xs
xsm
sm
md
lg

ม.รังสิตเอาผิดแก๊งโกงสอบ แบล็กลิสต์3นศ.เชื่อมีคนจ้างเพียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์" สั่งเอาผิดผู้ที่อยู่ในขบวนโกงข้อสอบแพทย์รวม 5 คน และขึ้นแบล็กลิสต์ 3 นักศึกษาแล้ว ยืนยันไม่มีจนท.มหาวิทยาลัยรังสิตเกี่ยวข้อง ด้านแพทยสภาลั่นคนทุจริตสอบหมดสิทธิเป็น "หมอ" หวั่นโกงอีกในอนาคต เผยตรวจสอบประวัติเข้มก่อนสอบใบประกอบวิชาชีพ ขึ้นทะเบียนเป็นหมอ ด้าน กสพท.คุมเข้มสอบตรง "หมอ" รับขบวนการทุจริตไฮเทคมากขึ้น เล็งปรับรูปแบบการสอบ เน้นคนดี มีใจช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์มากกว่าคนเก่ง ขณะที่สตช.รอ ม.รังสิต แจ้งร้องทุกข์ ก่อนตรวจสอบ นร.ทุจริตสอบแพทย์

จากกรณีการทุจริตสอบตรงเข้าวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ และเภสัชศาสตร์ ม.รังสิต เมื่อวันที่ 7-8 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีการทำเป็นกระบวนการด้วยการติดกล้องวงจรปิดไว้ที่ขาแว่น เพื่อส่งสัญญาณไปยังผู้รับปลายทาง ซึ่งคาดว่าเป็นติวเตอร์ และส่งคำตอบกลับมายังนาฬิกาสมาร์ทวอตช์ โดยสามารถตรวจยึดได้ 3 เรือน และได้มีการประกาศยกเลิกการสอบดังกล่าวไป โดยให้ผู้สมัครสอบมาสอบคัดเลือกใหม่ในวันที่ 31 พ.ค. และ วันที่ 1 มิ.ย. 2559 แทน รวมถึงมีการตัดสิทธิสอบนักเรียนที่ทำทุจริต พร้อมส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ปากคลองดำเนินคดีนั้น

วานนี้ (9 พ.ค.) ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต แถลงข่าวว่า มีผู้ที่อยู่ในขบวนการทุจริตและจับได้ทั้งหมด 5 คน โดยมีผู้รับจ้างใส่แว่นติดกล้องเพื่อเข้าไปดูข้อสอบ 1 คน ทีมงานส่งไฟล์ภาพข้อสอบ 1 คน และนักเรียนที่ว่าจ้างและได้รับคำตอบเฉลยผ่านนาฬิกาอัจฉริยะ 3 คน แต่ทางมหาวิทยาลัยเชื่อว่าอาจมีผู้สมัครสอบที่ทุจริตมากกว่านี้ แต่เนื่องด้วยมีผู้เข้าสอบเป็นจำนวนมากและห้องสอบมีหลายห้อง

" เราเชื่อว่าคงไม่ได้มีนักเรียนว่าจ้างแค่ 3 คน เพียงแต่ว่าเราจับไม่ได้ เพราะมีผู้สอบเข้าหลายห้อง ทำให้ต้องประกาศสอบใหม่ เพื่อความบริสุทธิ์ และนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดการทุจริต ซึ่งเมื่อปี 58 เคยจับได้ครั้งหนึ่ง แต่ไม่ทันสมัยแบบคราวนี้ โดยทางมหาวิทยาลัยจะดำเนินการถึงที่สุด ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตำรวจ ส่วนนักเรียน 3 คนได้ขึ้นแบล็คลิสต์ไว้แล้ว ไม่สามารถเข้าสอบในมหาวิทยาลัยได้อีก ทั้งนี้ยืนยันว่า กรณีที่เกิดขึ้นไม่มีบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยรู้เห็น"

