้กระทำความผิดไม่ใช่เจ้าของ เพื่อให้เกิดความระมัดระวัง
ผู้กระทำความผิดในอุบัติเหตุด้วยความมึนเมาสุรา ทำให้ผู้อื่นพิการหรือเสียชีวิต ต้องมีประวัติอาชญากรรม ถูกมองว่าเป็นบุคคลอันตรายต่อสังคม ทำให้ยากในการหางาน ทำ สังคมรังเกียจ ต้องถือว่าเป็นมาตรการพิเศษสำหรับสถานการณ์พิเศษในประเทศไทย
ถ้าคุณท่านต้องการทำงานอื่นใด ปฏิรูปโครงสร้าง หรือไทยแลนด์ 4.0 จำเป็นต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้เจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายตระหนักถึงภาระหน้าที่ ใครทำงานไม่ได้ ก็ไม่ควรอยู่ในตำแหนงเกิน 3 เดือน เริ่มแบบนี้ก่อน 3 เดือน ไหวมั้ยล่ะ
เมื่อมาตรการอื่นๆ ใช้ไม่ได้ผล ต้องเล่นแบบนี้ ใจกล้าๆ ด้วยนะครับ