xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตเรียบง่าย “คฑา มหากายี” ผมว่าทุกที่ในโลกคือห้องเรียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
หลายคนรู้จักเขาในฐานะนักคิด นักอนุรักษ์ นักศิลปะ นักธุรกิจ หรือคุณพ่อลูกสองที่มีแนวทางการเลี้ยงลูกในแบบของตัวเอง หลายบทบาทรวมอยู่ในบุคคลเดียวที่ชื่อว่า “คฑา มหากายี” ผ่านความคิดและการเรียนรู้ชีวิตที่มีความเชื่อมโยงกับธรรมชาติ

วันนี้เราพูดคุยกับเขาไม่ใช่ในฐานะนักอนุรักษ์ธรรมชาติหรือนักธุรกิจใดๆ แต่เราพูดคุยถึงมุมมองการใช้ชีวิตของเขาในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่งที่มองโลกอย่างเข้าใจธรรมชาติ และทำทุกสิ่งในโลกใบนี้ให้เป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้สำหรับเขาและครอบครัว . .

ธรรมชาติ = ความจริง

“ตอนเด็กๆ เราคิดแบบโลกสวยเลย คืออยากอนุรักษ์ธรรมชาติ ไม่ใช่ว่ามันทำไม่ได้แต่ว่ามันไม่ง่ายแบบนั้น” เขาเปรยขึ้นมาและเราเห็นด้วยกับเขาอย่างหนึ่ง ที่ว่าคนเรามักพูดว่าอยากอนุรักษ์ธรรมชาติหรืออยากรักษาผืนป่า แต่พอเอาเข้าจริงๆ ทุกอย่างมันก็ไม่ได้ง่ายดายเหมือนสิ่งที่บอก

“มันไม่ง่ายเหมือนตอนที่พูดว่าอยากอนุรักษ์ธรรมชาติ ไม่ใช่พาคนไปเข้าป่าทำพิธีแล้วกลับมาจะรักธรรมชาติ (หัวเราะ) เราเห็นว่ามันไม่เวิร์กหรอก มันเป็นแค่คำสั่งที่ทำให้ทุกคนคล้อยตามกัน โดยไม่รู้ว่าที่จริงแล้วเราทำไปเพื่ออะไร”

“ถามว่าเราจะอนุรักษ์ธรรมชาติไปทำไม ถ้าตอบไม่ได้ก็เท่ากับว่าสิ่งที่เราทำไปมันก็แค่ทำตามกระแสที่มันมีอยู่แล้วเท่านั้นเอง”
คฑา มหากายี
 
“แล้วอะไรที่เป็นเหตุผลให้เดินทางสู่วิถีธรรมชาติล่ะ” เราตั้งคำถามขึ้นมาบนความสงสัยจากผู้ที่เรียนจบด้านศิลปะ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างเฉพาะทางขนาดนั้น แต่เขาเลือกเส้นทางนี้และทำมันออกมาได้ดี จนหลายคนยกให้เขาเป็น “นักอนุรักษ์ธรรมชาติ” ไปโดยปริยาย

“ก่อนที่จะมีครอบครัวผมทำค่ายสิ่งแวดล้อมมาก่อน แต่เราไม่ได้เรียนมาทางนี้ เราเรียนคณะมัณฑนศิลป์ มหา'ลัยศิลปากร เท่ากับว่าเราไม่รู้อะไรที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเลย แต่มันเป็นโจทย์ที่เราต้องทำเพราะมันเกี่ยวข้องกับพื้นที่ เรื่องของการตัดไม้ทำลายป่า เราเลยคุยกันในกลุ่มว่าลองทำด้านที่ทำให้คนโตมาแล้วไม่เป็นแบบนั้นดีไหม”

เขาเล่าให้ฟังต่อไปว่าเริ่มแรกหาหนังสือไบโอโลจี้มาอ่าน แล้วก็ได้ค้นพบว่าความจริงแล้วมนุษย์ทุกคนต่างสัมผัสธรรมชาติผ่านความรู้สึก ไม่เพียงแต่การรับรู้ทางทฤษฎีหรือจากตำรับตำราว่าวิทยาศาสตร์ธรรมชาติคืออะไร ทว่า มันมีเรื่องของความรู้สึกมาเกี่ยวข้องด้วย