อย่างไรก็ตามสำหรับการจัดสอบครั้งใหม่ที่เดิมกำหนดว่าจะสอบในวันที่ 31 พฤษภาคม และ 1 มิถุนายนนั้น เบื้องต้นผู้ปกครองนักเรียนหลายคนท้วงติงมาว่าไม่สะดวกเพราะเป็นวันปกติ กระทบกับการเดินทางที่มาจากต่างจังหวัด จึงขอให้มหาวิทยาลัยอำนวยความสะดวกจัดสอบใหม่ในวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ จึงจะพิจารณาตามที่ผู้ปกครองเรียกร้อง และอาจจะจัดสอบในวันที่ 4-5 มิ.ย.2559

ด้าน ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เมื่อมีประวัติการทุจริตแล้วการเข้ามาสอบเพื่อเรียนแพทย์คงจะยาก หรือต่อให้หลุดเข้ามาเรียนแพทย์ได้ แต่เมื่อเรียนจบแล้วจะต้องมีการสอบขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพและขึ้นทะเบียนเป็นแพทย์กับทางแพทยสภา ก็จะมีการตรวจสอบประวัติ ซึ่งอย่างไรก็ตรวจพบเจอแน่นอน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในแต่ละปีพบการทุจริตการสอบเข้าเรียนแพทย์หรือนักศึกษาแพทย์หรือไม่ ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หากมีการทุจริตจริงและมีการดำเนินคดี ก็จะถูกบันทึกเป็นประวัติ ซึ่งแพทยสภาสามารถตรวจสอบได้และจะนำมาพิจารณาในการสอบขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

ด้าน นพ.อาวุธ ศรีศุกรี เลขาธิการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) กล่าวว่า กสพท. มีความระมัดระวังอยู่แล้ว ห้ามมิให้มีการนำนาฬิกาดิจิตอลเข้ามาในห้องสอบ ซึ่งกำหนดสอบของ กสพท.ในช่วงปลายปี 2559-ต้นปี 2560 ก็จะมีความเข้มงวดมากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าขบวนการทุจริตก้าวหน้าทันสมัย และตราบใดยังมีคนต้องการสอบผ่านเข้าเรียนแพทย์ ขบวนการทุจริตก็จะยังมีต่อไป

"ความจริงคนเรียนแพทย์ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่คนเก่งเท่านั้น ต้องเป็นคนมีคุณธรรม และซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ ต่อการวินิจฉัยโรค การรักษา และแม้ว่าทุจริตสอบเข้าไปได้ ก็เชื่อว่านักเรียนพวกนี้ไม่สามารถเรียนจนจบได้ เพราะแพทย์ต้องเรียนและสอบ ทำงานเชิงปฏิบัติ และเป็นกลุ่ม การสอบที่มีการทุจริตใช้กับการสอบที่ต้องการแต่เอาคะแนน ในอนาคต กสพท. เตรียมออกแบบรูปแบบการสอบแพทย์ ให้เน้นเรื่องของคนที่มีจิตใจอยากเรียน ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์มากกว่าความเก่ง "

สำหรับอัตราการสอบเข้าเรียนแพทย์ของ กสพท. ปัจจุบันมีผู้สมัคร 40,000 คน แต่สามารถรับได้แค่ 1,500 คน จาก โรงเรียนแพทย์ 12 แห่ง ทันตแพทย์ 10 แห่ง และสัตวแพทย์ 3 แห่ง

สตช.รอ ม.รังสิต แจ้งร้องทุกข์ ก่อนสอบนร.

พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) กล่าวว่า สตช.จะเข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้หรือไม่นั้น ต้องรอให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมาแจ้งความร้องทุกข์ ถึงจะดำเนินการได้ ส่วนในแนวทางการดำเนินคดีหรือเอาผิดกับส่วนที่เกี่ยวข้องก็มีตำรวจในพื้นที่ดำเนินการอยู่แล้ว ถ้าหากสิ่งไหนเข้าข้อกฎหมายก็ต้องดำเนินการ

นอกจากนี้ พล.ต.อ.เดชณรงค์ กล่าวถึงมาตรการควบคุมสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้ในการส่งข้อมูลโกงข้อสอบว่า เบื้องต้นต้องมีการตรวจสอบที่มาของสินค้าหรืออุปกรณ์เหล่านี้ ว่านำเข้ามาจากช่องทางไหน ผ่านศุลกากรหรือไม่ ถูกกฎหมายหรือไม่ ถ้าหากผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการ.
กำลังโหลดความคิดเห็น