อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
https://businessanalyticsnida.wordpress.com/
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
http://as.nida.ac.th/th/
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
https://businessanalyticsnida.wordpress.com/
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
http://as.nida.ac.th/th/
เมื่อเจ็ด-แปดสิบปีก่อน มีครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวหนึ่ง มีสมาชิกอยู่สี่คน คือแม่กับลูกกำพร้าพ่ออีกสามคน ต้องจากไกลพลัดบ้านพลัดแผ่นดินไปอยู่ในดินแดนอันไกลโพ้นด้วยเหตุผลทางการเมือง ทั้งสี่คนตัดสินใจเดินทางกลับมายังแผ่นดินเกิดเพื่อทำหน้าที่อันสำคัญยิ่งต่อแผ่นดิน แต่แล้ววันหนึ่งก็มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันทำให้หนึ่งคนต้องจากครอบครัวไปไกลนิรันดร์ แม่สูญเสียลูกชายคนโต พี่สาวสูญเสียน้องชายคนโต และน้องชายคนเล็กต้องสูญเสียพี่ชายคนโต และประชาชนทั้งปวงต้องสูญเสียพระเจ้าแผ่นดิน
ในท่ามกลางความสูญเสีย ความโศกเศร้าอาดูรนั้น น้องชายคนเล็ก ผู้เคยร่าเริง ขี้เล่น แจ่มใส ซุกซน สะพายกล้องอยู่ตลอดเวลา ก็กลับกลายเป็นคนเคร่งขรึม พูดน้อย เอาจริงเอาจังในทันที และต้องมาแบบรับภาระหน้าที่อันหนักอึ้งแทนพี่ชายคนโตผู้จากไกล ก่อนจะเดินทางกลับไปศึกษาต่อ ณ ดินแดน อันไกลโพ้น ประชาชนมาส่งเสด็จกันมากเหลือเกิน ชายคนหนึ่งซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใครได้ตะโกนด้วยเสียงอันดังสุดเสียงตามหลังรถพระที่นั่งว่า “ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน” น้องชายคนเล็กนั่งอยู่ในรถและอยากจะตะโกนตอบกลับไปว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไรกัน”
นี่คือจุดเริ่มต้นแห่งสัญญาใจระหว่างประชาชนกับพระมหากษัตริย์หนุ่มผู้กำลังตกอยู่ในความสูญเสียและความเสียใจไม่แตกต่างจากประชาชน เป็นสัญญาใจเรียบง่ายที่ไร้ลายลักษณ์อักษร เป็นความผูกพันทางใจที่พระเจ้าแผ่นดินทรงทำสัญญาใจกับประชาชนผ่านชายคนหนึ่งซึ่งก็ไม่ทราบว่าเป็นใคร เป็นสัญญาใจที่ทำให้ยุวกษัตริย์ของประเทศด้อยพัฒนาเล็กๆ ประเทศหนึ่งในโลก พระองค์หนึ่งตัดสินใจประกาศสัญญาใจกับประชาชนทั้งประเทศว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ผ่าน 70 ปี สัญญาใจดังกล่าวผ่านการพิสูจน์ด้วยการกระทำ ด้วยทศพิธราชธรรม ด้วยประมุขศิลป์อันเป็นแบบฉบับยากที่จะมีพระมหากษัตริย์ประเทศใดๆ ในโลกนี้เสมอเหมือนได้
70 ปีแห่งการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีประมุขศิลป์ (Leadership) หรือภาวะผู้นำที่เป็นลักษณะเฉพาะตัว บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ประมุขศิลป์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยทฤษฎีภาวะผู้นำสมัยใหญ่ (Modern leadership theories) จากการวิเคราะห์นั้นพบว่าไม่มีทฤษฎีภาวะผู้นำทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งเพียงทฤษฎีเดียวที่จะอธิบายประมุขศิลป์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ครบถ้วนต้องอาศัยหลายทฤษฎีประกอบกัน เนื่องจากทรงมีประมุขศิลป์ที่เป็นแบบฉบับเฉพาะตัว
ประการที่หนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงใช้ประมุขศิลป์แบบบารมีหรือ Charismatic leadership
คำว่า Charisma แปลว่าบารมีที่คนพบเห็นหลงรัก ยกย่อง ศรัทธา เป็นบารมีที่เกิดจากการกระทำ ไม่ได้เกิดจากอำนาจบังคับ ตัวอย่างผู้นำที่มี Charismatic leadership ได้แก่ มหาตมะ คานธี ที่คนอินเดียแทบทั้งประเทศเรียกว่าบาปูจี หรือพ่อ นักบุญเทเรซ่าแห่งอินเดียผู้ส่งชีวิตระยะสุดท้ายอย่างสงบในอ้อมกอดของพระเจ้า เป็นต้น บารมีนี้ไม่ได้สร้างกันได้ง่ายแต่ต้องเกิดจากการกระทำความดีสั่งสมมา
รองศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์พฤทธิสาณ ชุมพล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคยเขียนบทความในหนังสือรายงานกิจการประจำปีของมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ โดยเปรียบเทียบพระราชจริยวัตรอันละม้ายคล้ายคลึงกันของอา-หลานคู่หนึ่ง เช่น ชอบกล้องเหมือนๆ กัน มีความเป็นประชาธิปไตยสูงเช่นกัน มีความรักและห่วงใยอาณาประชาราษฎรเช่นเดียวกัน อา-หลานคู่นี้ไม่เคยได้ใช้เวลาร่วมกันนักแต่กลับมีนิสัยใจคอใกล้เคียงกันมากคือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช อาจารย์พฤทธิสาณยังได้กล่าวถึงพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่องการสืบทอดพระราชสันตติวงศ์เอาไว้ในทำนองว่า ถ้าหากเลือกสายของพี่แดง (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) ก็จะเป็นการดี เพราะเป็นที่นิยมและเป็นที่รักของประชาชน ท่านอาจารย์พฤทธิสาณได้กรุณาขยายความไว้ว่า ในการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น พระราชอำนาจหาได้มีมากไม่ สถาบันพระมหากษัตริย์จะดำรงมั่นคงอยู่ได้นั้นก็ด้วยพระบารมีเป็นที่ตั้ง
ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2547 ได้ทำงานวิจัยหัวข้อ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่แบ่งยุคการสถาปนาพระราชอำนาจนำออกเป็น สี่ยุค
ยุคแรก โครงการพระราชดำริยุคก่อกำเนิด (พ.ศ.2494-2500) สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชนั้นเมื่อช่วงต้นรัชกาล ไม่ทรงมีพระราชอำนาจใดๆ มากนัก อาจจะกล่าวได้ว่าทรงถูกผู้มีอำนาจกดขี่ เจ้านายถูกรังแกและกดขี่ ดังเช่นเมื่อปลายรัชกาลที่แปด สมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี สมเด็จพระพันวสาอัยยิกาเจ้า ผู้เป็นพระอัยยิกา (ย่า) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงคับแค้นพระราชหฤทัยมาก กับการที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทรต้องโทษเข้าคุกคดีทางการเมือง ถูกถอดยศ เป็นนักโทษชายรังสิต ในขณะที่ทรงขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ นั้นอิทธิพลของจอมพลแปลก พิบูลสงครามและท่านผู้หญิงละเอียด มีมากล้นท่วมท้นแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ท่ามกลางความเสื่อมชำรุดของพระบรมมหาราชวัง ทรงมีพระราชดำรัสว่า “...ฉันครองราชย์สองปีแรก ฉันไม่มีผลงาน เพราะฉันยังไม่รู้ว่าราษฎรต้องการอะไร... ”
ยุคที่สองโครงการพระราชดำริยุคการพัฒนาเพื่อความมั่นคง (พ.ศ.2501-2523) เริ่มต้นเมื่อจอมพล ป พิบูลสงครามหมดอำนาจและจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เข้ามายึดอำนาจแทน ในยุคนี้จอมพลสฤษดิ์ เทอดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสูงสุด เป็นศูนย์รวมดวงใจและความสามัคคีของคนไทย
ยุคที่สาม โครงการพระราชดำริยุคกำเนิดองค์กรประสานงาน (พ.ศ.2524-2530) มีการก่อตั้งสำนักงาน คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร) ในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี มีการรับสนองพระราชดำริโดยรัฐบาล ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้น
