xs
xsm
sm
md
lg

อีกแล้ว! ต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียมให้ ปตท.สผ.10 ปี โดยไม่ต้องประมูล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ภายหลังจากวันที่ 6 ธันวาคม 2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติเห็นชอบให้ต่อระยะเวลาการผลิตปิโตรเลียมให้กับบริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด แปลงสำรวจในอ่าวไทยบริเวณ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี หมายเลข B8/32 ออกไปอีก 10 ปี

ถัดมาจากนั้นอีก 1 เดือน วันที่ 4 มกราคม 2560 คณะรัฐมนตรี รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อนุมัติให้บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมสำหรับสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 2/25282/27 แปลงบนบกหมายเลข PTTEP 1 บริเวณบนภาคกลาง (จังหวัดสุพรรณบุรี และนครปฐม) พื้นที่ผลิตปิโตรเลียมรวม 9.04 ตารางกิโลเมตร ซึ่งจะหมดระยะเวลาสัมปทานในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2560 ออกไปอีก 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2560 - กุมภาพันธ์ 2570

โครงการนี้มีหน้าที่รับผิดชอบน้ำมันจาก 3 แหล่ง คือ แหล่งน้ำมันกำแพงแสน แหล่งน้ำมันอู่ทอง และแหล่งน้ำมันสังฆจาย

มาถึงตรงนี้ก็ต้องแสดงความรู้สึกเสียดายอยู่ตรงที่ว่า ทำไมหลายรัฐบาลที่ผ่านมาปล่อยผ่านการตัดสินใจในเรื่องแหล่งปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุ แล้วในที่สุดเมื่อจะหมดอายุสัมปทานในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ถ้าปล่อยนานขนาดนี้ก็หมายความว่าอำนาจต่อรองของฝ่ายรัฐบาลนั้นหมดสิ้น เพราะไม่ได้มีการเตรียมทางเลือกอย่างอื่นไว้ล่วงหน้าสักประมาณ 5 - 6 ปีก่อนหน้านี้

และนั่นหมายความว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมาไม่มีใครคิดจะมีทางเลือกอื่น นอกจากเดินหน้าประเคนการต่ออายุสัมปทานให้กับผู้รับสัมปทานเดิมทุกราย จริงหรือไม่?

ดังนั้น การต่อสัญญาสัมปทานครั้งนี้จะไปกล่าวโทษรัฐบาลชุดนี้อย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ต้องโทษระบบการเมืองที่ผ่านมาที่ไม่มีใครใส่ใจในเรื่องนี้สักเท่าไหร่

และถ้านโยบายพลังงานจะเปลี่ยนแปลงได้ ก็คงจะมีแต่รัฐบาลที่ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงในธุรกิจพลังงานเท่านั้น และคงจะเป็นเรื่องยากที่จะไปคาดหวังการปฏิรูปเพื่อสร้างความโปร่งใสในกิจการปิโตรเลียมจากรัฐบาลที่มาจากนักเลือกตั้ง

และที่น่าเสียดายอีกประการหนึ่งคือการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ กล่าวคือ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม นั้นกลับไม่ทำตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 2514 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ อันเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ประชาชนต้องออกมาคัดค้าน และเป็นผลทำให้การแก้ไขกฎหมายล่าช้าไปในที่สุด

และในความเป็นจริงเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) อีกนั่นแหละที่เป็นฝ่ายเร่งรัดให้รัฐบาลทำการแก้ไขกฎหมายให้เป็นไปตามผลการศึกษาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งหากเดินหน้าแก้ไขด้วยความจริงใจ และบริสุทธิ์ใจ ป่านนี้กฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับคงจะผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประกาศใช้ไปตั้งแต่ปีที่แล้ว และทำให้เราได้ประมูลในระบบแบ่งปันผลผลิตและระบบจ้างผลิตได้ตั้งแต่ปีที่แล้วด้วยซ้ำ

หากใครจำกันได้ถึงข้ออ้างความพยายามในการประเคนแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมให้กับผู้รับสัมปทานรายเดิมนั้น ข้าราชการและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองบางคนมักจะอ้างว่าราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติลดลงทั่วโลก ไม่มีแรงจูงใจในการลงทุน จึงออกกฎระเบียบต่างๆให้รัดกุมรอบคอบมากไม่ได้ แต่พอราคาปิโตรเลียมเพิ่มสูงขึ้นคนเหล่านี้ก็อ้างเหตุผลใหม่ว่าเพื่อความต่อเนื่อง

เหตุผลส่วนหนึ่งเพราะการตัดสินใจในระดับนโยบายพลังงานนั้น มักจะฟังกลุ่มทุนพลังงานและข้าราชการมากกว่าประชาชน หลักฐานชิ้นหนึ่งก็คือคำกล่าวของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้เป็นประธานในพิธีเปิดงานเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล (ประเทศไทย) ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ความตอนหนึ่งว่า

"คนที่บอกว่าไทยมีแหล่งน้ำมันมากกว่าซาอุดิอาระเบียนั้นนั่งเทียนมาหรือเปล่า มีการสำรวจมาหมดแล้วประเทศไทยมีเท่าไร เขาจึงสนใจอุดหนุนเท่าไร ฉะนั้นอย่างไปเชื่อข้อมูลที่บิดเบือน ถ้าไม่ฟังข้อมูลของรัฐแล้วจะไปฟังข้อมูลของใคร?"

