xs
xsm
sm
md
lg

สันโดษ 3 ประการ : ภูมิคุ้มกันการทุจริต

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

คำว่า สันโดษ หมายถึงความยินดีด้วยของของตนด้วยเรี่ยวแรง และความเพียรโดยความชอบธรรม ความยินดีด้วยปัจจัย 4 ตามมีตามได้ ความรู้จักอิ่ม รู้จักพอ แบ่งออกได้เป็น 3 ประการดังนี้

1. ยถาลาภสันโดษ ยินดีตามที่ได้ หมายความว่าตนหาสิ่งใดได้มาด้วยความเพียรอันชอบธรรม ก็ยินดีในสิ่งนั้น ไม่ติดใจอยากได้สิ่งอื่น ทั้งไม่เดือดร้อนเพราะสิ่งที่ตนไม่ได้มา และไม่ริษยาคนอื่นเขา

2. ยถาพลสันโดษ ยินดีตามกำลังคือตนทำเต็มที่ตามศักยภาพที่มีอยู่ และได้มาแค่ไหนก็ยินดีแค่นั้น ไม่ยินดีอยากได้เกินกำลัง

3. ยถาสารุปปสันโดษ ยินดีตามสมควรหมายถึงยินดีตามที่เหมาะสมกับตน ทั้งในแง่ของเพศภาวะ ฐานะทางสังคมและแนวทางการดำเนินชีวิต

ทั้ง 3 ประการดังกล่าวข้างต้น คือพุทธพจน์ที่ทรงสอนพุทธบริษัท เพื่อนำไปเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางสังคม โดยมุ่งให้ทุกคนอยู่ได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพของแต่ละคน และป้องกันมิให้เกิดความขัดแย้งอันเกิดจากแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความแตกต่างกันในด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นที่มาของการแสวงหาในทางมิชอบ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองอยากได้ แต่ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะแสวงหาด้วยความชอบธรรม จึงเป็นเหตุให้เกิดทุจริต คอร์รัปชันตามมาในทุกชนชั้นของสังคม มากบ้างน้อยบ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. การมีและไม่มีคุณธรรมกำกับความรู้ ความสามารถ และโอกาสในการแสวงหาผลประโยชน์ทั้งแก่เพื่อตน และคนรอบข้าง กล่าวคือ ถ้าในสังคมใดคนส่วนใหญ่มีความรู้ ความสามารถ และมีคุณธรรมกำกับให้มีจิตสำนึกในหน้าที่ และที่สำคัญที่สุดให้สำนึกในความเป็นคน สังคมนั้นจะมีปัญหาทุจริตน้อยที่สุด

ในทางกลับกัน ถ้าในสังคมใดคนส่วนใหญ่มีความรู้ มีความสามารถแต่ขาดคุณธรรมกำกับ การใช้ความรู้ และความสามารถ สังคมนั้นจะเต็มไปด้วยทุจริต คอร์รัปชัน ทั้งนี้เนื่องจากถ้าคนส่วนใหญ่เป็นคนไม่ดีไม่มีคุณธรรม โอกาสที่สังคมนั้นจะได้ผู้นำเป็นคนไม่ดี มีความเป็นไปได้สูง และเมื่อคนไม่ดีเป็นผู้นำ เป็นที่แน่นอนจะต้องเลือกคนไม่ดีด้วยกันมาเป็นบริวาร และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของการทุจริต คอร์รัปชันหมู่ ดังจะเห็นได้ในยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และผู้นำไม่มีคุณธรรม คอร์รัปชันเชิงนโยบายเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา นี่คือที่มาของวาทะที่ว่า จะโกงกินบ้างก็ไม่เป็นไร ขอให้ทำงานและพวกพ้องบริวารได้บ้างจากเศษเสี้ยวแห่งการโกงนั้น

ในทางกลับกัน ถ้าสังคมคนส่วนใหญ่ในสังคมเป็นคนดี มีคุณธรรม โอกาสที่คนดีจะเข้ามาเป็นผู้นำย่อมเป็นไปได้มาก เนื่องจากคนดีย่อมเลือกคนดีด้วยกันเป็นผู้นำ และสังคมที่มีคนที่เป็นผู้นำการโกงกินถึงแม้จะมีบ้างก็น้อย และที่สำคัญคนโกงจะถูกสังคมลงโทษด้วยการตกเป็นจำเลยทางสังคม ไม่มีคนคบค้าสมาคมด้วย ในที่สุดก็จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อความอยู่รอด

2. กติกาสังคมได้แก่ วัฒนธรรม ประเพณี และกฎหมาย จะต้องมีการสอน การอบรมให้มีการเรียนรู้อย่างทั่วถึง และกติกาที่ว่านี้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายจะต้องมีเนื้อหาครอบคลุมแนวทางหรือช่องทางทุจริต คอร์รัปชันในทุกแง่ทุกมุม