และ ยุคที่สี่ โครงการพระราชดำริยุคกำเนิดองค์กรเอกชน (พ.ศ.2531-ปัจจุบัน) เน้นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ มีมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นองค์การเอกชนที่ดำเนินการโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เมื่อพิจารณาจะเห็นได้ว่าพระราชอำนาจนำหรือประมุขศิลป์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้มาจากการมีพระราชอำนาจมาโดยตรงตามกฎหมาย พระราชอำนาจที่ทรงมีตามกฎหมายนั้นได้แก่การยับยั้งหรือวีโต้ ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยในเรื่องที่ไม่ทรงเห็นด้วย แต่ถ้าผู้มีอำนาจรัฐจะยืนยันเมื่อทรงทักท้วงเกินกว่าสามครั้งก็จะหมดพระราชอำนาจในการยับยั้งดังกล่าว พระราชอำนาจนำทั้งหมดที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากการทรงงานหนัก การสร้างบารมี เป็นประมุขศิลป์แบบบารมี (Charismatic leadership) ที่แม้จะไม่มีสภาพบังคับตามกฎหมายแต่คนไทยก็ยินดีทำตามด้วยความศรัทธาและไว้เนื้อเชื่อใจ
เจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้อธิบายคำนิยามของ ทศบารมีหรือบารมีสิบประการเอาไว้ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ดังนี้ว่า บารมี 10 หรือ ทศบารมี (ปฏิปทาอันยวดยิ่ง, คุณธรรมที่ประพฤติปฏิบัติอย่างยิ่งยวด คือ ความดีที่บำเพ็ญอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุซึ่งจุดหมายอันสูง เช่น ความเป็นพระพุทธเจ้า และความเป็นมหาสาวก เป็นต้น — perfections)
1. ทาน (การให้ การเสียสละ — giving; charity; generosity; liberality)
2. ศีล (การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย, ความประพฤติดีงามถูกต้องตามระเบียบวินัย — morality; good conduct)
3. เนกขัมมะ (การออกบวช, ความปลีกตัวปลีกใจจากกาม — renunciation)
4. ปัญญา (ความรอบรู้, ความหยั่งรู้เหตุผล เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง — wisdom; insight; understanding)
5. วิริยะ (ความเพียร, ความแกล้วกล้า ไม่เกรงกลัวอุปสรรค พยายามบากบั่นอุตสาหะ ก้าวหน้าเรื่อยไป ไม่ทอดทิ้งธุระหน้าที่ — energy; effort; endeavour)
6. ขันติ (ความอดทน, ความทนทานของจิตใจ สามารถใช้สติปัญญาควบคุมตนให้อยู่ในอำนาจเหตุผล และแนวทางความประะพฤติ ที่ตั้งไว้เพื่อจุดหมายอันชอบไม่ลุอำนาจกิเลส — forbearance; tolerance; endurance)
7. สัจจะ (ความจริง คือ พูดจริง ทำจริง และจริงใจ — truthfulness)
8. อธิษฐาน (ความตั้งใจมั่น, การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว วางจุดหมายแห่งการกระทำของตนไว้แน่นอน และดำเนินตามนั้นแน่นแน่ — resolution; self-determination)
9. เมตตา (ความรักใคร่, ความปรารถนาดี มีไมตรี คิดเกื้อกูลให้ผู้อื่นและเพื่อนร่วมโลกทั้งปวงมีความสุขความเจริญ — loving-kindness; friendliness)
10. อุเบกขา (ความวางใจเป็นกลาง, ความวางใจสงบราบเรียบสม่ำเสมอ เที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงไปด้วยความยินดียินร้ายหรือชอบฟัง — equanimity; indifference to praise and blame in the performance of duty)
ทศบารมีนี้ เรียงตามที่ถือว่าได้บำเพ็ญในทศชาติ (จัดแบบไทย) ดังนี้
1. พระเตมีย์ — เนกขัมมะ (ข้อที่ 3)
2. พระมหาชนก — วิริยะ (5)
3. พระสุวรรณสาม — เมตตา (9)
4. พระเนมิราช — อธิษฐาน (8)
5. พระมโหสถ — ปัญญา (4)
6. พระภูริทัตต์ — ศีล (2)
7. พระจันทกุมาร — ขันติ (6)
8. พระนารท — อุเบกขา (10)
9. พระวิธุร — สัจจะ (7)
10. พระเวสสันดร — ทาน (1)
