xs
xsm
sm
md
lg

เล่าเรื่องเมืองลาว ไปสอนสถิติที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว

เผยแพร่:   โดย: อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
สาขาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร (นิด้า)


จะเคยมีใครทราบหรือไม่ว่า เมื่อห้าสิบปีก่อน พระมหากษัตริย์หนุ่มพระองค์หนึ่ง เมื่อทอดพระเนตรเห็นกระบวนการในการเขียนแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยไม่มีข้อมูล สถิติ สารสนเทศใดๆ มารองรับหรือมาเป็นเหตุผล และไม่มีข้อมูล สถิติ หรือสารสนเทศมาใช้ประเมินผลการพัฒนาประเทศเลย ทรงพระวิริยะอุตสาหะต้องการพัฒนาความรู้ด้านสถิติและสถิติศึกษา (Statistical Education) ในประเทศไทย เพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคต ห้าสิบปีก่อนนั้นเราไม่มีความพร้อมใดๆ เลย ทรงติดต่อมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ ด้วยพระองค์เอง เพื่อขอให้ส่งผู้เชี่ยวชาญทางสถิติมาช่วยจัดตั้งสำนักงานสถิติแห่งชาติ และมาตั้งคณะสถิติประยุกต์ ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เฉกเช่นเดียวกันกับที่สมเด็จพระราชบิดาได้ทรงงานด้านนี้ในการพัฒนาแพทยศาสตร์ศึกษา

เมื่อไม่กี่เดือนก่อน มีข้าราชการจากสำนักงานสถิติแห่งชาติลาวและคณาจารย์ที่สอนสถิติจากหลากหลายคณะจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวเกือบยี่สิบคน มาเยือนสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ทำให้ทราบว่าทาง World Bank และ ADB ได้ให้ทุนทางลาวมาเพื่อพัฒนาสถิติศึกษาในลาว เพื่อให้รองรับกับการพัฒนาประเทศ ทาง ADB แนะนำให้ลาวมาที่นิด้า เพื่อตามรอยพระยุคลบาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการพัฒนาการศึกษาสถิติในประเทศลาว

มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวหรือที่คนลาวเรียกกันว่าดงโดกนั้น เป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดในประเทศลาว และยังไม่มีภาควิชาสถิติแต่อย่างใด มีนักศึกษาปริญญาตรีในภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ที่เรียนสถิติเป็นวิชาเอกจบไปเพียงรุ่นหรือสองรุ่นเท่านั้น เมื่อทางมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวมาที่นิด้าตามรอยพระราชดำรินั้น ทางสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์และคณะสถิติประยุกต์เองมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสองประเทศ และทำตามรอยพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งด้านสถิติศึกษาและการทรงงานด้านการพัฒนาในประเทศลาว (โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เป็นผู้สืบทอดงานในพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวในประเทศลาว) ทางสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ได้ลงนามในหนังสือบันทึกข้อตกลงเพื่อความเข้าใจร่วมกันกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติ

ทางภาควิชาคณิตศาสตร์ สาขาวิชาสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ได้ขอความร่วมมือมายังคณะสถิติประยุกต์ เพื่อไปฝึกอบรมพัฒนาอาจารย์สถิติจากสามคณะคือ คณะศึกษาศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ และคณะวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ มาร่วมกันเรียนหนังสืออยู่ 5 วันเต็มๆ มีนักศึกษาปริญญาโทซึ่งหลายคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอื่นๆ ในลาว มาร่วมเรียนด้วย ผมและเพื่อนร่วมงาน รองศาสตราจารย์ ดร.กาญจ์นภา อมรัชกุลได้เดินทางไปสอนที่นครเวียงจันทน์ โดยไปสอนอบรมการใช้โปรแกรม R และโปรแกรม R Commander สำหรับการวิเคราะห์สถิติ การวิเคราะห์ธุรกิจ และการวิจัยดำเนินงาน (Operations Research) คณาจารย์และนักศึกษาได้เข้ามาร่วมฝึกอบรมเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้โครงการนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่ได้รับความร่วมมือจากการบินไทยในการสนับสนุนการเดินทางโดยมีกัปตันวิชชุกร คำจันทร์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอาทรเสวนาเป็นผู้ประสานงาน การเดินทางของสายการบินไทยกับการบินลาวนั้นใช้เครื่องลำเดียวกันเพื่อเป็นการประหยัดต้นทุน แต่การบริหารของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินนั้นดีเยี่ยมไม่มีขาดตกบกพร่องแต่ประการใด

