xs
xsm
sm
md
lg

ศาลสั่งยึด2พันล.เจ๊ติ๋มเบี้ยวสัมปทานทีวีดิจิตอล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศาลปกครองไฟเขียว กสทช. ยึดเงินค้ำประกันเกือบ 2 พันล้านของ 'เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล' หลังเบี้ยวชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ด้านกสทช.เดินหน้าแจ้งธนาคารกรุงเทพเพื่อขอยึดหลักประกัน ส่วนด้านโทรคมนาคม กลุ่มทรูยื่นหนังสือกดดันกสทช.หากประมูล 900 MHzใหม่ ต่ำกว่า 75,654 ล้านบาทที่แจสเบี้ยว ก็ควรปรับลดราคาค่าคลื่นของทรูให้เท่ากับราคาของผู้ชนะครั้งใหม่ด้วย

เมื่อวันที่ 28 มี.ค.59ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งยกคำขอกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาของบริษัทไทย ทีวี จำกัด ซึ่งมีนางพันธุทิพา ศกุณต์ไชย หรือ เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลช่องไทยทีวีและเอ็มวีทีวี แฟมิลี่ ( ชื่อเดิม โลก้า) เป็นผู้บริหาร ที่ขอให้ศาลสั่ง กสทช. ระงับการดำเนินการเรียกเก็บชำระเงินตามหนังสือค้ำประกัน หรือแบงค์การันตีของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) รวม 16 ฉบับรวมเป็นเงิน 1,976 ล้านบาท ไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีที่บริษัทไทยทีวีฟ้อง กสทช.

โดยเหตุที่ศาลยกคำขอดังกล่าว ระบุว่า ข้อเท็จจริงในคดีฟังได้ว่า กสทช .ได้มีหนังสือแจ้งให้บริษัท ไทยทีวี นำเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการเพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบ ดิจิตอลรายปีรวม 3 ครั้ง ระยะเวลารวม 90 วัน แต่เมื่อครบกำหนดบริษัทไทยทีวีไม่ได้นำเงินมาชำระ กสทช. จึงมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ และประกอบกิจการโทรทัศน์ทั้ง 2 ช่องรายการนับแต่วันที่ 4 ก.พ. 59 พร้อมแจ้งไปยังบริษัทไทยทีวีว่า ให้นำเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตของงวดที่ 2 ถึงงวดที่ 6 และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการรายปีประจำปี 2557-2559 มาชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ หากไม่ชำระจะใช้สิทธิเรียกให้ธนาคารกรุงเทพชำระเงินตามหนังสือค้ำประกัน

ซึ่งศาลเห็นว่า การที่บริษัทไทยทีวีมีหนังสือแจ้งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินตามหนังสือค้ำ ประกันก็เนื่องจากเหตุที่ว่ายังมีข้อต่อสู้ที่บริษัทไทยทีวีอาจไม่ต้องรับ ผิด เพราะมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาเพื่อขอให้ธนาคารปฏิเสธการชำระเงิน และข้อต่อสู้นี้ธนาคารย่อมยกขึ้นเป็นเหตุปฏิเสธการชำระเงินให้แก่ กสทช.ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 294 ที่บัญญัติว่า 'นอกจากข้อต่อสู้ซึ่งผู้ค้ำประกันมีต่อเจ้าหน้าที่นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันยังอาจยกข้อต่อสู้ทั้งหลายซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้น ต่อสู้ได้ด้วย กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรเพียงพอที่ศาลจะพิจารณากำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาตามคำขอของบริษัทไทยทีวีมาใช้ได้'

กสทช.เดินหน้ายึดแบงก์การันตี

หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) รับทราบคำสั่งศาล ได้มีมติ สั่งการให้สำนักงานกสทช. ทำหนังสือแจ้งไปยังธนาคารกรุงเทพเพื่อขอยึดหลักประกัน รวมเป็นเงิน 1,976 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ค้างชำระของช่องไทยทีวี และเอ็มวีทีวี แฟมิลี่ รวมเงินค้าง 5 งวด และค่าปรับเงินที่ค้างชำระ7.5 % ตั้งแต่วันที่ 26 พ.ค 2558