หากพระมหากษัตริย์พระองค์ใดประพฤติตามทศบารมีนี้ได้เช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงปฏิบัติมาตลอดรัชสมัยย่อมทรงเปี่ยมไปด้วยพระราชบารมี มีประมุขศิลป์แบบเปี่ยมบารมี (Charismatic leadership) และมีพระราชอำนาจอันเกิดจากบารมีอันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
ประการที่สอง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงใช้ประมุขศิลป์แบบผู้รับใช้ (Servant leadership)
Robert K. Greenleaf ได้เขียนหนังสือชื่อ The servant as leader ในปี 1991 มีข้อเสนอว่าผู้นำที่ดีต้องเป็นผู้รับใช้ที่ดี กลุ่มสันติอโศกเองเรียกห้าผู้นำของตนเองว่า ห้าผู้รับใช้ นับเป็นการใช้แนวความคิดเรื่องภาวะผู้นำแบบผู้รับใช้ได้เป็นอย่างดี Greenleaf ได้เสนอว่าการจะเป็นผู้นำแบบผู้รับใช้ที่ดีต้องประกอบด้วย
1: ยอมรับและให้คุณค่ากับความคิดเห็นที่แตกต่าง (Values diverse opinions)
2: เสริมสร้างและบ่มเพาะวัฒนธรรมแห่งความไว้วางใจ (Cultivates a culture of trust)
3: ส่งเสริมและพัฒนาผู้นำคนอื่น (Develops other leaders)
4: ช่วยเหลือผู้อื่นที่ประสบปัญหาชีวิต (Helps people with life issues)
5: กระตุ้นและเป็นกำลังใจ (Encourages)
6: นำเสนอขายความคิดมากกว่าการบอกหรือสั่ง (Sells instead of tells)
7: คิดถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง (Thinks you, not me)
8: มองการณ์ไกล คิดระยะยาว (Thinks long-term)
9: ทำงานด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน (Acts with humility)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงใช้ภาวะผู้นำแบบผู้รับใช้อย่างแท้จริง ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักมาก ในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มีไร่นา ฟาร์ม ป่า และการทดลองทางการเกษตรต่างๆ ที่พระราชวังอื่นๆ ของพระมหากษัตริย์บนโลกก็หาได้มีเช่นนี้ไม่ ไม่เคยมียุคใดที่สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ใกล้ชิดประชาชนมากเท่านี้
ในบทพระราชนิพนธ์ “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์”พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชนิพนธ์เอาไว้ว่า
“เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนในยุโรป ข้าพเจ้าไม่เคยตระหนักว่าประเทศของข้าพเจ้าคืออะไร และเกี่ยวข้องกับข้าพเจ้าแค่ไหน ไม่ทราบตราบจนกระทั่งข้าพเจ้าได้เรียนรู้ที่จะรักประชาชนของข้าพเจ้า เมื่อได้ติดต่อกับเขาเหล่านั้น ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าสำนึกในความรักอันมีค่ายิ่ง ข้าพเจ้าไม่เป็นโรคคิดถึงบ้านที่จริงจังอะไรนัก แต่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้โดยการทำงานที่นี่ว่า ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้ คือการที่ได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้า นั่นคือคนไทยทั้งปวง”
พลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยกราบบังคมทูลถามว่าเคยทรงเหนื่อยทรงท้อบ้างหรือไม่ ในหลวงตอบว่า
“ความจริงมันน่าท้อถอยอยู่หรอก บางเรื่องมันน่าท้อถอย แต่ว่าฉันท้อไม่ได้ เพราะเดิมพันของเรานั้นสูงเหลือเกิน เดิมพันของเรานั้นคือบ้านเมือง คือความสุขของคนไทยทั่วประเทศ”
เมื่อปี 2528 น้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ทำให้ประชาชนเดือดร้อนอย่างหนัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปวดพระทนต์ ศาสตราจารย์พิเศษ ทันตแพทย์หญิง ท่านผู้หญิง เพ็ชรา เตชะกัมพุช จะถวายการรักษา แต่พระองค์ทรงตรัสว่า “รอไว้ก่อนนะ ฉันทนได้ วันนี้ขอไปดูราษฎร ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมก่อน”
