xs
xsm
sm
md
lg

สิ่งที่สำคัญกว่าเลื่อนโรดแมปคือ อย่าให้คนชั่วกลับมามีอำนาจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“หนึ่งความคิด”
โดย “สุรวิชช์ วีรวรรณ”

ตอนนี้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติออกมาส่งเสียงกันเป็นทอดๆ ว่า การเลือกตั้งน่าจะมีได้ราวกลางปี 2561 ไม่ใช่ราวปลายปี 2650 ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรีเคยพูดไว้หลายครั้ง โดยอ้างเหตุผลว่า การพิจารณากฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญน่าจะต้องใช้เวลาจากนี้ประมาณ15เดือนจึงจะแล้วเสร็จ

แต่ต่อมา พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสารท ผู้บัญชาการทหารบกซึ่งเป็นเลขาธิการ คสช.ยืนยันว่าจะไม่มีการเลื่อนโรดแมปออกไป โดยระบุว่า ที่ นายสรุชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.ออกมาพูดนั้นเป็นความเห็นส่วนตัวของคนๆ เดียว แล้วบอกว่าใครที่บอกว่าเลื่อนออกไปให้หาความเหตุผลมา

ความจริงผมเองก็มองไม่เห็นว่า สนช.มีเหตุผลอะไรจะต้องขอเวลาเพิ่มจากโรดแมปของ คสช. เท่าที่ฟังการอ้างเรื่องการพิจารณากฎหมายนั้นบอกตรงๆว่าฟังไม่ค่อยขึ้นอยากให้สนช.เอาตารางเวลามาจำแนกให้ดูว่าทำไมจึงต้องขอเวลาเพิ่ม เอาเถอะหากมีเหตุผลรับฟังได้จริงๆผมคิดว่า ถ้ามันช้าออกไปก็คงไม่เป็นไร เพียงแต่ที่ สนช.บางคนออกมาส่งเสียงอยู่นี้มันยังไม่มีเหตุผลที่เพียงพอ

สำหรับผมแล้วคิดว่าประเด็นที่สำคัญกว่าการเลื่อนหรือไม่เลื่อนโรดแมปก็คือว่าก่อนกลับไปสู่การเลือกตั้งนั้นเราได้เปลี่ยนแปลงปฏิรูปบ้านเมืองไปอย่างไรบ้างเพื่อไม่ให้กลับไปสู่วังวนความขัดแย้งแบบเก่าอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำอย่างไรไม่ให้นักการเมืองเข้าแสวงหาผลประโยชน์เมื่อมีอำนาจ

บอกตรงๆ นะครับ แม้ว่าผมเองจะอยู่ในวังวนของความขัดแย้งมา วันนี้ก็ไม่อยากให้ประเทศชาติหวนคืนกลับไปสู่ความขัดแย้งแบบในอดีตอีก แต่นั่นหมายถึง เมื่อนักการเมืองกลับมาสู่อำนาจแล้ว จะต้องไม่ประพฤติเช่นนักการเมืองในอดีตที่เป็นต้นตอของความขัดแย้งประพฤติอีก แต่ถ้านักการเมืองกลับมาใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลอีก ผมก็คิดว่าประชาชนก็ต้องลุกฮือขึ้นมาอีก ดังนั้นทางที่ดีที่สุดก็คือนำบทเรียนจากอดีตมารับใช้ปัจจุบัน ทำอย่างไรให้กฎหมายสามารถทำให้นักการเมืองอยู่ในร่องในรอยได้ ทำอย่างไรไม่ให้นักการเมืองสามารถใช้อำนาจมาแสวงหาผลประโยชน์ได้อีก

ความจริงผมก็คิดตั้งแต่หลังการเลือกตั้งที่ยิ่งลักษณ์ชนะได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วแหละว่า เราต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชน เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่ไม่เอาระบอบทักษิณก็คิดเช่นนั้น ยิ่งลักษณ์จึงเป็นนายกฯ อยู่เกือบ 3 ปี แต่ทำไมรัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่ไม่ได้ละครับ คำตอบก็เพราะรัฐบาลใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล(abuse of power)ไงครับ ประชาชนจึงต้องออกมาขับไล่ ถ้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ทำ พ.ร.บ.สุดซอยเพื่อหวังช่วยพี่ชายแล้วก็น่าจะอยู่ในอำนาจต่อไป ไม่มีเงื่อนไขที่ประชาชนจะออกมาชุมนุมขับไล่ ทหารก็ไม่มีเงื่อนไขในการเข้ามายึดอำนาจ วันนี้ก็น่าจะเลือกตั้งใหม่กันไปแล้ว