“ผมคิดว่ามนุษย์ไม่ได้สัมผัสกับธรรมชาติแบบอะคาเดมิก เราไม่ได้สัมผัสกับธรรมชาติเพราะว่าเรารู้ แต่เราสัมผัสกับธรรมชาติเพราะว่าเรารู้สึก พอเรารู้สึกเราก็เห็นกระบวนการธรรมชาติว่ามันไม่ใช่แค่ความรู้ แต่มันมีเรื่องของความรู้สึกด้วย

อย่างเวลาเราไปเห็นพระอาทิตย์ มันไม่ได้มีแค่ว่ามันเป็นดาวที่เต็มไปด้วยก๊าซฮีเลียม มันไม่ได้มีแค่นั้นแต่ว่ามันมีความรู้สึกด้วย ถ้าอย่างนั้นมันจะไม่เกิดวรรณกรรม ไม่เกิดบทเพลงที่พูดถึงพระอาทิตย์ มันมีความรู้สึกเข้าไปร่วมกับการรับรู้โลกด้วย เราเลยตั้งใจว่าเราทำด้านความรู้สึกนี่แหละ แต่ก็จะไม่ทิ้งด้านความรู้เพราะว่ามันเป็นสิ่งเดียวกัน”

แม้เราจะแยกการเรียนรู้ต่างๆ ออกมาเป็นสายวิทย์-สายศิลป์ แต่ธรรมชาติไม่ได้แบ่งแยกสองสิ่งนั้นออกจากกัน มันไม่ได้แบ่งแยกว่านี่คือศาสตร์หรือนี่คือศิลป์ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาตัดสินใจเลือกทางเดินนี้
“เราสนใจเรื่องนี้จึงตัดสินใจมาทางนี้แล้วกัน ทางที่ว่ามีความรู้ทางด้านศาสตร์ที่มีคนเขียน มีคนแปล มีคนศึกษาไว้แล้ว แต่ส่วนที่เป็นด้านความรู้สึก เราก็นำทักษะที่เราเรียนด้านศิลปะมาร่วมออกแบบกระบวนการด้วย”

“ก่อนสำรวจโลก..สำรวจตัวเองก่อน”

“โลกข้างนอกมันสะท้อนโลกข้างในของเรา” เราเห็นด้วยกับคำพูดที่เขากำลังสื่อความหมายให้เราเข้าใจ เกี่ยวกับความเป็นจริงของมนุษย์ที่ว่า คนส่วนใหญ่ชอบที่จะออกค้นหาบางสิ่งที่อยู่ข้างหน้า แต่ไม่เคยได้ใช้เวลาเพื่อทำความรู้จักกับตัวเอง หรือสำรวจบางสิ่งที่อยู่ลึกลงไปในจิตใจของพวกเขา โดยเฉพาะกับ “ความกลัว” ที่เราทุกคนต่างมี

“การเรียนรู้ด้วยตัวเองกับธรรมชาติ ผมว่าสิ่งที่ทุกคนมีเท่าๆ กันก็คือประสาทสัมผัสที่เรามีทั้งหมด ผมคิดว่าอันนี้แหละคือประตูที่ทำให้เราเชื่อมโยงกับธรรมชาติได้ ก่อนที่เราจะออกไปสำรวจโลกได้ เราต้องจัดการกับความกลัวก่อน เราต้องทำความรู้จักตัวเองก่อน”

ลองนึกภาพตามถึงป่ามืดที่เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้และเสียงปริศนาที่เราไม่คุ้นเคย คนเราจะจินตนาการถึงสิ่งที่อยู่ตรงหน้าออกมาแตกต่างกัน สำหรับเราแล้วคงวิ่งหนีหาทางออกอย่างลนลาน เขาบอกว่านั่นคือสิ่งที่สะท้อนออกมาให้เห็นว่าข้างในใจของเราเต็มไปด้วยความกลัว

“เพราะโลกข้างนอกมันสะท้อนโลกข้างในเรา ลองจินตนาการดูว่าสมมุตเราเข้าไปในป่าที่มืดๆ ที่เราไม่รู้จัก แว๊บแรกของแต่ละคนคิดไม่เหมือนกัน บางคนอยากหาแมลงก็เดินลุยเข้าไปเลย บางคนที่เต็มไปด้วยความกลัวก็จะถอยเลย สุดท้ายแล้วป่าที่เดียวกันแท้ๆ มันแปลความออกมาแล้วแต่ว่าข้างในของแต่ละคนมีอะไร”