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ การเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อสังคมไทย มีใจความตอนหนึ่งว่า ในหลวงทรงเป็นต้นแบบของความอดทน พระองค์ท่านเคยรับสั่งว่า ทรงนั่งอยู่สูงสุด บนยอดปิรามิด แต่ประเทศไทย เป็นปิรามิดหัวกลับ ทุกสิ่งทุกอย่าง เทใส่พระองค์ท่านหมด ชีวิตเป็นธรรมดา มีแดดออก ต้องมีพายุ แล้วจะมีฟ้าสดใส ไม่มีสุข หรือ ทุกข์ตลอด จึงต้องอดทน สละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อประเทศอยู่รอด ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อตัวเราเองจะได้อยู่บนแผ่นดินไทยไม่ใช่ฐานะผู้อพยพในประเทศอื่น
ประการที่สามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงใช้ประมุขศิลป์แบบผู้นำการปฏิรูป (Transformational leadership)
ในปี 2006 มีนักวิชาการด้านจิตวิทยาองค์การและอุตสาหกรรมสองท่านเสนอแนวความคิดเรื่องภาวะผู้นำแบบนักปฏิรูป (Transformational leadership) คือ Bass กับ Riggio [1] ซึ่งเสนอแนวความดิดว่าผู้นำที่ดีต้องทำให้ผู้ตามเชื่อมั่น เคารพและศรัทธาผู้นำด้วยจิตใจ และมีอิทธิพลต่อผู้ตามด้วยใจ สามารถจะเปลี่ยนแปลงหรือเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ตามได้ ทำให้ผู้ตามเห็นความสำคัญของส่วนรวม เห็นความสำคัญของสิ่งที่ตนเองทำงานในหน้าที่อยู่ให้ดีที่สุด ทำให้ผู้ตามพยายามบรรลุความฝันอันสูงสุดได้ องค์ประกอบของภาวะผู้นำการปฏิรูปมีสี่ประการ คือ
1) การมีอิทธิพลทางความคิด (Idealized influence)
2) การสร้างแรงจูงใจและแรงบันดาลใจ (Inspirational motivation)
3) การกระตุ้นปัญญา (Intellectual stimulation)
และ 4) การคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individualized consideration)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำรัสให้กับผู้ถวายงานว่า "ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจาก การมีความสุขร่วมกัน ในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นเท่านั้น"
ทรงสร้างแรงจูงใจและบันดาลใจให้กับคนไทยมากมาย ทรงเตือนสติ ฉุกให้คนไทยคิดและเกิดปัญญา เกิดความรักชาติและความเสียสละต่อส่วนรวม พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร ได้บันทึกความทรงจำเอาไว้ว่า
ในคืนวันหนึ่งของปีพ.ศ. ๒๕๑๐ (ยศในขณะนั้นพันตำรวจโท) หลังจากได้รับพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำแล้วในวังไกลกังวล……..
ผมจำได้ว่า คืนนั้นผู้ที่โชคดีได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานพระจิตรลดา เป็นนายตำรวจ 8 นาย และนายทหารเรือ 1 นาย พระเจ้าอยู่หัว เสด็จลงมาพร้อมด้วยกล่องใส่พระเครื่องในพระหัตถ์ ทรงอยู่ในฉลองพระองค์ชุดลำลอง ขณะที่ทรงวางพระลงบนฝ่ามือที่ผมแบรับอยู่นั้น ผมมีความรู้สึกว่าองค์พระร้อนเหมือนเพิ่งออกจากเตา
ภายหลัง เมื่อมีโอกาสกราบบังคมทูลถาม จึงได้ทราบว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระเครื่ององค์นั้นด้วยการนำเอาวัตถุมงคลหลายชนิดผสมกัน เช่น ดินจากปูชนียสถานต่างๆทั่วประเทศ ดอกไม้ที่ประชาชนทูลเกล้าถวายในโอกาสต่างๆ และเส้นพระเจ้า(เส้นผม)ของพระองค์เอง เมื่อผสมกันโดยใช้กาวลาเท็กซ์เป็นตัวยึดแล้ว จึงทรงกดลงในพิมพ์ (อ.ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ซึ่งต่อมาเป็นศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้แกะถวาย) โดยไม่ได้เอาเข้าเตาเผา หลังจากที่ได้รับพระราชทานแล้วทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราโชวาทมีความว่า…..
