xs
xsm
sm
md
lg

ห้ามทรูฯประมูลคลื่น900 'พิชญ์'โบ้ยBBLเล่นแง่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360-บอร์ด กสทช. ลงมติ 5:3 ห้ามทรูฯประมูลคลื่น 900 MHz รอบใหม่ เกรงผูกขาดตลาดโทรคมนาคม เร่งทำบทวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสีย ตามหนังสือที่AISยื่นขอให้กสทช.ยื่นเรื่องให้หัวหน้าคสช.มอบคลื่นในราคาแจสให้AISโดยไม่ต้องประมูล คาดเสร็จทันภายในสัปดาห์นี้ เพื่อให้ได้ความชัดเจนก่อน 14 เม.ย. เลขาธิการ กสทช.เผยอาจยังไม่ได้ข้อสรุปภายใน 28 เม.ย.นี้ เพราะต้องเชิญสถาบันการเงินมาชี้แจงด้าน“ประยุทธ์”สั่งให้ฝ่ายกฎหมายดูใช้ม.44 ให้AIS0ซื้อคลื่นความถี่ “แจส โมบาย”ด้าน"พิชญ์ โพธารามิก" เข้าชี้แจงปมไม่จ่ายค่าประมูลคลื่น900 กับกสทช. อ้างธนาคารเปลี่ยนเงื่อนไขเงินกู้ทำให้ต้องเร่งเจรจาหาพันธมิตรใหม่ แต่ไม่ทันเวลา

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการ กสทช.วาระพิเศษ ว่า ที่ประชุมมีมติ 5 : 3 ไม่ให้ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz ครั้งใหม่ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ เนื่องจากที่ประชุมเกรงว่า ทรูฯจะกลายเป็นผู้ให้บริการที่ผูกขาดในตลาดโทรคมนาคมเพียงรายเดียว และราคาเริ่มต้นที่ 75,654 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ชนะการประมูล และที่ประชุมกสทช.ลงมติ 6:0 ให้เริ่มการประมูลที่ราคานี้เป็นราคาที่สูงอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องหาผู้เข้าร่วมประมูลเข้ามาแข่งขันจำนวนมาก เหมือนเจตนาที่สำนักงานตั้งใจซึ่งเชื่อว่าหากทรูฯเข้าร่วมประมูลก็จะกระตุ้นให้ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เข้ามาแข่งขันประมูลด้วย

นอกจากนี้ที่ประชุมยังคงเห็นชอบตามมติที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เห็นชอบไป ไม่ว่าจะเป็น การเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz โดยให้นำร่างไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) การเคาะราคาเพิ่มขั้นครั้งละ 152 ล้านบาท การวางเงินหลักประกันการประมูลยังคงคิดที่สัดส่วน 5% ของราคาเริ่มต้น ทำให้ผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางเงินหลักประกันจำนวน 3,783 ล้านบาท ส่วนการชำระเงินค่าประมูลยังคงยึดหลักเกณฑ์ตามเดิม คือ การจ่ายแบ่งออกเป็น 4 งวด คือ งวดแรก 8,040 ล้านบาท งวดที่2-3 จำนวน 4,020 ล้านบาท และงวดที่ 4 ชำระเงินทั้งหมดที่เหลือ

ขณะที่เงื่อนไขการรับผิดกรณีไม่ชำระเงินค่าประมูล นอกจากจะริบเงินประกันแล้ว กสทช.จะเก็บเงินส่วนต่างอีกอย่างน้อย 11,348 ล้านบาท เมื่อรวมกับเงินประกัน 5% เพื่อให้เท่ากับมูลค่าคลื่น 80% ที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ประเมินไว้คือ 15,131 ล้านบาท ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นที่เกิดขึ้น ซึ่งหากผู้ชนะการประมูลรายที่ 1 ไม่ชำระค่าประมูล กสทช.สามารถเรียกผู้ชนะรายที่สองมารับใบอนุญาตในราคาที่ผู้ประมูลรายที่สองเสนอได้ทันที

สำหรับกรอบเวลาในการประมูลคือ วันที่ 5-28 เม.ย.เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) บนเว็บไซต์ วันที่ 22 เม.ย.จัดประชุมประชาพิจารณ์ ณ สโมสรกองทัพบก วันที่ 12 พ.ค.นำร่างไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 13 พ.ค.-12 มิ.ย. ประกาศเชิญชวน และวันที่ 13 มิ.ย. เปิดให้ผู้สนใจยื่นซองประมูล

