xs
xsm
sm
md
lg

โปรดคืนความเป็นธรรมให้... "เด็กดี ที่ช่วยชาติ ช่วยรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์"!!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

สัปดาห์ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้สัมภาษณ์กรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เตรียมพิจารณาถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ความตอนหนึ่งว่า:

"เรื่องนี้ไม่ใช่การรื้อฟื้น แต่เป็นการยื่นเรื่องจากฝ่ายผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาขอให้พิจารณาทบทวน ทุกคนสามารถยื่นได้หมด ทาง ป.ป.ช.เพียงแต่รับมาพิจารณาว่ารับได้หรือไม่ได้ ใช่หรือไม่ที่เขามมมติออกมา แต่การดำเนินการต่อหลังจากนั้นคงต้องติดตามดูกันอีกที แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาในเรื่องนี้นั้นจะนำไปสู่การปฏิบัติ ถ้าเขา"ยัง"ไม่ได้ตั้งก็ไม่ได้ตั้ง ก็ไม่เกิดอะไรขึ้นทั้งนั้น ฉะนั้นอย่าไปตีกระแสตรงนี้ให้มันขัดแย้งกันอีก"

เมื่อถามว่าส่วนของนายกรัฐมนตรี มองว่าเรื่องนี้มีความผิดปกติหรือไม่ พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า:

"ไม่มองว่าผิดปกติ อะไรที่ไม่ใช่เรื่องคือไม่ใช่เรื่อง ผมได้แค่บอกว่าควรทำหรือไม่ควรก็ไปว่ากันมาเวลานี้ปัญหาผมก็เยอะอยู่แล้ว"

เป็นคำตอบที่คลุมเครืออย่างยิ่ง ที่คนอย่างพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ไม่ใช่เพียงแค่เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เป็นผู้ถืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์เต็มในฐานะหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับไม่สามารถแสดงจุดยืนส่งสัญญาณว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะได้ และไม่สามารถแสดงความ่ให้ชัดเจนได้ว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ และอย่างไร และถ้าเกิดขึ้นแล้วพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาจะมีจุดยืนเรื่องนี้อย่างไร?

ที่พูดคลุมเครือ จุดยืนไม่ชัดเจน ทั้งๆ ที่มีอำนาจเต็มอยู่ในมือ เพราะลำบากใจมากใช่ไหมที่จะเลือกระหว่างคืนความเป็นธรรมให้กับผู้สูญเสียอย่าง น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ (น้องโบว์) ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินินาถตรัสชมว่า เป็น "เด็กดี ที่ช่วยชาติ ช่วยสถาบันพระมหากษัตริย์" รวมถึงผู้บาดเจ็บและครอบครัวผู้สูญเสียในเหตุการณ์ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551 กับ หรือจะเลือกแกล้งหลับตาไม่สนใจหากมีการถอนฟ้องให้กับ พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม?

ถึงอย่างไรเรื่องนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบใดๆได้อยู่ดี เพราะ:

1.เป็นผู้ถืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์อยู่ในมือ

2.เป็นผู้ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ โดยใช้คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 93/2557 เพื่อคนๆเดียว โดยยกโทษปลอดออกจากราชการให้พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

3.เป็นผู้เลือกใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2558 เปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์ประกอบกรรมการสรรหาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่ว่างลง 5 ตำแหน่ง โดยให้ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่แทนประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ให้รองนายกรัฐมนตรีที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย (แทนผู้นำฝ่ายค้าน) ทำให้การคัดสรรมีสัดส่วนจากอำนาจของฝ่ายรัฐบาล คสช. ได้เพิ่มมากขึ้น

4.สภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งถูกแต่งตั้งมาโดยการคัดสรรของ คสช. ได้ลงมติเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 เห็นชอบผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญจำนวน 5 คน เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้แก่ พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พร้อมด้วยกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจิรตแห่งชาติอีก 4 คน คือ นายวิทยา อาคมพิทักษ์, นางสุวณา สุวรรณจูฑะ, นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร, พลเอกบุณยวัจน์ เครือหงส์

5.12 เมษายน พ.ศ. 2559 ปรากฏเป็นข่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีการประชุมกัน 7 คน จากทั้งหมด 9 คน และ ลงมติ 6 ต่อ 1 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของสำนักกฎหมายว่าสามารถถอนฟ้องคดีตามมาตรา 35 ของประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งระบุว่า โจทก์สามารถยื่นคำร้องขอถอนฟ้องในเวลาใดก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น มีเพียงนางสุภา ปิยะจิตติ เท่านั้นที่ลงความเห็นไม่เห็นด้วย

