ผศ.ดร.ธนาสัย สุคนธ์พันธุ์
สาขาวิทยาการสื่อปฏิสัมพันธ์
คณะสถิติประยุกต์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
http://interactivemedia.nida.ac.th
และ
เกียรติยศ พานิชปรีชา
Managing Director
บริษัท บิท สตูดิโอ จำกัด
http://www.thebitstudio.com
https://www.facebook.com/thebitstudio/
สาขาวิทยาการสื่อปฏิสัมพันธ์
คณะสถิติประยุกต์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
http://interactivemedia.nida.ac.th
และ
เกียรติยศ พานิชปรีชา
Managing Director
บริษัท บิท สตูดิโอ จำกัด
http://www.thebitstudio.com
https://www.facebook.com/thebitstudio/
ความรู้ทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น เรื่อง Computer Vision, Machine Learning, Robotics, Multimedia นอกจากจะนำมาช่วยในงานอุตสหากรรมและธุรกิจหลักโดยทั่วไปแล้ว ยังมีนักประดิษฐ์ หลายๆท่านนำมาใช้ในงานศิลปะด้วย โดยมักจะใช้ในการแสดงผลงานศิลปะในรูปแบบใหม่ๆ ที่อาจจะไม่เคยทำได้มาก่อน โดยเฉพาะการที่ผลงานนั้นสามารถมีปฎิสัมพันธ์กับผู้ชมได้มากกว่าเดิม งานเหล่านี้มักอยู่ในรูปแบบที่เรียกว่า New Media Art
ในการนี้ผู้เขียนจะขอนำตัวอย่างงาน ที่เป็นลักษณะดังกล่าวมาเล่าให้ฟัง เพื่อให้เห็นภาพการทำงานร่วมกันระหว่าง เทคโนโลยี และ งานศิลปะเชิงสร้างสรรค์ ได้อย่างลงตัว โดยจะยกงานตัวอย่างที่มีชื่อว่า “ลงรักปิดทอง” ที่จัดทำขึ้นมาโดยบริษัท Bit Studio ของเมืองไทย และได้แสดงผลงานนี้ไว้ที่ พิพิธภัณฑ์เด็ก, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, และ หอศิลป์ตาดู โดยงานดังกล่าวจะเน้น การนำ เทคโนโลยี มาใช้ในการเผยแพร่วัฒนธรรมไทย ผ่านทางภาพศิลปะลายไทยแบบลงรักปิดทองที่มีความงดงามอย่างยิ่ง ผู้อ่านสามารถเปิดดูงานนี้เบื้องต้นได้จาก วิดีโอ ข้างล่างนี้
โดยในงานลงรักปิดทองนี้ ทางผู้จัดทำต้องการที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมชมผลงาน มีส่วนร่วมในผลงานให้มากที่สุด โดยอยากให้ผู้เข้าชมรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของผลงานไปในตัว ผู้จัดทำจึงออกแบบระบบที่จะนำผู้เข้าชมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของตัวละครในงานลงรักปิดทองนี้ และเพื่อที่จะสร้างความมีชีวิตชีวาให้กับผลงานขึ้นไปอีก ทางผู้จัดทำจึงได้สร้างงานนี้ ในลักษณะที่เป็นภาพเคลื่อนไหว (Animation) แทนที่จะเป็นเพียงภาพนิ่ง อีกด้วย
ซึ่งงานหลักที่ผู้จัดทำต้องทำก็คือ การที่จะต้องนำเอาผู้เข้าชมแต่ละท่าน เข้ามาในภาพลงรักปิดทองนี้ แล้วทำให้ตัวละครในภาพมีความเป็นตัวตนของแต่ละท่านให้มากที่สุด ทางผู้จัดทำจึงเลือกที่จะ ใช้ ลวดลายของเสื้อผ้าของผู้เข้าชม ได้แก่ เสื้อ กางเกง หรือ กระโปรง และ อุปกรณ์แต่งกายของผู้เข้าชม เช่นแว่นตา รวมทั้งหนวดเครา ของผู้เข้าชม เข้ามาแสดงตัวตนของผู้เข้าชมแต่ละท่านเป็นหลัก
ซึ่งปัญหาที่สำคัญก็คือ จะนำเทคโนโลยีอะไรมาช่วยตรวจจับ เสื้อผ้าและ อุปกรณ์แต่งกายของผู้เข้าชม โดยอัตโนมัติโดยที่ไม่ต้องใช้คนในการควบคุม ทางผู้จัดทำจึงนำ อุปกรณ์อ่านความเคลื่อนไหว 3 มิติ (ในงานนี้ใช้ Kinect) มาช่วยงาน ซึ่งอุปกรณ์ นี้จะใช้ในการช่วยตรวจจับสิ่งที่อยู่ข้างหน้าโดยเฉพาะโครงสร้างของมนุษย์ (ใช้ความรู้ Computer Vision) เพื่อที่จะอ่านได้ว่าเสื้อผ้าของผู้เข้าชมอยู่ตรงไหน จากนั้นยังสามารถนำลวดลายที่อยู่บนเสื้อผ้านั้นๆ แปลงออกมาเป็นภาพ (ใช้ความรู้ Computer Graphics) โดยภาพที่แปลงออกมานี้ ก็จะสามารถนำมาวิเคราะห์ เพื่อสร้างเป็นลวดลายแบบลงรักปิดทอง เพื่อเพิ่มเข้าไปในตัวละครแต่ละตัว นั่นเอง นอกจากเสื้อผ้าแล้ว ข้อมูลที่ได้จาก Kinect ที่จับโครงสร้างมนุษย์ได้นี่ ยังทำให้รู้ว่า ส่วนไหนเป็น ศีรษะ ของผู้เข้าชม เพื่อที่จะหาว่ามี อุปกรณ์แต่งกาย เช่น แว่นตา หรือ มี หนวดเคราอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ (ใช้ความรู้ Machine Learning) เพื่อที่จะนำมาใส่รายละเอียดให้กับตัวละคร อีกด้วย และนอกจากนี้ เพื่อที่จะเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าชมเพิ่มเติม ทางผู้จัดทำ ได้สร้าง เว็บแอปพลิเคชัน เพื่อให้ผู้เข้าชมสามารถบังคับการเดินและกดเลือกท่าทางของตัวละครจากมือถือตนเอง เพื่อให้ตัวละครนั้นๆ แสดงท่าทางเคลื่อนไหวตามที่ต้องการได้อีกด้วย เช่นการยกมือไหว้ หรือ การทำการลอยกระทง เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าการสร้างงานแสดงผลงานในลักษณะนี้จะต้องใช้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นพื้นฐานหลัก ไม่ว่าจะเป็น เรื่องเทคโนโลยี การออกแบบ การเขียนโปรแกรม และ การคำนวน โดยที่คนทำงานทางด้านนี้ ควรจะต้องมีความรู้ในศาสตร์เหล่านี้เป็นพื้นฐาน และที่สำคัญต้องสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานศิลปะด้วยจินตนาการอย่างสร้างสรรค์ ได้อีกด้วย