xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อเราเศร้าเสียใจ (Grief) กระบวนการทางจิตใจของคนเราเป็นอย่างไร?

เผยแพร่:   โดย: อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชา Actuarial Sciences and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ผมเองเคยเรียนวิชาจิตวิทยามาบ้าง ได้เคยศึกษามาตามทฤษฎีว่าเมื่อคนเราเศร้าเสียใจมากๆ จะเกิดกระบวนการ DABDA ของ Kübler-Ross model โดยที่ DABDA นั้นย่อมาจาก Denial, Anger, Bargaining, Depression, และ Acceptance

การเรียนทฤษฎีทางจิตวิทยาแบบนี้ ก็เรียนไปแบบไม่ได้เข้าใจอะไรจริงจังมากนัก จนกระทั่งถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 จึงได้ประสบกับความรู้สึกที่ว่านี้เข้าด้วยตนเอง

ข่าวพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชตามแถลงการณ์สำนักพระราชวังที่ทยอยออกมาแต่ละฉบับ ทำให้คนไทยทุกคนกังวลใจ พระอาการค่อยๆ หนักขึ้นเรื่อยๆ จนถึงการใช้เครื่องช่วยหายพระทัย (Ventilator) คนไทยต่างพากันสวดมนต์ภาวนา วันที่ 13 ตุลาคม เวลาเที่ยงกว่าพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์เสด็จศิริราช ด้วยสามัญสำนึกเราทราบดีว่าถ้าป่วยหนักญาติพี่น้องทั้งหมดจะเข้าไปบอกลากันครั้งสุดท้าย แต่ทุกคนก็ได้แต่ภาวนาว่าพระอาการจะต้องดีขึ้น บ่ายสองกว่า มีการปิดลงนามถวายพระพรที่ศาลาสหทัยสมาคม ความรู้สึกในวันนั้นคือสับสน กระวนกระวาย พยายามหาเหตุผลว่าน่าจะไม่มีอะไร พยายามปฏิเสธ พอเกือบบ่ายสามวันนั้น มีข่าวและรูปออกมาว่ามีการเปิดพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททำความสะอาด พอเห็นภาพนี้ผมเองเข่าอ่อน เย็นสันหลังวูบ บอกกับตัวเองว่าไม่จริง ไม่มีอะไร ต้องไม่มีอะไร ไม่อยากได้ยินข่าวอะไรทั้งสิ้น หลังจากนั้นต่างก็เช็คข่าวกันวุ่นวาย ทุกคนพยายามปฏิเสธว่าไม่จริง ผู้ใหญ่เริ่มโทรแจ้งข่าวร้าย ทุกคนได้แต่ภาวนาว่าขอให้ไม่เป็นเรื่องจริง

ในโลกออนไลน์ มีหลายคนโกรธ ที่มีคนพูดถึงข่าวร้าย เริ่มโกรธว่าทำไมถึงนำข่าวลืออันไม่เป็นมงคลเช่นนี้ออกมาเผยแพร่ เห็นได้ชัดว่าหลายคนเข้าสู่ Stage ของความโกรธ (Anger)

ทุกคนรอแถลงการณ์สำนักพระราชวัง ประมาณสี่โมงเย็นหรือห้าโมงเย็น เริ่มมีข่าวสวรรคตจากสำนักข่าวต่างประเทศ ผมเองยังโกรธว่าทำไมสำนักข่าวต่างประเทศไม่รอแถลงการณ์สำนักพระราชวังก่อน ทำไมจึงนำเอาข่าวลืออันไม่เป็นมงคลเช่นนี้มาเผยแพร่ วันนั้นเป็นการรอคอยอันยาวนาน พยายามปฏิเสธว่าไม่จริง แต่ข่าวก็เผยแพร่ออกเป็นวงกว้างมากที่สุด ผมจำได้ว่าในโทรทัศน์มีการไปสัมภาษณ์คุณสาธิต เซกัล ที่ศิริราช คุณสาธิตเองน้ำตาคลอให้สัมภาษณ์อ่านสีหน้าก็พอทราบว่าคุณสาธิต เซกัล น่าจะได้ยินข่าวลือต่างๆ มาไม่ต่างกับเราทุกคน และพยายามปฏิเสธว่าไม่เป็นข่าวจริง

คนไทยเริ่มเจรจาต่อรองทางจิตใจ หลายคนกล่าวว่าต้องการตายแทนถ้าหากทำได้ ต้องการให้พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชหายประชวร เกิดการเจรจาต่อรองในใจกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น ไม่ให้เกิดข่าวร้าย หลายคนกำลัง Bargain ให้ข่าวร้ายคลายไปในทางที่ดีขึ้น หลายคนกล่าวว่าถ้าหากหายประชวรจะบวชถวายเป็นพระราชกุศล เราพยายามเจรจาต่อรองกับหลักไตรลักษณ์เพราะต่างไม่ต้องการการสูญเสีย