โดยเสียง 5 ใน 6 คนที่ลงมติเห็นชอบนั้นก็คือเสียงเดียวกันที่ได้มาจาก คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหม่ที่ผ่านโครงสร้างการคัดสรรและอำนาจของ คสช.ทั้งสิ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่า พลตำรวจเอกวัชรพล ประสาราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ท่านใหม่นี้ ได้รับความไว้วางใจและมีความใกล้ชิดกับครอบครัว 2 พี่น้อง วงษ์สุวรรณ อย่างยิ่ง

พลตำรวจเอกวัชรพล ประสาราชกิจ ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามคำสั่งของ พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2551 (รวมถึงช่วงเวลา 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551) และในปี พ.ศ. 2552 จึงได้รับรางวัลเลื่อนยศเป็นพลตำรวจเอก และดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

หลังการรัฐประหารเพียงแค่ 2 วัน เท่านั้น วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ก็ได้รับการแต่งตั้งจาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

31 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ดำรงตำแหน่ง เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

16 กันยายน พ.ศ. 2557 พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ได้รับความไว้วางใจให้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณในฐานเป็น รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (รองนายกรัฐมนตรีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ)

เมื่อพลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ได้รับตำแหน่งเป็นประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติแล้ว จึงได้ลาออจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาตเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558 และลาออกจากตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 เพื่อมารับตำแหน่งใหม่

ดังนั้นเมื่อได้คนที่ใกล้ชิดกับครอบครัว "วงษ์สุวรรณ" ดังที่กล่าวมาข้างต้น มาเป็นประธาน ป.ป.ช. โดยอาศัยอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมดังที่กล่าวมาข้างต้น ดังนั้นหาก ป.ป.ช.มีพฤติกรรมที่จะลบล้างความผิด หรือฟอกความผิดให้กับ พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณแล้ว ต้องถือเป็นความรับผิดชอบของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้นการที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าเขา"ยัง"ไม่ได้ตั้งก็ไม่ได้ตั้ง ก็ไม่เกิดอะไรขึ้นทั้งนั้น หรือพูดว่า ควรทำหรือไม่ควรก็ไปว่ากันมา นั้น...

ไม่เพียงพอสำหรับคนที่เลือกใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์จนเหตุการณ์พัฒนามาถึงจุดนี้!!!

เพราะประโยคที่ว่า ถ้าเขา "ยังไม่ได้ตั้งคณะกรรมการ" ไม่ได้แปลว่าหรือมีหลักประกันใดๆว่า "จะไม่ตั้งคณะกรรมการ"

และประโยคที่ว่า "ควรทำหรือไม่ควรก็ไปว่ากันมา" แปลว่า ไม่ขอเกี่ยวข้องเป็นเรื่องของ ป.ป.ช.ที่ตัวเองใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมทำให้เกิดชุดนี้มาแล้ว ก็ยิ่งไม่เป็นหลักประกันว่าจะเกิดการถอนฟ้องเพื่อช่วยพวกพ้องกันในอนาคตหรือไม่?

วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ สำนักงานขณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดเผยเมื่อ ว่า

"ได้ส่งคำสั่งแต่ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาการถอนคดีการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ให้กับ พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.แล้ว โดยคณะทำงานประกอบด้วย "ที่ปรึกษาด้านคดีของกรรมการ ป.ป.ช. แต่ละคน" ผู้บริหารระดับสูงของ ป.ป.ช. ที่เกี่ยวข้องรวม 14-15 คน โดยเมื่อลงคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานแล้ว จะใช้เวลาศึกษาไม่นาน เพราะประธาน ป.ป.ช.ได้วางกรอบเอาไว้ว่าจะต้องเสนอเข้าที่ประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่ในเดือน พฤษภาคม นี้ "

เห็นวิธีการตั้งคณะกรรมการให้มีที่ปรึกษาด้านคดีขอ กรรมการ ป.ป.ช. แล้ว เมื่อประกอบกับมติของ 5 คน ของ ป.ป.ช.ที่มาจากโคงสร้างอำนาจและเครือข่ายของ คสช.ทั้งทางตรงและทางอ้อม ก็ต้องถูกตั้งข้อสงสัยต่อว่าแล้วคณะกรรมการ ป.ป.ช.นั้นจะเป็นเพียงพิธีกรรมเพื่อทำให้เกิดความชอบธรรมในการถอนฟ้องเท่านั้นใช่หรือไม่?