จะเห็นตัวอย่างข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นคำพูดในวาทกรรมที่มักจะให้ร้ายเพื่อลดความน่าเชื่อถือภาคประชาชนเป็นประจำ ความจริงแล้วภาคประชาชนที่รวมตัวกันในนามเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ไม่เคยพูดว่าประเทศไทยมีแหล่งน้ำมันมากกว่าซาอุดิอาระเบียบเลย แต่การเปรียบเทียบแหล่งก๊าซธรรมชาติเมื่อกับซาอุดิอาระเบียที่มีประชาชนอ้างถึงนั้นก็มาจากเจ้าหน้าที่รัฐเองนั่นแหละ

เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554 นายทรงภพ พลจันทร์ รักษาการอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ให้สัมภาษณ์ความตอนหนึ่งว่า

"รัฐเตรียมเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เน้นพื้นที่ภาคอีกสาน ซึ่งมีปริมาณก๊าซธรรมชาติสูงถึง 5 -10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต คิดเป็น 1 ใน 3 ของปริมาณในอ่าวไทย ชั้นความหนา 1-2 กิโลเมตร และมีโครงสร้างใหญ่มาก กินพื้นที่กว่า 1 แสนตารางกิโลเมตร มีศักยภาพรองรับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือผลิตก๊าซเอ็นจีวีป้อนได้ทั้งอีสาน คาดว่าจะมีขนาดใหญ่กว่าซาอุดิอาระเบีย"

ตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีได้รับข้อมูลมาผิดๆ และมีอคติกับภาคประชาชนด้วยคำบอกเล่าต่างๆ โดยไม่ได้ดูข้อเท็จจริงว่า ข้อมูลที่ภาคประชาชนมาใช้นั้นก็มาจากภาครัฐทั้งสิ้น และยังสะท้อนให้เห็นว่าข้อมูลของรัฐว่ามากหรือน้อยนั้นมีความสับสนในตัวเอง เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ขัดแย้งกันเองอยู่เป็นประจำ เพียงข้อมูลเช่นนี้ก็แสดงให้เห็นว่าคนที่มีอำนาจจะต้องใคร่ครวญให้ดีว่าใครกันแน่ที่บิดเบือน

และถ้าไม่เชื่อข้อมูลของภาคประชาชนแล้ว ก็ต้องตั้งคำถามต่อมาว่าองค์กรอย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งได้ทักท้วงว่าการร่างกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับของรัฐบาลนั้น ไม่ได้ฟังเสียงของประชาชน และไม่ทำตามผลการศึกษาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเลย รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ฟังหน่วยงานของรัฐทั้ง 2 แห่งนี้หรือไม่?

ความจริงแล้วภาคประชาชนในนามเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ไม่ได้ติดใจเรื่องแหล่งปิโตรเลียมของไทยมีมากหรือมีน้อย และตระหนักดีว่าเรายังต้องนำเข้าปิโตรเลียมจากต่างประเทศอยู่ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าไม่ว่าแหล่งปิโตรเลียมของไทยจะมีมากหรือน้อยก็ไม่สำคัญ เท่ากับทำให้เกิดการแข่งขันผลตอบแทนอย่างเสรี โปร่งใส และเป็นธรรม โดยเฉพาะในแหล่งปิโตรเลียมที่มีการผลิตอยู่แล้ว ควรมุ่งไปสู่การประมูลแข่งขันเพื่อสร้างผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุด ไม่ว่าแหล่งปิโตรเลียมนั้นจะมีมากหรือมีน้อยก็ตาม ไม่ว่าจะมีกระเปาะเล็กหรือกระเปาะใหญ่ก็ตาม

เพราะถ้าแหล่งปิโตรเลียมนั้นมีน้อย กระเปาะเล็ก คนที่จะพิจารณาแข่งขันการให้ผลตอบแทนแก่รัฐอย่างไรก็จะต้องเป็นเอกชน ซึ่งเอกชนก็จะไปพิจารณาเองว่ามันมีน้อยจริงหรือไม่ กระเปาะเล็กหรือใหญ่ คุ้มค่าหรือไม่ และจะแข่งขันให้แก่รัฐในกระเปาะเล็กเช่นนั้นในราคาเท่าไหร่ โดยเฉพาะแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมเดิม ไม่ใช่ให้เจ้าหน้าที่รัฐมาพูดปกป้องเพื่อประเคนให้เอกชนโดยไม่ต้องประมูล จริงหรือไม่?

เช่นเดียวกัน ถ้าแหล่งปิโตรเลียมนั้นมีมาก กระเปาะใหญ่ เอกชนก็จะไปพิจารณาเองว่ามันมีมากจริงหรือไม่ จะแข่งขันให้แก่รัฐในกระเปาะใหญ่เช่นนั้นในราคาเท่าไหร่จึงจะชนะการประมูล จริงหรือไม่?

ดังนั้น จะมีมากหรือน้อย จะกระเปาะเล็กหรือกระเปาะใหญ่ ขอเพียงทำให้เกิดมีการแข่งขันผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุด ผลที่ได้ก็จะสะท้อนที่ได้ก็จะเป็นราคาตลาดเสรีจากการแข่งขัน ก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าประเทศไทยได้ผลตอบแทนดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว จริงหรือไม่?

และแน่นอนว่าถึงตอนนั้นผู้รับสัมปทานรายเดิมในฐานะเจ้าถิ่นเดิม ก็คงจะสู้เสนอผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดไม่แพ้รายอื่น ต่อให้ได้ผู้รับสัมปทานรายเดิมประชาชนก็ไม่ขัดข้องตราบใดที่มาจากการแข่งขันอย่างเสรีและโปร่งใส

และที่สำคัญที่สุดหากเกิดการแข่งขันด้วยการประมูลอย่างโปร่งใสแล้ว ก็จะเป็นการลบข้อครหาเรื่องการแอบปิดห้องเจรจาเอื้อผลประโยชน์ส่วนตน และเป็นการลงมือปฏิบัติเพื่อต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างเป็นรูปธรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น