ที่นครเวียงจันทน์นั้น การเรียนการสอนมีอุปสรรคบ้าง เนื่องจากโปรแกรม R และ R Commander นั้นเป็นโปรแกรมฟรีและต้องดาวน์โหลดมาติดตั้งบนคอมพิวเตอร์ทางอินเทอร์เน็ต แต่ที่ลาวใช้ Single Gateway แม้จะเป็น 4G แต่อินเทอร์เน็ตนั้นช้ามาก กว่าจะติดตั้งโปรแกรมให้เสร็จและใช้งานได้ใช้เวลาเป็นวัน ในขณะที่กรุงเทพอาจจะใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที ดังนั้นใครที่บอกว่าทางลาวมี 4G ใช้ก่อนไทยนั้นแม้จะเป็นเรื่องจริงก็ไม่ได้แปลว่าคุณภาพของบริการอินเทอร์เน็ตที่ลาวจะดีกว่าไทยแต่อย่างใด แต่ละประเทศย่อมมีสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเอง เราต้องเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และสถานที่ แม้จะติดขัดไปบ้างในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานแต่การเรียนการสอนก็ดำเนินการไปได้อย่างราบรื่น และเชื่อว่าทางคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวก็น่าจะได้ประโยชน์บ้างเช่นกันไม่มากก็น้อย

อาจารย์ส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวที่ได้รู้จักนั้นจบปริญญาโทมาจากรัสเซีย จีน และประเทศในยุโรปตะวันออกเป็นส่วนใหญ่ มีบางส่วนจบปริญญาโทมาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และจบปริญญาตรีหรือโทจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวเองก็มี และเนื่องจากวิชาสถิติประยุกต์ซึ่งประกอบด้วยวิชาอื่นๆ ที่สอนในคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เช่น สถิติ วิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง Business Analytics and Intelligence ประชากรกับการพัฒนา การวิจัยดำเนินงาน ล้วนแต่เป็นสาขาวิชาใหม่ที่ทางลาวไม่มีบุคลากร ทางคณะสถิติประยุกต์และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์วางแผนจะให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและการพัฒนาอาจารย์ร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวต่อไปในอนาคต

เล่าเรื่องเวียงจันทน์ที่ได้ไปเห็นให้ผู้อ่านได้รับรู้บ้างดีกว่า เวียงจันทน์นั้นก็แค่ข้ามฟากแม่น้ำโขงที่จังหวัดหนองคายไป ริมฝั่งแม่น้ำโขงมีอนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ตั้งเด่นเป็นสง่าหันหน้ามาทางฝั่งไทย ผมก็เพิ่งทราบว่าหาดทรายทั้งหลายชายฝั่งแม่น้ำโขงนั้นมักจะอยู่ทางฝั่งลาว มีแนวโน้มที่แผ่นดินจะยื่นงอกออกไป แต่สำหรับฝั่งไทยนั้นตลิ่งจะชันกว่า น้ำจะลึกกว่าไหลแรงกว่าและกัดเซาะตลิ่งมากกว่า แต่ว่าปีนี้น้ำแห้งมาก แม่น้ำโขงไม่เคยล้นตลิ่งท่วมเมืองเวียงจันทน์มานานหลายปีแล้ว กลายเป็นหาดทรายยาวเหยียดตรงตลาดมืดที่แสนมีชื่อของเวียงจันทน์นั่นเอง ของที่ขายส่วนใหญ่เป็นสินค้าสำหรับวัยรุ่น เสื้อผ้าเป็นส่วนใหญ่ ส่วนผ้าซิ่นลาวนั้นสวยงามและถูกมาก มีคนมาเดินวิ่งออกกำลังและเต้นแอโรบิคกันริมแม่น้ำโขงมากมายและมีวัยรุ่นมาซื้อของที่ตลาดมืดริมน้ำนี้ค่อนข้างมาก ที่เรียกว่าตลาดมืดนั้นไม่ได้ขายของผิดกฎหมายแต่อย่างใด แต่เป็นตลาดช่วงค่ำแล้วหรือยามมืดแล้วนั่นเอง ตลาดเป็นเต็นท์ผ้าใบสีแดงยาวเหยียดเลียบไปริมแม่น้ำโขงยาวมาก มีทั้งของกินของขายมากมาย

บ้านเมืองมีความเจริญมากทีเดียว เริ่มมีการก่อสร้างตึกสูงหลังแรกในลาวแล้ว ณ วันนี้ ลาวเริ่มมีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศลาว เริ่มมีธุรกิจประกันภัยที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ไปไหนเห็นคนเวียดนามเยอะมากเข้ามาลงทุน มีคนจีนเข้ามาลงทุนเยอะมากเช่นกัน มาเรียนหนังสือบ้างก็มี มีการก่อตั้งสถาบันขงจื่อที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวด้วย และคนลาวก็นิยมเรียนภาษาจีนมากครับ ถ้าเป็นคนลาวรุ่นเก่าๆ จะเรียนภาษาฝรั่งเศสกัน หลังจากนั้นก็มีภาษารัสเซียบ้าง แต่คนลาวรุ่นที่พูดภาษาฝรั่งเศสได้คล่องๆ นั้นก็เหลือไม่มากแล้วและสูงอายุกันมากคืออายุประมาณ 60 ปีขึ้นไป