เวลาประมาณทุ่มกว่า โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยตัดเข้ารายการด้วยฉากหลังสีดำ เมื่อเห็นฉากสีดำเช่นนั้น ทุกคนก็ทราบความจริงและไม่อาจจะปฏิเสธความจริงของข่าวที่คนไทยไม่อยากได้ยินและเสียใจที่สุดได้อีกต่อไป ผมรู้สึกเย็นสันหลังวูบ ใจสั่นลอยเหมือนวิญญาณหลุดจากร่าง ฟังข่าวแถลงการณ์ด้วยหยาดน้ำตา หลังจากนั้นก็ได้ดูแถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรี ที่นายกรัฐมนตรี ออกมากล่าวแถลงการณ์ด้วยตาแดงก่ำ ทราบมาว่านายกรัฐมนตรีเสียใจร้องไห้จนไม่สามารถออกอากาศสดได้ ต้องอัดวิดีโอ แต่เสียงสุดท้ายของแถลงการณ์ที่กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเจริญ คำว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ดังก้องอุโฆษในหู พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ เป็นเสียงก้องที่เราอยากจะปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง เสียใจอย่างสุดซึ้ง แต่ก็ปฏิเสธมิได้ว่าไม่จริง

ผมทราบมาว่าวันนั้นและอีกสามสี่วันต่อมา กรุงเทพมหานครและแทบทุกเมืองแทบจะหยุดนิ่ง บ้านเมืองเงียบเชียบ ผู้คนไม่มีจิตใจจะออกนอกบ้าน นอกจากไปส่งเสด็จที่ศิริราชทุกคนต่างมุ่งหน้าไปสนามหลวงและพระบรมมหาราชวัง ผู้คนอ่านข่าวและดูข่าวพระราชกรณียกิจกันคราใด โดยเฉพาะเมื่อเปิดเข้ามาชม Social media ทำให้หลายๆ คนต้องเสียน้ำตา ทุกคนต่างซึมเศร้า เกิด Depression หลายคนรับประทานอาหารไม่ลง แทบทุกคนร้องไห้ เป็นความสูญเสียอันยิ่งใหญ่เหลือเกิน ยิ่งเห็นหน่วยราชการปลดพระบรมฉายาลักษณ์ลงไป คนไทยก็รับไม่ได้ 70 ปีที่ครองราชสมบัตินั้นยาวนาน จนไม่มีคนไทยคนไหนเตรียมใจรับสัจธรรมและหลักไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้

ต่อมามีแถลงการณ์ว่าไม่จำเป็นต้องออกพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ซึ่งเป็นธรรมเนียมมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาและเป็นธรรมเนียมของทั่วโลก ที่จะกล่าวกันว่า The king is dead, long live the king! การอนุโลมเช่นนี้ถือว่าเป็นการดีเพราะทำให้ประชาชนได้มีเวลาทำใจ ไม่เป็นการตอกย้ำการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ ถึงแม้จะเป็นธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติมาแต่โบราณกาล คนไทยเองยังอยู่ในระหว่างการปฏิเสธ (Denial) และความซึมเศร้า (Depression) ทำให้คำว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศหายไป ไม่มีการใช้ เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชสถิตย์ในใจคนไทยทุกคน

ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าเมื่อไหร่คนไทยจะเริ่มยอมรับ (Acceptance) การสูญเสียนี้ได้ ในทางจิตวิทยาแต่ละคนจะปรับตัว จัดการ และยอมรับกับความสูญเสียได้เร็วช้าแตกต่างกันไป แต่การที่ต้องออกไปทำหน้าที่ ไปถวายบังคมพระบรมศพ การออกไปร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีร่วมกันที่ท้องสนามหลวง ทำให้เราค่อยๆ ปรับใจยอมรับการสูญเสีย พระราชพิธีพระบรมศพ พระราชพิธีออกพระเมรุมาศ ถวายพระเพลิงพระบรมศพที่ท้องสนามหลวงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกประมาณหนึ่งปีข้างหน้า ทำให้คนไทยได้มีเวลาเตรียมใจพอสมควร

ผมเชื่อว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงอยากให้คนไทยยอมรับความจริง เข้มแข็ง และทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุด เพื่อประเทศไทยที่พระองค์ทรงรักและทรงงานหนักเพื่อประเทศไทยของเรามาโดยตลอดจะได้ก้าวเดินต่อไปข้างหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น