”พระที่ให้ไปน่ะ ก่อนจะเอาไปบูชา ให้ปิดทองเสียก่อน แต่ให้ปิดเฉพาะข้างหลังพระเท่านั้น ”
พระราชทานพระบรมราชาธิบายด้วยว่า
ที่ให้ปิดทองหลังพระก็เพื่อเตือนตัวเองว่า การทำความดีไม่จำเป็นต้องอวดใคร หรือประกาศให้ใครรู้ ให้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ และถือว่าความสำเร็จในการทำหน้าที่เป็นบำเหน็จรางวัลที่สมบูรณ์แล้ว
ผมเอาพระเครื่องพระราชทานไปปิดทองที่หลังพระแล้ว ก็ซื้อกรอบใส่ หลังจากนั้นมา สมเด็จจิตรลดาหรือพระกำลังแผ่นดินองค์นั้น ก็เป็นพระเครื่องเพียงองค์เดียวที่ห้อยคอผม หลังจากที่ไปเร่ร่อนปฏิบัติหน้าที่อยู่ไกลห่างพระยุคลบาท ผมได้มีโอกาสกลับไปเฝ้าฯ ที่วังไกลกังวลอีก…..ความรู้สึกเมื่อได้เฝ้าฯ นอกจากจะเป็นความปีติยินดีที่ได้พระยุคลบาทอีกครั้งหนึ่งแล้ว ก็มีความน้อยใจที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตั้งใจ ลำบาก และเผชิญอันตรายนานาชนิด บางครั้งจนแทบเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ปรากฎว่ากรมตำรวจมิได้ตอบแทนด้วยบำเหน็จใดๆ ทั้งสิ้น ก่อนเสด็จขึ้นคืนนั้น ผมจึงก้มลงกราบบนโต๊ะเสวย แล้วกราบบังคมทูลว่าใคร่ขอพระราชทานอะไรสักอย่างหนึ่ง……….
……..พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามว่า “จะเอาอะไร?”
และผมก็กราบบังคมทูลอย่างกล้าหาญชาญชัยว่า จะขอพระบรมราชานุญาต ปิดทองบนหน้าพระ ที่ได้รับพระราชทานไป พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามเหตุผลที่ผมขอปิดทองหน้าพระ ผมกราบบังคมทูลอย่างตรงไปตรงมาว่า พระสมเด็จจิตรลดาหรือพระกำลังแผ่นดินนั้น นับตั้งแต่ได้รับพระราชทานไปห้อยคอแล้ว ต้องทำงานหนักและเหนื่อยเป็นที่สุด เกือบได้รับอันตรายร้ายแรงก็หลายครั้ง มิหนำซ้ำกรมตำรวจยังไม่ให้เงินเดือนขึ้นแม้แต่บาทเดียวอีกด้วย……
……พระเจ้าอยู่หัวทรงแย้มพระสรวจ (ยิ้ม) ก่อนที่จะมีพระราชดำรัสตอบด้วยพระสุรเสียงที่ส่อพระเมตตาและพระกรุณาว่า
“ปิดทองไปข้างหลังพระเรื่อยๆ แล้วทองจะล้นออกมาที่หน้าพระเอง”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชยังทรงคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลแม้เพียงเรื่องเล็กน้อยก็ทรงใส่พระทัย
Facebook ใช้ชื่อ “Trachoo Kanchanasatitya” ของนายตราชู กาญจนสถิตย์ หนึ่งในบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในปี 2528 ที่ได้เล่าถึงความประทับใจว่า
“ในปี 2528 ขณะที่ผมและเพื่อนๆ กำลังก้าวเข้าไปต่อหน้าพระพักตร์เพื่อรับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เวลานั้นเองเกิดเหตุการณ์ “ไฟดับ” ทั่วประเทศไทย
ไฟที่ทำการส่องสว่างเพื่อการถ่ายภาพบัณฑิตที่กำลังเข้ารับพระราชทานปริญญาในหอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่สามารถสร้างแสงไฟเพื่อการถ่ายภาพสำคัญของชีวิตได้ ผมไม่มีภาพถ่ายครับเพราะแสงไม่พอ
แต่การพระราชทานปริญญาไม่ได้หยุดลง แม้ไฟจะมืดลงแต่พิธีการสำคัญยังคงดำเนินต่อไป….