อย่าโทษประชาชนที่ออกมาขับไล่ยิ่งลักษณ์เลยครับว่าเป็นพวกไม่เอาประชาธิปไตย ควรจะโทษการบิดพลิ้วในการใช้อำนาจของฝ่ายตัวเองจะดีกว่า พวกที่ใช้อำนาจอย่างผิดๆนั่นแหละครับ คือพวกทำลายประชาธิปไตย

ผมจึงขำๆ นะครับที่ได้ยินยิ่งลักษณ์ออกมาบอกว่า การเลือกตั้งต้องเป็นไปตามโรดแมปในปี 2560 ร้องขอ คสช.ให้ดำเนินการตามโรดแมปที่วางเอาไว้ โดยเธออ้างว่า หากเลื่อนการเลือกตั้งจะทำให้ประเทศเสียโอกาสและไม่อยากให้เสียเวลาอีกแล้ว เพราะคนที่ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสและเสียเวลาก็คือตัวเธอเอง

การใช้อำนาจอย่างผิดๆของนักการเมืองตลอด 10 ปีนี้เองที่ทำให้รัฐบาลทหารมีความชอบธรรมและครองใจประชาชนส่วนหนึ่งที่เบื่อหน่ายนักการเมือง คนเขาจึงดูผลลัพธ์ของการอยู่ในอำนาจว่าทำให้อะไรให้ชาติบ้านเมืองมากกว่าการดูว่ามีที่มาอย่างไร ไม่ใช่ว่ารัฐบาลทหารจะทำถูกในทุกเรื่องหลายเรื่องก็ยังไม่ยอมฟังประชาชน แต่ประชาธิปไตยก็ไม่ได้แปลว่าสามารถอ้างเสียงข้างมากไปทำเรื่องที่ผิดได้นี่ครับ

ในทางกลับกันก็เป็นคำฝากไปถึงรัฐบาลทหารว่า ถ้าวันหนึ่งรัฐบาลใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลเห็นแก่ผลประโยชน์ของพวกพ้องมากกว่าถึงวันนั้นโรดแมปหรืออำนาจที่มีอยู่ก็ไม่มีความหมายเช่นเดียวกัน

แต่ถามว่ามั่นใจหรือว่าการเมืองหลังจากนี้จะดีขึ้น นักการเมืองจะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในวิถีทางที่ดีขึ้นแล้ววิกฤตศรัทธาในตัวนักการเมืองจะกลับคืนมาไหม บอกตรงครับว่า ผมแทบจะไม่มีความหวังเลย เชื่อว่าเราต้องได้คนหน้าเดิมๆนั่นแหละกลับมาสู่อำนาจอีก แต่เราจะโทษใครได้ล่ะ เพราะเขาก็จะอ้างอย่างที่อ้างเสมอมาว่าเขาเป็นคนที่ประชาชนเลือกมา เขามาตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้น ถ้าไม่อยากให้ทหารกลับมาอีก ไม่อยากให้นักการเมืองฉ้อฉลอำนาจจนประชาชนลุกฮืออีก ก็ต้องออกแบบบ้านเมืองของเราใหม่ให้รัดกุม ถ้าจำเป็นต้องช้าไปบ้างก็น่าจะรอกันได้ เรามีบทเรียนจากรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วว่า ความเร่งรีบนั้นไม่ช่วยให้บ้านเมืองดีขึ้นซ้ำกลับมีวิกฤตยิ่งกว่าเก่า ดังนั้น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็น่าจะต้องใช้ความพิถีพิถันให้มากกว่าเก่าโดยใช้อดีตมาเป็นบทเรียน