นายฐากร กล่าวว่า กรณีเอไอเอส ทำหนังสือแจ้งกสทช.ว่า ยินดีที่จะรับช่วงคลื่นในราคาสุดท้ายที่แจสชนะประมูล โดยขอให้กสทช.นำเรื่องเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ใช้มาตรา 44 ในการมอบคลื่นให้เอไอเอสโดยไม่ต้องประมูล นั้น สำนักงานเห็นว่าไม่ใช่อำนาจของกสทช. จึงไม่ต้องนำเข้าที่ประชุม แต่สำนักงานจะรีบทำบทวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสีย เพื่อนำเสนอหัวหน้าคสช. เพื่อให้ได้ข้อสรุปก่อนวันที่ 14 เม.ย.ซึ่งเป็นวันซิมดับของลูกค้าเอไอเอส

ทั้งนี้ หากหัวหน้าคสช.เห็นชอบ สำนักงานจะออกประกาศกลางเพิ่มเติม ในการนำราคาที่แจสชนะเพื่อเชิญชวนผู้สนใจมารับคลื่นในราคาดังกล่าวโดยไม่ต้องประมูล โดยจะเชิญผู้ประกอบการที่เข้าร่วมประมูลที่ชนะการประมูลในลำดับที่ 2 คือ เอไอเอส มาสอบถามก่อน หากไม่สนใจ ก็จะเชิญดีแทค มาสอบถาม และหากไม่สนใจอีกก็จะเชิญทรูฯมาสอบถาม

***'บิ๊กตู่'ให้ฝ่ายกม.ดูAISจ่ายแทนแจส

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขออนุมัติจากรัฐบาลให้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส จ่ายค่าคลื่นความถี่แทนบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ว่า เรื่องยังไม่ถึงตน คงเป็นการพิจารณาขึ้นมา และต้องส่งให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาด้วยว่าทำได้หรือไม่ เพราะเราต้องพิจารณาในหลายประเด็น 1.ข้อกฎหมาย 2.เรื่องผลประโยชน์ที่ได้รับมา ต้องระวังว่าถ้าทำได้วันนี้จะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติเท่ากับที่ต้องทิ้งช่วงไปอีกระยะเวลาหนึ่ง พอถึงเวลานั้นรายได้ที่จะได้รับเข้ามามันจะมากน้อยกว่ากันเท่าไหร่

" อย่ามองว่าผลประโยชน์ เอื้อประโยชน์เพื่อใคร ก็ในเมื่อมีคนประมูลอยู่ 3-4 บริษัทเท่านั้นเอง และบริษัทหนึ่งไม่รักษาสัญญาก็จะต้องฟ้องดำเนินคดีตามกฎหมาย มีความรับผิดชอบ ส่วนคลื่นที่เหลืออยู่ ที่ไม่มีคนรับจะต้องมีวิธีการอย่างไร ประมูลใหม่จะคุ้มหรือไม่ ได้ราคาหรือเปล่า และถ้ากฎหมายให้เจรจาได้ โดยที่เราไม่เสียประโยชน์มันก็จะต้องหาทางออกแบบนี้ คงไม่ใช่จะเข้าใครออกใคร"

เมื่อถามว่า เพื่อให้ประเทศได้ประโยชน์ เป็นไปได้หรือไม่จะใช้ม.44 ให้เอไอเอสได้การประมูลแทนแจส โมบาย นายกฯ กล่าวว่า ประเด็นไหนเห็นสมควรจะให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาก่อน มีหลายคนพิจารณาให้อยู่ ทั้งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย และกฤษฎีกา บางอย่างก็ต้องถามทางสนช.ด้วย เพราะเป็นผู้ดูกฎหมาย ถ้าจำเป็นและไม่ใช่เรื่องที่ทำให้เสียหาย ตนก็จะทำเพื่อประเทศ มีไว้อย่างนั้น ไม่ใช่มีไว้ปราบปรามคนอย่างเดียว

วานนี้ (5 เม.ย.) นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ในฐานะกรรมการ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ ได้เดินทางเข้าชี้แจงต่อกสทช. ถึงสาเหตุการไม่ชำระเงินประมูลคลื่น 900 MHz งวดแรก โดยระบุว่า การเข้ามาประมูลในครั้งนี้ไม่ได้เข้ามาเพื่อตัดราคา หรือป่วนการประมูล ซึ่งทางบริษัทฯ ตั้งใจเข้าเป็นผู้ประกอบธุรกิจมือถือเป็นรายที่ 4 โดยได้ตั้งวงเงินประมูลไว้ที่ไม่เกิน 8 หมื่นล้านบาท แต่เนื่องจากทางธนาคารกรุงเทพ มีการเปลี่ยนข้อตกลงในเงื่อนไขการให้เงินกู้ ทางบริษัทฯ จึงได้เร่งเจรจาหาพันธมิตรรายใหม่ แต่ขั้นตอนดังกล่าวจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายใน 21 เม.ย. ซึ่งเกินกำหนดเวลาการชำระค่าในอนุญาต.
กำลังโหลดความคิดเห็น