สิ่งที่สังคมไทยควรตระหนักคือคดีนี้มีมูลจนศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษามาแล้วในคดีหมายเลขดำที่ 1569/2552 ระหว่างนายชิงชัย อุดมเจริญกิจ กับพวกรวม 250 คน ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องที่ 1 และสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องที่ 2 โดยศาลพิพากษาความตอนท้ายเอาไว้ว่า:

"ส่วนที่ผู้ถูกฟ้องอ้างว่า ที่ต้องสลายการชุมนุมเพราะผู้ชุมนุมมีการปลุกระดมให้ผู้ชุมนุมเข้าไปทำร้ายสมาชิกรัฐสภา ที่อยู่ในอาคารรัฐสภาและปลุกระดมให้บุกไปที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลเพื่อทำลายทรัพย์สินของทางราชการนั้น ศาลเห็นว่า ในวันดังกล่าวผู้ชุมนุมมีจำนวนหลายหมื่นคน หากถูกยุยงปลุกระดมให้ทำลายสถานที่ราชการ หรือเข้าจับตัวสมาชิกรัฐสภาจริง ลำพังกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2,500 นาย ก็ไม่อาจต้านทานมวลชนนับหมื่นได้ การอ้างดังกล่าวเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อให้เหมาะสมกับเหตุในการสลายการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยรูปแบบขั้นตอนตามแผนกรกฏ/48 จึงไม่อาจรับฟังได้

และที่อ้างว่าผู้ชุมนุมกระทำการละเมิดต่อกฎหมาย ต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่โดยใช้กำลังและอาวุธ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้มาตรการหนักกับผู้ชุมนุมเห็นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจในการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมที่กระทำผิกกฎหมายได้อยู่แล้ว ส่วนปฏิบัติการเพื่อหยุดยั้งการกระทำผิดอันอ้างว่าละเมิดต่อกฎหมายนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบและแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด จะลัดขั้นตอนโดยใช้มาตรการที่รุนแรงไม่ได้ ประกอบกับกทม.ได้มีหนังสือแจ้งยืนยันว่า ไม่เคยได้รับการประสานขอรถดับเพลิงก่อนเกิดเหตุ แต่พึ่งมาขอตอนเย็นวันเกิดเหตุปรากฎตามรายงานของคณะกรรมการสิทธิฯ แสดงให้เห็นถึงการไม่ปฏิบัติตามแผนที่วางไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยจงใจข้ออ้างในส่วนนี้จึงไม่อาจรับฟังได้เช่นกัน

ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดในผลเพียงไรนั้น ศาลเห็นว่า เมื่อศาลวินิจฉัยแล้วว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กระทำละเมิดต่อผู้ชุมนุม รวมทั้งผู้ฟ้องคดีทั้ง 250 คนแล้ว และข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายสมชาย นายกรัฐมนตรี ขณะนั้นได้รับทราบจากสมาชิกรัฐสภา ที่ลุกขึ้นคัดค้านการแถลงนโยบายของนายสมชายว่าด้านนอกสภามีการสลายการชุมนุม ประชาชนบาดเจ็บแต่นายสมชาย ก็กลับไม่ได้ใส่ใจ แม้จะมีการปิดประชุมสภาเมื่อเวลา 11.30 น. ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงใช้กำลังและอาสวุธในการสลายกาชุมนุมอีก นายสมชาย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ในขณะนั้นก็ได้รับทราบข่าวสารการชุมนุม ซึ่งบุคคลทั้ง 3 มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและเป็นผู้บริหารประเทศกลับไม่ได้สนใจใยดี หรือสั่งห้ามการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมายแต่อย่างไร สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ป.ป.ช.สอบสวนและมีความเห็นว่า การละเว้นการปฏิบัติหน้าของบุคคลที่ 3 เป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏฺบิติหน้าที่ ที่มิชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และคณะกรรมการสิทธิฯ มีความเห็นว่า บุคคลทั้ง 3 กระทำผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ ฆ่า และ ตามประมวลกฎหมายอาญา และละเมิดสิทธิมนุษยชน


ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานนายรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกฟ้องต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของบุคคลทั้ง 3 ที่สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติการเพื่อสลายการชุมตามขั้นตอนแผนกรกฏ/48 แต่เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุอันเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบมาตรา 8 มาตรา10ของพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

เมื่อคดีทางปกครองยุติเป็นที่ประจักษ์แล้ว ก็สมควรแก่เวลาแล้วที่จะคืนความเป็นธรรมผู้ที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ด้วยการลงโทษทางอาญาต่อผู้กระทำความผิดตามกระบวนการยุติธรรมที่ควรจะต้องเป็นไป

หยุดฟอกความผิดเพื่อพวกพ้องได้แล้ว!!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น