xs
xsm
sm
md
lg

ทูตสหรัฐฯจุ้นอีก แนะปล่อยพูดประชามติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360-ทูตสหรัฐฯ บุกพบ ปชป. หารือสถานการณ์ไทย-สหรัฐฯ ก่อนวกเข้าเรื่อง แนะรัฐบาลควรเปิดพื้นที่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นก่อนทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เผยมิตรประเทศจับตาดูไทย อยากเห็นเลือกตั้งปี 60 "มาร์ค"รับลูก จี้รัฐตั้งหลัก ทบทวนท่าทีใหม่ หวั่นไม่ปรับท่าที หลัง 7 ส.ค. ส่อวุ่นต่อ กกต. จับมือทหาร ส่ง รด.จิตอาสา ชี้แจงรัฐธรรมนูญ ยันไม่มีการชี้นำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. วานนี้ (15 มิ.ย.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายเกล็น ทาวน์เซนด์ เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยใช้เวลาเข้าพบนานกว่า 1ชั่วโมง

โดยนายเกล็น ทาวน์เซนด์ เดวีส์ เปิดเผยว่า ได้มีการหารือกันในหลายเรื่อง ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง การปฏิรูปประเทศที่กำลังดำเนินอยู่ และมีการพูดด้วยว่า ประเทศไทยจะเดินหน้าไปอย่างไร และการเดินกลับไปสู่ประชาธิปไตยอย่างเดิม โดยในเรื่องประชาธิปไตย บรรดามิตรประเทศของไทย ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งเห็นว่ามีแนวโน้มที่ดี หากมีการเลือกตั้งในปี 2560 ตามโรดแมปของรัฐบาล และเห็นว่าเป็นความตั้งใจของ คสช. อยู่แล้วที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า ซึ่งต่างก็หวังว่า จะเกิดสิ่งที่ดีขึ้นกับไทย

ทั้งนี้ ยังได้หารือถึงเรื่องที่ควรจะมีการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้คนไทยทุกระดับมีส่วนร่วม ก่อนที่จะถึงวันลงประชามติ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ที่คนไทยจะได้ส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น และถือเป็นจุดยืนของสหรัฐฯ เกี่ยวกับเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นของใคร แต่ในมุมมองที่กว้างกว่านั้น ในช่วงเวลาขณะนี้ ทุกฝ่ายต้องการเห็นประเทศไทยประสบความสำเร็จ เจริญ จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนไทย ที่จะสามารถพูดคุยกันได้ เกี่ยวกับอนาคตของประเทศ และอนาคตของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการพูดในหลักการมาหลายครั้งแล้ว

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มีการหารือกันอย่างกว้างขวาง ทั้งสถานการณ์ในสหรัฐฯ และประเทศไทย รวมถึงความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี และยังพูดคุยในเรื่องท่าทีของพรรคต่อเรื่องการเมืองและการทำประชามติ ซึ่งตนยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญในการที่จะให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง และเห็นว่าการทำประชามติ ต้องเอื้อต่อการให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อนำไปสู่การยอมรับกติกา หากไม่ผ่าน ต้องมีกระบวนการ และกติกาที่ดีเพื่อเดินหน้า โดยพยายามหลีกเลี่ยงไม่ทำให้เป็นเรื่องความขัดแย้ง แต่ส่งเสริมให้สังคมไทยพิจารณาเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญมากกว่า และเมื่อประชามติผ่านพ้นไปแล้ว จะดูอีกทีว่าจะทำให้การเมืองไทยมีความมั่นคงได้อย่างไร เพราะประเทศไทยยังเผชิญกับความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสหรัฐฯ เองก็มีบทบาทในการช่วยให้ความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจเข้มแข็งขึ้น เพราะประเทศไทยอยู่ในช่วงที่ต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

"ผมกับทูตสหรัฐฯ เห็นตรงกันว่า ต้องมีพื้นที่การมีส่วนร่วม ซึ่งทางทูตสหรัฐฯ ก็เข้าใจดีว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องภายในของไทย แต่ก็พูดในมุมหลักการประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องคำนึงถึงปัญหาความละเอียดอ่อน และความวุ่นวายที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย โดยเห็นว่า กกต. ต้องเป็นหลัก ด้วยการออกมาขจัดความไม่แน่นอน และความกลัวที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการแสดงออก ที่เกิดจากผู้มีอำนาจทำให้เกิดความสับสนว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ และ กกต. ควรเสนอความเห็นไปยัง คสช. และรัฐบาล เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรของรัฐ ถ้ามีการใช้ไปในทางที่เอื้อต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ก็จะไม่เกิดการยอมรับ เพราะขณะนี้กระบวนการชี้แจงเนื้อหาถูกมองว่าเป็นการชี้นำ"นายอภิสิทธิ์กล่าว