 
สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับความกลัว คือมันเป็นสิ่งที่เราจินตนาการและสร้างขึ้นมา เรามองความกลัวว่าเป็นสิ่งที่เราอยากยอมแพ้หรืออยากข้ามผ่านมันไป เพื่อจะได้เรียนรู้และเติบโตมันอยู่ที่แต่ละคนจะเลือก สุดท้ายแล้วมันจะวนกลับไปคำถามที่ว่าเรารู้จักตัวเองมากพอหรือยัง และความกลัวที่เกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์มันส่งผลให้เราแสดงออกอย่างไรบ้าง

“เราต้องรู้จักความกลัวว่ามันเป็นสิ่งที่เราสร้างมันขึ้นมา ความเป็นจริงมันเป็นยังไงก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่เราสร้างขึ้นมามันเป็นอุปสรรคหรือเป็นปัจจัยเอื้อในการเรียนรู้และเติบโตของเรา ถ้ามันเป็นอุปสรรคเราต้องจัดการมัน แต่ถ้ามันเป็นปัจจัยเอื้อหรือเป็นปัจจัยที่ทำให้เราปลอดภัย มันก็มีประโยชน์แต่ต้องดูว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้น โดยเฉพาะความกลัวมันทำให้เราเป็นยังไง”

“บ้านเรียนทางช้างเผือก” จักรวาลแห่งการเรียนรู้

“บ้านทางช้างเผือก” คือชื่อโฮมสคูลที่มีสมาชิกตัวน้อยสองคนในบ้าน มีคุณครูคือพ่อและแม่ แหล่งเรียนรู้ที่ไม่ใช่แค่กระดานดำกับห้องเรียนสี่เหลี่ยม ทว่า ทุกสิ่ง ทุกสถานที่ที่อยู่ในโลกใบนี้ คือโรงเรียนของลูกที่สอนให้เด็กๆ เข้าใจโลกได้แทบจะทั้งหมด

“เมื่อเราเตรียมพร้อมให้เขาเป็นผู้ที่เรียนรู้ได้ด้วยตัวเองแล้ว ที่ไหนมันก็เป็นที่เรียนหมด มันจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เราทำโฮมสคูล เพราะทุกที่มันเป็นที่เรียนหมด ถ้าไม่ได้ทำโฮมสคูล ผมว่าเด็กทุกคนก็เป็นอย่างนี้อยู่แล้วนะ ทุกครั้งที่ลืมตามันคือการเรียนรู้ แต่ว่าตรงไหนที่มันจะเอื้อต่อการเติบโตของคน อันนี้เราต้องเลือกในฐานะที่เป็นพ่อแม่”

เราติดตามความเคลื่อนไหวทางเฟซบุคของเขามาสักระยะ ได้เห็นการผจญภัยและสมุดบันทึกในแต่ละวัน รวมถึงสื่อการสอนต่างๆ ที่ผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ และตกผลึกออกมา บางอย่างทำให้เรารู้สึกไม่น่าเชื่อว่านี่จะเป็นผลงานการทำสื่อการสอนจากผู้ที่ไม่ได้จบด้านสิ่งแวดล้อม ดาราศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์มาโดยตรง
บันทึกการสำรวจโลก

 
“มันไม่ใช่ว่าเราเรียนศิลปะมาแล้วเรามองเห็นแต่โลกนี้เป็นแค่เรื่องขององค์ประกอบศิลป์หมด ถ้าเราเอาต้นแบบของการเรียนรู้เราเป็นสิ่งที่มนุษย์ทำ มันก็จะแยกส่วนกันเลยตามที่มนุษย์คนนั้นเอาเป็นต้นแบบ”

เขาขยายความให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรียนรู้เรื่องไบโอโลจี้ได้อย่างกลมกลืนและสนุกไปกับมัน ด้วยการเริ่มต้นจากสิ่งที่ชอบ นั่นคือการดูแมลง เมื่อชอบแล้วมันจะทำให้รู้สึกสนใจและเป็นประตูให้ได้เชื่อมโยงกับการเรียนรู้เรื่องอื่นๆ ได้เองโดยธรรมชาติ

“ความสนใจของผมเริ่มต้นด้วยการดูแมลง เราจะมีหนังสือเล่มหนึ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้เราของเกี่ยวกับการดูแมลง เขาวาดภาพแมลงสวยมาก เราไม่รู้จักแมลงในแง่ที่เป็นไบโอโลจี้นะ เรารู้จักมันในแง่ที่เป็นเรื่องของรูปลักษณ์สีสัน