ทั้งนี้ บริษัท ไทยทีวี จำกัด เป็นของนางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือเจ๊ติ๋ม ทีวีพูล โดยเป็นผู้ชนะการประมูลทีวีดิจิตอลจำนวน 2 ช่อง รวมเป็นเงิน 1,976 ล้านบาท แบ่งเป็นช่องไทยทีวีเป็นประเภทหมวดข่าวสาร และสาระ ชนะการประมูลมาในราคา1,328 ล้านบาทค้างชำระ 1,107 ล้านบาท ส่วนช่องโลก้า ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นช่องเอ็มวีทีวี แฟมิลี่ เป็นประเภทรายการเด็ก เยาวชน และครอบครัว ชนะการประมูลในราคา 648 ล้านบาท ค้างชำระ 527.2 ล้านบาท ทั้งนี้ รวมเงินค้าง 5 งวด รวมเป็นเงินจำนวน 1,634.4 ล้านบาท

นอกจากนี้บริษัทยัง ผิดนัดชำระค่าประมูลงวดที่ 2 ตั้งแต่ วันที่ 26 พ.ค 2558 สำหรับค่าปรับ 7.5% ต่อปี ณ วันที่ 3 ก.พ.คิดเป็นเงินประมาณ 14 ล้านบาท ซึ่งค่าปรับยังคงเดินหน้าคิดอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่วนค่าธรรมเนียมรายปี 2% ยังไม่สามารถคำนวณออกมาได้ต้องรอให้ไทยทีวีส่งรายได้มาก่อน

กลุ่มทรูยื่นหนังสือกดดันกสทช.

กรณีการกระทำผิดเงื่อนไขการชำระเงินค่าประมูลไม่ใช่เกิดขึ้นด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กับทีวีดิจิตอลเท่านั้น ด้านกิจการโทรคมนาคมก็เกิดเหตุการณ์ทิ้งใบอนุญาต เบี้ยวเงินค่าประมูลความถี่ 900 Mhzของแจส จนทำให้ผู้ชนะประมูลอีก 1รายอย่างกลุ่มทรูกลัวตัวเองเสียค่าโง่ประมูลได้ความถี่ในราคาแพง จนต้องทำหนังสือกดดันไปยังกสทช.

โดยเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 59กลุ่มทรูได้ส่งหนังสือถึงกสทช.สรุปใจความว่า กลุ่มทรูในฐานะที่เป็นผู้ชนะการประมูลคลื่น 900 MHzที่ได้ดำเนินการตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด สนับสนุน กสทช. เร่งประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ใหม่โดยเร็ว ย้ำต้องโปร่งใสโดยยึดหลักความเป็นธรรม เป็นต้นว่า จัดประมูลใหม่เพื่อให้ผู้ที่ชนะการประมูลรายใหม่มีราคาต้นทุนไม่น้อยกว่าต้นทุน ที่บริษัทฯต้องรับภาระอยู่เพื่อให้เกิดความเสมอภาคในการแข่งขันทางการค้า และราคาประมูลเริ่มต้นของคลื่นย่าน 900 MHz ควรเป็นราคาเดียวกันกับที่ แจส ประมูลชนะคือ 75,654 ล้านบาทภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน หรือหากครั้งใหม่ประมูลชนะในราคาต่ำกว่า 75,654 ล้านบาท ก็ควรปรับลดราคาค่าคลื่นของทรูที่ต้องชำระให้แก่ กสทช. ลงมาเท่ากับราคาที่ผู้ชนะการประมูลคลื่นย่าน 900 MHz ครั้งใหม่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อไม่เสียเปรียบแก่กันในการแข่งขันทางการค้า
กำลังโหลดความคิดเห็น