ผู้จัดการรายวัน 360 - แตกตื่น!! สารเคมีรั่ว ผวา “โคบอลต์ 60” กัมมันตรังสีอันตราย “พิเชฐ” รมว.วิทย์พร้อมผู้เชี่ยวชาญ ปส.รุดตรวจสอบ พบเป็นแค่ “อิริเดียม-192” ใช้ในการถ่ายภาพทางรังสี ไร้อันตราย คอนเฟิร์มไม่มีสารตกค้าง-รังสีรั่วไหล
วานนี้ (12 พ.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 15.10 น. มีรายงานข่าวแจ้งว่า ได้เกิดเหตุสารเคมีรั่วไหล ภายในซอยพหลโยธิน 24 แยก 2-1 พื้นที่เขตจตุจักร ลักษณะที่เกิดเหตุเป็นโกดังคอนกรีต 2 ชั้น รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สำนักอนามัย 10-3 เบื้องต้นตรวจสอบแล้วคาดว่า จะเป็นสารกัมมันตรังสี โคบอลต์ 60 ซึ่งเป็นสารอันตราย เจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงสุทธิสารจึงได้ทำการปิดกั้นบริเวณจุดเกิดเหตุในระยะ 200 เมตร พร้อมทั้งอพยพประชาชนออกจากจุดดังกล่าว และได้ประสานงานสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ
ต่อมา นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ปส. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบด้วยตนเองโดยพบอุปกรณ์ที่เป็นกล่องโลหะสี่เหลี่ยมที่มีน้ำหนักมาก ขนาดประมาณ 30x15x15 ลูกบาศก์เซนติเมตร จากการตรวจสอบกล่องดังกล่าวเป็นอุปกรณ์ถ่ายภาพทางรังสีที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมมีฉลากระบุเป็นสารอิริเดียม-192 ซึ่งเป็นสารต้นกำเนิดรังสีแกมมาที่มักใช้ในการตรวจสอบรอยแตกของชิ้นส่วนโลหะในโรงงานอุตสาหกรรม
นายพิเชฐ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุ โดยใช้เครื่องมือวัดรังสีคุณภาพสูงแล้วไม่พบปริมาณรังสีรั่วไหลแต่อย่างใด ทั้งในบริเวณกล่องอุปกรณ์ดังกล่าว และพื้นที่บริเวณโดยรอบ ซึ่งภายหลังเจ้าหน้าที่ได้ยืนยันว่าไม่มีสารรังสีใดๆ ตกค้างเหลืออยู่ และไม่มีการแพร่กระจายในพื้นที่โดยรอบ จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่าจะไม่มีอันตราย ซึ่งทางกระทรวงจะประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปรากฏของอุปกรณ์ดังกล่าวในพื้นที่ต่อไป
สำหรับสาร อิริเดียม -192 นักวิชาการจากปส.ให้ข้อมูลว่า เป็นสารกัมมันตรังสีที่นิยมนำไปใช้ในการถ่ายภาพทางรังสีในภาคอุตสาหกรรมเช่น ตรวจสอบรอยรั่วของท่อต่างๆ มีค่าครึ่งชีวิต 74 วันหรือมีอายุการใช้งานที่สามารถปล่อยรังสีออกมาได้ประมาณ 740 วันหรือ 2ปี สำหรับสารอิริเดียม-192ที่พบในโกดังดังกล่าวเบื้องต้นจากการตรวจสอบภาชนะที่ใส่รวมถึงซีเรียลนัมเบอร์พบว่ามีการแจ้งการนำเข้ามาแล้วกว่า 20 ปีเมื่อพิจารณาจากความแรงของการแพร่รังสีออกมาแทบจะไม่มี ประกอบกับอยู่ในภาชนะกำบังที่เรียบร้อยไม่มีการชำรุดทำให้มั่นใจได้ว่า ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวมีความปลอดภัย อย่างไรก็ดี ปส. จะทำการเก็บกู้ไปเก็บไว้ในสถานที่จัดเก็บที่มีความปลอดภัยสูงใน ปส.ต่อไป.
วานนี้ (12 พ.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 15.10 น. มีรายงานข่าวแจ้งว่า ได้เกิดเหตุสารเคมีรั่วไหล ภายในซอยพหลโยธิน 24 แยก 2-1 พื้นที่เขตจตุจักร ลักษณะที่เกิดเหตุเป็นโกดังคอนกรีต 2 ชั้น รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สำนักอนามัย 10-3 เบื้องต้นตรวจสอบแล้วคาดว่า จะเป็นสารกัมมันตรังสี โคบอลต์ 60 ซึ่งเป็นสารอันตราย เจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงสุทธิสารจึงได้ทำการปิดกั้นบริเวณจุดเกิดเหตุในระยะ 200 เมตร พร้อมทั้งอพยพประชาชนออกจากจุดดังกล่าว และได้ประสานงานสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ
ต่อมา นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ปส. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบด้วยตนเองโดยพบอุปกรณ์ที่เป็นกล่องโลหะสี่เหลี่ยมที่มีน้ำหนักมาก ขนาดประมาณ 30x15x15 ลูกบาศก์เซนติเมตร จากการตรวจสอบกล่องดังกล่าวเป็นอุปกรณ์ถ่ายภาพทางรังสีที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมมีฉลากระบุเป็นสารอิริเดียม-192 ซึ่งเป็นสารต้นกำเนิดรังสีแกมมาที่มักใช้ในการตรวจสอบรอยแตกของชิ้นส่วนโลหะในโรงงานอุตสาหกรรม
นายพิเชฐ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุ โดยใช้เครื่องมือวัดรังสีคุณภาพสูงแล้วไม่พบปริมาณรังสีรั่วไหลแต่อย่างใด ทั้งในบริเวณกล่องอุปกรณ์ดังกล่าว และพื้นที่บริเวณโดยรอบ ซึ่งภายหลังเจ้าหน้าที่ได้ยืนยันว่าไม่มีสารรังสีใดๆ ตกค้างเหลืออยู่ และไม่มีการแพร่กระจายในพื้นที่โดยรอบ จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่าจะไม่มีอันตราย ซึ่งทางกระทรวงจะประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปรากฏของอุปกรณ์ดังกล่าวในพื้นที่ต่อไป
สำหรับสาร อิริเดียม -192 นักวิชาการจากปส.ให้ข้อมูลว่า เป็นสารกัมมันตรังสีที่นิยมนำไปใช้ในการถ่ายภาพทางรังสีในภาคอุตสาหกรรมเช่น ตรวจสอบรอยรั่วของท่อต่างๆ มีค่าครึ่งชีวิต 74 วันหรือมีอายุการใช้งานที่สามารถปล่อยรังสีออกมาได้ประมาณ 740 วันหรือ 2ปี สำหรับสารอิริเดียม-192ที่พบในโกดังดังกล่าวเบื้องต้นจากการตรวจสอบภาชนะที่ใส่รวมถึงซีเรียลนัมเบอร์พบว่ามีการแจ้งการนำเข้ามาแล้วกว่า 20 ปีเมื่อพิจารณาจากความแรงของการแพร่รังสีออกมาแทบจะไม่มี ประกอบกับอยู่ในภาชนะกำบังที่เรียบร้อยไม่มีการชำรุดทำให้มั่นใจได้ว่า ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวมีความปลอดภัย อย่างไรก็ดี ปส. จะทำการเก็บกู้ไปเก็บไว้ในสถานที่จัดเก็บที่มีความปลอดภัยสูงใน ปส.ต่อไป.