พอรู้จักจากรูปลักษณ์สีสัน เราก็สงสัยว่าทำไมมันถึงเป็นสีนี้ ตัวนี้ทำไมแขนยาว ทำไมมีเขี้ยว หรืออะไรก็ตามแต่ เดี๋ยวมันจะเข้าไปสู่เรื่องของไบโอโลจี้ได้เองตามธรรมชาติเลย คุณเริ่มตรงไหนก็ได้ที่คุณชอบเดี๋ยวมันจะลากไปหากันเอง เพราะว่าความเป็นจริงอยู่ด้วยกันอยู่”

สิ่งที่หลายคนอาจสงสัยเหมือนกันกับเราคือ ถ้าพ่อแม่ทำหน้าที่เป็นครูที่สอนลูกด้วยการเรียนแบบโฮมสคูล พ่อแม่จะต้องสอนลูกๆ ของเขาทุกวิชาใช่หรือไม่ เราโยนคำถามนี้ไปก่อนที่เขาจะอธิบายรูปแบบของการเรียนแบบผูกประสบการณ์ให้ลูกๆ ก่อนจะยกตัวอย่างสถานการณ์หนึ่งให้เราฟัง

“สิ่งที่เราสอนเขามันไม่เป็นวิชา เราเอาประสบการณ์จริงในชีวิตเรียนรู้เรื่องพวกนั้นกัน ทุกวิชามันอยู่ในนั้น ยกตัวอย่างที่บ้านเรามีต้นมะม่วงต้นหนึ่งเก่าแก่แล้วมันก็ออกลูกทุกปี จนวันหนึ่งเราบอกมาปีนต้นมะม่วงกันดีกว่า สอยมะม่วงมากินกัน ทีนี้มันเยอะมากเลยเพราะต้นมันใหญ่ เราก็เก็บมาวางขายหน้าบ้าน”


 
“ก่อนจะขายหน้าบ้านเนี่ย ลูกผมก็ปีนต้นไม้เอามะม่วงลงมาคัด อันนี้พันธุ์นั้น อันนี้พันธุ์นี้ ลูกนั้นสุก ลูกนี้ห่าม จากนั้นก็ชั่งกิโลฯ เพื่อคำนวนขาย คุณคิดดูว่ากระบวนการทั้งหมดเขาได้เรียนรู้อะไรบ้าง”

เราคิดภาพตามและได้คำตอบว่าสิ่งที่ได้จากการปีนต้นมะม่วงต้นหนึ่ง ไม่ใช่แค่การได้ลูกมะม่วงเพื่อมารับประทาน แต่ยังทำให้ได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างแบบไม่รู้ตัวได้จากการลงมือทำผ่านประสบการณ์จริง

“เพราะฉะนั้นมันเป็นวิชาไม่ได้ ถ้าเป็นวิชาแยกเมื่อไหร่จะเป็นเรื่องสมมุตทันที พอเรารวมทั้งหมดจะเรียกว่าการเรียนแบบผูกประสบการณ์ การขายมะม่วงมันทำให้เขาได้เรียนรู้อะไรบ้าง หนึ่งเขาบวกลบเลขเป็น สองเขามีทักษะในการสื่อสารกับผู้อื่น สามทักษะการใช้ร่างกายในการปีนต้นไม้ ควบคุมร่างกายต่างๆ มันมีเยอะแยะมากมาย

ถ้าต่อไปเขาสนใจมะม่วงว่ามันมีพันธุ์อะไร ทำไมมันถึงสุกเร็ว มันไปวิทยาศาสตร์ล้วนๆ ได้หมดเลย ถ้าเขานำมะม่วงมาแปรรูป มันก็เป็นเรื่องของอาหารหรือฟู้ดซายน์ เขาเอามะม่วงมาขายทำกราฟฟิกดีไซน์ มันก็เป็นเรื่องของการออกแบบ มันเลยไม่ใช่วิชาที่แยกออกจากกัน ขาดออกจากกันโดยที่มันไม่ได้เชื่อมโยงกัน ความจริงมันรวมทุกอย่างอยู่ในนั้น”

เรื่อง พิมพรรณ มีชัยศรี
ภาพ Mahakayi Kata

Leaf Footed Bug 
บันทึกการวัดตำแหน่งของดวงอาทิตย์ตลอดทั้งปี จากความสูงของต้นสนจำลองและเงาของมัน
กระดาษสีดำและปากกาเจลสีขาว นำมาใช้บันทึกเรื่องดวงดาว
สัญลักษณ์สำหรับบอกสภาพอากาศ
เรียนรู้เรื่องภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ



กำลังโหลดความคิดเห็น