xs
xsm
sm
md
lg

“พ่อบอส”จี้รัฐคุมรับน้องโหด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360 - พ่อเผย "น้องบอส" อาการดีขึ้น ข้องใจลูกชายจมน้ำ ไม่ชัวร์ลูกชายจะพูดตรงกับ ม.เกษตรฯแถลงหรือไม่ วงเสวนาเรียกร้อง รบ.แก้ปัญหารับน้องไม่สร้างสรรค์ มีกฎหมายชัดเจน

จากกรณีข่าวนายโชคชัย ทองเนื้อขาว หรือ น้องบอส นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา จมน้ำภายหลังการทำกิจกรรมเฉลยสายรหัส ซึ่งทาง ม.เกษตรฯ ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการรับน้อง เป็นเพียงการลงไปล้างตัวในบ่อน้ำหลังตัวเปื้อนฝุ่น คาดว่าเป็นตะคริวจนจมน้ำ ทำให้เกิดอาการปอดติดเชื้อ ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล

วานนี้ (13 ก.ย.) ในเวทีเสวนา “รับน้องไม่สร้างสรรค์” และ “กิจกรรมเสี่ยง นศ.” ถึงเวลายาแรงหรือยัง? จัดโดยเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ มูลนิธิเยาวชนพอเพียงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา นายอัมพร ทองเนื้อขาว บิดาของน้องบอส กล่าวว่า จากการที่ลูกชายเข้าร่วมกิจกรรมรับน้อง โดยรุ่นพี่สั่งให้ลงไปในสระน้ำจนได้รับอันตรายถึงขั้นต้องเข้ารักษาตัวที่ห้อง ไอ.ซี.ยู. เนื่องจากปอดติดเชื้อ เมื่อได้ทราบข่าวหัวอกคนเป็นพ่อก็ใจสลายทำอะไรไม่ถูก พอมาเจอเหตุการณ์แบบนี้ใครก็รับไม่ได้ ทั้งนี้ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับกิจกรรมรุนแรงแบบนี้ และขอเรียกร้องให้รัฐบาลมีกฎหมายหรือมาตรการที่ชัดเจน ห้ามการรับน้องไม่สร้างสรรค์ โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรง

"ตอนนี้ลูกชายอาการดีขึ้นตามลำดับ แต่ยังสงสัยว่าลูกชายจมน้ำได้อย่างไรเนื่องจากเรียนว่ายน้ำมาตั้งแต่เด็กและว่ายน้ำแข็งพอสมควร อีกทั้งไม่แน่ใจว่าน้องจะพูดตรงกับที่มหาวิทยาลัยแถลงข่าวหรือไม่ หลังจากนี้จะยังไม่แจ้งความดำเนินคดี แต่เรื่องการสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงก็ต้องดำเนินการต่อไป” นายอัมพร กล่าว

นายเตชาติ์ มีชัย ฝ่ายกฎหมายมูลนิธิเยาวชนพอเพียงเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า กรณีนี้ถือว่า มีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา300และมาตรา309 เข้าข่ายบังคับข่มขืนให้กระทำการใดๆที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งหลังจากนั้นคงต้องรอผลตรวจทางการแพทย์และพยานหลักฐานพยานแวดล้อมต่างๆเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง

นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กล่าวว่า เครือข่ายเยาวชนฯได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นนักศึกษาต่อสถานการณ์การรับน้องในมหาวิทยาลัยทั้ง4ภาคทั่วประเทศจำนวน 1,215 รายระหว่างวันที่ 15-30 ส.ค.59 พบว่า กว่า 1 ใน 3 ยังมองว่า ปัญหาสำคัญคือ ทัศนคติของรุ่นพี่ที่สืบทอดกันมา รวมถึงสถานศึกษาไม่มีระบบควบคุมการมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้องและบทลงโทษไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างสูงถึง 89.30% ต้องการให้สถาบันมีบทลงโทษที่ชัดเจนหากเกิดเหตุรุนแรงขึ้น

“ที่สำคัญรัฐบาล กระทรวงศึกษาควรกำหนดนโยบายห้ามจัดกิจกรรมที่ไม่สร้างสรรค์ หากเกิดเหตุขึ้น ผู้บริหารสถาบันต้องรับผิดชอบ”นายธีรภัทร์ กล่าว

นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมต่างๆ ภายในสถาบันการศึกษาหลายสถาบันว่า การพิจารณาอนุญาตให้จัดกิจกรรมใดๆ สถาบันควรพิจารณาในรายละเอียดของกิจกรรมว่าเป็นกิจกรรมที่นำไปสู่จุดมุ่งหมายตามที่สถาบันการศึกษาต้องการจริงหรือไม่ และในการจัดกิจกรรมทุกครั้งต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษาดูแลอย่างใกล้ชิด และสถาบันการศึกษาควรมีการตรวจสอบและติดตามการทำกิจกรรมดังกล่าวเพื่อป้องกันมิให้เกิดมีการละเมิดสิทธิของนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม หากปรากฏมี สถาบันการศึกษาต้องพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย.
กำลังโหลดความคิดเห็น