xs
xsm
sm
md
lg

เด้งอธิบดีประมง เซ่นแก้ไอยูยูอืด "บิ๊กฉัตร"ขู่ช้าเปลี่ยนอีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน360-"บิ๊กตู่"ใช้ม.44 เด้ง "วิมล" อธิบดีกรมประมงเข้ากรุสำนักนายกรัฐมนตรี "ฉัตรชัย" ยอมรับทำงานแก้ไขปัญหาไอยูยูสุดอืด ลั่นคนใหม่ หากยังช้า เจอเปลี่ยนอีก ด้าน "ประวิตร" นั่งหัวโต๊ะติดตามความคืบหน้าแก้ไอยูยู เผยแก้ปัญหาไปแล้วกว่า 85% ระบุ 2 พ.ค.นี้ ไทยเตรียมเซ็น MOU กับเอียซ่าแก้ปัญหาการบินพลเรือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (20 เม.ย.) ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 17/2559 เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง โดยมีคำสั่งให้นายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และให้นายอดิศร พร้อมเทพ รองอธิบดีกรมประมง เป็นอธิบดีกรมประมงแทน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.2559

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติของการทำงานที่ต้องมีการโยกย้ายผู้บริหาร โดยนายวิมลมีบุคลิกที่ค่อนข้างเป็นนักวิชาการ ทำให้การทำงานที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความล่าช้า หลายงานไม่ก้าวหน้าตามเป้าหมาย จึงต้องมีการปรับเปลี่ยน และเชื่อว่าอธิบดีคนใหม่ จะทำงานได้เร็วขึ้น และสามารถเร่งรัดการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) ได้ดีขึ้น

"เป็นช่วงต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาไอยูยู เพราะจะครบ 1 ปี ที่ได้รับใบเหลืองจากสหภาพยุโรป (อียู) ผมอยากเห็นกรมประมงทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ต้องตัดสินใจเปลี่ยนอธิบดี และหากอธิบดีคนใหม่ทำงานไม่เป็นที่พอใจอีก ก็พร้อมปรับเปลี่ยนอีก"พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

ด้านพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวตอบเรื่องการโยกย้ายอธิบดีกรมประมงว่า ไม่มีอะไร ทำไม่ทัน และเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เกี่ยวกับการแก้ปัญหาไอยูยูใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร ไม่ตอบคำถาม แต่พยักหน้าเบาๆ

วันเดียวกันนี้ ที่ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร ยังได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5

พล.ต.คงชีพ ตันตระวานิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมว่า การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ไทยได้ดำเนินการไปแล้ว 36 งาน จาก 65 งาน ตามที่อียูเสนอมา ถือว่าคืบหน้าแล้วกว่า 85% ซึ่งสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น ปลดระวางเรือ ซึ่งมีจำนวนมากเกินกำหนด และได้มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ สร้างความเข้าใจให้เกิดความรวดเร็วในด้านการสื่อสารระหว่างเรือประมงกับหน่วยงานกำกับควบคุม รวมถึงสร้างระบบติดตามเรือและห้ามขนถ่ายสัตว์กลางทะเลไทย ควบคุมไม่ให้เกิดการค้ามนุษย์ และใช้แรงงานเด็ก รวมถึงการพัฒนาความร่วมมือกันในระดับภูมิภาค

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ติดตามการพัฒนาชุมชนเมืองดินแดน โดยรัฐบาลได้เข้าไปทำความเข้าใจกับประชาชนว่ายังสามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมที่มีการพัฒนาที่ดีขึ้น ซึ่งประชาชนในพื้นที่เห็นด้วยเกือบ 90% แล้ว และขอให้รัฐบาลเร่งพัฒนา โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการทำอีไอเอ พร้อมสำรวจความต้องการของประชาชน

พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือนว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดสรรบุคลากร เพื่อดูแลความปลอดภัยด้านการบิน โดยคณะกรรมการกำกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้เห็นชอบปรับกรอบอัตราโครงสร้างขององค์กรแล้ว และอยู่ระหว่างคัดเลือกผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือน และบุคลากรที่จะมาทำงานด้านนี้ ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนมิ.ย.2559 อีกทั้งยังมีการพัฒนาคุณสมบัติผู้ตรวจสอบความปลอดภัยด้านการบิน ซึ่งขณะนี้มีจำนวน 16 คน ที่เหลืออยู่ระหว่างฝึกอบรมภาคอากาศนักบินและระบบจัดการความปลอดภัยและระบบปฏิบัติการบิน ซึ่งจะผ่านการอบรมภายในเดือนมิ.ย.นี้เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ จะมีการทำสัญญาว่าจ้างองค์การการบินพลเรือนสหราชอาณาจักร (ซีเอเอไอ) เพื่อมาร่วมตรวจสอบความปลอดภัยการบิน และในวันที่ 2 พ.ค. จะมีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ร่วมกับสำนักงานความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งสหภาพยุโรป (เอียซ่า) เพื่อพัฒนาศักยภาพความปลอดภัยการบิน รวมถึงได้ร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรอีกด้วย และในช่วงปลายเดือนพ.ค. จะมีการประชุมเอเอสซี ที่ประเทศเบลเยี่ยม โดยคณะทำงานพิเศษของไทยจะร่วมหารือกับหน่วยงานด้านความปลอดภัยการบินระหว่างประเทศ โดยจะมีการชี้แจงความคืบหน้าในเรื่องต่างๆ ที่ดำเนินการไปแล้ว

ว่าที่ร.ต.หญิง พรชนก อ่ำพันธุ์ ทีมงานโฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการแก้ปัญหาชุมชนริมคลองลาดพร้าวว่า จะมีการพัฒนาทั้งหมด 43 ชุมชน 7,314 ครัวเรือน ความยาวพื้นที่พัฒนา 31.9 กม. ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 3 ชุมชน ได้รับความช่วยเหลือแล้วกว่า 300 ครัวเรือน ซึ่งจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี 6 เดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น