ถือปริญญาบัตรลงมาพร้อมๆ กับผมด้วยจิตใจที่ห่อเหี่ยวว่า ทำไมต้องเป็นเราที่จะไม่มีภาพสำคัญนี้ เศร้า
แต่อีกสักพักหนึ่งซึ่งนานพอสมควร อาจารย์ที่ผมไม่รู้จักเดินมาบอกพวกผมว่า ในหลวงทรงรับสั่งให้บัณฑิตที่รับพระราชทานปริญญาช่วงที่ไฟดับที่ถ่ายภาพไม่ติดประมาณ 6 คนขึ้นไปรับพระราชทานปริญญาอีกรอบหนึ่ง !!!
อะไรกันนี่ เป็นไปได้เหรอ ในหลวงท่านทรงรับรู้ถึงความเศร้าของพวกผมได้อย่างไร
ท่านไม่ทรงเหนื่อยล้าแล้วหรอกเหรอ ทรงพระราชทานปริญญาให้กับบัณฑิตมากมายแล้ว
ท่านสงสารพวกเราขนาดนั้นเลยเหรอ! ถ้าท่านจะมีพระราชดำริว่า ทรงงานมามากแล้วขอเสด็จกลับคงจะไม่มีใครคิดว่าอะไร
ผม 6 คนก็แค่ผงธุลีที่ไร้ความหมายใดๆ จะทรงให้ความสำคัญให้เหนื่อยไปอีกเพื่ออะไร แต่ท่านมิได้คิดเช่นนั้น ท่านเห็นความสำคัญของความรู้สึกของคนไทยน้อยๆ 6 คนนั้นอย่างที่ผมไม่รู้จะพูดบรรยายความรู้สึกนั้นได้อย่างไร ผมปลาบปลื้มจนน้ำตาไหล แล้วผมก็ขึ้นไปรับพระราชทานปริญญาบัตรมาจนได้ภาพนี้มาครับ
ผมกลับมานั่งที่เก้าอี้และคิดได้ว่า เหตุผลท่านจึงไม่มองข้ามเราไป ในหลวงท่านทรงมีพระประสงค์อย่างแน่วแน่ที่จะให้เรารับปริญญามาด้วยความรู้สึกว่าเราต้องเป็นคนดีของสังคม ผมมีโอกาสที่จะได้สัมผัสกับสิ่งเดียวที่ในหลวงทรงสัมผัสมาแล้ว
นั่นคือปริญญาใบนี้นี่เอง ปริญญาใบนี้จะเป็นสิ่งสูงสุดที่จะคอยเตือนใจให้ผมทำความดีตามพระประสงค์ของในหลวง
พระองค์ที่สูงเทียมฟ้าแต่กลับเห็นความรู้สึกของผงธุลีอย่างพวกผม
ผมสัญญากับตัวเองในวันนั้นว่า ผมจะเป็นคนดีของสังคม และจะรักในหลวงยิ่งชีวิต
ขนาดคนอย่างผมยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณขนาดนี้ สังคมไทยในหลายๆ ส่วนคงต้องได้รับจากพระองค์ท่านมากมายเหลือคณานับ
นี่เป็นเรื่องเล็กๆ ของผมที่จะบอกว่า ทำไมผมรักในหลวง …..ผมรักในหลวงยิ่งชีพครับ”
และเด็กชายชาวพิจิตรผู้ยากไร้ได้เขียนหนังสือด้วยตัวโย้เย้เป็นข้อความถวายฎีกาขอรับพระราชทานความช่วยเหลือว่า
โรงเรียนบึงสีไฟ
หมู่4 ต.ท่าหลวง
อ.เมือง จ.พิจิตร
หมู่4 ต.ท่าหลวง
อ.เมือง จ.พิจิตร
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2550
เรื่อง ขอพระราชทานความเมตตา
"กราบแทบเท้าพระพ่อหลวงของแผ่นดิน กระผม ด.ช.ชาตรี นัดดา อาศัยอยู่บ้านไม่มีเลขที่ หมู่ 5 ต.ท่าหลวง อ.เมือง จ.พิจิตร ขณะนี้เรียนอยู่ชั้น ป.4 โรงเรียนบึงสีไฟ หมู่ 4 ต.ท่าหลวง กระผมมีพี่น้อง 3 คน พี่สาวเรียนอยู่ชั้น ป.6 น้องชายคนเล็กเรียนอยู่ชั้น ป.3 ครอบครัวของกระผมมีความเป็นอยู่ที่ยากจนมาก ประกอบกับคุณแม่สติไม่สมประกอบ คุณพ่อมีอาชีพรับจ้างทั่วไป