3. การบังคับใช้กติกาทางสังคม จะต้องเด็ดขาดและจริงจัง ทั้งนี้เพื่อให้ผู้กระทำผิดถูกลงโทษ ทั้งทางสังคมและกฎหมายไม่ควรให้ลอยนวล

ถ้าสังคมใดดำเนินการตามเหตุปัจจัย 3 ประการดังกล่าวข้างต้น เป็นที่เชื่อได้ว่าปัญหาทุจริต คอร์รัปชันจะลดลงและหมดไปได้ในที่สุด

ประเทศไทยมีประชากรส่วนใหญ่เป็นพุทธมามกะ และคำสอนของพระพุทธศาสนา ทั้งในส่วนที่เป็นศีลและส่วนที่เป็นธรรมะ ก็ห้ามมิให้กระทำการอันเป็นการทุจริต ไม่ว่าจะด้วยกายหรือด้วยวาจา

แต่ในความเป็นจริง ปรากฏว่าทุจริต คอร์รัปชัน ในทางรัฐมีให้เห็นดาษดื่น และเป็นเหตุให้การบริหารงานราชการล้มเหลว จะเห็นได้จากคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันรวมพลวันต่อต้านคอร์รัปชันที่ว่า “บิ๊กตู่ ชี้เป็นศัตรูร้ายทำให้ระบบการบริหารราชการล้มเหลว ที่ผ่านมาอยู่แบบเดิม พัฒนาประเทศแบบเดิม มีระบบพวกพ้องในรัฐบาลก่อนๆ มีการนำเงินงบประมาณไปใช้แบบสุรุ่ยสุร่าย ซึ่งไม่ถูกต้อง” และในวันเดียวกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำรัฐบาลได้ลั่นวาจาว่า “วันนี้รัฐบาลเดินหน้าปฏิรูป หากมีรายงานขึ้นมา เอาติดคุกให้ได้”

โดยนัยแห่งวาทะของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังกล่าวข้างต้น เป็นการยอมรับว่า ประเทศไทยยังมีทุจริต คอร์รัปชันในทางรัฐอยู่จริง และยังได้ระบุชัดๆ ว่ารัฐบาลก่อนหน้านี้ได้นำเงินงบประมาณใช้จ่ายแบบไม่คุ้มค่า ในขณะเดียวกันได้ประกาศจุดยืนเกี่ยวกับการปราบการทุจริตอย่างจริง ซึ่งประชาชนคนไทยได้ฟังแล้วคงจะมีความหวังที่จะได้เห็นวงราชการไทยปราศจากการทุจริต หรืออย่างน้อยลดลงมาอยู่ในระดับที่ประเทศเจริญแล้วก็ยังดี

อันที่จริงประเทศไทยน่าจะได้เปรียบประเทศอื่นในการป้องกันการทุจริต คอร์รัปชัน ทั้งนี้เนื่องจากมีเหตุปัจจัยเกื้อหนุนให้คนในประเทศเลิกละการกระทำอันเป็นการทุจริตอย่างน้อย 2 ประการคือ

1. ประเทศไทยและปวงชนชาวไทยมีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ไม่สุรุ่ยสุร่ายตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นภูมิคุ้มกันมิให้ความโลภเข้าครอบงำ และนำไปสู่การทุจริต คอร์รัปชัน

2. ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทย นับถือพระพุทธศาสนาซึ่งมีคำสอนทั้งในส่วนของศีลเช่น ศีล 5 ข้อที่ 2 คืองดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ เป็นต้น และในส่วนที่เป็นธรรมเช่นสันโดษ 3 ประการเป็นต้น

ด้วยเหตุปัจจัย 2 ประการนี้ ถ้าคนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีส่วนในการบริหารประเทศใส่ใจเรียนรู้ และทำตาม เชื่อได้ว่าการทุจริต คอร์รัปชันในวงราชการไทยลดลงได้แน่นอน ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

ทุจริต คอร์รัปชันในภาครัฐเกิดจากคน 3 ประเภทในลักษณะของการทำงานในรูปแบบ 3 ประสานดังนี้

1.พ่อค้าหรือผู้ประกอบการธุรกิจซึ่งทำมาค้าขายกับรัฐ หรือต้องติดต่อกับภาครัฐเพื่อทำธุรกรรมในทางธุรกิจ

2.ข้าราชการในหน่วยงานที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับเอกชน ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกหรือทำหน้าที่ในการจัดซื้อจัดจ้างผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อทำงานให้รัฐ

3. นักการเมืองซึ่งมีหน้าที่กำหนดนโยบายและกำกับดูแลส่วนราชการในระดับกระทรวง ทบวง กรม

บุคลากรทั้ง 3 ประเภทดังกล่าวข้างต้น จะร่วมมือกันแสวงหาประโยชน์จากเงินงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้าง หรือไม่ก็ค่าธรรมเนียมที่รัฐควรจะได้แต่ต้องสูญหายหรือลดลงจากการแสวงหาประโยชน์ร่วมกันของบุคคล 3 ประเภทนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น