คนลาวชอบของกินชอบใช้ของจากไทย ว่ากันว่าสินค้าจากไทยถือเป็นสินค้าเกรดเอสำหรับคนลาว ดีกว่าสินค้าจากประเทศจีนในสายตาคนลาว ได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพดีกว่า เข้าไปในร้านค้าของชำหรือซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งใดก็เห็นแต่สินค้าไทย ของกินของใช้มาจากเมืองไทยแทบทั้งหมด ทุกสิ่งทุกอย่าง ยกเว้นเบียร์ลาวที่ผลิตในลาวกับกาแฟดาวซึ่งมาจากจำปาศักดิ์ทางตอนใต้ของลาว คนลาวนั้นแม้กระทั่งอาหารการกินก็คล้ายคลึงกับคนไทยแทบทุกอย่าง ที่ผมรู้สึกว่าสาหัสมากไปหน่อยคือ อาหารทุกอย่างที่เวียงจันทน์นั้นประโคมใส่แป้งนัวหรือผงชูรสกันแบบไม่มียั้งมือ กระทั่งพริกกะเกลือกินกับมะม่วงนั้นก็คือผงชูรสผสมพริกป่น แทบจะไม่มีน้ำตาลหรือเกลือเลย น้ำปลาหวานของลาวนั้นก็ไม่หวาน มีผงชูรส น้ำปลา พริกป่น และเหยาะน้ำตาลแค่พอตัดรสเท่านั้นเอง รสชาติหลักจึงเป็นผงชูรส กินแล้วอร่อยแต่คอแห้งแสบคอมาก ถ้าคนแพ้ผงชูรสมาเที่ยวเวียงจันทน์คงหาอะไรกินลำบากมากทีเดียวครับผม ผลไม้นั้นลาวไม่ค่อยปลูก ส่วนใหญ่นำเข้าจากไทยและจีนเป็นหลัก ราคาอาหารนั้นค่อนข้างแพง ข้าวราดผัดกระเพราหมูกรอบริมถนนแบบร้านอาหารตามสั่งบ้านเรานั้นจานละสิบแปดพัน หรือประมาณตกประมาณ 80 บาทต่อจาน สาเหตุที่แพงก็คงเพราะอาหารส่วนใหญ่ วัตถุดิบส่วนใหญ่ต้องนำเข้ามาจากประเทศไทย และคนลาวเองก็มีรายได้ไม่สูงมาก แต่คนลาวที่ร่ำรวยก็มีมากจะเห็นได้จากที่อุดรธานีและหนองคายจะมีคนลาวข้ามมาช็อปปิ้งกันในวันเสาร์-อาทิตย์จนรถติด ไปที่ห้างสรรพสินค้าที่ไหนในอุดรหรือหนองคายก็จะเจอแต่คนลาวมากมายมหาศาล

คนลาวชอบดูทีวีไทยด้วยครับผม คนลาวไม่ดูทีวีลาว ไม่สนใจการเมืองลาวด้วย แต่สนใจการเมืองไทย ที่หน้ามหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว คนลาวนั่งเถียงกันแบ่งเป็นสองฝ่ายคือฝ่ายที่ชอบระบอบทักษิณและฝ่ายที่ต่อต้านระบอบทักษิณ อย่างชัดเจน สภากาแฟแห่งนี้ถึงกับเคยเถียงกันอย่างรุนแรงตอนที่ Shutdown Bangkok เลยลองถามเขาดูว่าทำไมไม่ติดตามสถานการณ์การเมืองในลาวบ้าง เขาตอบว่าไม่สนุก เป็นข่าวทางการจากพรรคทั้งนั้น สู้เชียร์การเมืองไทยไม่ได้ กลายเป็นว่าคนลาวรู้เรื่องการเมืองไทยมากกว่าการเมืองในลาวครับ ช่องที่ได้รับความนิยมสุดเท่าที่สอบถามดูคือช่องเจ็ด รองลงมาคือช่องสาม ช่องแปด และช่อง one ครับผม

ที่แน่ๆ เวียงจันทน์เจริญกว่าที่คิดไว้มากและต่างชาติก็แห่กันเข้ามาลงทุนมากมายไปหมดครับผม ที่นี่มีโอกาสทางธุรกิจมากที่เดียวและน่าจะเจริญเติบโตไปได้อีกมาก เพราะลาวมีทรัพยากรมากมายมหาศาลจริงๆ ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น