ส่วนการตั้งศูนย์ตรวจสอบการออกเสียงประชามติ อยากให้ยึดคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่บอกว่าสามารถตั้งได้ แต่ต้องไม่ทำผิดกฎหมาย แต่ถ้าตั้งเพื่อบังหน้าเคลื่อนไหวทางการเมืองอื่น ก็ไม่ควรทำ แต่การที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ออกมาระบุว่า ไม่สามารถตั้งศูนย์ได้นั้น เป็นการทำให้เกิดความสับสน จึงขอให้พูดให้ชัด อะไรทำไม่ได้ เช่น การเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่เรื่องการตรวจสอบการทำประชามติ ต้องทำได้ ส่วนการปลดป้ายไวนิลศูนย์ปราบโกงประชามติ ที่จ.ลำปาง ไม่อยากให้รัฐเป็นเหยื่อของการยั่วยุ เพราะจะเกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้น และยังเห็นอีกว่า หลังวันทำประชามติ 7 ส.ค.2559 แม้จะผ่านหรือไม่ผ่าน ก็ไม่เกิดการยอมรับ ซึ่งรัฐต้องปรับท่าทีทั้งหมด เพื่อให้การลงประชามติได้รับการยอมรับ

วันเดียวกันนี้ นายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านการมีส่วนร่วม พร้อมด้วยพล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์การออกเสียงประชามติ โดย รด.จิตอาสา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงาน กกต. กับกองทัพบก ในการประชาสัมพันธ์การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดย รด.จิตอาสา จะเน้นการให้ความรู้ โดยไม่มีการชี้นำ เพื่อให้เป็นวิจารณญาณของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง การรณรงค์จะเน้นเพียงขอให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ให้มากเท่านั้น และไม่อยากให้นำโครงการดังกล่าว ไปเปรียบเทียบกับศูนย์ปราบโกงประชามติของ นปช.

นายประวิชกล่าวว่า ไม่อยากให้มองว่าการใช้กลไกลของกองทัพเข้ามาช่วย เป็นการสวนทางกับแนวทางประชาธิปไตย เพราะการจัดประชุมที่ จ.นครศรีธรรมราช ประชาชนก็แสดงความคิดเห็นได้หลากหลายเพียงพอ ส่วนการเปลี่ยนสถานที่จัดประชุมชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญจากค่ายกาวิละ มาเป็นศูนย์ประชุมนานาชาติเชียงใหม่ ก็เพื่อความเหมาะสม เนื่องจากมีประชาชนให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมจำนวนมาก ไม่ใช่จัดในค่ายทหารแล้ว ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ เพราะจะเห็นได้จากการจัดที่ จ.นครศรีธรรมราช ก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ไม่มีปัญหา

ที่หน้าสำนักงาน กกต. ก่อนที่จะมีการจัดกิจกรรมคอนเสิร์ตพลเมืองตีเข่าของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ได้เกิดความวุ่นวายขึ้นเล็กน้อย โดยขณะที่นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว พร้อมด้วยนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ แกนนำกลุ่มพลเมืองโต้กลับ เดินทางมาถึงสำนักงาน กกต. ได้มีกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นกลุ่มคนไทยใจเกินร้อยประมาณ 70 คน ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการจัดกิจกรรมดังกล่าวรวมตัวกันตะโกนด่าทอว่าการกระทำของกลุ่มดังกล่าวไม่เหมาะสมกับการเป็นนักศึกษา และขอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการกับศูนย์ปราบโกงประชามติของ กลุ่ม นปช.ด้วย

จากนั้นทางกลุ่มได้พยายามจัดกิจกรรม โดยตำรวจได้เจรจาขอไม่ให้จัด เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย แต่ในที่สุด ทางกลุ่มก็ได้มีการร้องเพลง “อย่างนี้ต้องตีเข่า (โหวตไม่เอาแล้วตีตก)” และเต้นประกอบเพลง ซึ่งร้องได้ประมาณ 2 นาที ตำรวจได้ไปปิดเครื่องขยายเสียงและขอให้ยุติกิจกรรมดังกล่าว และได้นำตัวนายพันธ์ศักดิ์ออกไป จากนั้นได้นำตัวนายสิรวิชญ์ออกไปตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น