ทั้งนี้ วันใดโรงเรียนหยุด กระผมจะไปรับจ้างชาวบ้านเฝ้าเล้าเป็ด ได้คืนละ 40 บาท ถ้าวันใดเขาไม่จ้าง กระผมก็จะไปรับจ้างแบกข้าวเปลือกขึ้นรถที่ชาวบ้านเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ได้ค่าแรงงาน 50 บาท เพื่อนำไปจุนเจือครอบครัว ถ้าวันใดไม่มีคนจ้างไปทำงาน เวลากลางคืนก็จะออกไปจับกบ จับเขียดและงู มาเป็นอาหาร บางวันที่ไม่สามารถหาอาหารได้ก็จะไปขออาหารจากหลวงพ่อบุญเลิศ วัดบึงสีไฟ เพื่อนำไปให้พ่อแม่และพี่น้องรับประทาน กระผมทำอย่างนี้ทุกวัน ครอบครัวกระผมยากจนมาก หมดที่พึ่ง
กระผมขอพึ่งบารมีพระพ่อหลวงของแผ่นดิน เป็นที่พึ่งสุดท้ายของชีวิตและครอบครัว ทางด้านการศึกษาและที่อยู่อาศัย กระผมและน้องๆ อยากเรียนสูงๆ เมื่อจบแล้วก็จะได้มีงานทำเลี้ยงดูทดแทนพระคุณพ่อพระคุณแม่ ตั้งแต่ผมเกิดมาเห็นพ่อแม่สุดแสนลำบาก กระผมจะขอพึ่งอาศัยพระพ่อหลวงของแผ่นดินเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรตลอดชีวิตของกระผม กราบเท้าพระพ่อหลวงของแผ่นดิน
ลงชื่อ ด.ช.ชาตรี นัดดา
ผู้ร้องขอความเมตตา"
ผู้ร้องขอความเมตตา"
สำนักราชเลขาธิการ มีหนังสือตอบกลับ พร้อมมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ที่ รล0009.5/18916 สำนักราชเลขาธิการ พระบรมมหาราชวัง กทม.10200 วันที่ 3 ตุลาคม 2550
เรื่อง ขอพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์
เรียนผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร
สิ่งที่ส่งมาด้วย สำเนาฎีกาของ ด.ช.ชาตรี นัดดา ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2550
"ด้วย ด.ช.ชาตรี นัดดา ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ความว่า ด.ช.ชาตรี เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบึงสีไฟ อาศัยอยู่บ้านไม่มีเลขที่ หมู่ 5 ต.ท่าหลวง กับบิดา ซึ่งมีอาชีพรับจ้างทั่วไป มารดาสติไม่สมประกอบ และพี่สาวกับน้องชายซึ่งเรียนอยู่ที่โรงเรียนบึงสีไฟ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และปีที่ 3 ตามลำดับ ครอบครัวมีฐานะยากจน ได้รับความลำบากด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงขอพระราชทานทุนการศึกษาและที่อยู่อาศัย ความละเอียดตามสำเนาฎีกา ที่แนบมาพร้อมนี้
ทั้งนี้ จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา หากมีหนทางคลี่คลายปัญหาหรือมีข้อคิดเห็นประการใด กรุณาแจ้งให้ทราบด้วยจะขอบพระคุณยิ่ง เพราะจะนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อไป"
ลงชื่อ นายอินทร์จันทร์ บุราพันธ์
เลขาธิการคณะองคมนตรี
ปฏิบัติราชการแทนราชเลขาธิการ
ประมุขศิลป์สามประการตามทฤษฎีของตะวันตกที่ได้กล่าวมากคือ Charismatic leadership, Servant leadership และ Transformational leadership คงไม่เพียงพอที่จะอธิบายถึงประมุขศิลป์อันเป็นแบบฉบับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้
ข้อมูลอ้างอิง :
[1] Bass, B.M. and Riggio, R.E. (2006). Transformational Leadership (Second Edition), Routledge.