แต่เท่าที่ผมพยายามอ่าน ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. .... ที่กำลังส่งออกมาขอความเห็นประชาชนนั้น สิ่งที่ผมพบคือ พรรคการเมืองใหม่ๆนั้นเกิดขึ้นยากมาก กฎหมายเดิมนั้นกำหนดไว้ว่า คนสิบห้าคนก็ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองได้ แต่กฎหมายใหม่บอกว่าต้องห้าร้อยคน และทุกคนต้องร่วมกันจ่ายเงินเพื่อเป็นทุนประเดิมของพรรคการเมืองคนละไม่น้อยกว่าสองพันบาท แต่ไม่เกินห้าแสนบาท แม้จะมีบางมาตราเขียนว่าสามารถเข้าชื่อขอจัดตั้งพรรคก่อนสิบห้าคนได้ แต่ต้องหารายชื่อมาให้ได้ 500 คนภายใน180วัน ก็ไม่ใช่เรื่องที่คนตัวเล็กตัวน้อยจะมีพรรคการเมืองของตนได้อีกต่อไป

นอกจากนั้นกฎหมายยังระบุว่า ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนพรรคการเมืองนั้น ต้องดำเนินการให้มีจำนวนสมาชิกไม่น้อยกว่าห้าพันคน และจัดให้มีสาขาพรรคการเมืองในแต่ละภาค ตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัดที่คณะกรรมการกำหนดอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขาโดยสาขาพรรค การเมืองแต่ละสาขาต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสาขานั้นไม่น้อยกว่า ห้าร้อยคนและต้องเพิ่มจำนวนสมาชิกให้มีจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคนภายในสี่ปีนับแต่วันที่ นายทะเบียนรับจดทะเบียน

นั่นแปลว่าต้องใช้เงินจำนวนมาก ถึงกฎหมายจะบังคับให้สมาชิกจ่ายกันรายละไม่ต่ำกว่าสองพันบาทก็คงไม่มากพอที่จะดำเนินการได้แล้วธรรมเนียมไทยคนที่จ่ายห้าแสนก็ต้องเสียงดังกว่าอยู่ดี หรือแม้จะกำหนดวิธีให้พรรคสามารถหาเงินเข้าพรรคได้ก็ไม่ใช้ง่ายๆถ้าไม่เป็นพรรคที่มีโอกาสชนะการเลือกตั้ง สุดท้ายก็ต้องพึ่งนายทุนนักการเมืองเหมือนเดิม บทเรียนในอดีตของเราก็คือ การที่นายทุนเข้ามาครอบงำพรรคไม่ใช่หรือ

เชื่อเถอะครับว่า คนที่จะเข้ามาครอบงำพรรคจะต้องมีวิธีที่ซับซ้อนจนกฎหมายเอื้อมไม่ถึง แม้กฎหมายใหม่จะเขียนไว้ว่า บุคคลใดจะบริจาคเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดให้แก่ พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งมีมูลค่าเกินสิบล้านบาทต่อปีมิได้ และในกรณีที่บุคคลนั้นเป็น นิติบุคคล การบริจาคเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคเดียวหรือหลาย พรรคเกินปีละห้าล้านบาท ต้องแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมใหญ่คราวต่อไป หลังจากบริจาคแล้ว ซึ่งไม่ได้ต่างกับกฎหมายเก่าที่เขียนไว้ว่า ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลบริจาคให้แก่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง เกินกว่าสิบล้านบาทต่อปี นั่นแสดงว่าเราไม่สามารถป้องกันการเข้าครอบงำพรรคของกลุ่มทุนจากบทบัญญัติทางการกฎหมายได้

นักการเมืองเวลาเขาจะใช้เงินเขาไม่ทำบัญชีหรอกครับ เขาหิ้วเงินใส่กระเป๋ามาหรือไม่ก็ใส่ลังมาแจกกัน

ส่วนพรรคเดิมที่จดทะเบียนไว้แล้ว ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ว่าจะเป็นเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทย ฯลฯ บทเฉพาะกาลฉบับที่กำลังอยู่เขียนไว้ให้สามารถดำเนินการต่อไปได้เลย ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองเดิมได้เปรียบพรรคที่จะเกิดขึ้นใหม่หลังจากนี้

ดังนั้น ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่ว่าโรดแมปจะถูกเลื่อนออกไปหรือไม่ แต่ทำอย่างไรจึงสามารถป้องกันนักการเมืองเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์แล้วนำพาบ้านเมืองกลับมาสู่ความขัดแย้งแบบเก่า

ติดตามผู้เขียนได้ที่ เฟซบุ๊ก Surawich Verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น